เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาว LGBTQIA+ ได้จัดงานนฤมิตไพรด์ ขึ้นบนถนนสีลมเพื่อเฉลิมฉลองเดือนแห่งความเท่าเทียมทางเพศ (Pride Month) แสดงออกซึ่งความภูมิใจในตนเอง และเรียกร้องผลักดันประเด็นต่างๆ เช่น สมรสเท่าเทียม การทำแท้งปลอดภัย และสิทธิของพนักงานบริการทางเพศ นับเป็นไพรด์พาเหรดอย่างเป็นทางการครั้งแรกของกรุงเทพมหานคร

หลังจากที่เคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องสายรุ้ง (https://themomentum.co/wordodyssey-pridemonth/) และเรื่องคู่รัก LGBTQIA+ ในเทพปกรณัมกรีก-โรมัน (https://themomentum.co/lgbtqi-vocabulary/) ไปแล้ว สัปดาห์นี้ Word Odyssey จะขอร่วมฉลองเดือนไพรด์ด้วยการพาไปดูคำศัพท์ 3 ที่ใช้พูดถึงเทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

 

 

Rainbow-washing

คำนี้ใช้พูดถึงเวลาที่องค์กรต่างๆ ออกมาติดธงหรือเปลี่ยนโลโก้เป็นสีรุ้ง ออกแคมเปญหรือปล่อยสินค้าบริการที่โยงกับกลุ่มคน LGBTQIA+ โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนไพรด์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่าองค์กรตนเองสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ แต่ไม่ได้ทำอะไรเป็นรูปธรรมเพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมอย่างแท้จริง เหมือนแค่ฉาบภายนอกด้วยสีรุ้ง ซึ่งเป็นสีที่โยงกับกลุ่มคน LGBTQIA+

ตัวอย่างเช่น หากพรรคการเมืองเก่าแก่พรรคหนึ่งในประเทศสารขัณฑ์ ออกมาเปลี่ยนขอบโลโก้เป็นสีรุ้งเพื่อต้อนรับเดือนไพรด์ แต่ในสภาดันโหวตไม่รับร่างพรบ. สมรสเท่าเทียม แบบนี้ก็อาจโดนกล่าวหาว่า ที่ออกมาติดสายรุ้งก็เป็นแค่การ rainbow washing หรือแสร้งแสดงตัวเป็นพันธมิตรกับกลุ่มคนเพศหลากหลายเท่านั้น

คำว่า rainbow washing นี้ คล้ายคลึงกับคำว่า greenwashing ซึ่งใช้พูดถึงเวลาที่องค์กรออกมาสร้างภาพลักษณ์ว่าองค์กรตนเองเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่จริงๆ แล้วปลอมเปลือก

ทั้งนี้ สองคำดังกล่าว ท้ายที่สุดแล้วมาจากคำว่า whitewashing คำนี้แรกเริ่มเดิมทีเมื่อราว 400 ปีที่แล้วหมายถึงการฟอกผ้าให้ขาว แต่ในปัจจุบันไม่ได้ใช้ในความหมายนี้แล้ว ทุกวันนี้ คำนี้จะใช้หมายถึงการฉาบอาคารหรือผนังด้วยน้ำปูนขาวหรือสีที่ผสมปูนขาว (เรียกว่า whitewash) ให้เป็นสีขาว หรืออาจใช้ในเชิงเปรียบเปรย หมายถึง การกลบเกลื่อนความผิดหรือข้อผิดพลาด (คล้ายๆ กับที่เราใช้สีผสมปูนขาวฉาบทับรอยด่างดำต่างๆ) เช่น เมื่อมีผู้ร้องเรียนว่าข่าวเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ แล้วทางการก็เพียงสั่งสอบสวนพอเป็นพิธี และทำสำนวนสรุปแบบคลุมเครือกำกวมออกมาเพื่อให้ถือว่าได้ดำเนินการแล้วโดยหวังว่าเรื่องจะได้ซาไป แบบนี้เราก็สามารถใช้คำว่า whitewash ได้

นอกจากนั้น คำว่า whitewash ยังถูกนำไปใช้ในวงการภาพยนตร์ด้วย หมายถึง การเลือกนักแสดงผิวขาวมารับบทที่แต่เดิมเป็นตัวละครที่ไม่ใช่คนผิวขาว ตัวอย่างเช่น Tilda Swinton ได้รับเลือกให้แสดงเป็น The Ancient One ในภาพยนตร์เรื่อง Doctor Strange แม้ว่าในหนังสือการ์ตูน The Ancient One จะเป็นคนเอเชียก็ตาม

 

 

Pink money

คำว่า pink นี้ นอกจากจะแปลว่า สีชมพู ได้แล้ว ในช่วงยุค 60 ยังเป็นสแลง ใช้บรรยายอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชายรักชาย ดังนั้น คำว่า pink money ในที่นี้ แน่นอนว่าไม่ได้หมายถึงเหรียญหรือธนบัตรสีชมพูจริงๆ แต่หมายถึง เม็ดเงินจากกลุ่มคน LGBTQIA+ นั่นเอง 

ส่วนที่สีชมพูมาเกี่ยวโยงกับกลุ่มชายรักชายได้อย่างไร ว่ากันว่ามีที่มาจากยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ในค่ายกักกันของนาซีสมัยนั้น มีการเย็บแผ่นผ้าสามเหลี่ยมกลับหัวสีต่างๆ ลงบนเสื้อตรงบริเวณหน้าอกและกางเกงเพื่อใช้จำแนกคนกลุ่มต่างๆ เช่น หากเป็นนักโทษการเมือง ก็จะใช้สามเหลี่ยมสีแดง หรือถ้าเป็นอาชญากร ก็จะใช้สามเหลี่ยมสีเขียว เนื่องจากกลุ่มคนที่รักชอบเพศเดียวกันในค่ายนาซีจะมีสามเหลี่ยมสีชมพูเป็นสัญลักษณ์กำกับไว้ จึงเริ่มมีการเชื่อมโยงสีชมพูเข้ากับกลุ่มคนที่รักชอบเพศเดียวกันนั่นเอง 

ทั้งนี้ ในภายหลัง กลุ่มคนที่รักชอบเพศเดียวกันได้มีการนำเครื่องหมายสามเหลี่ยมชมพูกลับหัวมาใช้เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนกลุ่มตนเองเพื่อเป็นการยึดคืน (reclaim) และเปลี่ยนสัญลักษณ์ที่ครั้งหนึ่งนับเป็นการกดขี่เหยียดหยามให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจด้วย

ส่วนสาเหตุที่มีการประดิษฐ์คำว่า pink money ขึ้นมาใช้ ก็น่าจะเป็นเพราะกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นมีบทบาทชัดเจนขึ้นในสังคม อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงพอที่ทำให้บริษัทต่างๆ และบรรดานักการตลาดเห็นแล้วเพิกเฉยไม่ได้

นอกจากคำว่า pink money แล้ว บางครั้งเราก็อาจได้ยินคำว่า pink pound ในฝั่งบริติชหรือ pink dollar ในฝั่งอเมริกัน ไม่ก็อาจจะได้ยินคำว่า pink economy หรือ pink market รวมไปถึง rainbow economy ซึ่งก็ใช้พูดถึงกำลังซื้อของกลุ่มคนเพศหลากหลายเช่นกัน

 

 

Queer baiting

คำนี้นี้ได้รับการบรรจุลงในพจนานุกรม Oxford English Dictionary ในปี 2021 โดยประกอบขึ้นจากคำว่า queer ซึ่งเป็นคำกว้างๆ ที่ใช้เรียกคนที่ไม่ใช่เฮเทโร (แต่เดิมเป็นคำดูถูกเหยียดหยาม แต่ฝ่ายเควียร์ยึดคืนและนำมาใช้เรียกกลุ่มตนเอง) รวมกับคำว่า baiting ที่หมายถึงการล่อด้วยเหยื่อ

คำนี้หมายถึงการใส่ตัวละครที่ดูแล้วอาจเป็นคนหลากหลายทางเพศไว้ในละครหรือภาพยนตร์ เพื่อหวังดึงดูดหรือล่อผู้ชมกลุ่มคนเพศหลากหลายที่อยากเห็นกลุ่มตนเองในพื้นที่สื่อ แต่ทำให้ตัวละครมีความคลุมเครือทางเพศเข้าไว้ ไม่ให้แสดงออกอย่างโฉ่งฉ่าง เพื่อไม่เป็นการผลักไสหรือสร้างความแสลงใจแก่กลุ่มผู้ชมเฮเทโรทั่วไป

ตัวอย่างการ queerbaiting ที่หลายคนอาจเคยได้เห็นมาแล้วก็เช่น การที่ เจ.เค. โรวลิ่ง (J.K. Rowling) ผู้แต่งนิยายแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ (Harry Potter) ออกมาประกาศว่าตัวละครศาสตราจารย์อัลบัส ดัมเบิลดอร์ (Albus Dumbledore) อันที่จริงแล้วเป็นเกย์และมีความสัมพันธ์ในเชิงโรแมนติกกับพ่อมดเกลเลิร์ต กรินเดลวัลด์ (Gellert Grindelwald) เพื่อเอาใจแฟนๆ ชาว LGBTQIA+ ที่อยากเห็นตัวแทนคนกลุ่มตัวเองในนิยายโปรดของตนเอง แต่ในหนังสือกลับไม่มีการพูดถึงชัดเจนและในภาพยนตร์ก็แค่เปรยถึงแบบวับๆ แวมๆ เท่านั้น

ทั้งนี้ queerbaiting (หรือบางครั้งก็เรียก gaybaiting) ยังกินความหมายนอกเหนือจากแค่ในละครและภาพยนตร์ และหมายรวมไปถึงพฤติกรรมของดาราที่พอรู้ว่าแฟนๆ จับคู่ชิปกันก็เลยพูดหยอดกันหรือจัดสกินชิปหนักๆ ให้มีโมเมนต์ เพื่อให้แฟนๆ ได้กรี๊ดกร๊าดและติดตามตนเองต่อไป แต่ก็จงใจรักษาความคลุมเครือทางเพศไว้

 

บรรณานุกรม

https://www.oed.com/

https://www.theurbanlist.com/a-list/rainbow-washing

https://www.wired.com/story/lgbtq-pride-consumerism/

http://news.bbc.co.uk/2/hi/business/142998.stm

https://dictionary.cambridge.org/dictionary/english/pink-dollar

https://dictionary.cambridge.org/dictionary/english/greenwashing

https://time.com/5295476/gay-pride-pink-triangle-history/

https://www.rollingstone.com/culture/culture-features/queerbaiting-lgbtq-community-1201273/

https://www.health.com/mind-body/lgbtq-health/queerbaiting

https://www.indiewire.com/2018/02/jk-rowling-dumbledore-gay-fantastic-beasts-lgbt-1201924000/

Tags: , , , ,