ตลอดทั้งเดือนนี้ สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับเมื่อพูดถึง ‘ตำรวจ’ ก็คือมีแต่เรื่องไม่ค่อยดีออกมาให้เราได้เห็นกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาพตำรวจควบคุมฝูงชนยิงประชาชนด้วยกระสุนยาง ตำรวจที่นั่งกินข้าวในร้านอาหาร ทั้งที่มีคำสั่งห้าม รวมไปถึงกรณีอุกอาจที่ตำรวจใช้ถุงพลาสติกครอบหัวพ่อค้ายาเสพติดจนเสียชีวิต

ในสัปดาห์นี้ คอลัมน์ Word Odyssey ขอพาไปดูเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับตำรวจ ตั้งแต่ที่มาของคำว่า police ไปจนถึงคำสแลงต่างๆ ที่ใช้เรียกตำรวจ

ตำรวจ เมือง นโยบาย

คำว่า police ที่เราใช้เรียกตำรวจทุกวันนี้ แรกเริ่มเดิมทีไม่ได้ใช้เรียกเจ้าหน้าที่ที่เป็นคน แต่ใช้เรียกสิ่งที่เป็นนามธรรมกว่านั้น เช่น การปกครอง ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และ นโยบาย นั่นเป็นเพราะภาษาอังกฤษยืมคำนี้มาจากคำว่า police ในภาษาฝรั่งเศสยุคกลาง ซึ่งมีความหมายว่า การปกครองพลเรือน แต่หากเราสืบสาวย้อนกลับไปอีกก็จะพบว่าฝรั่งเศสรับคำนี้มาจาก politia ในภาษาละตินอีกทอดและมีต้นตอจริงๆ คือคำว่า polis ในภาษากรีก ซึ่งหมายถึง นครรัฐ หรือ เมือง

คำว่า polis นี้นอกจากจะเป็นที่มาของคำที่เกี่ยวข้องกับการปกครองในภาษาอังกฤษอีกหลายคำ ไม่ว่าจะเป็น policy (นโยบาย) politics (การเมือง) หรือ polity (รูปแบบการปกครอง) ยังไปปรากฏเป็นส่วนประกอบของคำที่เกี่ยวกับเมืองหรือเป็นชื่อสถานที่ด้วย เช่น Acropolis (ป้อมปราการในใจกลางเมืองเอเธนส์ มาจากคำว่า acron แปลว่า ยอด จุดสูงสุด รวมกับ polis เพราะตั้งอยู่บนจุดสูงสุดในเอเธนส์) metropolis (มหานคร แต่ก่อนใช้หมายถึงเมืองแม่ metro ที่อยู่ด้านหน้ามาจากคำว่า meter ที่หมายถึง แม่) และ cosmopolitan (มีความเป็นประชากรของโลก มาจาก cosmos ที่แปลว่า โลก) อันที่จริงแล้ว แม้แต่ชื่อเมืองเนเปิลส์ (Naples) หรือที่ชาวอิตาเลียนเรียกว่านาโปลี (Napoli) ก็มาจาก nea ซึ่งเป็นรูปหนึ่งของ neos แปลว่า ใหม่ (แบบที่คำว่า neoliberalism หรือ เสรีนิยมใหม่) รวมกับ polis ที่แปลว่า เมือง ได้ความหมายรวมว่า เมืองใหม่ นั่นเอง (ด้วยเหตุนี้ รูปคุณศัพท์ของเมืองนี้จึงเป็น Neapolitan)

ทั้งนี้ อีกที่หนึ่งที่เราอาจลืมไปว่ามี police ซ่อนอยู่ด้วยก็คือ Interpol หรือ องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (International Criminal Police Organization) ซึ่งย่อมาจาก international กับ police และเป็นชื่อย่อที่ใช้ตั้งแต่ยังมีการส่งโทรเลข

ตำรวจความคิด?

คำว่า police นอกจากจะใช้เรียกตำรวจผู้พิทักษ์สันติราษฎร์แล้ว ยังถูกนำไปใช้เรียกคนที่ทำตัวอย่างตำรวจ เที่ยวไปตรวจตราคนอื่นในเรื่องต่างๆ ที่ไม่ใช่อาชญากรรม ที่พบได้บ่อยๆ ก็เช่น grammar police คือ คนที่เที่ยวไปจับผิดและแก้ไวยากรณ์หรือการใช้ภาษาคนอื่น เห็นใครสะกดคำว่า คะ-ค่ะ สลับกันเมื่อไหร่ต้องปราดเข้าไปชี้ไปแก้ (ถ้าอาการหนักหน่อย จะเรียกว่า grammar Nazi ก็ได้) 

หรือ fashion police คือ คนที่เที่ยวไปบอกว่าคนนู้นคนนี้แต่งตัวไม่ดีอย่างไร รวมไปถึง thought police หมายถึง ตำรวจความคิด คือ คนที่พยายามสอดส่องควบคุมความคิดของคน ปราบปรามไม่ให้มีความคิดอิสระที่ต่างจากที่รัฐต้องการ (มีที่มาจากนิยายดิสโทเปีย 1984 ของ George Orwell)

อีกคำหนึ่งที่เกี่ยวข้องก็คือ tone policing หมายถึง การติเตียนน้ำเสียงของผู้พูดว่า ไม่สุภาพ หยาบคาย ไม่ให้ความเคารพ ซึ่งเป็นกลเม็ดหนึ่งที่หลายคนชอบงัดออกมาใช้เวลาโต้เถียงกับคนอื่น ทั้งที่จริงๆ แล้วการทำแบบนี้นับเป็นตรรกวิบัติ (logical fallacy) ประเภทโจมตีตัวบุคคล (ad hominem) อย่างหนึ่ง เพราะเป็นการเบี่ยงประเด็นไปวิจารณ์น้ำเสียงของผู้พูด แต่ไม่พูดถึงข้อโต้แย้งหลักที่กำลังถกเถียงกันอยู่

หัวปิงปอง?

เช่นเดียวกับที่คนไทยมีคำสแลงอย่าง หัวปิงปอง หรือ หมาต๋า ไว้เรียกตำรวจ ภาษาอังกฤษเองก็มีคำไม่เป็นทางการไว้ใช้เรียกตำรวจเช่นกัน ตัวอย่างเช่น

– po-po มาจากการซ้ำพยางค์แรกของคำว่า police และเป็นคำสแลงที่ใช้เรียกตำรวจในอเมริกา

– narc มาจากคำว่า narcotic (officer) ใช้เรียกตำรวจจับยาเสพติด

– fuzz มาจากคำว่า the force ที่หมายถึง กำลังตำรวจ

– copper คำนี้ใช้กันในเกาะอังกฤษ ไม่ได้มาจาก copper ที่แปลว่า ทองแดง แต่อย่างใด แต่มาจากกริยา cop หมายถึง จับ แล้วเติมส่วนเติมท้าย -er ที่หมายถึง ผู้กระทำ (คำว่า cop ที่หมายถึง ตำรวจ ย่อมาจากคำว่า copper อีกที)

– dick มาจากคำว่า detective ที่หมายถึง เจ้าหน้าที่สืบสวน

– gumshoe คำนี้เป็นคำที่มีความหมายเชิงดูถูก ใช้เรียกตำรวจที่เป็นเจ้าหน้าที่สืบสวน ที่เรียกเช่นนี้เพราะในอดีตเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้มักสวมรองเท้าพื้นยางแบบนุ่มพิเศษเพื่อให้ติดตามผู้ต้องสงสัยได้อย่างเงียบเชียบ

– pig คำนี้มีความหมายเชิงดูถูกรุนแรง คือเปรียบเทียบตำรวจเป็นหมู ซึ่งในวัฒนธรรมตะวันตกมองว่าเป็นสัตว์ที่สกปรก ตะกละตะกลาม น่ารังเกียจ

ตัดงบตำรวจ?

พจนานุกรม Merriam-Webster’s เผยว่าในปี 2020 มีหนึ่งในคำที่มีผู้ค้นดูติด 12 อันดับแรกของปีเป็นคำที่เกี่ยวกับตำรวจ คำคำนั้นก็คือ defund ที่แปลว่า ตัดงบ นั่นเอง

สาเหตุที่คำนี้อยู่ๆ ก็มีผู้ค้นเข้าไปดูเพิ่มทะยานถึง 6,059 % จากปีก่อนหน้าและเกี่ยวข้องกับตำรวจก็เพราะในปี 2020 ชายผิวดำนามว่า จอร์จ ฟลอยด์ ได้ถูกตำรวจใช้กำลังเกินเหตุเข้าจับกุม คือใช้เข่ากดลงไปบนคอโดยไม่สนใจว่าฟลอยด์จะพยายามบอกว่าตนหายใจไม่ออก จนเป็นเหตุให้ฟลอยด์เสียชีวิตจุดชนวนให้เกิดกระแส Black Lives Matter และการต่อต้านการใช้กำลังเกินเหตุของตำรวจ (police brutality) 

รวมไปถึงการเรียกร้องให้ตัดงบหรือ defund หน่วยงานตำรวจเพื่อนำเงินไปส่งเสริมความเป็นอยู่และความปลอดภัยของประชาชนในด้านอื่นๆ แทน หรือลงทุนในวิธีการตรวจตรารักษาความปลอดภัยแบบอื่นแทน

ตำรวจดี ตำรวจเลว

คำหนึ่งที่เราอาจเคยได้ยินในหนังหรือซีรีส์สืบสวนทั้งหลายก็คือคำว่า good cop/ bad cop ซึ่งเป็นกลยุทธ์ทางจิตวิทยาที่ตำรวจใช้ในการสืบสวนผู้ต้องหา คือให้ตำรวจคนหนึ่งรับบทโหด พยายามข่มขู่บีบคั้นให้ผู้ต้องหาคายความลับหรือยอมรับผิด (แต่ไม่มีเอาถุงพลาสติกคลุมหัวจนตายนะ) ส่วนอีกคนรับบทใจดี แสดงท่าทางเห็นใจ เสนอตัวว่าจะช่วยเหลือ เพื่อให้ผู้ต้องหาไว้ใจและให้ความร่วมมือ

ทั้งนี้ ยังไม่เคยพบเห็นว่ามีเทคนิค bad cop/ bad cop หรือกลยุทธ์ไหนกำหนดให้ใช้ตำรวจเลวหลายนายร่วมกันทำร้ายผู้ต้องหาเพื่อรีดไถเงินหรือเค้นข้อมูล

 

บรรณานุกรม

https://www.merriam-webster.com/words-at-play/word-of-the-year/pandemic

http://oed.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Longman Dictionary of Contemporary English

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Shorter Oxford English Dictionary

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Tags: ,