เชื่อว่าตั้งแต่เกิดมา ทุกคนน่าจะต้องเคยพบคนที่คุยด้วยแล้วทำให้เราทึ่งในความฉลาด มีไหวพริบปฏิภาณ รู้สึกว่าความคิดในหัวของเขาแล่นแปลบเหมือนกระแสไฟฟ้า
ในทางตรงกันข้าม ทุกคนก็น่าจะได้พบเจอคนที่คุยด้วยแล้วชวนหงุดหงิด เพราะพูดอะไรก็ดูจะไม่ค่อยเข้าใจ มีความเฉลียวใจต่ำ เรื่องที่ใครๆ ก็น่าจะรู้หรือคิดได้กลับดูเป็นเรื่องท้าทาย แม้ไม่อยากดูถูกสติปัญญา แต่ครั้นจะให้เรียก โง่ ก็ดูรุนแรงเหลือเกิน
สัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่า ภาษาอังกฤษมีสำนวนถนอมน้ำใจอะไรบ้างที่คนนำมาใช้เวลาที่จำเป็นต้องพูดถึงสติปัญญาของคนอื่นในเชิงลบ แต่ไม่อยากพูดตรงๆ ว่า โง่
Not the sharpest knife in the drawer
สำนวนนี้หากแปลตรงๆ ก็จะหมายความว่า ไม่ใช่มีดที่คมที่สุดในลิ้นชัก แต่เมื่อนำมาใช้พูดถึงคน จะหมายความว่า ไม่ค่อยฉลาดเท่าไหร่ เปรียบเป็นมีดก็ทื่อกว่าชาวบ้าน ตัวอย่างเช่น Although he’s not the sharpest knife in the drawer, Jim is always willing to help others. หมายถึง แม้จิมจะไม่ค่อยฉลาดเท่าไหร่ แต่ก็ยินดีช่วยเหลือคนอื่นเสมอ
นอกจากสำนวน not the sharpest knife in the drawer แล้ว บางครั้งก็อาจเจอสำนวนใกล้เคียงกัน คือ not the sharpest tool in the box/shed หมายถึง ไม่ใช่เครื่องมือที่คมที่สุดในกล่องเครื่องมือหรือในโรงเก็บของ ใช้ในความหมายเดียวกัน คือ ไม่ค่อยฉลาดนั่นเอง
ที่มีดและเครื่องมือมีคมมาโผล่ในสำนวนที่พูดถึงสติปัญญา ก็เพราะในภาษาอังกฤษมีมโนทัศน์ว่า ความฉลาดมีลักษณะคม หากไม่ฉลาดก็คือมีลักษณะทื่อนั่นเอง วิธีการมองโลกแบบนี้ยังสะท้อนในคำศัพท์พื้นฐานด้วย เช่น sharp ที่มีความหมายทั้งแหลมคมและหลักแหลม และ dull ที่แปลว่าทื่อ ซึ่งสมัยก่อนเคยใช้แปลว่า ไม่ค่อยฉลาด ด้วย
Not the brightest bulb on the Christmas tree
สำนวนนี้แปลตรงตัวได้ว่า ไม่ใช่ไฟดวงที่สว่างที่สุดบนต้นคริสต์มาส แต่ในทำนองเดียวกับสำนวนก่อนหน้านี้ หากนำไปใช้กับคนจะหมายถึง ไม่ค่อยฉลาด
ตัวอย่างเช่น It was Dan who solved the riddle? I’m genuinely surprised. He’s normally not the brightest bulb on the Christmas tree. หมายถึง แดนเป็นคนไขปริศนาออกเหรอ นี่ตกใจจริงๆ ปกติมันไม่ค่อยฉลาดนะ
สำนวนนี้ทำให้เห็นว่า ในภาษาอังกฤษนอกจากจะนำความฉลาดไปเปรียบเทียบกับความคมแล้ว ยังนำไปโยงกับความสว่างและความมืดด้วย นั่นคือ มองความสว่างเป็นความฉลาดหรือความรู้ ยิ่งมีแสงสาดส่องถึงก็จะทำให้มองเห็นและเข้าใจสิ่งต่างๆ ส่วนความมืดคือความโง่เขลาหรือความไม่รู้ เพราะเมื่อไม่มีแสง เราก็จะมองไม่เห็นสิ่งต่างๆ ทำให้ไม่รู้จักหรือเข้าใจสิ่งที่อยู่ในความมืดมิด การเปรียบเทียบแบบนี้เห็นได้คำต่างๆ เช่น bright ที่หมายถึง สว่าง ก็ได้ หรือจะหมายถึง ฉลาด ก็ได้ หรือ enlightened แปลว่า เข้าใจปรุโปร่ง ตรัสรู้แล้ว ตรงข้ามกับ dim ที่แปลว่า สลัว หรือ ไม่ค่อยฉลาด และ benighted ที่แปลว่า โง่เขลา อวิชชาบังตา นั่นเอง
Not much between the ears
สำนวนนี้หากแปลตรงๆ จะได้ความหมายว่า ไม่ค่อยมีอะไรอยู่ระหว่างใบหู เนื่องจากบริเวณระหว่างหูสองข้างนั้นที่อยู่ของสมอง ดังนั้น สิ่งที่สำนวนนี้กำลังสื่อก็คือ มีสมองอยู่น้อยนิด แทบจะไม่มีสมองอยู่ในหัวเลย พูดอีกอย่างก็คือ ไม่ค่อยฉลาด ไม่ได้เป็นคนมีความคิดความอ่านลึกซึ้งอะไร ถ้าสติปัญญาเป็นบ่อน้ำ เด็กตกลงไปก็ไม่จม ชวนให้คิดถึงสำนวน มีสมองไว้คั่นใบหู ในภาษาไทย
ตัวอย่างเช่น Jake is basically a Greek god, but from what I can tell, there doesn’t seem to be much between the ears. ก็จะหมายถึง เจคงานดีอย่างกับเทพเจ้ากรีก แต่แลดูไร้สมองเบาๆ นะ
นอกจาก not much between the ears จะพูดว่า have nothing between the ears หรือ have cotton between your ears ก็ได้เช่นกัน ได้ความหมายแบบเดียวกันก็คือ ไร้สมอง
ในภาษาอังกฤษ อวัยวะที่มักถูกนำมาโยงกับความฉลาดก็คือ สมอง เช่นเดียวกับในภาษาไทย ดังนั้น คำว่า brain จึงใช้ในความหมาย คนฉลาด ได้ด้วย เช่น brain drain หมายถึง ภาวะสมองไหลหรือภาวะที่คนเก่งหนีออกไปทำงานที่อื่น
นอกจากนั้นยังมีคุณศัพท์ brainy หมายถึง ฉลาด ได้อีกด้วย ในทางตรงกันข้าม หากพูดว่า brainless ก็จะหมายถึง ไร้สมอง โง่เขลา หรือหากพูดว่า airhead ก็จะหมายถึงคนโง่ นัยว่าในหัวแทนที่จะมีสมอง กลับมีแต่อากาศนั่นเอง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คำว่า no brainer ไม่ได้หมายถึง คนไร้สมอง แต่อย่างใด แต่หมายถึงอะไรที่ง่ายมากจนไม่ต้องใช้สมอง ตัดสินใจเลือกหรือทำได้ทันที
The lights are on, but nobody’s home
สำนวนนี้แปลตรงตัวได้ว่า ไฟเปิดสว่างโร่ แต่ไม่มีคนอยู่บ้าน ความหมายก็คือ แม้ภายนอกดูปกติดี แต่ในหัวไม่มีส่วนสั่งการ สมองไม่อยู่ในกะโหลกแล้ว ใช้ได้ทั้งในกรณีที่จะบอกว่าคนคนนั้นไม่ค่อยฉลาดและกรณีที่อีกฝ่ายแลดูไม่ตอบสนองกับคำถามหรืออะไรที่เกิดขึ้นรอบตัว เหมือนได้ถอดจิตออกจากร่างแล้วทิ้งไว้แต่กายหยาบ
ตัวอย่างเช่น หากเพื่อนเราเพิ่งอกหักแล้วนั่งเหม่อลอย เราถามอะไรไปก็ไม่มีปฏิกริยาตอบสนอง ก็อาจบอกว่า The lights are on, but nobody’s home.
A few cards shy of a full deck
สำนวนนี้หากแปลตรงตัวจะหมายถึง ขาดไพ่ไม่กี่ใบก็จะครบสำรับ เมื่อเอามาใช้พูดถึงคน หมายถึง ไม่ค่อยฉลาด ต้นทุนทางสติปัญญาด้อยกว่าคนอื่น ทำนองว่าคนอื่นเป็นสำรับไพ่ที่มีไพ่ครบทุกใบ แต่เรากลับเป็นสำรับที่ไม่สมบูรณ์เพราะขาดไพ่ไป จะเอาไปเล่นอะไรก็ไม่ได้ ตัวอย่างเช่น Sam’s a nice guy. Too bad he’s a few cards shy of a full deck. หมายถึง แซมเป็นคนดีนะ เสียดายที่พร่องความฉลาดไปหน่อย
สำนวนนี้นอกจากจะใช้หมายถึง ไม่ค่อยฉลาด แล้ว ยังใช้ในความหมาย สติไม่ค่อยดี คล้ายสำนวน ไม่เต็มบาท หรือ ไม่เต็มเต็ง ในภาษาไทยได้ด้วย
นอกจาก a few cards shy of a full deck แล้ว จะพูดว่า not playing with a full deck ก็ได้ มีความหมายอย่างเดียวกันก็คือ ไม่ค่อยฉลาด สติปัญญาไม่สมบูรณ์
ยังมีสำนวนอื่นที่สื่อถึงความไม่ครบถ้วน เช่น a couple of sandwiches short of a picnic (ขาดแซนด์วิชไปอีกแค่ 2 ชิ้นก็จะเป็นปิกนิกอยู่แล้วเนี่ย) a few cents short of a nickel (นิกเกิลคือเหรียญห้าเซนต์ แต่ว่ามีไม่ครบห้าเซนต์ เลยยังไม่เป็นเหรียญนิกเกิล)
หรือสำนวนที่หมายถึงการทำงานได้ไม่สมบูรณ์ เช่น sb’s elevator doesn’t go all the way to the top (ลิฟต์ขึ้นไปไม่ถึงชั้นบนสุด) ตัวอย่างเช่น
He thought buffalo wings were made of buffalos. Damn, his elevator doesn’t go all the way to the top.
หมายถึง มันคิดว่าปีกไก่บัฟฟาโลทำจากควายเว้ย นี่ไม่ค่อยเต็มนะ
บรรณานุกรม
- American Heritage Dictionary of the English Language
- Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.
- Brenner, Gail. Webster’s New World American Idiom Handbook. Wiley Publishing: Indianapolis, 2003.
- Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
- Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.
- Longman Dictionary of Contemporary English
- Oxford Advanced Learners’ Dictionary