หลายคนอาจชอบกินพาสต้า แต่เกิดอาการหวั่นใจทุกครั้งเวลาต้องสั่งมารับประทาน เพราะนอกจากจะต้องรู้ว่าเส้นพาสต้ารูปทรงไหนมีชื่อว่าอะไรและออกเสียงอย่างไรแล้ว (เช่น Tagliatelle, Pappardelle และ Orecchiette) ยังต้องรู้จักซอสนานาชนิดที่ไว้กินคู่กับเส้นพาสต้านั้นๆ อีก นี่ยังไม่รวมถึงวิธีการออกเสียงชื่อซอสเหล่านั้นที่เป็นภาษาอิตาเลียนด้วย

สัปดาห์นี้ Word Odyssey จะพาไปรู้จักกับซอสพาสต้า 5 ชนิดที่คนไทยน่าจะคุ้นเคยกัน พร้อมพาไปดูเส้นทางความโยงใยจากชื่อซอสพาสต้าเหล่านี้สู่คำศัพท์ในภาษาอังกฤษ

Bolognese จากซอสโบโลญเญเซสู่เรื่องไร้สาระ

ซอสนี้ (ซึ่งคนไทยหลายคนเรียกง่ายๆ ว่า ซอสเนื้อ) โดยปกติแล้วทำจากเนื้อวัวสับผสมกับสามเกลอฝรั่ง คือหัวหอมใหญ่ เซเลอรี และแคร์รอตสับละเอียด เติมมะเขือเทศเข้มข้นลงไปเล็กน้อย แล้วปล่อยเคี่ยวจนข้นขลุกขลิก ในอิตาลีปกติมักกินซอสนี้กับเส้นตาเญียเตลเล (Tagliatelle) แต่นอกอิตาลีมักเสิร์ฟกับเส้นสปาเกตตี ทำให้เกิดอาหารที่เรียกว่า Spaghetti Bolognese

จริงๆ แค่เห็นชื่อซอสลงท้ายด้วย -ese เหมือนคำที่บอกสัญชาติอย่าง Chinese และ Japanese แล้ว ก็คงรู้กันว่าคำนี้เป็นคำคุณศัพท์ของชื่อเมืองโบโลญญา (Bologna) ในประเทศอิตาลี แต่ส่วนที่หลายคนอาจไม่ค่อยมั่นใจ รู้สึกเกร็งๆ ก็คือการออกเสียงชื่อซอสนี้ ตามต้นฉบับภาษาอิตาเลียน ชื่อซอสนี้ออกเสียงว่า โบโลญเญเซ (ตัวพยัญชนะ gn ออกเสียงควบคล้ายเสียง ย แบบขึ้นจมูก คล้ายเสียงในคำว่า onion) แต่ในภาษาอังกฤษ ส่วนใหญ่ออกเสียงกันว่า บอโลเนซหรือโบโลนีซ ถือเป็นอันเข้าใจกัน

ที่น่าสนใจคือเมืองนี้เป็นแหล่งกำเนิดของไส้กรอกชนิดหนึ่ง เรียกว่า มอร์ตาเดลลา (Mortadella) ด้วย ซึ่งมักตัดตามขวางเป็นแผ่นกลมบางๆ ไม่ได้กินเป็นเส้นๆ แบบไส้กรอกเยอรมัน แต่ชื่อนี้คงเรียกยากหรืออย่างไรไม่ทราบ ไส้กรอกนี้จึงเป็นที่รู้จักในภาษาอังกฤษว่า Bologna Sausage คือไส้กรอกจากเมืองโบโลญญา ก่อนที่จะถูกย่นย่อเหลือเพียง Bologna ในเวลาต่อมา ซึ่งแน่นอนว่า นี่ก็คือไส้กรอกที่เราหาได้ในร้านสะดวกซื้อที่คนไทยเรียกว่า โบโลน่า นั่นเอง

ส่วนชาวอเมริกันอ่านออกเสียงชื่อนี้เพี้ยนไปจนเป็น เบอะโลวนี พอออกเสียงแบบนี้ ไปๆ มาๆ เลยมีคนสะกดใหม่เป็น baloney ด้วย ดังนั้นไส้กรอกชนิดนี้จึงมีวิธีสะกดชื่อ 2 แบบในอเมริกา คือ Bologna และ Baloney แต่ออกเสียงเหมือนกันว่า เบอะโลวนี

ที่น่าสนใจก็คือ คำว่า Baloney นี้ในเวลาต่อมาถูกนำมาใช้เป็นสแลง หมายถึงเรื่องไร้สาระด้วย เช่น He said Thailand is LGBTQ-friendly? That’s baloney. ก็คือ เขาบอกว่าเมืองไทยเป็นมิตรกับคนเพศหลากหลายเหรอ ไร้สาระทั้งเพ

Ragù จากซอสรากูสู่ความน่าขยะแขยง

คำว่า Ragù ในภาษาอังกฤษออกเสียงคล้ายภาษาอิตาเลียนว่า รากู เป็นคำใช้เรียกซอสเนื้อ ปกติมักกินกับเส้นพาสต้า อันที่จริงแล้ว ซอสโบโลญเญเซที่เพิ่งพูดถึงไปก็นับเป็นซอสรากูประเภทหนึ่ง เรียกเต็มๆ ว่า Ragù alla bolognese

คำว่า Ragù นี้ ว่ากันว่าภาษาอิตาเลียนยืมมาจากคำว่า Ragoût ในภาษาฝรั่งเศส (คำนี้ในภาษาอังกฤษก็ใช้ ออกเสียงว่า แรกู) ซึ่งเป็นอาหารประเภทสตู จะใส่เนื้อสัตว์หรือไม่ใส่ก็ได้ จะกินเป็นอาหารจานหลักเลยหรือเสิร์ฟคู่กับอาหารแป้งอย่างอื่นก็ได้

คำว่า Ragoût ที่ว่านี้ มาจากส่วนเติมหน้า re- ที่แปลว่า อีกครั้ง รวมกับส่วนเติมหน้า a- แปลว่า ไปยัง และ goût แปลว่า รสชาติ ได้ความหมายรวมว่า ชวนให้กลับมาอยากอาหารอีกครั้ง ส่วน goût นี้ หากสืบสาวกลับไปอีกจะพบว่ามาจากคำว่า Gustus ในภาษาละติน หมายถึง รสชาติ แบบที่พบได้ในคำว่า Gustatory (เกี่ยวกับการรับรส) และ Gustation (การรับรส) รวมไปถึง Gusto ที่แปลว่า ความกระตือรือร้น สนุกสนาน เช่น My six-year-old nephew ate the cake with gusto. ก็คือ หลานวัยหกขวบกินเค้กอย่างเอร็ดอร่อยมาก

นอกจากนั้น Gustus ที่ว่านี้ยังแฝงตัวอยู่ในคำว่า Disgust ด้วย ซึ่งมีส่วนเติมหน้า dis- ที่ให้ความหมายเชิงลบ ได้ความหมายรวมว่า ไม่อร่อย ไม่ชอบ รังเกียจ ในปัจจุบันจึงใช้หมายถึง รังเกียจ ขยะแขยง เช่น He looked at her face with disgust. ก็คือ เขามองหน้าเธอด้วยความรังเกียจ

Carbonara จากคาร์โบนาราสู่การลดก๊าซเรือนกระจก

คาร์โบนาราเป็นอาหารพาสต้าอีกอย่างที่คนไทยคุ้นเคยดีและเป็นหนึ่งในสูตรอาหารที่ชาวอิตาเลียนหลายคนรู้สึกว่าถูกชาวต่างชาตินำไปปู้ยี้ปู้ยำจนผิดเพี้ยนไปหมด ทั้งนี้ สูตรต่างๆ ที่อ้างตัวว่าเป็นแบบอิตาเลียนแท้มักจะบอกไว้ว่าต้องใช้แก้มหมูรมควัน (Guanciale) มาทอดรีดน้ำมัน แล้วนำเส้นที่ต้มเกือบสุกแล้วลงไปคลุกในกระทะ ราดด้วยไข่ ชีสเปโกรีโน โรมาโนขูดฝอย และพริกไทยดำที่ตีผสมให้เข้ากัน แล้วคลุกเคล้าจนซอสเคลือบเส้นดี

ส่วนที่มาของชื่ออาหารพาสต้าชนิดนี้มีหลายทฤษฎี บ้างก็ว่าชื่อนี้หมายถึงเตาอบที่ใช้ถ่าน บ้างก็ว่ามาจากชื่อร้านอาหารในกรุงโรม ซึ่งหมายถึงคนเผาถ่าน แต่ที่เห็นตรงกันก็คือเกี่ยวข้องกับถ่านไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นั่นก็เพราะ Carbo ที่เห็นในชื่อนั้น มาจากภาษาละตินที่แปลว่าถ่านนั่นเอง

แน่นอนว่า Carbo ที่ว่านี้เป็นที่มาของคำว่า Carbon ที่หมายถึง ธาตุคาร์บอน (ซึ่งพบในถ่าน) ซึ่งไปปรากฏอยู่ในที่ต่างๆ มากมาย เช่น Carbohydrate หมายถึง คาร์โบไฮเดรต (มีคาร์บอนจับกับไฮโดรเจนและออกซิเจนในสัดส่วน 2 ต่อ 1 เหมือนน้ำ) ซึ่งเราย่อกันเหลือแค่ Carb ด้วย เช่น อาหารต่างๆ ที่มีคาร์โบไฮเดรตน้อย เราก็เรียกว่า Low-Carb Foods

นอกจากนั้น Carbon ยังปรากฏในชื่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide) เนื่องจากก๊าซนี้เป็นก๊าซเรือนกระจกสำคัญตัวหนึ่ง คำว่า Carbon จึงไปปรากฏในชื่อกระบวนการหรือแนวคิดต่างๆ ที่เกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซชนิดนี้ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศด้วย เช่น Carbon Footprint (ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกระบวนการหรือองค์กร) Carbon Sequestration (การกักเก็บคาร์บอน) และ Decarbonization (กระบวนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก)

Arrabbiata จากซอสอาร์ราเบียต้าสู่โรคพิษสุนัขบ้า

ซอสสีแดงชนิดนี้มีจุดเด่นคือรสเผ็ดร้อน ปรุงด้วยการผัดกระเทียม มะเขือเทศ และพริกแห้งในน้ำมันมะกอก บ้างก็นำไปประยุกต์ด้วยการใส่เนื้อสัตว์ทะเลต่างๆ

ชื่อซอสนี้ในภาษาอิตาเลียน แปลว่า โกรธ คลั่ง ซึ่งที่ได้ชื่อเช่นนี้ก็น่าจะเป็นเพราะความเผ็ดร้อนนั่นเอง

คำว่า Arrabbiata นี้มาจากกริยา arrabbiare ในภาษาอิตาเลียน แปลว่า ทำให้โกรธ ซึ่งเมื่อสืบสาวต่อไปอีกจะพบว่ามาจากคำว่า Rabies ในภาษาละติน แปลว่า ความโกรธ ความบ้าคลั่ง

คำว่า Rabies นี้ แน่นอนว่าเป็นที่มาของคำว่า Rabies ที่แปลว่าโรคพิษสุนัขบ้าในภาษาอังกฤษ และเป็นญาติกับคำว่า Rabid ที่เป็นคุณศัพท์ หมายถึง บ้า คลุ้มคลั่ง นอกจากนั้น คำว่า Rabies นี้ ภาษาฝรั่งเศสเก่ายังยืมไปและทำให้เกิดเป็นคำว่า Rage ที่แปลว่า ความโกรธ ความพิโรธ ซึ่งภาษาอังกฤษรับมาใช้อย่างในปัจจุบันด้วย

อาหารพาสต้าอีกอย่างที่เราอาจเคยได้ยินชื่อบ่อยๆ ก็คือ เฟตตูชินี อัลเฟรโด (Fettuccine Alfredo) ซึ่งทำโดยการนำเส้นเฟตตูชินีมาคลุกกับเนยและชีสพาร์เมซานในกระทะให้เนื้อเนียนเข้ากันเป็นซอสสีขาวนวลเข้มข้นเคลือบตัวเส้น บางสูตรอาจดัดแปลงด้วยการเติมครีมลงไปด้วย

อาหารพาสต้าจานนี้ตั้งชื่อตาม อัลเฟรโด ดิ เลลิโอ (Alfredo di Lelio) ซึ่งเป็นผู้คิดค้นสูตรนี้ขึ้นและนำมาขายในร้านอาหารของเขาในกรุงโรม จนโด่งดังข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงสหรัฐอเมริกาและกลายเป็นอาหารยอดฮิตที่พบเจอได้ทั่วไปในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ชื่อ Alfredo มาจาก Alfred ซึ่งเป็นชื่อแองโกลแซกซอน (Anglo-Saxon) ที่ปรากฏมาตั้งแต่สมัยอังกฤษเก่า สมัยนั้นสะกดว่า Ælfræd มาจาก ælf ซึ่งกลายมาเป็นคำว่า Elf ในปัจจุบันที่หมายถึง เอลฟ์ (สิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติที่มีหูแหลมๆ แบบที่เราเห็นกันในหนัง) รวมกับ Ræd หมายถึง วิจารณญาณ ความปราดเปรื่อง ได้ความหมายว่า ผู้ปราดเปรื่อง ทั้งนี้ ชื่อเล่นอย่าง Alfie, Fred, และ Freddy ก็ล้วนมาจาก Alfred ทั้งสิ้น

 

บรรณานุกรม

 http://oed.com/

 American Heritage Dictionary of the English Language

 Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

 Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995.

 Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

 Hanks, Patrick., Kate Hardcastle, and Flavia Hodges. Oxford Dictionary of First Names. OUP: New York, 2006.

 Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

 Jack, Albert. What Caesar did for My Salad: The Curious Stories Behind Our Favourite Foods. Albert Jack Publishing: Cape Town, 2017.

 Jones, Daniel. Cambridge English Pronouncing Dictionary. Cambridge University Press: Cambridge, 2003.

 Longman Dictionary of Contemporary English

 Merriam-Webster Dictionary

 Shorter Oxford English Dictionary

 Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.

 Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.

 Wells, J. C. Longman Pronunciation Dictionary. Pearson Education: Essex, 2008.

Tags: , ,