“ขอเวลาอีกไม่นาน”

ในการตัดสินว่าช่วงเวลาหนึ่งเรียกว่านานหรือไม่ เราอาจกล่าวได้ว่าเวลาเป็นสิ่งสัมพันธ์ (relative) นั่นคือ ช่วงเวลานั้นจะเรียกว่านานหรือเปล่า ขึ้นอยู่กับว่าเราเปรียบเทียบช่วงเวลานั้นกับอะไร เช่น สำหรับคนอายุ 70 ช่วงเวลา 7 ปีที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในอำนาจก็อาจไม่เรียกว่านานมาก เพราะคิดเป็นเพียงหนึ่งในสิบของอายุคนคนนั้น แต่สำหรับเด็กอายุ 14 ปี ก็อาจจะเรียกว่านานมาก เพราะเรียกได้ว่าใช้ชีวิตครึ่งหนึ่งภายใต้ผู้นำคนนี้ หรือในช่วงเวลาที่ทั่วโลกแย่งชิงวัคซีน แค่เงื้อง่าราคาแพงอยู่สองสัปดาห์ก็ถือว่านานโขแล้ว

ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่าในภาษาอังกฤษ มีศัพท์และสำนวนอะไรบ้างที่เราหยิบมาใช้พูดถึงระยะเวลาอันแสนนานได้

Eternity นิจนิรันดร์

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในอำนาจมา 7 ปีเองเหรอ
ทำไมรู้สึกยาวนานเหมือนนิจนิรันดร์

It feels like an eternity.

ความหมายหลักของคำนี้ หมายถึง นิจนิรันดร์ ช่วงเวลาที่ดำเนินไปเรื่อยๆ ไม่มีจุดสิ้นสุด จึงถูกนำมาใช้เปรียบเปรยพูดถึงช่วงเวลาที่รู้สึกนานราวกับไม่มีจุดสิ้นสุดได้ด้วย

Eon ยาวนานราวอสงไขย

เมื่อ 7 ปีที่แล้ว

อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญค้านกู้เงินสร้างรถไฟความเร็วสูง

อ้างว่ายังไม่จำเป็นสำหรับประเทศไทย ควรให้ถนนลูกรังหมดไปก่อน

จนตอนนี้ประเทศเพื่อนบ้านเรามีรถไฟความเร็วสูงใช้แล้ว

คนไทยได้แต่มองตาปริบๆ

สงสัยต้องรอสิ้นอสงไขยกว่าจะได้มีรถไฟความเร็วสูงใช้

It will be an eon before we have a high speed train here in Thailand.

คำนี้ในภาษาอังกฤษแบบบริติชสะกดว่า aeon (แบบเดียวกับยี่ห้อสถาบันการเงินเลย) สืบต้นตอกลับไปได้ถึงคำว่า aion ในภาษากรีก หมายถึง ช่วงอายุคน ยุค หรือเวลาอันยาวนาน ในปัจจุบันใช้หมายถึง ช่วงเวลาอันยาวนานแบบที่ไม่รู้ว่าสิ้นสุดเมื่อไร หรือจะใช้แบบเปรียบเปรยหมายถึง นานมากๆ ก็ได้เช่นกัน

Lifetime ยาวนานเป็นชาติ เท่าช่วงชีวิต

คิดถึงสมัยที่ประเทศไทยยังพอมีประชาธิปไตย

คน กทม. ยังได้เลือกตั้งผู้ว่าเอง

แต่นั่นมันก็ผ่านมาได้สักชาติหนึ่งแล้วเนอะ

That was a lifetime ago.

คำนี้ปกติใช้หมายถึง ช่วงที่มีชีวิตอยู่ ช่วงอายุขัย (ถ้าพูดแบบไทยๆ ก็คือ ชาติ แบบใน ชาตินี้ ชาติหน้า) แต่สามารถนำมาใช้เปรียบเปรยพูดถึงช่วงเวลาที่ยาวนานได้ด้วย คล้ายๆ ที่คนไทยพูดว่า นานเป็นชาติ

Forever นานชั่วกัลปาวสาน

ตอนหาเสียงแถลงนโยบายยิ่งใหญ่

ค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท

เด็กจบใหม่เว้นภาษี 5 ปี

พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เว้นภาษี 2 ปี

ลดภาษีบุคคลธรรมดา 10%

รอมานานชั่วกัลปาวสาน

ไม่เห็นทำตามสัญญาสักข้อ

We’ve been waiting forever, in vain, for them to come through on their promises.

คำนี้โดยปกติใช้พูดถึงสิ่งที่คงอยู่ตลอดไป แต่สามารถนำมาใช้แบบเกินจริงเพื่อพูดถึงเวลาที่ยาวนานมากๆ ก็ได้ หากเป็นความหมายนี้ จะพูดว่า forever and a day ก็ได้

Ages เป็นชาติ

ปุจฉา: อีกนานเท่าไร เมืองไทยถึงจะหลุดออกจากวังวนรัฐประหาร

วิสัชนา: คงอีกเป็นชาติ

It will probably take ages before we can break the vicious cycle of coups.

ปกติแล้วนอกจากจะใช้พูดถึงอายุแล้ว เรายังใช้คำนี้พูดถึง ยุค สมัย ได้ด้วย เนื่องจากยุคสมัยมักกินเวลานาน คำว่า ages จึงถูกนำมาใช้แบบเกินจริงเพื่อพูดถึงระยะเวลาที่นานมากๆ ได้ด้วย

A month of Sundays ชั่วนาตาปี

โวไม่รู้กี่รอบว่าจะยกภาษาอังกฤษเป็นวาระแห่งชาติ

ตั้งเป้าสวยหรูเด็กไทยต้องสื่อสารได้

คะแนนทักษะภาษาอังกฤษล่าสุดรั้งตำแหน่ง 100 จาก 112 ประเทศ

ดีแต่ลมปากแบบนี้

อีกกี่ปีกี่ชาติก็ทำไม่สำเร็จหรอก

Without taking real action, the government won’t be able to improve Thailand’s English proficiency in a month of Sundays.

สำนวนนี้ถ้าแปลตรงๆ จะหมายถึง วันอาทิตย์ 30 ครั้งหรือราว 30 สัปดาห์นั่นเอง แต่ไม่เคยปรากฏว่ามีการใช้สำนวนนี้ตามความหมายนี้จริงๆ โดยมากแล้วสำนวนนี้จะใช้หมายถึง ระยะเวลาที่นานมากๆ เช่น It will take you a month of Sundays to finish all these books. (กว่าจะอ่านหนังสือพวกนี้หมดคงนานโข) หรือไม่ก็ใช้ร่วมกับคำที่แสดงความเป็นปฏิเสธอย่าง not เพื่อสื่อว่า สิ่งๆ หนึ่งไม่น่าทำได้สำเร็จแม้จะใช้เวลามากเพียงใดก็ตาม

Until the cows come home จนชั่วฟ้าดินสลาย

เห็นทัศนคติคร่ำครึของผู้มีอำนาจแล้ว

ดูท่าแล้วเรียกร้องสมรสเท่าเทียมจนชั่วฟ้าดินสลาย

ก็คงไม่สำเร็จตราบใดที่ไดโนเสาร์เหล่านี้ยังครองอำนาจ

As long as these dinosaurs are in power, we can advocate for marriage equality until the cows come home, but we’ll never be successful.

ว่ากันว่าสำนวนนี้มีที่มาจากการที่วัวเป็นสัตว์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความชิวและเชื่องช้า เวลาปล่อยออกไปกินหญ้าทีก็ต้องรอเป็นเวลานานกว่าจะทอดน่องกลับมาได้

 

บรรณานุกรม

http://oed.com/

Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Crystal, David, and Ben Crystal. Shakespeare’s Words: A Glossary & Language Companion. Penguin Books: London, 2002.

Elizabeth, Mary. Barron’s American Slang Dictionary and Thesaurus. Barron’s Education Series: New York, 2009.

Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.

Longman Dictionary of Contemporary English

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Shorter Oxford English Dictionary

Tags: , , ,