เหตุการณ์ที่ทั้งโลกต่างจับตามองด้วยความตกตะลึงและอกสั่นขวัญแขวนตั้งแต่ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นการบุกโจมตียูเครนของรัสเซีย ส่วนหนึ่งก็เพราะการโจมตีครั้งนี้เกิดขึ้นโดยแลดูไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรเป็นชนวนซึ่งหน้า อีกส่วนก็เพราะไม่มีใครคาดเดาได้เลยว่าเหตุการณ์จะดำเนินไปในทิศทางใด จะรุนแรงขึ้นหรือคลี่คลายอย่างไร

การรบเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาตลอดในช่วงประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ซึ่งนอกจากจะส่งผลทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น การแบ่งเขตประเทศแล้ว การรบหลายๆ ครั้งยังเป็นบ่อเกิดของศัพท์และสำนวนในภาษาที่เราใช้กันอีกด้วย

สัปดาห์นี้ Word Odyssey จะขอพาไปย้อนเวลากลับไปดู 3 สมรภูมิรบในอดีต พร้อมสำรวจสำนวนในภาษาอังกฤษ  3 สำนวนที่เกิดขึ้นจากการรบดังกล่าว

 

Pyrrhic victory ชนะก็เหมือนแพ้

สำนวนนี้มาจากชื่อ กษัตริย์พิรัส (Pyrrhus) แห่งแคว้นอีไพรัส (Epirus) ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรีซโบราณ เมื่อสมัยราว 300 ปีก่อนคริสตกาล

ในช่วงปี 280-279 ก่อนคริสตกาล พิรัสยกทัพไปตีโรมเพราะเมืองทาเรนทัม (Tarentum) ที่กำลังทำสงครามกับโรมอยู่ขอร้องให้ไปช่วย เนื่องจากพิรัสเป็นแม่ทัพที่เก่งกาจ แถมทัพของพิรัสยังมีช้างอีกด้วย จึงรบชนะทัพโรมันได้ถึงสองรอบ แต่ชัยชนะที่ได้มานี้แลกมากับจำนวนไพร่พลมากมายจนพูดว่าชนะได้ไม่เต็มปาก เป็นชัยชนะที่ฝ่ายตนเองก็ย่อยยับจนได้แทบไม่คุ้มเสีย

เหตุการณ์นี้เป็นที่มาของสำนวน pyrrhic victory ในภาษาอังกฤษ หมายถึง ชัยชนะที่ได้ไม่คุ้มเสียเพราะฝั่งตัวเองก็เสียหายมากเช่นกัน ตัวอย่างเช่น หากบริษัทหนึ่งทุ่มเวลาและกำลังคนเพื่อโค่นบริษัทคู่แข่ง ในตอนสุดท้ายแม้ตนเองจะชนะ แต่สภาพบริษัทก็ยับเยินไม่แพ้คู่แข่ง แบบนี้ก็อาจจะเรียกชัยชนะนี้ว่าเป็น pyrrhic victory หรือหากรัสเซียเกิดเข้ายึดยูเครนสำเร็จ แต่ต้องแลกมากับการสูญเสียกำลังไพร่พลยุทโธปกรณ์มากมาย รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศล่มสลายเพราะโดนนานาประเทศคว่ำบาตร แบบนี้ก็ใช้คำว่า pyrrhic victory ได้เช่นกัน

 

Cross the Rubicon เริ่มทำสิ่งที่ถอยหลังกลับไม่ได้

รูบิคอน (Rubicon) เป็นชื่อแม่น้ำทางตอนเหนือของอิตาลี ย้อนกลับในช่วงกลางศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล ในสมัยที่โรมยังเป็นสาธารณรัฐ ถือเป็นพรมแดนทางตอนเหนือระหว่างอิตาลีกับแคว้นซิแซลไพน์ กอล (Cisalpine Gaul)

ในตอนนั้น จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) เพิ่งรบชนะสงครามกอล (Gallic War) ได้สำเร็จ และแสดงแสนยานุภาพขยายอาณาเขตของอาณาจักรออกไปไกลถึงแม่น้ำไรน์ (Rhine) ส่งผลให้ พอมพีย์ (Pompey) ผู้เป็นคู่แข่งทางการเมืองและวุฒิสภาเกิดไม่ไว้วางใจ ไม่ต้องการให้ซีซาร์มีอำนาจมากไปกว่านี้

 ดังนั้น เมื่อซีซาร์หมดวาระปกครองแคว้นซิแซลไพน์ กอล ซึ่งอยู่ถัดจากอิตาลีขึ้นไปทางตอนเหนือและปัจจุบันคือดินแดนในประเทศฝรั่งเศส วุฒิสภาจึงออกคำสั่งเรียกตัวซีซาร์กลับเข้าโรม เพื่อหวังลดอำนาจทางเมือง เนื่องจากสมัยนั้นมีกฎหมายอยู่ว่า ผู้ปกครองแคว้นห้ามนำทัพออกจากเขตปกครองตนเอง หากนำทัพข้ามพรมแดนเข้ามาในอิตาลี จะถือเป็นศัตรูของรัฐ

แต่ทั้งนี้ ซีซาร์รู้ว่าถ้าตนเข้าเมืองตัวเปล่า ก็ย่อมต้องโดนพอมพีย์และพวกเล่นงานแน่ จึงตัดสินใจนำทัพของตนเองข้ามแม่น้ำรูบิคอน ซึ่งนับเป็นการประกาศสงครามโดยปริยาย

เนื่องจากการข้ามแม่น้ำรูบิคอนและการประกาศสงครามนับเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ที่หวนกลับไปแก้ไขไม่ได้ เหตุการณ์นี้จึงถูกหยิบยกมาใช้เป็นสำนวนในภาษาอังกฤษว่า cross the Rubicon หมายถึง ลงมือทำสิ่งที่รู้ว่าจะย้อนกลับไปแก้ไขไม่ได้ ลงมือแล้วต้องเดินหน้าลูกเดียว เช่น การที่ประเทศอังกฤษตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรป เราก็อาจเรียกเป็นการ cross the Rubicon ก็ได้ เพราะคงจะกลับไปขอเข้าร่วมสหภาพอีกไม่ได้ง่ายๆ

 

Meet your Waterloo พ่ายแพ้ยับเยิน

สำนวนนี้มีที่มาจากชื่อหมู่บ้านวอเทอร์ลู (Waterloo) อันเป็นสมรภูมิรบชื่อก้องโลกในสมัยศตวรรษที่ 19

ในปี 1815 จักรพรรดินโปเลียนที่ถูกเนรเทศให้ไปอยู่เกาะเอลบา (Elba Island) ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส สามารถหนีออกจากเกาะและกลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง ทำให้ชาติอื่นๆ เริ่มจัดกองทัพผสมเพื่อมาบุกฝรั่งเศส นโปเลียนจึงเคลื่อนทัพออกไปรบและนำไปสู่การศึกที่วอเทอร์ลู (ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในประเทศเบลเยี่ยม) ปรากฏว่า แม้นโปเลียนจะเป็นจักรพรรดิที่เก่งกาจเรื่องการรบ แต่ในการศึกครั้งนี้กลับแพ้ย่อยยับ ทำให้โดนชาติยุโรปอื่นๆ บีบให้สละราชสมบัติและถูกเนรเทศอีกครั้งไปอยู่ที่เกาะเซนต์เฮเลนา (Saint Helena)

ชื่อสมรภูมิการรบครั้งนั้น ทำให้เกิดสำนวน meet one’s Waterloo หมายถึง พบกับความพ่ายแพ้ เจอสิ่งที่ตนเองเอาชนะไม่ได้ในที่สุด เช่นเดียวกับที่นโปเลียนพ่ายแพ้ที่วอเทอร์ลู ตัวอย่างเช่น หากเราเล่นเกมแข่งกับเพื่อนแล้วชนะมาตลอด จนกระทั่งมาเจอกับมืออาชีพที่เล่นยังไงเราก็เอาชนะไม่ได้เสียที แบบนี้เราก็อาจจะพูดว่า I guess I’ve met my Waterloo.

 

บรรณานุกรม

 http://oed.com/

 Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

 American Heritage Dictionary of the English Language

 Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

 Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.

 Longman Dictionary of Contemporary English

 Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

 Merriam-Webster Dictionary 

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

 Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

 Shorter Oxford English Dictionary

Tags: , , ,