หลังจากที่เคยเขียนคำในภาษาอังกฤษที่มี ‘แม่’ ซ่อนอยู่อย่างแยบยลไปแล้ว (https://themomentum.co/mother-word-odyssey/) เนื่องในโอกาสที่วันพ่อกำลังจะเวียนมาบรรจบอีกครั้ง สัปดาห์นี้ Word Odyssey ขอพาไปดูชื่อและคำศัพท์ในภาษาอังกฤษที่หากดูเผินๆ แล้วอาจคาดไม่ถึงว่ามี ‘พ่อ’ ซ่อนอยู่ข้างในด้วย ตั้งแต่ชื่อราชินีอียิปต์คลีโอพัตรา ไปจนถึงดาวพฤหัสและชาวต่างชาติ
[1]
Cleopatra
หากให้คนทั่วไปเอ่ยชื่อราชินีอียิปต์โบราณสักองค์ ชื่อแรกๆ ที่คนจะนึกถึงก็น่าจะมีคลีโอพัตราติดโผอยู่ด้วย
ชื่อของราชินีองค์สุดท้ายของอียิปต์ก่อนตกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมันนี้ ประกอบขึ้นจากคำว่า kleos ในภาษากรีก หมายถึง เกียรติยศ ความรุ่งโรจน์ ชื่อเสียงขจรขจาย รวมกับคำว่า pater ที่แปลว่า พ่อ ได้ความหมายรวมว่า เกียรติยศหรือความรุ่งโรจน์ของพ่อ นั่นเอง (อันที่จริงแล้ว ชื่อ Patroclus “เพื่อน” รักของ Achilles เองก็ประกอบขึ้นจากสองคำนี้และมีความหมายแบบเดียวกัน เพียงแต่เป็นชื่อผู้ชายเท่านั้นเอง)
ความเชื่อมโยงระหว่างพระนางคลีโอพัตรากับพ่อยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ เพราะชื่อเต็มๆ ของพระนางคือ Cleopatra VII Philopator และ Philopator ในที่นี้ก็ประกอบจากคำว่า philos ในภาษากรีกที่แปลว่า รัก รวมกับ pator ที่แปลว่า พ่อ รวมความหมายได้ว่า ผู้รักพ่อ (บ้างก็บอกว่าหมายถึงผู้เป็นที่รักของพ่อ)
ทั้งนี้ พระนางคลีโอพัตราไม่ใช่คนแรกที่ชื่อ Cleopatra เพราะน้องสาวของอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) ก็ชื่อ Cleopatra เช่นกัน ส่วน Philopator ก็เป็นสมญานามของกษัตริย์หลายคนในยุคเฮลเลนิสติก เช่น กษัตริย์ทอเลมีที่ 4 (Ptolemy IV Philopator) เป็นต้น
[2]
Jupiter
แม้เราอาจจะคุ้นกับคำนี้ในฐานะชื่อของดาวพฤหัส แต่อันที่จริงแล้ว ชื่อดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยจักรวาลนี้มาจากชื่อเทพจูปิเตอร์ เทพในปกรณัมโรมันที่เทียบได้กับซุส (Zeus) ของชาวกรีก เป็นมหาเทพผู้ปกครองเหล่าทวยเทพโอลิมปัส ทั้งยังเป็นเทพแห่งท้องฟ้าและสายฟ้า
ทั้งนี้ เทพที่มีลักษณะเป็นผู้ครองท้องฟ้าและเป็นหัวหน้าที่เปรียบได้กับพ่อของเหล่าทวยเทพอย่างจูปิเตอร์/ซุสไม่ได้เพิ่งมามีเอาในสมัยกรีกโรมัน แต่ว่ากันว่ามีเทพลักษณะนี้ตั้งแต่สมัยโปรโตอินโดยูโรเปียนแล้ว (บรรพบุรุษของชนชาติต่างๆ ในยุโรปและเอเชียในปัจจุบัน) ด้วยเหตุนี้ ชื่อที่ใช้เรียกเทพเหล่านี้จึงสืบสาวกลับไปถึงสมัยโปรโตอินโดยูโรเปียนได้ด้วย
ว่ากันว่าชื่อ Jupiter นี้ไม่ได้เป็นคำโดดๆ ที่ผุดออกมาจากอากาศธาตุ แต่กร่อนมาจากคำประกอบ djous pater ในภาษาโปรโตอิตาลิก หมายถึง บิดาแห่งฟากฟ้า มาจาก djous หมายถึง แสงสว่าง กลางวัน รวมกับ pater ที่แปลว่า พ่อ ซึ่งทั้งหมดนี้สืบสาวกลับไปได้ถึงชื่อมหาเทพผู้ปกครองท้องฟ้า djous pater ในภาษาโปรโตอินโดยูโรเปียน นั่นเอง (ทั้งนี้ ชื่อ Zeus เองก็มาจาก djous ที่ว่านี้ และบางครั้งชาวกรีกโบราณก็เรียกซุสว่า Zeu pater หมายถึง บิดาแห่งฟากฟ้า แบบนี้เช่นกัน)
[3]
Expat
ปกติแล้ว คำนี้มักใช้เรียกชาวต่างชาติที่ไปอาศัยในประเทศอื่น โดยเฉพาะพวกที่ไปปักหลักอยู่เป็นเวลานาน อาจจะไปทำงานหรือใช้ชีวิตหลังเกษียณในประเทศนั้นๆ
คำนี้ย่อมาจากคำเต็มๆ ว่า expatriate มาจากการนำคำว่า patria ในภาษาละตินที่แปลว่า แผ่นดินบ้านเกิด มาเติมส่วนเติมหน้า ex- ที่แปลว่า นอก ได้ความหมายรวมว่า ผู้ที่อยู่นอกแผ่นดินบ้านเกิด (ใครที่คุ้นเคยกับกลอนสมัยสงครามโลกก็อาจจะนึกถึงกลอน Dulce et Decorum Est ของ โอเวน วิลสัน (Owen Wilson) เพราะในวรรคสุดท้ายของกลอนนี้อ้างถึงวลีดัง Dulce et decorum est pro patria mori. ของกวีโรมันฮอเรซ (Horace) ซึ่งหมายถึง การตายเพื่อประเทศบ้านเกิดเมืองนอนเป็นสิ่งหอมหวานและสมควร)
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คำว่า patria ที่ว่านี้ก็เป็นคำที่ลดทอนมาอีกทีจากวลีภาษาละติน terra patria ประกอบจาก terra ที่แปลว่า ผืนดิน (แบบที่เจอในคำว่า territory ที่แปลว่า ดินแดน หรือ subterranean ที่แปลว่า ใต้ดิน) รวมกับ patria นี้หมายถึง ของพ่อ ของบรรพบุรุษ ได้ความหมายว่า ดินแดนของพ่อหรือบรรพบุรุษ ซึ่งหมายถึง บ้านเกิด นั่นเอง (ต่างจากในภาษาไทยที่โยงดินแดนบ้านเกิดกับแม่ แบบที่เห็นในคำว่า มาตุภูมิ)
ทั้งนี้ patria ที่แปลว่า บ้านเกิด นี้ ยังเป็นที่มาของคำว่า patriot ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า ผู้รักชาติ และ patriotism ที่หมายถึง ความรักชาติ อีกด้วย
[4]
Pattern
แม้ว่าดูเผินๆ แล้วคำว่า pattern ไม่น่าจะเกี่ยวกับพ่อได้เลย แต่อันที่จริงแล้วคำนี้ก็สืบสาแหรกกลับไปได้ถึงคำว่า pater ในภาษาละตินที่แปลว่า พ่อ ได้เช่นเดียวกันกับคำอื่นๆ ก่อนหน้านี้ที่เราได้เห็นมา เพียงแต่เส้นทางอาจเคี้ยวคดลดเลี้ยวกว่าคำอื่นๆ สักหน่อย
ด้วยความที่คนเรามักนำความสัมพันธ์ในครอบครัวไปทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ คำว่า pater ที่แปลว่า พ่อ ในภาษาละตินจึงถูกนำไปสร้างคำใหม่ๆ มากมาย ซึ่งหนึ่งในคำนั้นก็คือ patronus ในภาษาละติน หมายถึง ผู้ปกป้อง ผู้พิทักษ์ คล้ายๆ กับที่พ่อเป็นคนปกป้องดูแลครอบครัว (patronus ที่นี้คือคำเดียวกับที่อยู่ในคาถาผู้พิทักษ์ expecto patronus ในเรื่อง Harry Potter)
คำว่า patronus นี้ ภาษาฝรั่งเศสเก่าได้ยืมเข้าไปเป็นคำว่า patron หมายถึง ผู้พิทักษ์ แต่ในเวลาต่อมา ความหมายของคำนี้ก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปหมายถึงนักบุญที่เป็นผู้ปกปักษ์รักษาหรือเป็นองค์อุปถัมภ์ด้านต่างๆ (แบบที่ทุกวันนี้เรียก patron saint) และกลายไปหมายถึง ผู้อุปถัมภ์ศิลปิน ผู้ว่าจ้างศิลปินให้สร้างงานศิลปะ
แต่เนื่องจากผู้ที่จะว่าจ้างให้ศิลปินทำงานศิลปะให้ก็มักจะต้องให้ตัวต้นแบบแก่ศิลปิน คำว่า patron จึงเริ่มงอกแตกความหมายใหม่ออกมาด้วย หมายถึง ต้นแบบ ตัวอย่าง และในท้ายที่สุด คำว่า patron ในความหมายนี้ก็ค่อยๆ เพี้ยนจนกลายมาเป็นคำว่า pattern และหมายถึง รูปแบบ แบบแผน อย่างในปัจจุบันนี้นั่นเอง
ส่วนความหมายของคำว่า patron ที่แปลว่า ผู้อุปถัมภ์ศิลปิน นั้นก็ไม่ได้ถูกแช่แข็งอยู่กับที่แต่อย่างใด เพราะความหมายก็ยังคงพัฒนาต่อไปจนกลายมาหมายถึง ผู้มีอุปการคุณที่ไปอุดหนุนกิจการร้านค้า หรือ ลูกค้า ด้วย เช่น This car park is for patrons only. ก็คือ ที่จอดรถสำหรับลูกค้าเท่านั้น
[5]
Perpetrator
คำนี้เป็นคำกว้างๆ ที่เราใช้เรียก ผู้กระทำความผิด หรือ ผู้ก่ออาชญากรรม ในสหรัฐอเมริกา บางครั้งก็พูดย่อๆ เหลือแค่ perp เวลาพูดอย่างไม่เป็นทางการ เช่น The perp who stole the school bus needs to be put in jail. ก็คือ เราต้องจับไอ้คนร้ายที่ขโมยรถโรงเรียนมาเข้าคุก
คำนี้มาจากคำว่า perpetrate ที่แปลว่า ก่อ กระทำ (ส่วนมากใช้กับเรื่องเชิงลบ) ซึ่งประกอบขึ้นจากส่วนเติมหน้า per- ที่แปลว่า ถ้วนทั่ว สมบูรณ์ รวมกับกริยา patrare ในภาษาละติน หมายถึง ก่อ กระทำ ให้กำเนิด
ส่วนที่กริยา patrare มีความหมายว่า ให้กำเนิด หรือ ก่อให้เกิด ได้ ก็เพราะมาจากคำภาษาละติน pater ที่แปลว่า พ่อ ซึ่งมีส่วนในการให้กำเนิดชีวิตนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ คำว่า perpetrator ที่แปลว่า ผู้กระทำความผิด จึงมี ‘พ่อ’ แฝงอยู่ด้วย
บรรณานุกรม
http://oed.com/
American Heritage Dictionary of the English Language
Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
Mallory, J. P., D.Q. Adam. The Oxford Introduction to Proto-Indo-European and the Proto-Indo-European World. OUP: Oxford, 2006.
Merriam-Webster Dictionary
Oxford Advanced Learners’ Dictionary
Shorter Oxford English Dictionary
The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.
Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.