เนื่องจากมนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบโดยธรรมชาติอยู่แล้ว จึงไม่แปลกเลยที่เราจะมีความลักลั่นทางความคิดหรือศีลธรรมอยู่บ้าง เช่น ไปบอกให้คนอื่นทำตัวสุภาพมีมารยาท แต่ตนเองกลับแสดงกิริยากักขฬะอยู่เนืองๆ เสียเอง หรือพระที่พร่ำสอนไม่ให้คนดื่มเหล้าแต่แอบดื่มเบียร์ในกุฏิเมื่อตกดึก

คนประเภทนี้ในภาษาอังกฤษเรียกรวมๆ ว่า ‘hypocrite’ ส่วนในภาษาไทยมีศัพท์สำนวนที่ใช้พูดถึงได้หลายหลากตามสถานการณ์ ตั้งแต่ ‘ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง’ ‘ปากว่าตาขยิบ’ ‘มือถือสากปากถือศีล’ ‘พูดอย่างทำอย่าง’ ไปจนถึง ‘หน้าไหว้หลังหลอก’

เนื่องจากเราต้องมีโอกาสได้พานพบคนแบบนี้อยู่แล้วในชีวิต (หรือไม่ก็เป็นเสียเอง) ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่าในภาษาอังกฤษมีศัพท์สำนวนอะไรบ้างที่เรานำมาใช้พูดกับเหล่า hypocrite ได้

 

Look who’s talking! ไม่เข้าตัวเลยจ้ะ

ถามจริง สั่งสอนคนอื่นเรื่องมารยาทนี่ไม่เขินบ้างเหรอ

ตัวเองแสดงกริยาเลวทราม

โยนเปลือกกล้วยและพ่นแอลกอฮอล์ใส่นักข่าว

แต่กล้าว่านักข่าวที่นั่งไขว่ห้าง

That’s rich, coming from you! กล้าพูดเนอะ

อะไรนะ ขอให้ทุกคนเคารพกฎหมาย

โห ขอบคุณที่กล้าสอนหนู

ขอถามสั้นๆ ว่า

แล้วใครนะที่ฉีกรัฐธรรมนูญ

Whited sepulcher มือถือสาก ปากถือศีล

ทำตัวสูงส่งทางศีลธรรม

เข้าวัดเข้าวา ธรรมะธัมโม

กินมังสวิรัติเพราะไม่อยากเบียดเบียนเพื่อนร่วมโลก

แต่เห็นชาวเมียนมาโดนทหารไล่ยิงถึงในบ้าน

กลับไม่รู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อน

บอกว่าเป็นเรื่องของเขา

ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง

คำว่า whited sepulcher แปลตรงตัวคือห้องสุสานที่ฉาบด้วยปูนขาว ภายนอกดูงดงาม แต่ข้างในบรรจุกระดูกไว้ เปรียบเปรยได้กับคนที่ภายนอกดูธรรมธัมโม แต่ความคิดภายในโสมม ภาพเปรียบเปรยนี้มีที่มาจากคัมภีร์ไบเบิ้ล พระวรสารนักบุญมัทธิว 23:27 ซึ่งเขียนไว้ว่า “วิบัติแก่เจ้า พวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสี คนหน้าซื่อใจคด เพราะว่าเจ้าเป็นเหมือนอุโมงค์ฝังศพซึ่งฉาบด้วยปูนขาว ข้างนอกดูงดงาม แต่ข้างในเต็มไปด้วยกระดูกคนตาย และสารพัดโสโครก” 

You can talk! กล้าพูดเนอะ

บอกให้คนอื่นประพฤติตามศีลข้อสาม

แต่สุดท้ายตัวเองนั่นแหละที่ทำไม่ได้

มีผัวหลายคน มีเมียหลายคน

แบบนี้ไม่โอเคหรือเปล่านะ

The pot calling the kettle black ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง

บอกว่าพวกสนับสนุนม็อบรับข้อมูลฝ่ายเดียวบ้าง

ถูกล้างสมองบ้าง

แต่ตัวเองก็ตามด่าสื่อที่เสนอความเห็นต่าง

และติดตามแต่สื่อที่เห็นพ้องกับความคิดตัวเอง

ทั้งหม้อและกาน้ำต่างก็ต้องตั้งบนเตาและมีรอยด่างดำเป็นธรรมดา ดังนั้น ต่างฝ่ายจึงต่างไม่ควรชี้ว่าอีกฝ่ายมีรอยดำเพราะตนเองก็ดำเช่นกัน บางครั้งอาจจะพูดติดตลกว่า Hi, pot, meet kettle! ก็ได้

People who live in glass houses should not throw stones มีชนักติดหลัง ไม่ควรว่าคนอื่น

อะไรนะ การออกมาชุมนุมปิดถนนคือการสร้างความเดือดร้อน

แต่น้องเคยเห็นภาพคุณพี่ตอนปิดสนามบินนะ

สุภาษิตนี้บางครั้งก็จะพูดย่อๆ เหลือเพียง People in glass houses

You’re a fine one to talk! พูดไม่อายปากเนอะ

อะไรนะ ห้ามใช้ชื่อสถาบันการศึกษาในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเหรอ

แล้วหลายปีก่อนใครเอาชื่อโรงเรียนไปขึ้นป้ายเดินประท้วงนะ

 

 

บรรณานุกรม

http://oed.com/

Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

Brenner, Gail. Webster’s New World American Idiom Handbook. Wiley Publishing: Indianapolis, 2003.

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Idioms and Their Origins. Kylie Cathie: London, 2011.

Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.

Jack, Albert. Red Herrings and White Elephants: The Origins of the Phrases We Use Every Day. Metro Publishing: London, 2004.

Longman Dictionary of Contemporary English

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Shorter Oxford English Dictionary

 

Fact Box

อันที่จริงแล้ว หากว่ากันตามหลักการใช้เหตุผล การปัดตกข้อวิจารณ์ของผู้อื่นเพียงเพราะคนคนนั้นก็เคยทำผิดอย่างที่ตัวเองวิจารณ์ไปนั้นถือเป็นตรรกะวิบัติ (logical fallacy) แบบหนึ่ง เรียกว่า tu quoque (ทำนองว่า แกก็เคยทำแบบนี้ แกไม่มีสิทธิ์วิพากษ์) ซึ่งจัดเป็นการอ้างโจมตีตัวบุคคล (ad hominem) แบบหนึ่ง ที่นับเป็นตรรกะวิบัติก็เพราะการอ้างเหตุผลแบบนี้ไม่ได้ดูที่ตัวการให้เหตุผลจริงๆ เลยว่าถูกผิดเพียงใด แต่รีบปัดตกเพียงเพราะตัวผู้พูด ซึ่งอันที่จริงแล้ว เราควรพิจารณาข้อวิจารณ์นั้นด้วยตัวของมันเองโดยไม่คำนึงว่าใครเป็นผู้เสนอ

Tags: , , , ,