ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยพบคลัสเตอร์โควิด-19 ระลอกใหม่จากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ แม้ว่าจะมีคนของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องตามเดิมเหมือนสองครั้งแรก แต่สิ่งที่ต่างไปคือในคราวนี้เป็นคนละสายพันธุ์กับสองระลอกก่อนหน้า โดยเป็นโควิดกลายพันธุ์จากประเทศอังกฤษที่แพร่ได้ไวกว่าเดิม

สำหรับหลายคนที่ยังอ่วมจากสองระลอกแรกอยู่หรือกำลังพยายามตั้งตัวใหม่อีกครั้ง โควิด-19 ระลอกใหม่นี้เรียกได้ว่าเป็นฝันร้ายอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประกอบกับปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเรื่องวัคซีนที่ยังฉีดไม่ถึงไหน มาตรการเยียวยาที่ไม่ทั่วถึง และการปกปิดข้อมูลไทม์ไลน์ของผู้ป่วยบางราย คนจำนวนไม่น้อยจึงรู้สึกว่าอนาคตเบื้องหน้าเป็นมีแต่ความพังพินาศรออยู่

ในสัปดาห์นี้ เราไปดูกันว่าในภาษาอังกฤษมีศัพท์สำนวนที่นำมาใช้พูดถึงความวินาศสันตะโร

Perfect storm ความฉิบหายหลายอย่างมาบรรจบกัน

เริ่มฉีดวัคซีนช้าก็แย่แล้ว

ดันจัดการวัคซีนแบบแทงม้าตัวเดียวอีก

และที่แย่กว่านั้นก็คือ ระลอกใหม่นี้เป็นโควิดกลายพันธุ์

ที่วัคซีนที่มีอยู่ใช้ได้ผลไม่ค่อยดีด้วย

แถม พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ไม่ได้บังคับเข้มงวด 

ใช้ก็แต่กับผู้ชุมนุมเป็นหลัก

ถ้าเจอทุกอย่างรวมกันขนาดนี้แล้วก็ไม่พังสิแปลก

The final nail in the coffin ตอกฝาโลง

แค่สองระลอกแรก

พ่อค้าแม่ขายก็อ่วมหนักเอาชีวิตแทบไม่รอดแล้ว

ลูกค้าหดหาย กำไรเหือดแห้ง

สภาพตายมิตายแหล่

ยังดันมาอีกระลอก

จากที่นอนรอสวดอภิธรรมในโลงอยู่แล้ว

คราวนี้ก็คือตอกตะปูปิดฝาโลงสนิทเลย

Death knell สัญญาณบอกถึงการสิ้นสุด

ได้ยินเสียงระฆังเหง่งหง่างมาแต่ไกล

เสียงอะไรเหรอ

อ่อ เสียงระฆังงานศพของธุรกิจฉันเอง

ระลอกนี้สู่ขิตแน่นอนจ้ะ

Recipe for disaster หนทางสู่หายนะ

การท่องเที่ยวซบเซา 500 กรัม

การจัดการวัคซีนผิดพลาด 200 กรัม

ความเชื่อมั่นนักลงทุนตกต่ำ 3 ช้อนโต๊ะ

หนี้สาธารณะ 2 ช้อนชา

คำผรุสวาทจากผู้นำประเทศ ½ ช้อนชา

เพียงคลุกเคล้าส่วนผสมนี้เข้าด้วยกันและลงผัดในกระทะ

หายนะของเราก็พร้อมเสิร์ฟแล้วครับ

Coup de grâce ปลิดชีพ

คำสั่งปิดผับชั่วคราวรอบนี้

เหมือนคำสั่งประหาร

จากที่อ่วมอยู่แล้ว

เจอดอกนี้เข้าไป

คงต้องปิดถาวรแล้วแหละ

คำนี้ภาษาอังกฤษยืมมาจากภาษาฝรั่งเศส ประกอบจากคำว่า coup ที่แปลว่า การทุบหรือฟาด (แบบใน coup d’état ที่คนไทยคุ้นกันดี) และ grâce ที่หมายถึง ความกรุณาปรานี ซึ่งรวมแล้วหมายถึง การปลิดชีพคนหรือสัตว์ที่กำลังใกล้จะตายร่อมร่ออยู่แล้วด้วยความปรานี เพื่อจะได้ไม่ต้องทรมานอีก (เป็นการุณยฆาตแบบหนึ่ง) แต่ปัจจุบันมักนำมาใช้ในเชิงเปรียบเปรย หมายถึง สิ่งที่เข้ามาทำให้อีกสิ่งหนึ่งต้องสิ้นสุดลง

ทั้งนี้ อีกคำหนึ่งในภาษาอังกฤษที่ความหมายเหมือนกันคือ death blow หมายถึง การปลิดชีพคนหรือสัตว์ที่ใกล้ตายเช่นกัน

Spell disaster นำไปสู่หายนะ

หากมาตรการเยียวยาของรัฐยังกระจายไม่ทั่วถึง

ผู้ประกอบการทั่วไปยังเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไม่ได้

เจ้าสัวและห้างร้านใหญ่ๆ อาจไม่เดือดร้อน

แต่รับรองว่าเป็นหายนะของเจ้าของกิจการทั่วไปแน่นอน

Omnishambles พังทั้งองคาพยพ

แค่ปกติประเทศสารขัณฑ์ก็พังมากอยู่แล้ว

อากาศสะอาดให้หายใจก็ยังไม่ค่อยมี

ระบบขนส่งมวลชนก็คร่ำครึ

เศรษฐกิจและการเมืองยิ่งไม่ต้องพูดถึง

แต่พอยิ่งมีโควิดระลอกใหม่มา

ต้องบอกเลยว่ามองไปทางไหนก็เห็นแต่ความวินาศสันตะโร

โอ๊ย ไม่มีส่วนไหนไม่พังเลย พังหมดจริงๆ

คำนี้เป็นคำที่ใช้ในฝั่งประเทศอังกฤษ เป็นคำที่แต่งขึ้นใหม่จากส่วนเติมหน้า omni- ที่แปลว่า ทั้งหมด (เช่น omnivore คือสัตว์ที่กินหมดทั้งพืชและสัตว์) รวมกับ shambles ที่หมายถึง ความยุ่งเหยิงพังพินาศ คำนี้ปรากฏครั้งแรกในรายการเสียดสีการเมืองชื่อ The Thick of It ในช่อง BBC เมื่อปี 2009 และมีคนนำไปใช้แพร่หลายมากขึ้นจน Oxford English Dictionary เลือกให้เป็นคำแห่งปี 2012

 

บรรณานุกรม

http://oed.com/

https://www.bbc.com/news/uk-politics-20309441

Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

Brenner, Gail. Webster’s New World American Idiom Handbook. Wiley Publishing: Indianapolis, 2003.

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Idioms and Their Origins. Kylie Cathie: London, 2011.

Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.

Jack, Albert. Red Herrings and White Elephants: The Origins of the Phrases We Use Every Day. Metro Publishing: London, 2004.

Longman Dictionary of Contemporary English

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Shorter Oxford English Dictionary

Tags: , , ,