ในโอกาสครบวาระดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย ท่านทูตซาตุ ซุยก์การิเคลเวน’ (Her Exellency Ambassador Satu Suikkari-Kleven) ให้โอกาส The Momentum ได้เข้าพบและสนทนาท่ามกลางบรรยากาศสบายๆ 

ท่านทูตได้แบ่งปันประสบการณ์ในการทำงาน ผลงานการประสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศฟินแลนด์และประเทศไทย รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยที่ทำให้เป็น ‘4 ปีพิเศษสุดของท่านในบ้านเรา

ท่านทูตดำรงตำแหน่งในประเทศไทยมาครบวาระสี่ปีแล้ว ตอนนี้มีความรู้สึกอย่างไรบ้าง

ดิฉันรู้สึกร่ำรวยขึ้น ร่ำรวยประสบการณ์ที่แสนอัศจรรย์ ย้อนดูรูปถ่ายในช่วงเวลาที่ผ่านมา คิดว่าได้สัมผัสหลายๆ ประสบการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์พิเศษของประเทศไทย น่าเศร้าเหมือนกันนะที่จะต้องย้ายไปประเทศอื่น แต่นั่นคือลักษณะงานของพวกเราที่จะได้ไปสำรวจและสร้างเสริมประสบการณ์ใหม่ๆ ในทุกๆ สี่ปี

ก่อนที่จะมาประจำการที่ประเทศไทย ท่านทูตทำงานอะไร และทำอะไรอยู่ในขณะที่ทราบว่าจะได้มาประจำการที่ประเทศไทย

ในช่วงห้าปีก่อนจะย้ายมา ดิฉันทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายสากลสาธารณะกับกระทรวงการต่างประเทศ รับผิดชอบทุกอย่างเกี่ยวกับกฎหมายสากล ศาลอาชญากรรมสากล

ตอนที่ได้ทราบข่าวว่าจะได้มาประจำการที่ประเทศไทย เป็นช่วงเวลาที่พิเศษสุดๆ  ตอนนั้นดิฉันกำลังร่วมงานประชุมกับสภากาชาดอยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดิฉันตื่นเต้นมากจนนอนไม่หลับ แต่ต้องเก็บความตื่นเต้นไว้คนเดียว ไม่สามารถบอกใครได้ เพราะยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ การได้มาประจำการที่ประเทศไทยนับว่าเป็นของขวัญชิ้นหนึ่ง เพราะเป็นประเทศแรกที่ดิฉันได้มาประจำการในฐานะเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ ซึ่งตำแหน่งในไทยเป็นตำแหน่งที่สำคัญและได้ทำงานในสถานทูตที่ใหญ่

งานทางการทูตของท่านเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไร อะไรคือแรงบันดาลใจให้ทำงานด้านนี้

ขอย้อนไปพูดถึงสมัยคุณพ่อและคุณแม่ พ่อของดิฉันต้องเป็นผู้อพยพในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ช่วงแรกเกิดจนถึงอายุห้าขวบ เรียกว่าเป็นผู้อพยพภายในประเทศฟินแลนด์ เพราะต้องอพยพจากเมือง Karelia (อดีตพื้นที่ฝั่งตะวันออกของฟินแลนด์ส่วนที่กลายเป็นของสหภาพโซเวียตภายหลังสงคราม ดูภาพประกอบจากแผนที่) ท่านย้ายเข้ามาในเขตดินแดนฟินแลนด์ที่ยังเหลืออยู่ 

เหตุการณ์นั้นนับว่าเป็นส่วนสำคัญและเป็นสิ่งที่หล่อหลอมครอบครัวของดิฉันในหลายๆ ด้าน ดิฉันได้ยินเรื่องราวเหล่านี้เยอะมาก เป็นเหตุการณ์ที่สร้างผลกระทบมากมายให้กับคนฟินแลนด์ที่ต้องจำใจทิ้งบ้านและทรัพย์สินทั้งหมดของตัวเอง เพราะโดนยึดครองที่ดิน และต้องอพยพไปหาที่อยู่ใหม่ในเขตฟินแลนด์ รวมถึงครอบครัวคุณพ่อด้วย เป็นความรู้สึกที่เจ็บปวด 

พ่อของดิฉันย้ายมาที่เฮลซิงกิและเรียนด้านกฎหมาย ส่วนแม่ย้ายมาเฮลซิงกิจากเมืองเกิดทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และเรียนที่เฮลซิงกิเช่นเดียวกัน พ่อกับแม่ได้พบกันในเฮลซิงกิ และดิฉันก็เกิดที่เฮลซิงกิ

ตั้งแต่เด็ก ดิฉันอยากทำงานเกี่ยวกับการต่างประเทศ พ่อแม่บอกว่าดิฉันพูดถึงเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่อายุน้อยๆ แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งน่าจะมาจากพ่อที่เคยต้องเป็นผู้อพยพในประเทศมาก่อน ที่ทำให้ดิฉันเริ่มงานด้านสิทธิมนุษยชนกับองค์การสหประชาชาติ ดิฉันเคยไปประจำที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์สองปี และที่อัฟกานิสถานกับปากีสถานรวมกันอีกครึ่งปี ค่อนข้างมั่นใจว่านั่นคือเหตุผลที่ดิฉันสนใจงานด้านนี้เรื่อยมา 

การที่จะมาเป็นนักการทูตของฟินแลนด์ ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง

สำหรับฟินแลนด์ นักการทูตต้องจบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาใดก็ได้ ในฟินแลนด์นับเป็นเรื่องปกติที่ประชากรจะมีการศึกษาถึงระดับปริญญาโท เพราะทุกคนสามารถได้รับการศึกษาคุณภาพสูงที่รัฐบาลจัดให้ฟรี นับว่าเป็นโอกาสที่ทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกัน ส่วนคุณสมบัติอื่นๆ ก็ควรจะต้องเป็นผู้ที่มีความยืดหยุ่นสูง เปิดใจกว้าง อยากเรียนรู้ และปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีและรวดเร็ว

ท่านทูตเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ก่อนมารับตำแหน่งที่ประเทศไทย 

ดิฉันได้เข้าพบท่านเอกอัครราชทูตไทยในฟินแลนด์ คนไทยในฟินแลนด์ คนฟินแลนด์ที่ทำงานกับองค์กรในประเทศไทย และเพื่อนๆ ชาวฟินแลนด์ที่เคยมาประเทศไทย ดิฉันได้รับเคล็ดลับการใช้ชีวิตในไทยหลายอย่างจากพวกเขา นอกจากนั้น ก็ศึกษาและอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทยเยอะมาก รวมถึงเรียนภาษาไทยพื้นฐานด้วย

ครอบครัวของท่านรู้สึกอย่างไรบ้าง เมื่อทราบว่าจะต้องมาประจำการที่ประเทศไทย

สามีและลูกสาวรวมทั้งตัวดิฉันมีความสุขมาก เพราะว่าเราอยากมาอยู่ที่เอเชีย ส่วนพ่อ แม่ และพี่สาวของดิฉันก็มีความสุขมากเช่นกัน ครอบครัวสนับสนุนดิฉันในทุกเรื่องมาโดยตลอด พวกเราสนิทกันและใช้เวลาร่วมกันเยอะมาก เราอาจจะรู้สึกเศร้านิดหน่อยที่จะไม่ได้อยู่ในฟินแลนด์ด้วยกัน แต่ในช่วงปีแรกที่ย้ายมาประจำการที่ไทย ครอบครัวดิฉันก็เดินทางมาที่เมืองไทยหลายครั้ง

ต้องอยู่ไกลบ้านหลายปี มีช่วงคิดถึงบ้านบ้างไหม

มีบ้าง แต่ทั้งพ่อ แม่และพี่สาว ก็จะโทรหากันบ่อยๆ มีการส่งรูปให้กันในกลุ่มแชทของครอบครัวทุกวัน เราจะได้เห็นความเคลื่อนไหวกันตลอด เทคโนโลยีสมัยนี้ช่วยให้หายคิดถึงกันได้มาก

ในช่วงแรกที่ย้ายมาประเทศไทย มีสิ่งใดที่ทำให้ท่านทูตตื่นตาตื่นใจ หรือแปลกใจบ้าง

กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงขนาดใหญ่และมีความเป็นสากลมาก ดิฉันสามารถสัมผัสประสบการณ์นานาชาติได้ไม่ซ้ำในแต่ละวัน และสามารถหาทุกอย่างได้จากที่นี่ พระบรมมหาราชวังและวัดไทยสวยงามกว่าที่จินตนาการไว้มาก แต่การจราจรในกรุงเทพฯ ก็ติดขัดกว่าที่ดิฉันคิดไว้มาก และประเทศไทยก็ร้อนกว่าที่ฟินแลนด์เยอะเลย

อีกสิ่งหนึ่งเลย คือตัวเงินตัวทองน่าประหลาดใจมาก ดิฉันไม่อยากจะเชื่อที่พวกเขาเดินอยู่ในสวนลุมพินีในเมืองหลวงใหญ่อย่างกรุงเทพฯ แต่ดิฉันชอบพวกเขานะ ก่อนย้ายมาประจำการ ดิฉันได้สั่งทำของตกแต่งบ้านจากบริษัทที่ฟินแลนด์ ให้ทำโมเดลเป็นตัวเงินตัวทองน่ารักๆ และนำมาประดับในบ้านพักด้วย

ฟินแลนด์และประเทศไทยมีหลายสิ่งและวัฒนธรรมที่ต่างกันมาก ท่านทูตปรับตัวอย่างไร

พยายามสื่อสารกับคนไทยให้มากที่สุด (ในวัฒนธรรมฟินแลนด์ คนมักจะพูดน้อยแต่กระชับและได้ใจความ) ทำความเข้าใจวัฒนธรรมเพื่อให้ไม่ตีความคลาดเคลื่อนด้วย การปรับตัวไม่ได้ยากเกินไป แต่สิ่งที่ต่างกันมากที่สุด น่าจะเป็นระบบที่ประเทศไทยมีลำดับชั้นในสังคมเยอะ ส่วนฟินแลนด์เป็นสังคมแบบแนวราบ

ได้มีโอกาสพบปะกับชุมชนชาวฟินแลนด์ที่อยู่ในประเทศไทยบ้างไหม

คนฟินแลนด์ในประเทศไทยมีหลายกลุ่ม และอยู่ในหลายสายงานที่น่าสนใจ เช่น กลุ่มหอการค้าฟินแลนด์ ที่เน้นเรื่องธุรกิจ กลุ่มผู้หญิง FINWA ที่ช่วยดูแลเกี่ยวกับครอบครัวและสังคม ได้นำไอเดีย Baby Box จากฟินแลนด์มาจัดทำในไทย โดยการจัดกล่องเครื่องใช้สำหรับเด็กแรกเกิดให้กับครอบครัวที่จำเป็นในไทย และมีการพบปะกับกลุ่มคนฟินแลนด์ในพัทยาและหัวหิน รวมถึงคนฟินแลนด์ที่ทำงานกับองค์การสหประชาชาติที่ตั้งอยู่ที่ไทย

ช่วงสี่ปีที่ผ่านมา มีผลงานจากการประสานสัมพันธ์ระหว่างฟินแลนด์และประเทศไทยหลายเรื่อง อยากให้ท่านทูตกรุณายกตัวอย่างผลงานให้ฟัง

งานที่เป็นรูปธรรม เช่น มีการขยายการส่งเสริมเขตการค้าระหว่างสองประเทศมากขึ้น และมีงานที่ดำเนินตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) อย่างด้านสิ่งแวดล้อม เช่น เพิ่มการปลูกต้นไม้ และเริ่มโครงการจัดการขยะ

งานส่งเสริมการศึกษา เช่น การบรรยายเกี่ยวกับการศึกษาและความเท่าเทียมของฟินแลนด์ให้กับหน่วยงานต่างๆ และสถานศึกษาในประเทศไทย อย่างในงาน International Women’s Day 2020 ที่ได้บรรยายให้กับนักเรียนและนักศึกษา ดิฉันรู้สึกมีชีวิตชีวาที่ได้ร่วมงานกับคนรุ่นใหม่ ได้เห็นความกระตือรือร้นของพวกเขา การสนับสนุนคนรุ่นใหม่เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมาก นอกจากนั้นดิฉันยังประสานงานเพื่อนำนักการศึกษาจากฟินแลนด์มาจัดการอบรมครูในประเทศไทย 

นอกจากนี้ยังมีงานด้านส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ การร่วมบรรยายกับองค์กร เช่น สถาบันการศึกษา โครงการสัมมนาเยาวชนระดับนานาชาติ และร่วมจัดงานกับหลายหน่วยงาน เช่น งานสัมมนาเกี่ยวกับการส่งเสริมภาวะผู้นำในสตรีและการมีส่วนร่วมทางการเมือง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้หญิงไทยให้มีส่วนร่วมในการเมืองระดับประเทศมากขึ้น 

รวมถึงงานด้านการปกป้องสิทธิมนุษยชน ทั้งสิทธิของผู้หญิงและแรงงานต่างชาติในประเทศไทย การขับเคลื่อนด้านประชาธิปไตย ดิฉันได้เห็นความพยายามและอดทนของนักเคลื่อนไหว เป็นแรงบันดาลใจที่ดี และรู้สึกเป็นเกียรติที่มีโอกาส มีส่วนร่วมติดตามความก้าวหน้าและการขับเคลื่อนในประเทศไทย 

ทราบว่าท่านทูตได้รับตำแหน่ง EU Senior Gender Champion to Thailand ของสหภาพยุโรปในประเทศไทยด้วย ตำแหน่งนี้ความเกี่ยวข้องอย่างไรบ้างกับตำแหน่งเอกอัครราชทูต

ความรับผิดชอบของตำแหน่งนี้ คือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทยในด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ เป็นสายงานที่ดิฉันสนใจและมีประสบการณ์ มีการสนับสนุนการทำโครงการในประเทศไทย เช่น โครงการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง ที่ประสานระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทย การจัดสัมมนาผู้หญิงที่มีบทบาทในการเมือง 

สมมติว่าท่านทูตได้ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยต่ออีกวาระ มีพันธกิจใดบ้างที่ท่านอยากสานต่อ

ทุกช่วงปีใหม่ ดิฉันจะเขียนสิ่งที่จะทำในปีนั้นๆ แต่ปีนี้สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ดิฉันอยากสานต่องานการส่งเสริมสตรีให้มีส่วนร่วมในการเมืองมากขึ้น เช่น จัดกิจกรรมให้ผู้หญิงไทยและยุโรปได้พบกันและแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการเมือง อยากผลักดันให้ผู้หญิงได้เป็นรัฐมนตรี เพราะจากการวิจัยมากมายที่รายงานว่าการมีสัดส่วนผู้ชายและผู้หญิงเท่าๆ กันในรัฐสภา ทำให้มีการตัดสินใจที่ดีขึ้น และควรมีคนหลายช่วงอายุและมีประสบการณ์ที่ต่างกัน ในรัฐสภาควรมีความหลากหลาย

นับจากนี้ไป นโยบายการประสานสัมพันธ์ระหว่างฟินแลนด์และประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในสองถึงสามปี น่าจะเป็นไปในแนวทางใด

คงจะเข้มข้นขึ้นในด้านการศึกษา การประยุกต์การจัดศึกษาอย่างเท่าเทียมของฟินแลนด์มาปรับใช้ในประเทศไทย และเพิ่มการฝึกอบรมครูที่มีคุณภาพให้กับครูในประเทศไทย

ะไรคือความท้าทายในการทำงานต่างๆ ของท่าน

การแบ่งเวลา เพราะดิฉันอยากจะทำงานเชิงลึกในทุกสาขา หน้าที่ของดิฉันในสถานทูตคือรับผิดชอบการวางแผนระดับโครงสร้าง ส่วนอีกฝ่ายจะดูแลในส่วนงานประจำ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ดิฉันมีหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้นมากในการจัดเที่ยวบินส่งคนกลับประเทศฟินแลนด์และยุโรป ความท้าทายของสถานการณ์นี้คือการหาความสมดุล การโฟกัสกับทรัพยากรและเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด ต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

มีสถานการณ์ใดบ้างที่ท่านทูตต้องใช้ Finnish SISU (ความอดทน มุมานะพยายาม ทั้งกาย ใจ และจิตวิญญาณ) ในการทำงาน

เยอะมาก สัปดาห์ที่แล้วมีการพยายามผลักดันและสร้างระบบให้ประเทศไทยผ่านการพิจารณาให้คนเดินทางไปฟินแลนด์ได้ โดยผู้เดินทางไม่ต้องมีการกักตัวเมื่อไปถึง มีการค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับการเดินทางช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเราต้องรอบคอบและรัดกุมมากกับสถานการณ์นี้

ช่วงโควิด-19 นี่เราทำงานแทบจะเรียกได้ว่า 24 ชั่วโมง เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญและเร่งด่วน ดิฉันไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่รบกวนจิตใจ เพียงแค่จะต้องอดทนและพยายามมากขึ้น โดยไม่ลืมดูแลสุขภาพด้วย เพื่อดำเนินงานให้ผ่านไปได้ด้วยดี

จากระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ท่านทูตคิดว่าคนไทยมีความรู้สึกอย่างไรต่อประเทศฟินแลนด์ และสถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย

ดิฉันคิดว่าเป็นไปในทางสร้างสรรค์ สังเกตได้จากเวลาที่ดิฉันบอกว่ามาจากฟินแลนด์ จะรู้สึกว่าคนไทยให้การต้อนรับ นอกจากนี้คนไทยมีความรู้และให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของฟินแลนด์ด้วย เช่น มูมิน มารีเมกโกะ

ประเทศต่อไปที่ท่านทูตจะไปประจำการคือโปรตุเกส ท่านคาดหวังจะพบกับอะไรที่นั่นบ้าง

ดิฉันคิดว่าโปรตุเกสเป็นประเทศที่สวยงาม คงจะได้ใช้ชีวิตกับธรรมชาติมากขึ้น ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ อยู่กับต้นไม้และทะเล ส่วนในด้านงานน่าจะแตกต่างกับประเทศไทยมาก ดิฉันชอบมากที่ได้ทำงานรูปแบบแตกต่างกันในประเทศที่ไปประจำการ กรอบการทำงานอย่างหนึ่งที่สำคัญในโปรตุเกสจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ในยุโรป เชื่อว่าดิฉันจะสนุกกับการทำงานเช่นเคย

ท่านเตรียมตัวอย่างไรบ้างกับการย้ายไปประจำการครั้งนี้

ดิฉันได้พบกับเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย เริ่มเรียนภาษาโปรตุเกส อ่านหนังสือเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การเมือง ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างฟินแลนด์และโปรตุเกสในหลายๆ ด้าน รวมถึงความสัมพันธ์ในระดับสหภาพยุโรปด้วย ช่วงที่จะกลับไปฟินแลนด์เร็วๆ นี้ ก็จะได้พบกับผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโปรตุเกสหลายท่านในฟินแลนด์ด้วย 

ท่านทูตสื่อสารกี่ได้กี่ภาษา

ภาษาที่สื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว มีห้าภาษา คือ ฟินแลนด์ สวีเดน อังกฤษ ฝรั่งเศส นอร์เวย์ ภาษาที่พอสื่อสารได้ขั้นพื้นฐาน คือ เยอรมัน สเปน ภาษาไทยได้นิดหน่อย และตอนนี้กำลังเรียนภาษาโปรตุเกส

อะไรในประเทศไทยที่ท่านทูตจะคิดถึงมากที่สุดเมื่อต้องเดินทางจากไป

ในกรุงเทพฯ จะเป็นความรู้สึกของการที่ได้อยู่เมืองหลวงใหญ่ที่มีความเป็นสากล ความเป็นเมืองที่ทันสมัย อาหารนานาชาติ พระบรมมหาราชวังและวัดไทยที่สวยงาม นอกจากนั้นก็คงคิดถึงคนที่ได้รู้จักกัน เป็นเพื่อนคนสำคัญในช่วงเวลาที่อยู่ที่ไทย ต้องอำลากันก็รู้สึกใจหายเหมือนกัน

จะคิดถึงอาหารไทยด้วยไหม

ดิฉันชอบต้มข่าไก่ แน่นอนว่าดิฉันได้เข้าคอร์สเรียนทำต้มข่าไก่ด้วย และเคยเรียนทำขนมลูกชุบ ล่าสุด ได้ลองชิมทุเรียนภูเขาไฟ อร่อยมากเลย ก่อนหน้านี้ได้ทานทุเรียนบ้างก็ไม่ได้รู้สึกว่าอร่อยหรือไม่อร่อย แต่ตอนนี้คิดว่าทุเรียนอร่อยมาก 

ท้ายนี้ ท่านทูตมีอะไรอยากกล่าวอย่างเป็นทางการไหม ก่อนที่จะหมดวาระและหน้าที่เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย

ความรู้สึกที่ดิฉันมีมากที่สุดตอนนี้ คือความรู้สึกขอบคุณ การได้เป็นตัวแทนฟินแลนด์ในประเทศไทยเป็นของขวัญที่พิเศษมาก ดิฉันได้รู้จักคนที่หลากหลาย ได้มีโอกาสร่วมงานต่างๆ งานเหล่านี้ทำให้ดิฉันมีประสบการณ์มากขึ้น ดิฉันรู้สึก– –ว้าว! ช่างเป็นสี่ปีที่พิเศษมากในประเทศไทย 

 

อ้างอิง

Laine, Jussi & Velde, Martin. (2017). Spiritually Ours, Factually Yours: Karelia and Russia in Finnish Public Consciousness. Europa Regional. 24. 65–79.

Tags: ,