เรื่องนั้นหรือ คือมีการเปิดรีสอร์ตใหม่กลางป่า เป็นรีสอร์ตหรูอลังการที่ชักชวนคนดังมาใช้บริการเพื่อโปรโมต มีทั้งวงดนตรีวัยรุ่นสุดดัง เน็ตไอดอลขาเซ็กซี่ แก๊งช่างภาพ และคู่รักที่บังเอิญจองมา

ไม่มีใครรู้ว่า เคยมีเหตุการณ์สยองขวัญเกิดขึ้นในรีสอร์ตใหม่ที่รีโนเวตจากรีสอร์ตเดิม เป็นเรื่องโหดเหี้ยมเกี่ยวกับการฆ่าหั่นศพสาวคาราโอเกะต่างด้าว คืนนั้นเอง พวกเขาก็เจอกับเรื่องหวีดสยองของคาราโอเกะจากนรก ร้องผิดตาย ร้องเพี้ยนตาย คะแนนต่ำกว่าแปดสิบตาย!!!

ฟังจากพล็อตของภาพยนตร์ เปรมิกา ป่าราบ ก็ไม่มีอะไรให้คาดหวังมากไปกว่าหนังสยองขวัญไทยที่ออกมาไล่ฆ่า ซึ่งยิ่งชี้ให้เห็นว่า หนังเต็มไปด้วยองค์ประกอบสองอย่าง คือ ฉากเชือดเลือดสาดแบบซีจีตามมีตามเกิด และมุกตลกต่ำถ่อยเหยียดทอม เหยียดคนอ้วน เหยียดตุ๊ด และแน่นอน ตัวหนังก็ออกมาเป็นเช่นที่คาดหวัง

หนังสยองขวัญไทย ความบันเทิงชั่วคราว

แต่ในความเป็นเช่นนั้น หนังสยองขวัญไทยจำนวนมากซึ่งมีลักษณะดังกล่าวก็มีกลุ่มผู้ชมหลัก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการความบันเทิงชั่วคราวแบบจบแล้วก็ลืมกันไป ผู้ชมที่ไม่ต้องการ ‘สาระ’ มากกว่าผิวเปลือก เป็นหนังกลุ่มที่สร้างมาเพื่อที่จะถูกลืมหลังจากฉายโรง ออกแผ่นเงียบๆ (ถ้ายังมีการออกแผ่น) และฉายตามช่องทีวีดิจิทัลตอนดึกๆ ด้วยคุณภาพที่ดร็อปลงครึ่งหนึ่ง

จะว่าไปแล้ว หนังไทยในกลุ่มผีตลกที่ขายความเหวอของซีจีเพี้ยนพิลึก ที่ทั้งเลือดสาดไปด้วย ตลกไปด้วย ดูราคาถูกไปด้วย แต่ก็สนุกไปด้วย ไม่ใช่ของใหม่ มันมีฐานที่แน่นหนา แม้จะพูดได้ไม่เต็มปากว่าสืบรากมาจากกันมาจากวัฒนธรรมหนังสือการ์ตูนเล่มละบาท (ตอนนี้น่าจะสิบถึงสามสิบบาท) ที่ขายผี ขายฉากแหวะ ขายอีโรติก หาอ่านได้ตามร้านตัดผม

หนังในกลุ่มนี้อาจต้องนึกถึงหนังตระกูลบ้านผีปอบอันโด่งดังในทศวรรษ 1980-1990 หนังผีสายขาย (อันหมายถึงกลุ่มเป้าหมายของผู้ชมคือคนต่างจังหวัด) ไล่ไปถึงบุปผาราตรีของยุทธเลิศ (ที่ตั้งใจอ้างอิงการ์ตูนเล่มละบาท) สวยลากไส้ สะใภ้บรื๋อส์ หรือแม้แต่หนังชุดหอแต๋วแตก ที่คนมักปรามาสจนมองข้ามความพิสดารของมัน

คาราโอเกะ สาวต่างด้าว และเรื่องที่เล่าไม่ได้

หนังอาศัยการร้องคาราโอเกะเป็นเงื่อนไขในการไล่ล่าฆ่าสังหารของผีสาวเคืองโลก แล้วใช้ความแฟนตาซีในการเสกมิวสิควิดีโอประกอบการร้องเพลงเพื่อเล่าเรื่องนอกเส้นเรื่องหลัก สร้างความตลกโปกฮาให้กับผู้คนไปจนถึงเปิดโปงประเด็นหลักๆ ของหนัง

ตำแหน่งแห่งที่ของเพลงและการใช้เพลงในหนังนั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง เพลงมีทั้งหน้าที่ทั้งเปิดโปงอาชญากรรมในอดีต ในเรื่องของคู่ผัวเมีย บางเพลงกลายเป็นการเปลือยตัวตนที่แท้ออกสู่สังคม แต่ในอีกทางหนึ่ง เพลงก็เป็นเครื่องมือกดขี่ เมื่อสาวต่างด้าวไร้ชื่อถูกบังคับให้พูดภาษาอื่น และพวกค้ามนุษย์สั่งให้เธอฝึกภาษาผ่านเพลงในตู้คาราโอเกะ เพลงจึงยึดครองความเหนือกว่าของตัวเธอเอง และเมื่อเธอพยายามเหนือกว่าเจ้าของภาษาที่ร้องเพี้ยน เธอก็ต้องตาย เพราะไม่เจียมตัวว่าเป็นเพียงเด็กต่างด้าว

และเด็กต่างด้าวนี้เองคือสิ่งที่น่าสนใจในเปรมิกาป่าราบ เอาเข้าจริง พล็อตหลักของมันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องการค้ามนุษย์ในจังหวัดชายแดนของไทย (ซึ่งแน่นอนว่าเล่าแบบเชยๆ) และยิ่งไปกว่านั้น หนังถึงกับพูดออกมาว่าคนที่มีเอี่ยวกับการค้ามนุษย์ไม่ใช่นายทุนพ่อค้าที่ไหน แต่เป็นคนในเครื่องแบบนี่เอง

เมื่อสาวต่างด้าวไร้ชื่อถูกบังคับให้พูดภาษาอื่น และพวกค้ามนุษย์สั่งให้เธอฝึกภาษาผ่านเพลงในตู้คาราโอเกะ เพลงจึงยึดครองความเหนือกว่าของตัวเธอเอง

หนังจึงว่าด้วยเด็กสาวที่ถูกซื้อมาเพื่อเป็นทาสกาม ถูกฆ่าอย่างทารุณโดยไม่มีใครสนใจ ในที่สุด หลังจากตายแล้ว คนไร้ปากเสียงจึงมีอำนาจอีกครั้งในรูปของภูติผี ลุกขึ้นมาทวงคืนความยุติธรรมของตนเอง นี่คือหนังแบบที่หากถูกเล่าแบบอื่น เล่าในฐานะหนังดรามาจริงจัง อาจจะเป็นหนังที่ถูกแบน เพราะในหนังไทย ตำรวจไทยจะไม่ทำผิดกฏหมาย

สิ่งเหล่านี้พิสูจน์ความจริงข้อหนึ่งว่า หนังผีและหนังตลกในสังคม เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของการได้รับข้อยกเว้น เพราะมันเป็นพื้นที่นอกความจริง ความจริงที่มีสาระจับต้องได้แบบหนังสือเรียนหรือนิทานสอนใจหรือวรรณกรรม ‘สร้างสรรค์’ พื้นที่ที่แตกออกเป็นสอง โดยแบ่งจากผิวเปลือกอย่างน่าเวทนา ยืนตรงข้ามกับความไร้สาระ ความไม่จริงจัง เรื่องเพ้อฝัน นิยายน้ำเน่าประโลมโลก เรื่องอ่านเล่น เรื่องตลก เรื่องผี

หนังสยองขวัญ พื้นที่พิเศษในการเล่าเรื่อง

การแบ่งออกเป็นสองนี้ ไม่ใช่เรื่องของการพูดเกินเลย ตัวอย่างสำคัญมีให้เห็นเมื่อครั้งปี 2007 เมื่อ แสงศตวรรษ ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล โดนแบนด้วยข้อหามีภาพการตื่นตัวทางเพศ (ในกางเกง) ของแพทย์ ในขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ที่ฉายในเวลาใกล้เคียงกันอย่าง สวยลากไส้ ซึ่งเป็นเรื่องการไล่ฆ่ากันของนางพยาบาล กลับไม่โดนท้วงติงถึงความไม่เหมาะสมแต่อย่างใด ด้วยข้อแก้ตัวว่ามันเป็นหนังตลกสยองขวัญ ซ้ำชุดพยาบาลก็ไม่ใช่เครื่องแบบที่นางพยาบาลไทยใส่

เครื่องแบบที่อยู่เหนือผู้คน ผิวเปลือกที่อยู่เหนือแก่นสาร ดูจะเป็นแก่นแกนแท้จริงที่สังคมไทยยึดถือ ด้วยเหตุนี้เอง ผู้ชมจึงได้รับอนุญาตให้เพลิดเพลินกับการไล่เชือดเลือดสาดในโรงพยาบาลของเหล่าพยาบาลสาวเซ็กซี่ แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้สังเกตการณ์ชีวิตสามัญของแพทย์หนุ่มกับคนรักที่จูบกันแล้วอีกฝ่ายเกิดแข็งตัวขึ้นมาอย่างสามัญดาษดื่นมนุษย์ปุถุชน

พื้นที่ที่ได้รับข้อยกเว้นของหนังผีและหนังตลก จึงกลายเป็นพื้นที่ของการสำรวจความเป็นไปได้ในการท้าทายอำนาจ เป็นพื้นที่พิเศษที่สามารถทำอะไรก้าวหน้าขนาดไหนก็ได้ ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นพื้นที่ที่คนทำไม่อยากไปไหนที่สุด นอกจากการอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ทำหนังตีหัวเข้าบ้านสำหรับผู้ต้องการความบันเทิงชั่วครั้งชั่วคราว

2017 ปีแห่งหนังสยองขวัญมุมมองใหม่

ไม่ว่าจะตั้งใจหรือเผลอไผล ปี 2017 ที่ผ่านไปนั้นกลับเป็นปีที่หนังสยองขวัญไทยลงไปสำรวจเรื่องเล่าใหม่ๆ พื้นที่ใหม่ๆ และมีประเด็นตั้งต้นที่น่าสนใจมากๆ (แม้ว่าจะไปไม่รอดในตอนจบ)

เริ่มตั้งแต่ School Tales (ภาส พัฒนกำจร) ที่สร้างข้อเสนอว่า ผีมีอำนาจมาได้จากเรื่องเล่า ยิ่งเล่าต่อกันไป ผีที่ไม่มีจริงก็จะมีจริงขึ้นมา ผีเกิดจากข่าวลือ ก็อซสิป ผีคือความชั่วร้ายที่ถูกสร้างขึ้นจากคนเป็น ซึ่งแนวคิดนี้แชร์ร่วมกันกับ สยามแสควร์ (ไพรัช คุ้มวัน) ที่ผีเกิดจากข่าวลือ การโกหก และถึงที่สุด ลงไปสำรวจความเกลียดชัง ความเสแสร้ง ความตีสองหน้าในโลกของวัยรุ่นชนั้นกลางไทย ซึ่งก็ซ้อนเข้ากับ เพื่อนที่ระลึก (โสภณ ศักดาพิศิษฐ์) ที่พูดถึงความสัมพันธ์และของนักเรียนหญิงที่นำไปสู่การทรยศ ในบรรยากาศของยุคเศรษฐกิจไทยล่มสลาย

อย่างไรก็ดีประเด็นความอิจฉาริษยาในจิตใจของเด็กวัยรุ่นของหนังทั้งสามเรื่องที่กล่าวไป ก็นับว่าเป็นเรื่องสากลเมื่อเทียบกับหนังสยองขวัญอีกสามเรื่องดังต่อไปนี้ ที่ลงไปสำรวจความเป็นไปร่วมสมัยของสังคมไทยในชีวิตของชนชั้นกลางค่อนไปทางล่าง ในบริบทที่เฉพาะเจาะจงกับสังคมไทยมากกว่ามาก

เน็ตไอดาย สวยตายล่ะมึง (ณัฐชัย จิระอานนท์, ปรีดี วีระธรรม) ว่าด้วยผีเน็ตไอดอลที่ออกไล่ฆ่าพวกเน็ตไอดอลด้วยกันหลังจากเธอต้องตายอย่างอนาถจากผลิตภัณฑ์ที่เธอรับจ้างรีวิว ฉายภาพชีวิตดิ้นรนของคนที่วันๆ เราเห็นแต่ด้านสวยงามจากโซเชียลมีเดีย ที่มีเบื้องหลังปากกัดตีนถีบ ดิ้นรนแย่งชิง เพื่อนที่หายไป (อดิเรก โพธิ์ทอง) เล่าเรื่องของ เด็กหนุ่มที่เดินคนละทางกับเพื่อนวัยเด็ก คนที่ได้โอกาสก็ไปเรียนหนังสือ อีกคนก็กลายเป็นนักเลงข้างถนน และหายตัวไปอย่างลึกลับ และ ฮัลโหล จำเราได้ไหม (รพีพิมล ไชยเสนะ) ที่พูดเรื่องสาวร้านสะดวกซื้อ อดีตนักเรียนป็อบปูล่าร์ที่ตอนนี้ตกอับ ดิ้นรนไปเป็นเซลล์ขายประกัน ต้องเร่โทรหาเพื่อนเก่า จนไปพบกับเพื่อนสาวลึกลับที่เคยมีความหลังกันตอนมัธยมแล้วหายตัวไป

หนังผีและหนังตลกในสังคม เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของการได้รับข้อยกเว้น เพราะมันเป็นพื้นที่นอกความจริง กลายเป็นพื้นที่ของการสำรวจความเป็นไปได้ในการท้าทายอำนาจ

เน็ตไอดอล นักเลงข้างถนน สาวเซเว่น เลสเบี้ยน ไปจนถึงแรงงานต่างด้าว แทบไม่ได้ปรากฏตัวในฐานะนักแสดงนำในหนังเมนสตรีมกระแสหลัก แต่กลับถูกเล่าผ่านหนังผีที่ขายความบันเทิงเหล่านี้ แน่นอน พวกเขาหรือเธอไม่ได้ถูกสำรวจจริงจัง ไม่ได้ลงลึกในความปรารถนา ความใฝ่ฝัน หรือความทุกข์ข้างใน หลายครั้งถูกฉกใช้ในฐานะ stereotype เพื่อเล่าเรื่องผี แต่เรื่องผีที่ควรจะพาฝัน กลับมีฐานแข็งแรงจากชีวิตจริงๆ ของผู้คนในชนชั้นที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในโลกภาพยนตร์ไทยอย่างที่ควรจะเป็น

ผีจึงกลายเป็นหนทางไม่มากนักในการพาฝันถึงการได้รับอำนาจ อำนาจซึ่งผู้คนไม่อาจมีในโลกจริง เพื่อทวงถามความยุติธรรม เพื่อเรียกหาความรักกลับคืนมา หรือเพื่อเอาคืนคนที่เคยกระทำกันไว้ ผีเป็นเหมือนลอตเตอรี เป็นหนทางในการปลดปล่อยความฝันของผู้คนที่ไม่มีอำนาจต่อรองในสังคมแบบนี้

และแม้ในท้ายที่สุด หนังผีเหล่านี้จะมีเจตจำนงแค่ขายความบันเทิงชั่วครู่ชั่วยาม ไม่ได้ใส่ใจลงรายละเอียดภาพชีวิตของผู้คนจริงๆ แต่ก็เพราะมันเป็นหนังผีนี้เอง หนังผีโลคัลที่ต้องอาศัยชีวิตชาวบ้านร้านตลาดจริงๆ ในการสร้างองค์ประกอบหลอกหลอนในสังคมที่ไสยศาสตร์เป็นใหญ่ จึงช่วยไม่ได้ที่หนังผีจะมีโอกาสลงไปขลุกกับชีวิตมากกว่าหนังแบบอื่นๆ และช่วยไม่ได้ที่มันจะไม่ได้ใส่ใจอะไรมากนัก แต่ถึงอย่างไร การเปิดเผยให้เห็น แม้เพียงเล็กน้อย ก็เป็นเรื่องที่ควรถูกบันทึกไว้เช่นกัน

Tags: , , ,