ในขณะที่ภาษาไทยมีสำนวนที่มีสี่พยางค์มากมาย เช่น เจ็บไข้ได้ป่วย ต้อนรับขับสู้ สิงสาราสัตว์ ภาษาอังกฤษเองก็มีสำนวนประเภทหนึ่งที่น่าสนใจ คือสำนวนที่นำคำสองคำมาจับคู่และเชื่อมกันด้วยคำอย่าง and, or, หรือ to หรือที่เรียกว่า binomial expressions

ทั้งนี้ คำที่นำมาจับคู่กันอาจจะเป็นคำที่มีความหมายไปในทางเดียวกัน เช่น pick and choose (เลือก) หรือตรงกันข้ามก็ได้ เช่น black and white (มีเส้นแบ่งผิดถูกชัดเจนส่วนความหมายที่ได้นั้นก็มีตั้งแต่ตรงตัว เช่น bride and groom (คู่บ่าวสาว) หรือไม่ก็อาจเกิดเป็นความหมายใหม่ขึ้นมา เช่น bread and butter (แหล่งรายได้)

ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ คำที่นำมาจับคู่กันนั้นส่วนใหญ่สลับที่กันไม่ได้ ต้องเรียงลำดับตามนั้น เช่น bright and early (เช้าตรู่) ก็จะฟังแปร่งหูทันทีถ้าสลับเป็น early and bright (อย่างในภาษาไทย เราก็พูด โรยรา ไม่พูดสลับเป็น ราโรย เป็นต้น)

ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูสำนวนแพ็กคู่ที่พบได้บ่อยๆ ในภาษาอังกฤษและนำมาใช้พูดถึงเหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันได้กัน

Night and day ต่างราวฟ้ากับเหว

ตอนแรกใช้น้ำเสียงวางอำนาจบาตรใหญ่

กล่าวหาว่าประชาชนการ์ดตกจนโควิดกลับมาระบาด

พอสืบสาวเจอว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนสำคัญทำให้เกิดคลัสเตอร์ใหญ่

ความโอหังมลายหายสิ้น

สงบปากสงบคำเจี๋ยมเจี้ยมเชียว

ต่างกันราวฟ้ากับเหวจริงๆ

High and dry ตกที่นั่งลำบาก ไร้ความช่วยเหลือ

สั่งปิดผับปิดบาร์

สั่งลดเวลาเปิดร้านอาหาร

แต่ไม่มีเงินเยียวยาให้

ปล่อยประชาชนดิ้นรนกันเอง

เจ๊งกันไปกี่รายแล้วก็ไม่รู้

แต่เดิมสำนวนนี้ใช้กับเรือ หมายถึง เกยตื้น เห็นภาพว่าน้ำลดแล้วเรือไปติดอยู่ในที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล จะลากกลับน้ำก็ลำบาก ในเวลาต่อมาจึงนำมาใช้ในเชิงเปรียบเปรย ปกติมักพูดว่า leave someone high and dry หมายถึง ทิ้งให้ใครตกอยู่ในสภาวะลำบาก 

Short and sweet สั้นง่ายได้ใจความ

เวลาแถลงข่าวกับประชาชน

อยากเรียนเสนอให้ท่านพูดไม่ต้องเยิ่นเย้อ

ขอแบบกระชับสั้นง่ายได้ใจความ

ประชาชนจะได้ไม่เสียเวลาทำมาหากิน

(On) pins and needles กระวนกระวายใจ

สรุปเราติดโควิดหรือยังนะ

เมื่อกี้ที่รู้สึกว่ามีไข้นี่ไข้จริงหรือไข้ทิพย์เนี่ย

เอ๊ะ จมูกเรายังได้กลิ่นปกติดีหรือเปล่า

หรือเราติดแล้วแต่ไม่มีอาการ

แล้วเราจะเป็นคนเอาเชื้อไปแพร่ให้คนอื่นหรือเปล่า

โอ๊ย จิตใจไม่สงบสุขเอาเสียเลย

Sick and tired เหนื่อยหน่าย

เบื่อเรียนออนไลน์

หน่ายเวิร์กฟรอมโฮม

เก็บตัวอยู่ในบ้านจนจะเฉากว่าเฉาก๊วยแล้ว

รอคอยวัคซีนนานจนละเหี่ยใจ

อยากจะติดโควิดให้มันรู้แล้วรู้รอด!

Nook and cranny ซอกมุม

ผ่านโควิดมาแล้วสองรอบ

บอกเลยว่าทักษะการล้างมือไม่เป็นรองใคร

ไม่ว่าจะซอกเล็บหรือง่ามนิ้ว 

ไม่มีซอกมุมไหนเล็ดลอดไปได้เป็นอันขาด

ปกติจะชอบพูดกันว่า every nook and cranny หมายถึง ทุกซอกทุกมุม

Loud and clear ชัดเจนแจ่มแจ้ง

เธอไม่ต้องพูดออกมาหรอก

แค่เห็นที่เธออยากฉีดวัคซีนให้แคดดี้กับสาวๆ ในสถานบันเทิง

ทั้งที่บุคลากรทางการแพทย์บางคนยังไม่ได้ฉีด

ก็เห็นได้ชัดเจนแจ่มแจ้งแล้วว่า

เธอให้ความสำคัญกับคนบางกลุ่มหรือคนส่วนใหญ่มากกว่ากัน

แม้ว่าจะเห็นคำว่า loud แต่สำนวนนี้ไม่จำเป็นต้องใช้กับสิ่งที่พูดออกมาเสมอไป จะใช้กับสิ่งที่ไม่ได้ใช้เสียงพูดออกมาก็ได้ หรือจะใช้กับสิ่งที่ไม่ได้สื่อออกมาตรงๆ ก็ยังได้

Sink or swim จะรอดหรือไม่รอด

โควิดเป็นบททดสอบสำคัญ

ว่าประเทศไหนจะรอดหรือไม่รอด

เปรียบได้เหมือนลอยคออยู่กลางทะเล

ถ้าไม่กวาดแขนตีขาให้ลอยอยู่ได้

ก็ย่อมต้องจมลงไปเป็นอาหารปลาใต้ท้องทะเล

Back and forth กลับไปกลับมา

เมื่อปลายปีที่แล้ว

ปฏิเสธไม่ซื้อวัคซีนไฟเซอร์

บอกว่าเรามีม้าเต็งหนึ่งแล้ว

มาถึงวันนี้

บอกว่าให้กราบก็ยอม

อยากได้ไฟเซอร์มาฉีดให้ประชาชน

Alive and well ยังมีอยู่

ไหนบอกว่าเข้ามาปราบคอร์รัปชันกับสภาญาติพี่น้อง

ทุกวันนี้สองสิ่งนี้ก็ไม่ได้หายไปไหนนี่

ดัชนีคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตร่วงหล่นหนักกว่าเก่า

แถมในสภาและคณะกรรมาธิการต่างๆ ก็มีแต่พี่น้องลูกหลาน

 

บรรณานุกรม

http://oed.com/

https://www.bbc.com/news/uk-politics-20309441

Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

Brenner, Gail. Webster’s New World American Idiom Handbook. Wiley Publishing: Indianapolis, 2003.

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Idioms and Their Origins. Kylie Cathie: London, 2011.

Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.

Jack, Albert. Red Herrings and White Elephants: The Origins of the Phrases We Use Every Day. Metro Publishing: London, 2004.

Longman Dictionary of Contemporary English

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Shorter Oxford English Dictionary

Tags: , ,