ในคืนวันจันทร์และอังคาร หน้าฟีดเฟซบุ๊กของฉันเต็มไปด้วยอีเรณู และอีพิไล (ถ้าเป็นก่อนหน้านั้นในช่วงต้นๆ ของเรื่องก็จะมีแต่อาตงกับอาซา) ใช่ ฉันกำลังพูดถึง กรงกรรม ละครเรื่องใหม่ที่ส่งให้เบลล่า ราณี กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง แต่บอกตรงๆ หลับตาฟังอีเรณูในเรื่องฉันกลับไปยินแต่เสียง ‘การะเกด’ ซึ่งฉันว่าดาราไทยเป็นกันเยอะ ไม่ใช่ไม่มีฝีมือนะ แต่เล่นเรื่องไหนก็เหมือนๆ กันไปหมด โดยเฉพาะน้ำเสียงและกิริยา ท่าทาง เราเรียนการแสดง แต่กลับไม่เรียนการออกเสียง คนนครสวรรค์ปี พ.ศ. 2510 จึงพูดเหมือนคนกรุงเทพฯ ในยุคปัจจุบันเป๊ะๆ และที่สำคัญพอแสดงเรื่องต่อไปก็เป็นเหมือนเดิม ไม่เป็นไรออกเสียงไม่ค่อยดี แต่ตบตีกันดี ก็ดูๆ กันไป

เรณูคะ…ตบอีพิไลเลยค่ะ

กรงกรรม สำหรับฉันมีความน่าสนใจตรงที่นางเอกเป็น ‘กะหรี่’ มาก่อน ช่วงเวลาในนวนิยายเกิดขึ้นในช่วงปีพ.ศ. 2510 ซึ่งเป็นช่วงที่ทหารอเมริกันเข้ามาในประเทศไทยมากโข เพราะไทยเป็นอีกหนึ่งฐานทัพของอเมริกาในช่วงสงครามเวียดนาม นั่นนับเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจ และนวนิยายหลายเรื่องก็เลือกใช้ฉากท้องเรื่องเป็นช่วงที่ทหารจีไออเมริกันเดินกันว่อน และเมืองไทยก็เต็มไปด้วยซ่องกะหรี่เพื่อปรนเปรอความกำหนัดของทหารอเมริกันที่จากบ้านจากเมืองมารบ ก่อนจะเกิดลูกเกิดหลานเป็น ‘ลูกครึ่ง’ ที่กลายเป็นเทรนด์ในเวลาต่อมา

นวนิยายเรื่องแรกที่จะพูดถึง หลายคนอาจจะไม่ค่อยคุ้นหูกันนัก นั่นก็คือ มณีดิน บทประพันธ์ของกฤษณา อโศกสิน ซึ่งเขียนในช่วงปีพ.ศ. 2513 ซึ่งก็ใกล้เคียงกับยุคของอีเรณูใน กรงกรรม ตามมาด้วยนวนิยายเรื่องที่สองที่ถูกนำมาทำเป็นละครซ้ำแล้วซ้ำเล่าแล้วก็ดูกันฮิตกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็คือ ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด บทประพันธ์ของโบตั๋น ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับมณีดินและกรงกรรมแต่นวนิยายเรื่องนี้เขียนขึ้นในช่วงปีพ.ศ. 2524 และเรื่องสุดท้ายก็คือ ข้าวนอกนา บทประพันธ์ของ หม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ กับเวอร์ชั่นละครที่ส่งให้นันทนา บุญหลง ดังเป็นพลุแตก (ไม่รู้จักล่ะสิ กูเกิ้ลเอาเองแล้วกัน) ข้าวนอกนา นั้นเขียนขึ้นในปีพ.ศ. 2516 นางเอกเป็นลูกเมียเช่า (ในช่วงยุคทหารจีไอ) ได้กับนิโกร ลูกเลยออกมาดำปิ๊ดปี๋ ในขณะที่ กรงกรรม นั้น แม้จะเล่าเรื่องในช่วงปีพ.ศ. 2510 แต่ตัวบทประพันธ์ ซึ่งเขียนโดย จุฬามณี เฟื่องนคร (นามปากกาของ นิพนธ์ เที่ยงธรรม) เพิ่งจะเขียนในปีพ.ศ. 2560 นี่เอง

ช่วงเวลาที่เขียนนวนิยายนั้นมีความสำคัญมากเสียกว่าช่วงเวลาที่เกิดเรื่องในนวนิยายเสียอีก เพราะแม้ผู้ประพันธ์จะพยายามทำข้อมูลเพื่อสร้างฉากหลังและบทละครให้สมจริงตามช่วงเวลาในประวัติศาสตร์มากที่สุด แต่ภาพเสนอของผู้หญิงและค่านิยมที่เกิดขึ้นภายใต้เรื่องราวของตัวละคร คาแรกเตอร์ มันกลับไม่ได้ย้อนไปยังปีพ.ศ. 2510 ตามท้องเรื่อง แต่กลับผูกพันอย่างเหนียวแน่วภายในความเชื่อ อุดมการณ์ของผู้ประพันธ์ในช่วงที่ผู้ประพันธ์ได้ก่อร่างสร้างความคิดและตัวตนของตัวเองรวมไปถึงช่วงเวลาที่เขียนนวนิยายเรื่องนั้นขึ้นอีกด้วย ภาพเสนอของผู้หญิงในนวนิยายและละครเรื่องกรงกรรมก็เช่นเดียวกัน

ลองดู ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด สิ บุญรอดช่างเป็นผู้หญิงที่บริสุทธิ์ผุดผ่องทั้งกายและใจเสียยิ่งกว่าดาวพระศุกร์ เข้าฉบับค่านิยมของผู้หญิงยิงเรือในยุคนั้นเป๊ะๆ ก็แหมมม…นะ โบตั๋นน่ะ เธอเป็นสาวอักษร จุฬาฯ เชียวนะเออ

กลับมาที่ กรงกรรม ตัวละครหญิงในกรงกรรมมีเยอะดี เยอะจนฉันก็จำชื่อได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่เมื่อพิจารณาลงไปในคาแรกเตอร์แล้ว ไม่ว่าผู้ประพันธ์จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ผู้หญิงในกรงกรรมนั้นถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่ายและพยายามแย่งชิงภาพเสนอความเป็นผู้หญิงอย่างสนุกสนานด้วยกันทั้งสองฝั่งอย่างชัดเจน และที่น่าสนใจไปมากกว่านั้น คุณค่า หรือค่านิยมที่ผู้ประพันธ์ใส่ลงไปในตัวละครหญิง ก็ไม่ได้เป็นค่านิยมที่เราได้สัมผัสจากนวนิยายในช่วงเวลาที่เกิดขึ้นในท้องเรื่อง ดังเช่น มณีดิน ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด หรือ ข้าวนอกนา เลย

และไม่ใช่ค่านิยมในแบบ ‘หญิงดี-หญิงชั่ว’ อย่างที่เราเห็นได้ทั่วไปในนวนิยายหรือละครไทย

ใน มณีดิน ผู้เขียนได้ผูกความเป็น หญิงดี-หญิงชั่ว ไว้กับความเป็นชาติ ผู้หญิงที่นอนกับฝรั่ง เป็นเมียฝรั่ง พวกนั้นคือหญิงชั่วขายชาติ เนื่องด้วยอุดมการณ์อันว่าด้วยชาติไทยที่ถูกปลุกระดมขึ้นในช่วงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา คืออุดมการณ์หลักที่ถูกนำมายึดโยงเพื่อให้คุณค่าแก่ทุกๆ การกระทำของคนไทย สิ่งใดที่ไม่ได้มุ่งไปสู่ชาติเป็นอันไร้คุณค่า รวมไปถึงเรื่องเพศด้วย ชาติจึงถูกนำมาใช้ในการกำหนดความดีความชั่วของยุคสมัย ซึ่งอันที่จริง…ตอนนี้ก็ยังมีให้เห็นอยู่น่ะนะ

ในขณะที่ ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด ก็แต่งขึ้นมาด้วยอุดมการณ์ของชนชั้นกลาง (ระดับสูง) เพื่อตอบโต้กับหญิงชั่วชนชั้นล่าง ที่ไปเป็นกะหรี่ขายตัวให้กับทหารอเมริกัน เพียงแต่ไม่ได้นำวาทกรรมเรื่อง ‘ชาติ’ มาเป็นตัวกำหนดกรอบคุณค่าของตัวละครเช่นเดียวกับมณีดิน แต่กลับกลายเป็นวาทกรรมแบบชนชั้นกลางว่าด้วย ‘ความรัก’ ที่ไม่แบ่งเชื้อชาติ สีผิว อ้อ…และต้องไม่เป็นกะหรี่ด้วยนะคะ

มันคือการขับเคี่ยวของภาพตัวแทนของผู้หญิงไทยในช่วงยุคสงครามเวียดนาม ที่ต่างอยู่ในกรอบความคิดของชาตินิยมและความเพ้อฝันในแบบชนชั้นกลาง

สำหรับ ‘เรณู’ นอกจากจะเป็นกะหรี่แล้ว ยังเคยมีผัว (หนำซ้ำยังเป็นผัวของพี่สาวแท้ๆ) และมีลูกติดมาก่อน ที่สำคัญร้ายถึงขั้นทำคุณไสยใส่ผัวและแม่ผัวให้รักให้หลงเสียอีก ถ้าหากอีเรณูไปปรากฏในนวนิยายหรือละครเรื่องอื่น คงได้เป็น ‘นางร้าย’ แน่ๆ แต่ในนวนิยายและละครเรื่องนี้ เธอคือ ‘นางเอก’ เช่นเดียวกันกับ ‘ย้อย’ แม่ผัวคู่ปรับตลอดกาลของอีเรณู ซึ่งเราเองก็ไม่รู้จะจัดวางย้อยไว้ในฝั่งไหนของละครไทยในแบบเดิม ตัวร้ายหรือตัวดี มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะคิดว่า ‘เรณู’ นั้น ‘เหนือ’ นางเอกนวนิยายหรือละครไทยใช่ไหม ที่สามารถหลุดกรอบความเป็นหญิงดีในแบบนวนิยายหรือละครไทยไปได้ แต่ช้าก่อน…คัมมอนนน…นวนิยายเรื่องนี้แต่ขึ้นในปีพ.ศ. 2560 นะคะ อย่าลืม แม้ว่าเรื่องราวจะเกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2510 ก็ตามที แต่อุดมการณ์ที่ถูกสร้างขึ้นผ่านคาแรกเตอร์ของเรณูนั้นไม่ใช่อุดมการณ์ในแบบพ.ศ. 2510 เลยสักนิด

และถ้ามันจะเป็นอุดมการณ์จากปีพ.ศ. 2560 ก็คงจะบอกได้ว่า…เรณูจ๊ะ เธอยังห่างไกลคำว่าเปรี้ยวอยู่นะจ๊ะ

การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของตัวละครหญิงในกรงกรรมแบ่งออกเป็นสองฝ่ายด้วยกัน และไม่ใช่แบบหญิงดี-หญิงชั่วในแบบที่เราคุ้นเคยกัน ฝ่ายแรกได้แก่ ย้อย เรณู บุญปลูก จันตา ส่วนฝ่ายที่สองก็คือ พิไลและอรพรรณี (ใครอยากรู้ว่าอรพรรณีเป็นใครไปอ่านนิยายหรือเรื่องย่อมาก่อนนะคะ) โดยใช้หลักเกณฑ์ที่เป็นอุมดมการณ์อันแอบแฝงอยู่ในความเชื่อค่านิยมของผู้ประพันธ์โดยอาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามและไม่ได้เกี่ยวข้องกับค่านิยมของสังคมตามเวลาในท้องเรื่องแม้แต่น้อย นั่นก็คือการเป็น ‘ผู้หญิงทำงาน’

ย้อยเป็นเจ้าของร้านขายของชำ เรณูใช้วิชาความรู้ทำขนมจนสามารถสร้างชีวิตใหม่ขึ้นมาได้ บุญปลูกทำงานในร้านของย้อย ขยันขันแข็งและซื่อสัตย์ เช่นเดียวกันกับจันตา ลูกจ้างร้านสังฆภัณฑ์ของนางป่วยฮวย ในขณะที่พิไล คาแรกเตอร์หญิงในอีกกลุ่มได้รับการบรรยายไว้ว่า

“พิไลทำงานบ้านไม่เป็นสักอย่างเพราะปกตินางพิกุลผู้เป็นแม่ทำให้อยู่เสมอ พิไลจึงขอจ้างคนอื่นมาทำงานบ้านแทนทุกอย่าง” เช่นเดียวกันกับอรพรรณี ที่เธอเป็นผู้หญิง “เที่ยวเล่นทุกวัน”

จะเห็นได้ว่าด้วยพื้นเพเคยเป็นกะหรี่มาก่อนของเรณู ทำคุณไสยใส่ผู้ชายและแม่ผัวเพื่อให้ได้ความรัก เรณูไม่น่าจะถูกจัดว่าเป็นนางเอกหรือผู้หญิง ‘ดี’ ได้เลย ตัวละครหญิงอื่นๆ ในกลุ่มนี้ก็เช่นเดียวกัน จันตาเป็นเมียน้อยมาก่อน บุญปลูกเป็นเพียงลูกจ้างในร้านที่แอบรักลูกชายเจ้าของร้าน การขับเคี่ยวกันของภาพเสนอของตัวละครหญิงในกรงกรรมจึงไม่ได้วัดกันที่ ความดี-ความชั่ว การเป็นหญิงบริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนดังขนบในนวนิยายหรือละครแต่ก่อน และทำให้ไม่มีสิ่งที่เรียกว่านางเอก นางร้าย ได้อย่างชัดเจน แต่เมื่อพิจารณาในโครงสร้างของคาแรกเตอร์ เราจะเห็นว่าสิ่งที่ทำให้ตัวละครหญิงในกรงกรรมแบ่งออกเป็นสองฝั่งนั่นก็คือ ‘การเป็นผู้หญิงทำงาน’ โดยมีเส้นแบ่งอยู่ที่ ‘การประสบความสำเร็จในด้านความรักมีครอบครัว ได้เป็นแม่เป็นเมียในที่สุด’

(นับจากนี้จะมีสปอยล์อย่างแรง)

ย้อยเป็นเมียและเป็นแม่มีลูกชายถึง 4 คน และเป็นเมียที่ทำการค้าขายสร้างครอบครัวให้มั่งคั่งเจริญรุ่งเรือง เรณูแม้จะเริ่มต้นความรักในรูปแบบนางอิจฉาด้วยการทำคุณไสย แต่สุดท้ายเธอก็ได้ลงเอยกับผู้ชายที่เธอรัก และไม่ได้ ‘ดีล’ ด้วยหน้าตา ความบริสุทธิ์ หรือความดีในแบบนางเอกทั่วไป จันตาคนงานในร้านขายเครื่องร้านสังฆภัณฑ์เคยเป็นเมียน้อย ท้องและแท้งมาก่อน แต่สุดท้ายเธอก็มีโอกาสได้ไปเรียนเสริมสวยและลงเอยกับกมล ในขณะที่บุญปลูกลูกจ้างในร้านที่ดูเป็นขนบนางเอกละครไทยมากที่สุด หลงรักอาตง และสุดท้ายด้วยความดี ความใกล้ชิดของเธอทำให้สุดท้ายเธอได้แต่งงานกับเขาในที่สุด

ในขณะที่ผู้หญิงอย่างพิไล ผู้ซึ่งทำอะไรไม่เป็นแม้แต่งานบ้านสุดท้ายกลับต้องบ้านแตกสาแหรกขาดและแทบเป็นบ้า ในขณะที่อรพรรณีก็ได้รับข้อหาการเป็นเมียที่ “เอาแต่เที่ยว” จนสุดท้ายด้วยอุบัติเหตุของอาไช้ก็ทำให้เธอกลายเป็นผู้หญิงไม่จริงใจ และทิ้งอาไช้ไป

จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ภาพตัวแทนของผู้หญิงในกรงกรรม ได้แบ่งแยกผู้หญิงทั้งสองกลุ่มไว้ด้วยการเป็นผู้หญิง ‘ทำงาน’ และ ‘ไม่ทำงาน’ โดยมีรางวัลตอบแทนก็คือ การประสบความสำเร็จในชีวิตรักครอบครัว ได้เป็นแม่เป็นเมียในที่สุด

และเมื่อพิจารณาจากปีที่เขียนนวนิยายเรื่องนี้คือพ.ศ. 2560 จึงไม่แปลกใจเลยที่อุดมการณ์ชุดนี้จะถูกนำมาซุกซ่อนอยู่ในเนื้อเรื่องที่เกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2510 และปฏิเสธภาพ หญิงดี-หญิงชั่ว ในแบบที่ผ่านมา

มากไปกว่านั้น หากเราพิจารณาจาก ‘สถาบันครอบครัว’ อันเป็นรางวัลหรือจุดมุ่งหมายที่เกิดขึ้นในการวิเคราะห์ครั้งนี้ มันสามารถนำมาทาบทับกับสิ่งที่เรียกว่า ‘อุดมการณ์ชาติ’ ได้ เพราะสถาบันครอบครัวที่พวกเธอมุ่งไปสู่ ก็คือหน่วยผลิตย่อยในการสร้างรัฐชาติ ดังนั้นหากคุณค่าของผู้หญิงดีในนิยายยุคทหารจีไอทั้งหลาย คือการไม่ ‘เสพสม’ กับฝรั่ง เพราะนั่นถือเป็นการขายชาติ คุณค่าของผู้หญิงที่มีต่อชาติ ในนวนิยายและละครยุคพ.ศ. 2510 (แต่เขียนในปีพ.ศ. 2560) แบบกรงกรรมก็คือ การเป็นผู้หญิง ‘ทำงาน’ นั่นเอง

แน่นอนว่าในยามที่ไม่ต้องไปรบกับใคร ไม่ต้องระแวงว่าใครจะมารุกรานหรือยึดเอาเป็นเมืองขึ้นทั้งทางพื้นที่และวัฒนธรรม โดยเฉพาะในโลกาภิวัฒน์ที่เชื่อมต่อกันด้วยอินเตอร์เน็ตนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดของชาติอาจไม่ใช่กระแส ‘ชาตินิยม’ แต่กลับเป็น ‘เศรษฐกิจ’ ของชาติเสียมากกว่า ผู้หญิงจึงไม่ใช่แค่เมียที่ดีแม่ที่ดีเพียงเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นพลเมืองที่ดีที่มีงานทำ เสียภาษีและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติได้อีกด้วย

ขอให้ดูละครกรงกรรมให้สนุกนะคะ ตบมันเลยค่ะอีเรณู!

Tags: ,