ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รับรองอาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ให้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 17 อย่างเป็นทางการ หลังจากที่ได้รับคะแนนแบบล้นหลามในการเลือกตั้งเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ทำให้คน กทม. จำนวนมาก (อย่างน้อยก็ราว 1.3 ล้านคนที่ได้กาเลือกผู้ว่าฯ คนนี้มา) ออกมาแสดงความดีใจในโลกออนไลน์ที่ได้ลิ้มรสความหวังอีกครั้งหลังจากที่ต้องอยู่กับผู้ว่าฯ ที่ตนเองไม่ได้เลือกมาเป็นเวลา 5 ปี

สัปดาห์นี้ Word Odyssey ขอพาไปต้อนรับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ด้วยสำนวนและสุภาษิตในภาษาอังกฤษว่าด้วยความหวัง

Hope springs eternal ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ย่อมมีความหวัง

แม้ทนกับภาวะน้ำท่วมรถติดมาแสนนานจนแทบถอดใจ

ว่านี่คือสภาพปกติที่เลี่ยงไม่ได้เหมือนความตายและภาษี

แต่ชาว กทม. ก็ยังไม่สิ้นหวัง พากันเข้าคูหา

ไปเลือกคนที่ตนคิดว่าจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

นี่แหละที่เขากล่าวกันว่า

เมื่อขึ้นชื่อแล้วว่าเป็นมนุษย์ ความหวังย่อมผุดพรายในอกไม่รู้สิ้น

สุภาษิตนี้พูดเต็มๆ ว่า Hope springs eternal in the human breast. มีที่มาจากกลอน Essay on Man ที่ อเล็กซานเดอร์ โป๊ป (Alexander Pope) ประพันธ์ขึ้นในปี 1734

อีกสำนวนหนึ่งที่ใกล้เคียงกันคือ Where there’s life, there’s hope. แปลตรงตัวได้ว่า ที่ใดมีชีวิต ที่นั่นย่อมมีหวัง

Hope is a good breakfast but a bad supper. เมื่อเห็นเค้าลางไม่ดีแล้ว หากคาดหวังก็จะมีแต่จะผิดหวัง

ยังพอเข้าใจได้หากหลายคนจะเคยหลงวาดหวัง

ว่านายกฯ คนปัจจุบันจะนำพาประเทศสู่ความเจริญ

แต่หากผ่านมา 8 ปีแล้ว คุณพี่ยังมองโลกในแง่ดี

แบบนี้ควรเตรียมใจผิดหวังไว้บ้าง

สำนวนนี้เปรียบช่วงเริ่มต้นกับช่วงต้นวันที่เรารับประทานมื้อเช้าและเปรียบช่วงตอนจบกับช่วงท้ายวันที่เรารับประทานมือค่ำ ใจความของสำนวนนี้ คือในช่วงเริ่มแรก การมีความหวังเป็นเรื่องดี แต่หากล่วงเลยไปจนถึงช่วงท้ายและเริ่มเห็นแล้วว่าสิ่งที่เราหวังไม่น่าเกิดขึ้นจริง การรั้นตั้งความหวังต่อไปก็รังแต่จะนำมาซึ่งความผิดหวังในที่สุด สำนวนนี้ปกติแล้วใช้เพื่อเตือนคนที่หวังกับเรื่องที่ดูแล้วไม่น่าเป็นไปได้

Hope deferred makes the heart sick. คนเราย่อมทดท้อหากหวังไม่เป็นจริงเสียที

หากผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่เข้ามาทำงานแล้ว

แต่ความหวังที่จะได้เดินทางเท้าสะดวกสบาย

ไม่ต้องเขย่งเท้าหลบหลุมน้ำขัง ไม่ต้องก้มหัวหลบสายไฟ

กลับยังถูกผลักถอยออกไป ไม่เป็นจริงเสียที

แบบนี้จิตใจชาว กทม. คงกลับไปห่อเหี่ยวเหมือนก่อน

สำนวนนี้มาจากคัมภีร์ไบเบิล สุภาษิต (Proverbs) 13:12 ที่กล่าวว่า “Hope deferred makes the heart sick, but a longing fulfilled is a tree of life.” คำแปลไทยฉบับมาตรฐานคือ “ความหวังที่ถูกหน่วงไว้ทำให้อ่อนใจ แต่การสมปรารถนาเป็นต้นไม้แห่งชีวิต”

Hope for the best but prepare for the worst มีความหวังแต่ไม่ประมาท

แม้ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่อาจทำให้หลายคนหัวใจพองโตด้วยความหวัง

ว่าคุณภาพชีวิตในเมืองกรุงจะดีขึ้นกว่าแต่ก่อน

แต่อย่าลืมว่าอุปสรรคขัดขวางมีมากมาย

ตั้งแต่นักร้องที่ร้องแรกแหกกระเชอตั้งแต่ยังไม่ทันเข้ารับตำแหน่ง

ไปจนถึงงบประมาณรายจ่ายที่เหลือเพียง 94 ล้านบาท

ดังนั้นจึงต้องเผื่อใจไว้บ้างว่าสิ่งต่างๆ อาจไม่เป็นดังหวัง

If it were not for hope, the heart would break. หากไม่มีหวัง หัวใจคงแตกสลาย

แม้ กทม. จะมีปัญหารุมเร้าจนดูเกินเยียวยา

ทั้งรถติด น้ำท่วม คลองเหม็นเน่า รถประจำทางเก่าคร่ำครึ

แต่หากเราไม่มีความหวังว่าปัญหาเหล่านี้แก้ได้

ยอมรับชะตากรรมว่า กทม. ก็เป็นเช่นนี้

ชีวิตก็คงมืดมัว ไม่มีกำลังใจในการใช้ชีวิต

บรรณานุกรม

 https://www.biblegateway.com/passage/?search=Proverbs%2013%3A12&version=NIV

https://www.bible.com/th/bible/174/PRO.13.12.THSV11

http://oed.com/

Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

American Heritage Dictionary of the English Language

 Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.

Longman Dictionary of Contemporary English

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Shorter Oxford English Dictionary

Speake, Jennifer. Oxford Dictionary of Proverbs. Oxford University Press: Oxford, 2008.

 

Tags: ,