ในวงประชุมผู้หญิงในภาคการเมืองระดับเอเชีย ฉันเป็นตัวแทนจากประเทศเดียวที่ไม่มีการเลือกตั้ง ยิ่งไปกว่านั้น ตลอด 25 ปีของชีวิต ฉันใช้เวลาครึ่งหนึ่งไปกับช่วงที่ประชาชนไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียงทางการเมือง – การเติบโตในสายงานสื่อทำให้ฉันสนใจการแก้ปัญหาสังคมก็จริง แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยคิดว่าเครื่องมือทางการเมืองจะแก้ปัญหาอะไรได้ – งานนี้เลยเรียกได้ว่าเปิดหูเปิดตาเวอร์! อยากให้ได้อ่านกัน
เดือนมกราคมที่ผ่านมา ฉันมีโอกาสได้ไปร่วมวงประชุม ‘Action for Gender Equality Conference’ ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เนื้อหาของการประชุมในครั้งนี้เน้นไปที่การแบ่งปันประสบการณ์ของ ‘ผู้หญิงในภาคการเมือง’ จากประเทศต่างๆ ในเอเชีย แต่ละคนที่มาร่วมประชุมมีทั้งสมาชิกพรรค หัวหน้าพรรค สมาชิกวุฒิสภา และองค์กรอิสระที่ขับเคลื่อนด้านประชาธิปไตย
มาดูกันดีกว่าว่าตลอดสองวัน เขาคุยเรื่องอะไรกันบ้าง
สถานการณ์ทั่วไปจากผู้จัดและเจ้าภาพเป็นอย่างไร
ตัวแทนจากเยอรมนีกล่าวรายงานสถานการณ์สั้นๆ ว่าตอนนี้สมาชิกสภาเพศหญิงมีสัดส่วนน้อยลงมากอย่างน่าเป็นห่วง เราจะพบว่าสัดส่วนของผู้แทนหญิงในพรรคฝั่งขวามีแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ระหว่างที่ฟัง ฉันก็แอบหาข้อมูลของไทยไปด้วย จึงได้รู้ว่าสัดส่วนของผู้แทนหญิงในสภาไทยในปัจจุบันมีแค่ 6 เปอร์เซ็นต์เอง
นอกจากนี้ โลกเรายังเผชิญกับปัญหาที่รุมเร้าในหลายด้าน รัฐบาลต้องรับมือกับช่วงขาลงของเศรษกิจ รับมือกับภาวะโลกร้อน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่รู้สึกว่าตัวเองมีงานล้นมือ เลยคิดว่าเรื่องความเท่าเทียมทางเพศยังไม่ใช่ปัญหาที่สำคัญเท่ากับปัญหาอื่นๆ …ซึ่งฉันไม่โอเค (เน้นเสียง) เพราะขณะที่เวลาดำเนินไป ประชากรหญิงก็เติบโต ทำงาน หาเงิน เอาเงินที่หาได้มาใช้จ่ายในครัวเรือน เอาเงินที่หาได้มาลงทุนกับลูกจนบางคนไม่เหลือเงินมาลงทุนกับตัวเอง
ฉันขอยืนยันว่าความเท่าเทียมทางเพศเป็นปัญหาใหญ่ไม่แพ้ปัญหาอื่นๆ
ส่วนตัวแทนจากอินโดนีเซียกล่าวว่าตอนนี้อินโดนีเซียค่อนข้างเป็นประชาธิปไตยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน แต่มันก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองชูการเลือกปฏิบัติทางศาสนามาเป็นจุดขายเช่นกัน ดังนั้น สถานการณ์ประชาธิปไตยในอินโดนีเซียตอนนี้ถือว่าน่ากลัว สำหรับคนที่เชื่อใน Social Democracy
มุมมองของ Marja Bijl จากพรรค European Socialists Women ที่มีต่อสถานการณ์ความเท่าเทียมทางเพศในปัจจุบัน
คุณ Marja Bijl เกิดปี 1956 ตอนอายุหกขวบ เธอคุยกับแม่ว่า…
“แม่ๆ หนูอยากเป็นครู”
“ดีเลยลูก แม่ชอบช่วงที่ได้เป็นครูและได้สอนหนังสือที่สุดเลย”
“แล้วทำไมแม่ไม่เป็นครูต่อ ทำไมแม่เลิกสอนหนังสือล่ะ”
“เพื่อมาเลี้ยงลูกไง”
เด็กหญิง Marja ในวัยหกขวบถึงกับช็อก เมื่อรู้ว่าผู้หญิงต้องหยุดทำงานที่ตัวเองชอบเพื่อทุ่มเทชีวิตให้กับการดูแลครอบครัว…
ในเวลานั้น การออกจากงานเป็น ‘ทางหลัก’ ที่ผู้หญิงส่วนมากเลือกเดิน เพราะ ‘ต้องทำเพื่อครอบครัว’ ไม่ใช่ทางเลือกแบบในปัจจุบัน และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอเห็นว่าประสบการณ์ของ ‘ผู้หญิง’ เป็นประเด็นสำคัญไม่แพ้ประเด็นอื่นๆ ในสังคม
ตัดภาพมาตอนที่ Marja เป็นสมาชิกพรรคการเมือง: ตอนที่พรรคของเธอลงเลือกตั้งครั้งแรก แม้จะมีนโยบายหัวก้าวหน้า แต่พรรคของเธอก็ได้คะแนนเสียงจากผู้หญิงน้อยกว่าจากผู้ชายเฉยเลย ด้วยความงุนงง เธอจึงทำการศึกษาว่าเหตุใดพรรคอนุรักษนิยมจึงได้คะแนนเสียงจากผู้หญิงมากกว่า ซึ่งเธอพบว่าพรรคอนุรักษนิยมเอานโยบายเรื่องความเป็นอยู่ของครอบครัวและความเป็นอยู่ของผู้หญิงนำหน้า (ขณะที่พรรคของเธอเอาไอเดียทางการเมืองเป็นตัวชูโรง) เมื่อปรับกลยุทธ์การสื่อสาร ผลตอบรับของพรรคก็ดีขึ้น
Marja Bijl กล่าวอีกว่า ในขณะที่โลกของเราเต็มไปด้วยการควบคุม ความหวาดกลัว และความไม่ไว้วางใจในกันและกัน การสร้างโลกที่เท่าเทียมจะต้องเริ่มจากการเข้าใจให้ได้ว่าระบบแบบไหนที่สร้างพฤติกรรมเช่นนั้นขึ้นมา เพื่อให้ในที่สุดคนทุกเพศสามารถลงไปเดินบนถนนเพื่อพูด (และตะโกน) ว่าเรื่องนั้นๆ สำคัญกับชีวิตของเรา “ความเท่าเทียมทางเพศต้องไม่เป็นแค่ทฤษฎี แต่ต้องทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในทางปฏิบัติด้วย” อันเห็นได้จากปรากฏการณ์ #Metoo ที่ยืนยันว่าการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ… และเราจำเป็นต้องทำมากกว่านี้ เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องพูดว่า me too ต่อไปเรื่อยๆ
มีคนถาม Marja Bijl ว่าเธอเปลี่ยนอุดมการณ์เป็นการกระทำได้อย่างไร และทำให้ความเท่าเทียมทางเพศเป็นเรื่องของทุกคนได้อย่างไร เพราะในหลายพื้นที่ประสบปัญหาเรื่องเฟมินิสต์กลายเป็นวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่ม จนคนเข้าใจว่าประเด็นเรื่องผู้หญิงนั้นแยกขาดจากทุกสิ่งทุกอย่าง
Marja Bijl ตอบว่าต้องทำให้คนเห็นความสำคัญของปัญหาก่อน เพราะคนที่ไม่มีปัญหาหรือไม่เคยผ่านประสบการณ์ที่มีปัญหาก็จะไม่คิดว่ามันมีปัญหา (หรือต่อให้มีคนเล่าให้ฟัง เขาก็อาจไม่เชื่อว่ามันเป็นปัญหาจริงๆ
ในช่วงแรกของพรรค เธอบอกว่ามีการตั้งหน่วยผู้หญิงขึ้นมาโดยเฉพาะ แต่ก็ยังไม่ได้รับความสำคัญจากพรรค จนกระทั่งพรรคเจอกับช่วงขาลง แต่ด้านที่ทำงานเรื่องความเท่าเทียมทางเพศไม่ลงตาม นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนในพรรคหันมาสนใจประเด็นเรื่องเพศ
โดยส่วนตัว Marja Bijl คิดว่าการขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศจะมีผลได้จริงเมื่อทุกคนคิดถึงผลกระทบทางเพศในทุกการพูดคุยของคนในพรรค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบาย กฎหมาย เศรษฐกิจ หรือการศึกษา ต้องคิดเสมอว่าสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้หญิงและคนชายขอบอย่างไร ดังภาษิตที่ว่า “การเก็บกวาดควรเริ่มจากในห้องของเราเอง”
เธอตั้งธงไว้ว่าบรรยากาศในที่ทำการพรรคจะต้องเป็นมิตรกับคนทุกเพศภายในห้าปี ทุกคนที่ทำงานกับพรรคจะต้องไม่อึดอัดเพราะเพศสภาพของตน นอกจากนี้ การรักษาความสมดุลทางเพศยังต้องทำอย่างต่อเนื่อง จากที่ตอนแรกประเด็นเรื่องเพศเป็นเพียงตัวประกอบ แต่หลังจากขับเคลื่อนอย่างยาวนาน สัดส่วนของหญิง-ชายในพรรคก็เพิ่มขึ้นเป็น 50/50 (สำหรับการจัดลำดับบัญชีรายชื่อ พรรคของเธอยังจัดลำดับให้เพศชายสลับกับเพศหญิงไปเรื่อยๆ)
แต่สิ่งที่ดีกว่าตัวเลขคือการที่วันหนึ่งสมาชิกพรรคเพศชายถามขึ้นมากลางที่ประชุมว่า “สิ่งที่เรากำลังจะทำกันเนี่ย จะส่งผลกระทบต่อผู้หญิงอย่างไร?”
โมเมนต์นี้ทำให้เธอรู้สึกว่าสิ่งที่พยายามทำมาเนิ่นนาน เริ่มออกดอกออกผลเป็นการปฏิบัติในชีวิตประจำวันแล้ว
Tira Triyana จากพรรค DPD Bali และเรื่องราวบนเส้นทางการเมือง
ฉันพักกินข้าวร่วมโต๊ะกับ Tira Triyana ซึ่งมีบุคลิกที่ทำให้ฉันเรียกเธอว่า ‘ขุ่นแม่’
ขุ่นแม่อยู่ในวงการนี้มา 20 ปีแล้ว ครั้งหนึ่งเธอเคยได้รับเสียงสนับสนุนอย่างถล่มทลายจากประชาชนชาวบาหลี (15,000 เสียง) และเหตุผลที่ขุ่นแม่เข้ามาในวงการนี้ก็เพราะเธอเชื่อว่าสภาเป็นสถานที่เดียวที่จะบันดาลให้อุดมการณ์ของเธอบังเกิดผล
ระหว่างกินข้าว เราพูดคุยกันถึงฤดูหาเสียงที่กำลังจะมาถึง ขุ่นแม่ชวนฉันไปเที่ยวบาหลีในช่วงนั้นด้วย ฉันถามเธอว่ามันจะอันตรายไหม เธอบอกว่าไม่เลย มันสนุกมากๆ มีทั้งดนตรีและงานเทศกาล ตอนเดินสายหาเสียง มีคนเดินขบวนช่วยหาเสียงเป็นพันเป็นหมื่นคน เธอบอกว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของเธอ (พอรู้ว่าคนอื่นเขาไม่ได้ผูกจินตนาการเรื่องการเมืองกับความรุนแรง ฉันก็มีความหวังนิดหน่อยว่าวันหนึ่งบรรยากาศแบบนั้นจะเกิดในชีวิตของฉันบ้าง)
ผู้หญิงเปลี่ยนไปมาก แล้วผู้ชายปรับตัวแค่ไหน?
เข้าสู่ช่วงบ่าย รอบนี้เชิญตัวแทนจากสี่ประเทศมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้หญิงในพรรคการเมือง สำหรับ Bushra Gohar เธอบอกว่า ‘เงิน’ เป็นอุปสรรคหมายเลขหนึ่งของผู้หญิงชาวปากีสถาน เนื่องจากผู้ชายมีโอกาสเข้าถึงเครือข่ายทางการเงินมากกว่าและมีคนพร้อมให้ความช่วยเหลือเรื่องเงินมากกว่า จึงตัดสินใจทำอะไรได้คล่องตัวกว่า – ทั้งๆ ที่ผู้หญิงทำงานหนักกว่าผู้ชาย แต่เครดิตและตำแหน่งมักไปลงที่ผู้ชายเสมอ
อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่มาจากพื้นเพที่ดีก็พอจะมีพื้นที่ทางการเมือง ทุกอย่างราบรื่นถ้าเธอคิดเหมือนผู้ชายและสนับสนุนสิ่งที่ผู้ชายคิด แต่ถ้าเธอเริ่มขัดแย้งกับผู้ชายเมื่อไร คำพูดที่ว่าสภาไม่ใช่สถานที่สำหรับผู้หญิงก็จะดังขึ้นมาให้รำคาญใจแน่ๆ
“ฉันอายุปูนนี้ (ชี้ที่ผมหงอก) สู้มาตั้งแต่ยังสาว ทุกวันนี้ฉันยังต้องถกเถียงกับเด็กหนุ่มมีการศึกษาว่าสภาเป็นสถานที่สำหรับผู้หญิงหรือเปล่า ฉันควรจะรู้สึกเหนื่อยไหม แต่ฉันเหนื่อยไม่ได้ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะกี่ปี หนุ่มๆ ของเราก็ยังไม่พัฒนาไปไหน ในขณะที่ผู้หญิงเปลี่ยนไปมาก แล้วเราจะสนับสนุนให้ผู้หญิงลงสนามการเมืองได้แค่ไหนกันเชียว ถ้าผู้หญิงยังต้องคิดว่าใส่กางเกงยีนส์ออกจากบ้านแล้วจะปลอดภัยหรือเปล่า”
นอกจากความไม่เป็นธรรมทางเพศ พรรคของ Bushra Gohar ยังต้องรับมือกับพรรคคลั่งศาสนาที่ประชาชนโหวตเข้ามาโดยชอบธรรม (เธอพยายามแล้ว แต่ตอนนี้ก็ยังคุยกันไม่รู้เรื่อง) ตอนนี้ที่กำลังเป็นปัญหาคือกรณี ‘เจ้าสาวเด็ก’ เนื่องจากกฎหมายของปากีสถานอนุญาตให้เด็กหญิงแต่งงานได้ตั้งแต่อายุ 13 ปี
ผู้หญิงกับงานที่ต้องทำ… แต่ไม่ได้ค่าจ้าง
“วันๆ หนึ่ง แค่ซักผ้ากับตากผ้า ผู้หญิงก็แทบไม่ได้ทำอย่างอื่นแล้ว” ตัวแทนจากเนปาลบอกกับที่ประชุมแบบนี้ เธอบอกต่ออีกว่าชาวเนปาลจำนวนมากไม่มีเครื่องทุ่นแรงสำหรับงานบ้าน ภาระหน้าที่ในการดูแลครอบครัวตกเป็นของพวกเธออย่างต่อรองไม่ได้ และที่สำคัญ ไม่มีค่าตอบแทนสำหรับพวกเธอ
ข้อมูลของ World Economic Forum ระบุว่า ในภาพรวม ผู้หญิงเสียเวลาไปกับภาระงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยวันละ 400 นาที (8 ชั่วโมง!!??) ขณะที่ตัวเลขของผู้ชายอยู่ที่วันละ 100 นาที (ในสวีเดน ผู้หญิงและผู้ชายมีภาระงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนเท่ากันที่ 200 นาทีต่อวัน) ผู้หญิงส่วนใหญ่ในโลกจึงมี ‘ความยากจนทางเวลา’ (Time Poverty) สูงกว่าผู้ชาย
นอกจากไม่สามารถใช้เวลาได้อย่างเสมอภาคกัน หลังจากทำงานได้เงิน ผู้หญิงเนปาลก็ต้องเอาเงินไปเลี้ยงลูกและซื้ออาหารสำหรับคนทั้งครอบครัว ขณะที่ผู้ชายไม่มีข้อบังคับว่าจะต้องเอาเงินมาให้ครอบครัว – ตัวแทนจากเนปาลจึงกล่าวว่า สำหรับประเทศของเธอ การมีส่วนร่วมทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มจากการปฏิรูปภายในครอบครัวเป็นอันดับแรก
วัฒนธรรมกีดกันคนท้อง และความไม่เป็นธรรมในการทำงาน
Teo Nie Ching จากพรรค Democratic Action Party (DAP) แห่งมาเลเซีย เล่าว่าประชากรเพศหญิงของมาเลเซียกว่า 60 เปอร์เซ็นต์สำเร็จการศึกษาหรือผ่านการฝึกวิชาชีพ แต่กลับมีอัตราการก้าวหน้าในอาชีพน้อยกว่าผู้ชาย ทั้งๆ ที่โดยเฉลี่ย ประชากรเพศชายมีอัตราสำเร็จการศึกษาหรือผ่านการฝึกวิชาชีพเพียง 30 เปอร์เซ็นต์
เธอบอกต่ออีกว่า ในมาเลเซีย คนให้ความสำคัญกับการศึกษาของบุตรหลานมาก เด็กหญิงจะมีกราฟชีวิตที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ตอนเรียนหนังสือจนถึงตอนทำงาน แต่หลังจากแต่งงาน ผู้หญิงส่วนมากต้องออกจากงานเพื่อทำหน้าที่เมียและแม่เต็มเวลา หน้าที่ของพวกเธอคือการดูแลบ้าน ดูแลสามี ดูแลลูก และดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว แม้จะฝากปู่ย่าให้เลี้ยงดูได้ตอนที่ลูกมีอายุมากขึ้น แต่ผู้หญิงที่กลับไปทำงานก็มีสัดส่วนน้อยมาก
แม้จะไม่มีกฎที่ไล่คนท้องให้กลับไปอยู่บ้าน และไม่ได้มีข้อห้ามในการกลับมาทำงาน แต่ทุกวันที่ไปทำงาน ทุกคนก็เอาแต่ถามว่าเมื่อไรจะลาไปอยู่บ้าน? ท้องแล้วทำงานไหวหรือ?
ไม่ว่าจะถามด้วยความเป็นห่วงหรือไม่เป็นห่วง แต่ความกดดันลักษณะนี้ก็ส่งผลต่อความรู้สึก – นอกจากนี้ การให้นมลูกในที่สาธารณะก็เป็นเรื่องผิดกฎหมาย (ในทางปฏิบัติก็หมายความว่าอยู่กับบ้านกับเรือนจะดีเสียกว่า)
ประเด็นต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้หญิงกำลังจะถูกบรรจุไว้ในกฎหมายแรงงาน ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีเสียงตอบรับค่อนข้างดี แต่ที่น่าเซ็งคือดันเป็นการตอบรับด้วยเหตุผลทางศีลธรรม ไม่ใช่เหตุผลด้านสิทธิและความเท่าเทียม ส่วนเรื่องการคุกคามทางเพศในที่ทำงานก็ยังไม่มีนโยบายป้องกัน ซึ่งพรรคของเธอจะผลักดันทำต่อไป
ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะมาเลเซียก็มีปัญหาเจ้าสาวเด็กเช่นเดียวกับปากีสถาน โดยกฎหมายระบุให้เด็กหญิงอายุตั้งแต่ 16 ปี และเด็กชายอายุตั้งแต่ 18 ปี สามารถแต่งงานกันได้เมื่อได้รับการยินยอมจากเจ้าพนักงาน แต่กฎของศาสนาระบุว่าแต่งงานกันได้ไม่ว่าจะกี่ขวบก็ตาม ในมาเลเซียจึงมีเจ้าสาวเด็ก (9-10 ขวบ) ให้พบเห็น และช่องว่างนี้ก็เอื้อให้ผู้ที่ข่มขืนเด็กหลีกเลี่ยงความผิดด้วยการขอเด็กแต่งงานจากพ่อแม่ ขอแค่จ่ายค่าสินสอดหนักๆ หากพ่อแม่โอเค ผู้ข่มขืนก็จะไม่มีความผิดอะไรเลย
สมาชิกรัฐสภาฝั่งสตรีเห็นตรงกันว่าอายุของผู้ที่จะแต่งงานควรจะเป็น 18 ปีสำหรับทุกศาสนา – ซึ่งเป็นไปได้ยากในเร็ววัน – แต่ Teo Nie Ching ก็หวังว่าจะสำเร็จในสักวัน
ทำอย่างไรให้นักกิจกรรมเข้ามาใช้เครื่องมือทางการเมืองมากขึ้น?
มีคนถามคำถามนี้หลังจากตัวแทนจากสี่ประเทศพูดจบ ทั้งสี่คนเลยช่วยกันตอบในมุมมองของตัวเอง ตัวแทนจากปากีสถานให้ความเห็นว่าเฟมินิสต์จำนวนหนึ่งเชื่อในการตั้งพรรคเองมากกว่าไปร่วมกับพรรคอื่น แต่สุดท้ายก็ไม่ค่อยได้ตั้งพรรคหรอก จากประสบการณ์ เธอเชื่อว่าการปรับตัวเข้าหากัน แล้วก็ใช้เวลาปรับปรุงแก้ไข เป็นไปได้กว่าการเริ่มต้นอย่างสมบูรณ์แบบ
นอกจากนี้ บริบทของนักกิจกรรมก็สำคัญ เฟมินิสต์รุ่นใหม่มักจะอยู่ในเมือง มีการศึกษา มีสหภาพนักเรียนที่แข็งแรง แต่ชีวิตคนรุ่นใหม่ถูกทำให้อยู่ห่างจากการเมือง ดังนั้น เครื่องมือทางการเมืองจึงเป็นสิ่งที่อยู่ห่างจากมือของปัญญาชน – เพราะไม่คุ้นเคย เลยไม่นึกถึง – ทั้งที่จริงๆ แล้วสำนึกทางการเมืองควรเริ่มตั้งไข่ตั้งแต่ตอนเป็นวัยรุ่น
ตัวแทนพรรค DPD จากบาหลีตอบว่า ตอนแรกที่ชวนผู้หญิงมาเป็นสมาชิกพรรค หลายคนก็ลังเล ต้องจัดอีเวนต์ให้มากันเยอะๆ ถึงจะกล้าลงมือร่วมกัน อย่างไรก็ตาม พื้นฐานทางวัฒนธรรมของบาหลีและอินโดนีเซียนั้นมีแนวคิดที่มองผู้หญิงเป็น ‘แม่’ อยู่แล้ว พอทำเรื่องผู้หญิงกับการเมืองก็เลยพุ่งทะยานพอสมควร (ยกเว้นในรัฐที่ศาสนามีการกีดกันทางเพศ)
ตัวแทนจากมองโกเลียตอบว่า ในประเทศของเธอ วัฒนธรรมไม่ค่อยกีดกันทางเพศ แต่ไปติดที่เรื่องเศรษฐกิจมากกว่า เนื่องจากการเมืองมีต้นทุนสูง และผู้หญิงเข้าถึงทุนได้น้อยกว่า คล้ายกับสถานการณ์ในปากีสถาน
ตัวแทนจากมาเลเซียบอกว่า แม้พรรคจะมีนโยบายให้โควตาผู้หญิง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะชักชวนผู้หญิงมาลงสนามการเมือง อย่างแรกคือพรรคของเธอเป็นพรรคอินดี้ต่อต้านกระแสหลัก ชวนเอ็นจีโอก็ยากเพราะเอ็นจีโอทำงานข้างนอกลื่นไหลกว่าทำงานในระบบ คนที่มีการศึกษาหรือมีเงินก็ไม่ค่อยอยากเสี่ยงกับการเมืองท้องถิ่น นอกจากนี้ สนามการเมืองเป็นพื้นที่ที่คนคนหนึ่งจะถูกวิจารณ์ได้มากที่สุด ความพร้อมรับมือต่อการวิจารณ์ต้องแน่นหนา และวัฒนธรรมของมาเลเซียก็ยังไม่ส่งเสริมให้ผู้หญิงลงเล่นในสนามการเมืองเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพศหญิงจากทุกพรรคก็มักจะนัดรวมตัวกันเพื่อหาทางแก้ปัญหาของผู้หญิง เพราะมีเรื่องที่ทนไม่ได้ร่วมกันอยู่ประปราย ในประเด็นที่เกี่ยวกับผู้หญิงโดยเฉพาะ พวกเธอก็จะช่วยกันเต็มที่ (เพราะมันไม่ใช่เรื่องของพรรคกับพรรค แต่เป็นเรื่องของความเท่าเทียมกับวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่)
ชายแก่ครองพื้นที่ส่วนมากในสภา แต่ผู้หญิงเป็นประชากรครึ่งหนึ่งของประเทศ
จริงๆ แล้วอินเดียก็คล้ายกับประเทศอื่นในเอเชียตรงที่… ผู้หญิงในสนามการเมืองมักจะมาจากพื้นเพที่ดี มีประวัติของครอบครัวรองรับ (เช่น มีพ่อแม่พี่น้องปู่ย่าตายายร่ำรวยหรืออยู่ในวรรณะปกครอง) และถึงแม้ในช่วงหลังจะมีผู้หญิงเข้าสู่สนามการเมืองมากขึ้น แต่ก็ต้องเจอะเจอกับอุปสรรคที่ลดบทบาทของพวกเธอ ตั้งแต่ถูกหลีถูกจีบ ไปจนถึงถูกขอร้องแบบเนียนๆ ให้ประนีประนอมกับความคิดเห็นของพรรคจนลืมประเด็นทางเพศไป ความท้าทายจึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรให้คนที่เข้ามาแล้วอยู่ได้ และทำอย่างไรให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปในทิศทางที่ส่งเสริมเรื่องความเท่าเทียมมากขึ้น
โอเค ผู้หญิงเข้ามาในสนามการเมืองได้ ไม่มีใครห้าม แต่อำนาจในการเลือกสมาชิกพรรคมักตกเป็นของสมาชิกชาย เลยกลายเป็นว่าขึ้นอยู่กับดวงว่าผู้ตัดสินมีทัศนคติกับผู้หญิงแบบไหน ดังนั้น นอกจากสนับสนุนผู้หญิงให้มากขึ้น อินเดียจึงกำลังยกร่างกฎหมายที่สนับสนุนให้ผู้ชายหันมาช่วยเลี้ยงลูกและดูแลครอบครัวมากขึ้น
เช่นเดียวกับปากีสถาน “หลายปีที่ผ่านมา ผู้หญิงเปลี่ยนไปมาก แต่ผู้ชายยังเหมือนเดิม” จากประสบการณ์ในพรรคที่เก่าแก่ที่สุดของ Bhaarati เธอกล่าวอย่างดุเดือดว่า “แก้กฎหมายเนี่ยง่ายกว่าแก้ความเชื่อหรือวิถีชีวิตของคนเสียอีก!”
แม้อินเดียมีกฎให้โควตาผู้แทนราษฎรหญิง 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ในชีวิตจริง ผู้หญิงที่เข้าไปทำงานก็ต้องทนกับเสียงแซะ เสียงบ่น ประมาณว่า “ตั้งแต่ผู้หญิงเข้ามาในพรรค พูดอะไรก็ต้องระวัง ทำอะไรได้ไม่เต็มที่แบบเมื่อก่อน เรื่องมาก บลาๆๆ” ซึ่งตัวแทนจากอินเดียก็ต้องคอยเถียงกลับไปว่า “แล้วพวกแกจะไม่ปรับตัวเลยหรือ พวกแกจะไม่ลองทำความเข้าใจผู้หญิงหน่อยหรือ ในเมื่อผู้หญิงคือประชากรครึ่งหนึ่งของประเทศนะ!”
สำหรับหมุดหมายต่อไป อินเดียมีโครงการที่จะนำมูลค่าของกิจกรรมทางวัฒนธรรมและการศึกษา (ซึ่งเป็นพื้นที่ของผู้หญิง) เข้ามารวมไว้ในตัวชี้วัดของประเทศ แทนที่จะวัดจากสินค้าและการบริการเพียงอย่างเดียว (ซึ่งเป็นพื้นที่ของผู้ชาย) เพื่อให้การตัดสินใจในระดับประเทศเป็นธรรมกับประชากรหญิงมากขึ้น
โควตาที่นั่งของผู้หญิงดีจริงหรือ?
Anita Devkota จากเนปาล บอกว่าเนปาลเอาระบบโควตาไปใช้แล้วเจอปัญหา เพราะผู้ชายตีความว่าควรแบ่งพื้นที่ให้กับคนที่อ่อนแอกว่า ซึ่งมันเป็นมุมมองแบบการทำบุญทำทาน
Anita Devkota มาจากองค์กรที่อบรมผู้หญิงให้ ‘ใช้ความรู้และข้อมูลเป็นอาวุธ’ งานของเธอมีทั้งการช่วยเตรียมข้อมูลสำหรับทำนโยบาย ผสานความรู้ทางสถิติและวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนให้นโยบายที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงมีน้ำหนักมากขึ้น
เรื่องโควตาคุยกันอยู่นานมาก แทบจะเป็นประเด็นหลักของการประชุมครั้งนี้เลยทีเดียว ตัวแทนจากเยอรมนีพยายามนำเสนอว่ามันมีเรื่องที่สำคัญกว่าโควตานะ เพราะเป้าหมายของเราคือสลายการสืบทอดอำนาจผ่านโครงสร้างชายเป็นใหญ่ซึ่งกดทับผู้ชายเองด้วย ดังนั้น เราน่าจะโฟกัสที่การทำให้คนเคารพความหลากหลาย
พอตัวแทนจากเยอรมนีพูดจบ ตัวแทนจากมาเลเซียก็แย้งทันควัน!
Teo Nie Ching จากมาเลเซีย บอกว่าพรรคของเธอเป็นเพียงพรรคเดียวที่ให้โควตาผู้หญิงไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ แปลว่าจากที่เคยมีตัวแทนผู้หญิง 10 เปอร์เซ็นต์ (3 คน) พอเปลี่ยนกฎ ก็แปลว่าต้องมีผู้ชายเสียตำแหน่งเพื่อให้ผู้หญิงเข้ามาแทน 6 คน มันไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่ายๆ แต่คุ้มที่จะทำ! เพราะหลังจากพรรคใช้นโยบายนี้ องค์กรอื่นๆ ที่เห็นว่ามันนำเสนอความหลากหลายได้มากขึ้นในทางปฏิบัติ ก็เริ่มนำไปปรับใช้ อย่างการอบรมต่างๆ ก็เริ่มกำหนดแล้วว่าต้องมีชายและหญิงพอๆ กัน… ซึ่งก่อนหน้านี้ มาเลเซียไม่เคยมีแนวคิดแบบนี้มาก่อน
ตอนแรกฉันก็ยังไม่เข้าใจหรอกว่าทำไมสัดส่วนของผู้หญิงจึงควรถูกกำหนดเป็นนโยบาย จนกระทั่งเพื่อนสนิทบ่นให้ฟังถึงปัญหาในที่ทำงาน เพราะไม่ว่าจะทำงานได้ดีแค่ไหนก็ไม่ได้รับความไว้วางใจเท่ากับ “เด็กที่จบโรงเรียนเดียวกับเจ้านาย” ซึ่งเป็นโรงเรียนชายล้วนชื่อดัง แถมเรื่องสำคัญๆ ก็ไม่ค่อยได้รับรู้ผ่านที่ประชุม – ถ้าอยากได้ข่าวสำคัญต้องไปนั่งฟังในวงเหล้า (หรือตอนที่พวกผู้ชายพากันไปเที่ยวผู้หญิง) เป็นต้น
ปิดประชุมแล้วค่ะ ก่อนแยกย้าย หญิงสาวที่ดูอายุน้อยกว่าฉันสองสามปีก็เอาเอกสารแนะนำพรรคมาแจกให้กับพวกเรา เธอมาจากเกาหลีใต้ และดูเหมือนวัยรุ่นเกาหลีใต้ทั่วไป ฉันถามเธอว่าวัยรุ่นกับการเมืองเป็นเรื่องปกติของที่นั่นไหม เธอตอบว่ามันก็ไม่แมสแหละ แต่มันก็ไม่แปลกสำหรับตัวเธอเอง
ฉันถามต่อว่า เธอรู้สึกว่างานที่ทำมันอันตรายหรือเปล่า เธอตอบว่าไม่ พร้อมกับแววตางุนงงว่าทำไมฉันจึงถามเช่นนั้น
สองวันที่ผ่านมา ฉันได้เรียนรู้ว่าคงมีแต่ประเทศของเราหรือเปล่าที่พยายามกีดกันคนรุ่นใหม่ออกจากการเมือง ทั้งที่การเมืองเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลง
สองวันนี้ ฉันสัมผัสได้ถึงพลังของคุณป้า คุณยาย และเพื่อนวัยเดียวกัน แม้ในภาพรวมจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “การเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย” แต่ทุกคนก็รู้สึกร่วมกันว่า “มันคุ้มที่จะทำ”
ทิ้งท้าย
ก่อนกลับ ฉันปรึกษากับคุณป้าคุณยายทั้งหลายเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย ทุกนางเชียร์เหมือนๆ กันว่าถ้าคนรุ่นใหม่อยากเปลี่ยนอะไรได้จริงๆ ก็ต้องลงสนามการเมืองกันสักตั้ง – อย่างที่ Laxmi Kumari Rai นักการเมืองหญิงอาวุโสชาวเนปาล แบ่งปันคำสอนที่ครอบครัวบอกกับเธอมาตั้งแต่เด็กๆ
“Politics is the finest art of living.”
“การเมืองคือศิลปะอันละเอียดอ่อนของการใช้ชีวิต”
ขอบคุณ Friedrich-Ebert-Stiftung FES Thailand ที่ส่งข้าพเจ้าไปเปิดหูเปิดตาด้วยค่ะ
Tags: การเลือกตั้ง, ประชาธิปไตย, Gender Equality Conference, ผู้หญิงในภาคการเมือง