เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth) ได้จัดแฟลชม็อบบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อประท้วงและยื่นข้อเรียกร้องสามข้อให้แก่รัฐบาล นับเป็นการจุดเชื้อไฟให้เกิดการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยลักษณะคล้ายๆ กันในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย ทั้งยังนำไปสู่ม็อบธีมเสียดสีต่างๆ ตั้งแต่แฮมทาโรไปจนถึงแฮร์รี่ พอตเตอร์ อีกด้วย

หลังจากโดนปรามาสว่าเป็นเพียงเยาวชนที่ถูกล้างสมองหรือหลอกใช้ ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 7 ที่ผ่านมา กลุ่มเยาวชนปลดแอกได้แถลงเปิดตัว #คณะประชาชนปลดแอก (Free People) เพื่อยกระดับการเรียกร้องประชาธิปไตย พร้อมทั้งยังนัดชุมนุมครั้งใหญ่กลางเดือนนี้อีกด้วย

ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่าแอกซึ่งเป็นไม้ที่ใช้สวมบริเวณคอสัตว์อย่างวัวหรือควายเพื่อลากคันไถหรือเทียมเกวียน ไปเกี่ยวดองกับโยคะ เซลล์สืบพันธุ์ โรคตาแดง (ที่หมายถึงตาแดงจริงๆ ไม่ใช่คนชื่อแดงมาร้องไห้ตาแดงๆ เพราะมีคนชังชาติ’) และรัฐบาลทหารได้อย่างไร

ร่องรอยแอกในภาษาต่างๆ

ว่ากันว่าแอกถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใช้ตั้งแต่เมื่อหลายพันปีที่แล้ว เหตุผลหนึ่งที่ทำให้นักวิชาการเชื่อเช่นนี้ก็เพราะว่าคำที่ใช้เรียกแอกในภาษาตระกูลอินโดยูโรเปียนต่างๆ เช่น อังกฤษ กรีก ละติน หรือแม้แต่สันสกฤต ต่างก็มีหน้าตาคล้ายคลึงกันมาก จนทำให้สันนิษฐานได้อย่างค่อนข้างมั่นใจว่าน่าจะมาจากคำเดียวกันในภาษาอินโดยูโรเปียนดั้งเดิมในสมัยโบราณกาล นั่นคือ *yugóm (เครื่องหมาย * หมายถึง รูปสืบสร้าง ไม่ได้พบบันทึกคำนี้จริงๆ) มาจากกริยา *yeug ที่หมายถึง ผูกหรือโยงเข้าด้วยกัน เชื่อมกัน รวมเข้าด้วยกันเป็นหนึ่ง (เพราะแอกมักใช้กับสัตว์เป็นคู่ เป็นเครื่องมือที่ยึดให้สัตว์สองตัวเคลื่อนที่ไปพร้อมกันในทิศทางเดียวกัน

หลักฐานนี้ยังทำให้นักวิชาการเชื่ออีกด้วยว่ากลุ่มคนที่พูดภาษาอินโดยูโรเปียนดั้งเดิมในสมัยนั้นน่าจะนำสัตว์มาเลี้ยงและใช้งานในชีวิตประจำวันแล้ว

แอกในภาษาอังกฤษ

คำที่ใช้เรียก แอก ในภาษาอังกฤษ คือ yoke (ออกเสียงเหมือน yolk ที่แปลว่า ไข่แดง) มาจากคำในภาษาอังกฤษเก่า geoc ซึ่งสืบสาวกลับไปได้ถึง *yeug นั่นเอง

ทั้งนี้ เนื่องจากแอกเป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้กดขี่บังคับสัตว์ให้ใช้แรงงานให้ตน คำว่า yoke จึงมีความหมายในเชิงเปรียบเปรย หมายถึง การกดขี่ข่มเหง ด้วย เช่น the yoke of capitalism ก็คือ แอกแห่งระบบทุนนิยม ให้ความหมายว่า ตกอยู่ภายใต้ระบบนี้และหนีไปไหนไม่ได้ เหมือนมีระบบทุนนิยมเป็นแอกที่ยึดไว้ที่คอ

นอกจากนั้น ภาษาอังกฤษยังมีคำว่า unyoke ด้วย หมายถึงปลดแอกทั้งที่หมายถึงการนำแอกออกจากคอสัตว์จริงๆ และที่หมายถึงการไม่ยอมตกอยู่ภายใต้การกดขี่ข่มเหง ไม่ว่าจะโดยกลุ่มคนหรือระบบ ซึ่งเป็นความหมายเชิงเปรียบเปรยแบบที่เจอในชื่อของกลุ่ม#ประชาชนปลดแอก นั่นเอง

แอกกับโยคะ

ทั้งนี้ ราก *yeug ที่หมายถึง โยงเข้าด้วยกัน ในภาษาอินโดยูโรเปียนดั้งเดิมที่กล่าวไปข้างต้น ยังเป็นที่มาของราก yuj (युज्) ที่หมายถึง โยงเข้าด้วยกัน หรือ ใส่แอก ในภาษาสันสกฤตด้วย รากที่ว่านี้เป็นที่มาของคำว่า yoga หรือโยคะ (ในที่นี้หมายถึงการรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียว) ทำให้คำว่า yoga (รวมถึง yogi ที่หมายถึง โยคี) เป็นญาติกับคำว่า yoke ในภาษาอังกฤษนั่นเอง

ทั้งนี้ ราก yuj นี้ยังเป็นที่มาของคำว่า ประโยค (การเชื่อมต่อ คำพูด) วิปโยค (การพลัดพราก) และยุค ในภาษาไทยปัจจุบันอีกด้วย*

แอกกับเซลล์สืบพันธุ์

นอกจากสายภาษาสันสกฤตแล้ว ราก *yeug ในภาษาอินโดยูโรเปียนยังมีลูกหลานอยู่ในภาษากรีกและตกทอดมาถึงภาษาอังกฤษด้วย หนึ่งในนั้นก็คือคำว่า zygote หรือไซโกต ซึ่งเป็นเซลล์ที่เกิดขึ้นเมื่อเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้และเพศเมียมาผสมกัน มาจากคำว่า zygotos ในภาษากรีก ที่แปลว่า รวมเข้าด้วยกัน หรือยึดเข้าด้วยกันด้วยแอก

นอกจากนั้น ยังมีคำว่า zeugma ที่ในภาษากรีก หมายถึง การใส่แอกหรือผูกโยง แต่ถูกนำมาใช้ในแวดวงวรรณกรรมหมายถึง โวหารเล่นคำหลากความ คือใช้คำคำเดียวสองครั้งในคนละความหมาย แต่นำมาโยงเชื่อมไว้ด้วยกัน เช่น เขากลับรถและกลับใจ หรือหากเป็นในงานวรรณกรรมภาษาอังกฤษ ตัวอย่างคลาสสิกที่สุดก็เห็นจะหนีไม่พ้น The Rape of the Lock ของ Alexander Pope ที่มีท่อนหนึ่งว่ “Here Thou, great Anna! whom three Realms obey,/ Dost sometimes Counsel take – and sometimes Tea.” จะเห็นได้ว่า take ใน take counsel (ปรึกษาหารือ) และ take tea (ดื่มชา) เป็นคนละความหมายกัน แต่ถูกนำมาเชื่อมเข้าไว้ด้วยกันนั่นเอง

แอกกับตาแดงและรัฐบาลทหาร

แอกในภาษาอินโดยูโรเปียนดั้งเดิมยังตกทอดมาจากถึงภาษาละตินเป็นคำว่า jugum หมายถึง แอก, juxta หมายถึง ติดกัน และ jungere ซึ่งเป็นกริยา หมายถึง เชื่อมหรือรวมเข้าด้วยกัน

คำว่า jugum ที่แปลว่า แอก นี้ เป็นที่มาของคำหลายๆ คำในภาษาอังกฤษปัจจุบัน แต่เดิมล้วนมีความหมายเกี่ยวข้องกับการใส่แอกหรือการนำของสองสิ่งมาเชื่อมเข้าด้วยกัน เช่น conjugation ที่หมายถึง การผันกริยา (จับพยางค์ที่ใช้ผันกริยามาเชื่อมเข้ากับตัวกริยา) conjugal ที่หมายถึง เกี่ยวข้องกับการสมรส (การสมรสคือการที่คนสองคนรวมกันเป็นหนึ่ง) และ subjugation  ที่หมายถึง การพิชิตหรือกดขี่ให้ยอม (เหมือนการจับใส่แอก) นอกจากนั้นยังมีคำว่า jugular ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกเส้นเลือดบริเวณคอ (เพราะแอกสวมบริเวณคอ) พบเจอได้ในสำนวน go for the jugular คือ เล่นงานที่จุดอ่อน (เพราะหลอดเลือดนี้เป็นหลอดเลือดใหญ่ ถ้าโดนแทงก็จะมีโอกาสเสียเลือดจนเสียชีวิตได้ง่าย)

ส่วน juxta ที่แปลว่า ติดกัน ก็ไปปรากฏในคำว่า juxtaposition ที่แปลว่า การนำมาวางเทียบกัน และคำว่า adjust ที่แปลว่า ปรับ ด้วย (ความหมายตามรากศัพท์หมายถึง การนำเข้าไปใกล้)

ส่วนกริยา jungere ที่แปลว่า เชื่อมเข้าด้วยกัน ก็พบได้ในคำภาษาอังกฤษจำนวนมาก คำไหนที่มี junct หรือ join อยู่ข้างในก็ล้วนมาจาก jungere และมีความหมายเกี่ยวข้องกับการเชื่อมรวมของเข้าด้วยกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น conjunction หรือคำสันธาน (เป็นคำที่ใช้เชื่อมองค์ประกอบในประโยคเข้าด้วยกัน) junction ที่แปลว่า ทางแยก (จุดที่ถนนมาบรรจบเชื่อมกัน) adjoin ที่หมายถึง เชื่อมเข้าด้วยกัน และ conjoin ที่แปลว่า ติดกัน แบบใน conjoined twins หรือแฝดติดกัน

ทั้งนี้ jungere ยังไปปรากฏในคำว่า conjunctiva ซึ่งหมายถึง เยื่อบุตา ซึ่งอยู่ด้านในหนังตาและคลุมตาขาวอยู่ (ที่เรียกเช่นนี้เพราะเนื้อเยื่อนี้เชื่อมเปลือกตาและลูกนัยน์ตาเข้าด้วยกัน) ส่วนอาการตาแดงที่เราเรียกๆ กันก็เกิดจากเมื่อเยื่อบุตานี้อักเสบนั่นเอง เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า conjunctivitis 

นอกจากนั้น คำว่า junta** ที่แปลว่า คณะผู้ยึดอำนาจการปกครอง หรือ รัฐบาลทหาร (ซึ่งภาษาอังกฤษยืมมาจากภาษาสเปนและภาษาโปรตุเกส) ก็มาจาก jungere ที่แปลว่า เชื่อมโยงหรือรวมกัน อีกเช่นกัน แต่เดิมหมายถึง สภา หรือ คณะบุคคล และเป็นคำที่ใช้เรียกคณะปกครองที่ก่อตั้งขึ้นตามแคว้นต่างๆ ในสเปนเพื่อต่อต้านกองกำลังของนโปเลียนในศตวรรษที่ 17 แต่ในภายหลังใช้นำมาใช้เรียกคณะทหารที่ก่อรัฐประหารและยึดอำนาจการปกครอง แบบที่ประเทศไทยเห็นมาแล้วหลายครั้ง 

ด้วยเหตุนี้ จะกล่าวว่าแอกกับรัฐบาลทหารมีความเชื่อมโยงกันก็คงไม่ผิดนัก ส่วนที่ว่ารัฐบาลทหารเป็นแอกที่เราควรปลดหรือเปล่าอันนี้ก็น่าคิดครับ

* ขอขอบคุณ ดร. อรุณวรรณ คงมีผล อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ อาจารย์เกียรติภูมิ นันทานุกูล อดีตอาจารย์พิเศษ ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับข้อมูลด้านภาษาสันสกฤต

** เนื่องจากคำนี้เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาสเปนและตัว j ในภาษาสเปนออกเสียงเป็นเสียงขาก (บางครั้งนิยมใช้ แทนเสียงนี้) หรือออกเป็นเสียง ในอเมริกาใต้ ดังนั้น ในภาษาอังกฤษจึงออกเสียงคำนี้ว่า ฮุนเทอะ เพื่อให้ใกล้เคียงกับการออกเสียงในภาษาสเปน

บรรณานุกรม

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม อังกฤษไทย. ราชบัณฑิตยสถาน: กรุงเทพฯ, 2545.

http://www.etymonline.com/

http://oed.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995. 

Claiborne, Robert. The Roots of English: A Reader’s Handbook to Word Origins. Random House: New York, 1989.

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Forsyth, Mark. The Elements of Eloquence: How to Turn the Perfect English Phrase. Icon Books: London, 2013.

Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.

Harris, Robert A. Writing with Clarity and Style: A Guide to Rhetorical Devices for Contemporary Writers. Routledge, New York, 2018.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Jones, Daniel. Cambridge English Pronouncing Dictionary. Cambridge University Press: Cambridge, 2003.

Longman Dictionary of Contemporary English

Mallory, J. P., D.Q. Adam. The Oxford Introduction to Proto-Indo-European and the Proto-Indo-European World. OUP: Oxford, 2006.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Shipley, Joseph T. The Origins of English Words: A Discursive Dictionary of Indo-European Roots. John Hopkins University Press: Maryland, 1984.

Shorter Oxford English Dictionary

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.

Wells, J. C. Longman Pronunciation Dictionary. Pearson Education: Essex, 2008.

Tags: