เชื่อว่าตอนนี้คนไทยแทบทุกคนคงอยากถลกแขนเสื้อเพื่อรับวัคซีนกันเต็มแก่แล้ว เพราะเห็นแล้วว่าวัคซีน (ที่หมายถึงวัคซีนจริงๆ ไม่ใช่แบบที่รัฐมนตรีช่วยว่าการสาธารณสุขบอกว่าการใส่หน้ากากและล้างมือก็เป็นวัคซีน) เป็นทางออกที่จะทำให้เราปลอดภัยจากโควิด ติดแล้วอาการไม่หนักจนเสียชีวิต และยังอาจช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ที่จะช่วยให้เรากลับมาดำเนินชีวิตกันได้ใกล้เคียงปกติและเปิดประเทศได้
แต่ประเด็นที่ทำให้หลายคนชะงักไปก็คือเรื่องของทางเลือก เพราะในเมืองไทยขณะนี้ มีตัวเลือกวัคซีนจำกัดจำเขี่ยเหลือเกิน ทั้งยังไม่เปิดโอกาสให้เลือกวัคซีนเองอีกด้วย ส่วนใครที่อยากได้วัคซีนยี่ห้ออื่นนอกเหนือจากที่มีอยู่ ก็ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องรอไปจนกว่ารัฐจะเจรจากับบริษัทวัคซีนเสร็จและสั่งวัคซีนเข้ามา ทำให้หลายคนรู้สึกตกอยู่ในภาวะที่ไม่มีทางเลือกเท่าไร ส่วนทางเลือกที่มีอยู่ก็มีข้อเสียทุกอัน
ดังนั้น ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูสำนวนและสุภาษิตในภาษาอังกฤษที่นำมาใช้พูดถึงเรื่องตัวเลือก (และการไม่มีตัวเลือก) กัน
Between the devil and the deep blue sea เลือกทางไหนก็ไม่ดี
ไม่ฉีดก็โดนแซะว่าไม่ช่วยชาติ
แต่ฉีดตัวที่มีอยู่ก็ไม่มั่นใจอีกว่าจะเป็นอะไรไหม
คนในรัฐบาลยังเคยพูดไว้เองเลยว่า
ถ้าฉีดวัคซีนแล้ว “ผมช็อกตายไปจะทำยังไง”
เหมือนหันไปทางหนึ่งเห็นปีศาจ
หันอีกทางหนึ่งก็เป็นทะเลลึก
ไปทางไหนก็ฉิบหายพอกัน
ในภาษาอังกฤษมีอีกหลายสำนวนที่มีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น between a rock and a hard place, between Scylla and Charybdis และ on the horns of a dilemma
Faute de mieux เลือกเพราะไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่านี้
ถ้าฉันจะเลือกฉีดวัคซีนที่มีอยู่
ขอให้รู้ไว้ว่าไม่ใช่เพราะมีดาราออกมารณรงค์
ว่าวัคซีนที่ดีคือวัคซีนที่ฉีดได้เร็ว
ไม่ใช่เพราะฉันมั่นใจการบริหารวัคซีนของรัฐบาล
แต่เป็นเพราะฉันไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่านี้
สำนวนนี้ยืมมาจากภาษาฝรั่งเศส อ่านว่า โฟต เดอ มีเยอ มีวิธีการใช้คล้าย adverb เช่น I decided to take Sinovac, faute de mieux. ก็คือ ฉันตัดสินใจเลือกฉีดซิโนแวค เพราะไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่านี้
Beggars can’t be choosers อยู่ในสภาวะไม่มีสิทธิ์เลือก
อย่าว่าแต่เลือกยี่ห้อวัคซีนเลย
ถึงจะตกลงปลงใจฉีดวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามา
แค่จะขอฉีดเลยวันนี้ก็ยังไม่ได้
ดังนั้น ไม่ต้องมาบอกว่าวัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่ฉีดได้เร็วที่สุด
แต่ก็อย่างว่า เรามันไม่ได้มีอำนาจจัดหาวัคซีนเอง
อยู่ในสภาพไร้ทางเลือก
เขาจัดอะไรมาให้ฉีดก็ต้องฉีด กำหนดให้ฉีดวันไหนก็ต้องวันนั้น
เปรียบเป็นยาจก จะไปเลือกได้อย่างไรว่าคนเขาจะหยิบยื่นอะไรให้
A bird in hand is worth two in the bush กำขี้ดีกว่ากำตด
ใจจริงอยากได้วัคซีนยี่ห้ออื่น
แต่ด้วยวิถีชีวิตมีความเสี่ยง
ยอมฉีดๆ ให้ร่างกายมีภูมิบ้างก็แล้วกัน
กันติดไม่ค่อยได้ แต่กันตายได้ก็ยังดี
อย่างน้อยหากแจ็กพ็อตแตกติดโควิดขึ้นมา
จะได้ไม่ป่วยหนัก
ภาพในสำนวนนี้คือนกที่เราจับได้และอยู่ในกำมือเราแล้ว แม้มีแค่ตัวเดียวย่อมดีกว่าสองตัวที่อยู่ในพุ่มไม้ ซึ่งเราไม่รู้ว่าเราจะจับได้ไหม หรือจะบินหนีไป
Don’t put all your eggs in one basket อย่าใส่ไข่ทั้งหมดในตะกร้าใบเดียว
หนูจำไว้นะว่าอย่าแทงม้าตัวเดียว
ต้องรู้จักกระจายความเสี่ยง
จะได้มีทางเลือกเยอะๆ เผื่อเกิดอะไรขึ้นมา
ถ้าเอาไข่ทุกฟองที่มีใส่ตะกร้าใบเดียว
เดินสะดุดทำตะกร้าร่วงหรือลืมตะกร้าไว้ที่ไหน
จะไม่เหลือไข่สักฟองนะจ๊ะ
เข้าใจไหมหนู
Keep your options open เผื่อทางเลือกไว้เยอะๆ
หลายคนที่ยัดเยียดให้ลูกเรียนสายวิทย์
เพราะเชื่อว่าจะได้มีทางเลือกมากๆ
เป็นกลุ่มคนเดียวกับที่เห็นดีเห็นงาม
ที่ประเทศไทยแทงม้าวัคซีนน้อยเจ้า
ทำไมแบบนี้ไม่เผื่อทางเลือกไว้เยอะๆ บ้างเล่า
The lesser of two evils ตัวเลือกที่แย่น้อยกว่า
ในสภาวะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันยังไม่ลด
เลือกทู่ซี้เปิดร้านต่อไปก็มีแต่จะกลืนเลือดเสียเงินรายวัน
เลือกปิดกิจการก็ชอกช้ำขาดแหล่งรายได้
แม้ทั้งสองทางเลือกไม่มีอันไหนน่าอภิรมย์สักอัน
ก็คงต้องเลือกที่แย่น้อยกว่าสักอัน
สำนวนที่คล้ายกันอีกอันคือ pick your poison หมายถึง เลือกตัวเลือกที่เราพร้อมจะเผชิญจากตัวเลือกที่ไม่ดีเลยสักอัน เช่น จะทำงานบริษัทใหญ่ที่ได้เงินดี แต่งานหนักจนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน หรือทำงานบริษัทเล็กที่งานสบาย แต่ได้เงินน้อยนิด
Take potluck เลือกแบบเสี่ยงดวงเอา
ลงทะเบียนไปยังไม่รู้เลยจะได้วัคซีนตัวไหน
คงไปเสี่ยงดวงเอาหน้างาน
นึกเสียว่าสุ่มกาชาปองแล้วกัน
คำว่า potluck หมายถึง การกินข้าวร่วมกันแบบที่ต่างคนต่างนำอาหารมาคนละอย่างสองอย่างเพื่อแบ่งกันกิน เนื่องจากเราไม่มีทางรู้ว่าใครจะเอาอะไรมาบ้าง และเราจะได้กินอะไร จึงถูกนำมาทำเป็นสำนวน หมายถึง การเลือกแบบเสี่ยงดวงเอา
Grasp at straws มีอะไรก็เอาแล้วทั้งนั้น
ในโพสต์ที่ลบไปแล้ว ผอ. สำนักโฆษก อ้างคำพูดหมอว่า
“เหมือนคนกำลังจะจมน้ำ เค้าโยนท่อนไม้อะไรมาให้ เราก็รีบจับเพื่อให้รอด”
(เอ้า รัฐบาลบอกว่าประเทศไทยจัดการโควิดได้ดี เหตุไฉนถึงเปรียบเทียบว่าจะจมน้ำละท่าน)
ก็คงจริงของท่าน หลายคนตอนนี้สิ้นไร้ไม้ตอก ไม่เหลือทางเลือกอะไรแล้ว
ไม่ต้องเป็นขอนไม้หรอก เป็นแค่เส้นฟางก็คว้าไว้แล้วครับ
บรรณานุกรม
http://oed.com/
Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.
American Heritage Dictionary of the English Language
Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.
Brenner, Gail. Webster’s New World American Idiom Handbook. Wiley Publishing: Indianapolis, 2003.
Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Idioms and Their Origins. Kylie Cathie: London, 2011.
Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.
Jack, Albert. Red Herrings and White Elephants: The Origins of the Phrases We Use Every Day. Metro Publishing: London, 2004.
Longman Dictionary of Contemporary English
Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.
Merriam-Webster Dictionary
Oxford Advanced Learners’ Dictionary
Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.
Shorter Oxford English Dictionary
Tags: Word Odyssey, สำนวนภาษาอังกฤษ