(หมายเหตุ: รีวิวภาพยนตร์ชิ้นนี้ เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์)
WOLF WARRIOR 2 (2017) เล่าเรื่องผ่าน ‘อาเล่ง’ อดีตนายทหารหน่วยรบพิเศษกองพันหมาป่าโดนให้ออกจากราชการหลังจากกระทืบนักเลงใจชั่ว เขาออกเร่ร่อนไปกับเรือเดินสมุทรมุ่งสู่ทวีปแอฟริกา โดยมีเป้าหมายเพื่อตามหาเจ้าของกระสุนเงินลงลายที่ใช้สังหารภรรยาของเขา
ที่ประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกา หลังจากจัดการพวกโจรสลัดปล้นเรือขนสินค้าด้วยมือเปล่ากลางทะเลลึก อาเล่งแวะขึ้นฝั่งมาหาลูกบุญธรรมซึ่งเป็นเด็กแอฟริกันที่เขารับเลี้ยง ประเทศกำลังเดินหน้าเข้าสู่ภาวะสงคราม มีกองกำลังติดอาวุธ ที่ไล่สังหารพวกทหารและฆ่าทุกคนแบบไม่ไว้หน้า อาเล่งและลูกชายติดอยู่ท่ามกลางสมรภูมิรบโดยบังเอิญ เขาจึงใช้ความสามารถที่มี พาผู้คนที่เป็นเหยื่อสงคราม ทั้งคนจีนและคนแอฟริกันไปยังที่ที่ปลอดภัยที่สุดในประเทศ นั่นคือ สถานทูตจีน
ท่านทูตตัดสินใจอพยพคนกลับประเทศจีน มีเรือรบหลวงมารอรับอยู่ที่ท่าเรือ ทั้งทหารและกองกำลังติดอาวุธล้วนไม่ฆ่าคนจีน เพราะคนจีนลงทุนใหญ่หลวงในแอฟริกา สร้างงาน สร้างรายได้ จึงมองเป็น ‘มิตร’ ที่มาช่วยเหลือ และต่อให้การปฏิวัติสำเร็จ กลุ่มกองกำลังปฏิวัติก็ยังต้องการแรงสนับสนุนของจีนบนเวทีโลก
ที่ท่าเรือ ท่านทูตและนายทหารกัปตันเรือรบปรึกษากันว่าต้องออกจากที่นี่ให้เร็วที่สุด แต่จะทำอย่างไรในเมื่อ หมอเฉิน หมอจากจีนที่มากับทีมแพทย์ไร้พรหมแดน ยังติดอยู่ และกำลังคิดค้นวัคซีนรักษาโรคลามาล่า โรคระบาดในรูปแบบเดียวกับอีโบลาที่เป็นภัยเงียบอีกอย่างบนแผ่นดินนี้ นอกจากหมอเฉินแล้ว ยังมีคนงานจีน 46 ชีวิตที่ติดอยู่ในโรงงาน และก็ยังมีมารดาชาวพื้นเมืองของลูกบุญธรรมของเขาติดอยู่ด้วย ถ้าส่งกองกำลังไปก็เท่ากับประกาศศึกกับประเทศ พวกเขาอาจจะต้องทิ้งคนเหล่านั้นไว้เบื้องหลัง
ในความตึงเครียดขีดสุด อาเล่งก็ประกาศตัวว่า เขาคืออดีตกองพันหมาป่า ขอรับอาสาช่วยเหลือผู้คนทั้งหมดออกจากสมรภูมิ โดยในการณ์นี้ เขาต้องไปคนเดียว ไม่มีกองเสริม ไม่มีอาวุธ ต้องบุกเดี่ยวไปช่วยหมอเฉิน ไม่ใช่ในฐานะตัวแทนของประเทศ แต่ในฐานะของคนลึกลับ
หนังทั้งเรื่อง คือภารกิจของอาเล่งที่บุกเดี่ยวช่วยตัวประกันและพากลับมาขึ้นเรือรบจีนให้ได้ใน 18 ชั่วโมง ขณะเดียวกันก็ตามล่าเจ้าของกระสุนเงินลงลายนัดนั้นด้วย
นี่คือพล็อตแบบที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดีในหนังแอ็กชันฮอลลีวูด มักถูกมองในฐานะความบันเทิงมวลชน แต่ก็เช่นกัน ความบันเทิงสำหรับมวลชนนี้เอง คือเครื่องมือที่ดีที่สุดที่ใช้ปลูกฝังค่านิยมและความเชื่อในการรับรู้โลก โดยเฉพาะโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่อเมริกากลายเป็นแถวหน้าในการจัดระเบียบโลก การปั้นแต่งผู้ร้ายในหนังแอ็กชัน เป็นเครื่องมือสำคัญในการขายอุดมการณ์แบบอเมริกัน จนเราอาจบอกได้ว่า หากอยากรู้ว่าโลกเป็นอย่างไร ให้ดูจากตัวร้ายของ เจมส์ บอนด์ ในแต่ละภาค จากพวกบ้าห้าร้อยอยากยึดครองโลก เราจะเห็นตัวร้ายแบบพวกคอมมิวนิสต์ พวกรัฐบาลเผด็จการ ไปจนถึงพวกนายทุนยึดครองข้อมูลข่าวสาร พวกคอมมิวนิสต์จีน พวกอาหรับ พวกเกาหลีเหนือ (จนมาภาคหลังๆ นี้เองที่บอนด์หันมาตรวจสอบตัวเองอย่างเข้มข้น)
เราอาจบอกได้ว่า มันเป็นรูปแบบของหนังโฆษณาชวนเชื่อจากโลกเสรี อุดมการณ์เสรีนิยม ประชาธิปไตยถูกตีจนฟูและเกินเลยในหนังเหล่านั้น ซึ่งมอบทั้งคุณค่าที่เราควรยึดถือ ขายพ่วงมากับศัตรูที่จ้องกำจัด อเมริกาไม่ได้สร้างแค่ระเบียบที่โลกควรจะเป็น ยังสร้างภาพของศัตรูที่โลกควรจะกลัวไปพร้อมๆ กันด้วย
หากอยากรู้ว่าโลกเป็นอย่างไร ให้ดูจากตัวร้ายของ เจมส์ บอนด์ ในแต่ละภาค จากพวกบ้าห้าร้อยอยากยึดครองโลก เราจะเห็นตัวร้ายแบบพวกคอมมิวนิสต์ พวกรัฐบาลเผด็จการ ไปจนถึงพวกนายทุนยึดครองข้อมูลข่าวสาร พวกคอมมิวนิสต์จีน พวกอาหรับ พวกเกาหลีเหนือ
อย่างไรก็ตาม หนังแอ็กชันเหล่านี้จะสมจริงเมื่อผู้ชมเชื่อในความเป็นมหาอำนาจของชาตินั้นๆ เราจึงพบว่า มันน่าเชื่อมากกว่าถ้าหนังเหล่านี้จะมาจากอเมริกาหรือยุโรปบางประเทศ หรือหากจะมีลักษณะข้ามชาติ มันก็จะผูกโยงสืบย้อนไปได้ถึงประวัติการเป็นเจ้าอาณานิคม พูดให้เกินเลย ภาพยนตร์เหล่านี้มีร่องรอยที่หลงเหลือของโฆษณาชวนเชื่อจากจักรวรรดินิยม
ในทางตรงกันข้าม หากหนังทำนองนี้มาจากชาติที่ไม่ได้เป็นมหาอำนาจ เป้าหมายของมันก็มักจะเป็นการสร้างจิตสำนึกรักชาติ (ซึ่งแน่นอนว่า ในหนังของชาติมหาอำนาจมันก็ทำหน้าที่นี้ด้วย) หนังแอ็กชันจากจีน ฮ่องกง อินเดีย หรือหนังแฟนตาซีจากญี่ปุ่น เคยมีลักษณะร่วมในทำนองนี้ ที่ปลุกจิตใจให้ผู้คนลุกขึ้นมารวมกันเป็นหนึ่ง ผ่านตัวแทนของฮีโร่ที่เสียสละตัวเองเพื่อผู้อื่น
ประเทศจีนเวลานี้ยังคงทำหนังรักชาติเหล่านั้นอยู่ (โดยมากก็เล่าเรื่องผ่านยุคสมัยแห่งความวุ่นวายหลังเปลี่ยนผ่านจากราชวงศ์ชิงมาสู่ยุคประชาธิปไตยขุนศึก) แต่พวกเขาไปไกลกว่านั้น ด้วยข้อเท็จจริงเช่นการลงทุนมหาศาลในแอฟริกา ในที่สุด ลูกจีนต่อต้านจักรวรรดินิยมได้ทำหนังปลุกใจแบบพวกเจ้าอาณานิคมแล้ว และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีเมื่อหนังขึ้นแท่นหนังทำเงินสูงสุดในจีน
แอฟริกากลายเป็นดินแดน exotic ที่เต็มไปด้วยคนทุกข์ยากที่รอการช่วยเหลือ ติดในภัยสงครามที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และคนจีนจะทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้องคุ้มครองชาวแอฟริกันผู้ไม่สามารถดูแลตัวเองได้นี้เอง
สิ่งที่น่าสนใจในหนัง ไม่ใช่การที่จีนอยากเป็นอเมริกา อยากจะเป็นผู้จัดระเบียบโลกเจ้าใหม่ หนังเรื่องนี้ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นอเมริกันวัลลาบี แต่มันกำลังแสดงแสนยานุภาพในทำนองที่ว่า จีนไม่ได้อยากเป็น แต่จะมาทำหน้าที่แทนอเมริกา ด้วยทัศนคติ มุมมองโลกแบบจีนๆ ที่ไม่ใช่เสรีนิยมประชาธิปไตยแบบเคยๆ เพราะนี่คือหนังที่ว่าด้วยนายทหารหนุ่มบุกเดี่ยวไปช่วยชีวิตตัวประกันและคนสำคัญ แต่เมื่อเขาเข้าตาจน สิ่งที่จีนทำไม่ใช่การส่งหน่วยลับเข้าไปช่วยเหลือ แต่มันคือการยิงขีปนาวุธจากเรือรบไปถล่มพวกก่อการร้ายแบบไม่แคร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใดๆ ทั้งสิ้น
มันจึงเป็นหนังที่ว่าด้วยการประกาศแสนยานุภาพของจีน ในฐานะของรัฐที่มีความเอื้ออารีต่อรัฐในปกครอง ขณะเดียวกันก็เฉียบขาดและไม่ประนีประนอม แรงมาแรงกลับ เพราะเราคือคนจีน
คำว่า ‘เราเป็นคนจีน’ กลายเป็นคำที่ถูกพูดซ้ำบ่อยครั้งในหนัง ความเป็นคนจีนถูกย้ำให้โดดเด่นท้าทายแนวคิดการเป็นพลเมืองโลก แน่นอนว่ามันเป็นไปเพื่อปลุกสำนึกรักชาติของผู้ชมชาวจีน (หนังถึงกับมีฉากเอาแขนต่างด้ามธงจีน เพื่อพาผู้คนทุกข์ยากข้ามผ่านสมรภูมิ) การเป็นคนจีนกลายเป็นอภิสิทธิ์ในหนังเรื่องนี้ เพราะมีแต่คนจีนเท่านั้นที่จะแข็งแกร่งพอจะช่วยเหลือผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยาก ทั้งในสายบุ๋น (คิดค้นวัคซีนรักษาโรค) และสายบู๊ (พาตัวประกันกลับบ้าน) ไม่ใช่แค่คนจีนคนหนึ่งที่กลายเป็นฮีโร่ของโลก แต่เป็น ‘คนจีน’ ที่พกพาเอาสัญชาติติดไปกับความเป็นฮีโร่มากกว่าสายลับอังกฤษบอนด์ หรือนายทหารแรมโบ้
แล้วตัวร้ายคือใคร? หนังฉายภาพน่าตื่นตาเมื่อผู้ชมพบว่า ตัวร้ายของหนังไม่ใช่กองกำลังติดอาวุธชาวแอฟริกัน แต่เป็นไอ้ชั่วจากตะวันตก เป็นคนยุโรปบ้าสงครามที่ไร้ศีลธรรม ที่มาเป็นนายทหารรับจ้างเสี้ยมสอนคนแอฟริกันให้มาฆ่ากันเอง ในฉากไคลแม็กซ์ของหนัง มันย้อนรอยไปหาชาตินิยมแบบวีรบุรุษหวงเฟยหงต่อสู้พวกต่างชาติในยุคสงครามฝิ่น เมื่ออาเล่งต้องดวลตัวต่อตัวกับพวกยุโรปชั่วและได้ชัย ก่อนตาย เจ้าตัวร้ายกระซิบข้างหูว่า ฉันคิดว่าพวกนายไม่ได้เรื่อง และอาเล่งกระซิบตอบ นั่นมันเป็นอดีตไปแล้ว
อดีตของจีนผ่านพ้นไปแล้ว จีนใหม่รุ่งเรืองไฉไลไม่กลัวใครทั้งนั้น ที่มากกว่านั้น หากในอดีต สาวบอนด์เกินครึ่งเป็นสาวพื้นเมืองตามที่ที่บอนด์ไป เราก็พบว่า นางเอกในหนังเรื่องนี้ไม่ได้เป็นสาวจีน แต่คนจีนพิชิตตะวันตกทั้งในแง่การเอาชนะด้วยความรุนแรงและการเอาชนะด้วยความรัก ได้ครอบครองสาวงามจากตะวันตก!
หนังฉายภาพน่าตื่นตาเมื่อผู้ชมพบว่า ตัวร้ายของหนังไม่ใช่กองกำลังติดอาวุธชาวแอฟริกัน แต่เป็นไอ้ชั่วจากตะวันตก เป็นคนยุโรปบ้าสงครามที่ไร้ศีลธรรม ที่มาเป็นนายทหารรับจ้างเสี้ยมสอนคนแอฟริกันให้มาฆ่ากันเอง
อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เทียบไม่ได้เลยกับฉากสำคัญของหนัง แน่นอนว่าเราไม่อาจทึกทักว่าหนังรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว แต่ความบังเอิญของฉากนี้ก็ทำให้หนังมีนัยยะอีกชั้นที่น่าตื่นเต้นมากกว่าการเป็นหนังฮีโร่กู้โลก เมื่อหนังหันมา ผลิตซ้ำ เล่าใหม่ ในซีนประวัติศาสตร์ของประเทศตัวเอง
ในซีนไคลแมกซ์ของหนัง คือการไล่ล่ากันในโรงงาน อาเล่งตัวเปล่าต้องต่อสู้กับรถถังจำนวนมาก โดยมีผู้ช่วยเป็นรุ่นพี่ทหารเก่ากับไอ้หนุ่มลูกเจ้าของโรงงาน พวกเขาใช้กำลังเท่าที่มีทำลายรถถังฝั่งตรงข้ามไปมากมาย จนในที่สุด อาเล่งใช้ตัวเองเป็นเหยื่อล่อ ให้อีกสองหนุ่มเอาสลิงมาทำกับดักขวางรถถัง รถถังคันใหญ่วิ่งไล่ล่าอาเล่งที่จู่ๆ หยุดหันกลับมาเผชิญหน้า แล้วรถถังที่จะบดขยี้ก็หยุดกึก พลิกคว่ำคะมำหงายจากกับดักนี้ ฉากนี้อาจเป็นฉากแอ็กชันธรรมดา ถ้ามันไม่ชวนให้คิดว่า ฉากนี้ช่างคล้ายกับภาพถ่ายที่สำคัญที่สุดภาพหนึ่งของประวัติศาสตร์จีนร่วมสมัย นั่นคือภาพนักศึกษาชายคนหนึ่งยืนเผชิญหน้ารถถังที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เหตุการณ์การประท้วงที่จบลงด้วยการล้อมปราบอย่างรุนแรงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่รัฐบาลจีนไม่ต้องการพูดถึง ตลอดหลายปี รัฐบาลพยายามจะลบเหตุการณ์นี้ออกจากประวัติศาสตร์ ไม่มีการรำลึก ไม่ถูกพูดถึง รอให้หนุ่มสาวในเหตุการณ์ตายไปจนหมดรุ่น
การปรากฏของการทำซ้ำฉากเทียนอันเหมินอย่างอาจจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ได้เปลี่ยนเด็กหนุ่มผู้ต่อต้านรัฐ ให้เป็นคนหนุ่มรักชาติที่ต่อสู้กับรถถังของพวกตะวันตก เพื่อปกป้องคนจีน ไม่ว่าหนังตั้งใจหรือไม่ (แน่นอนว่ามันอาจเป็นเหตุบังเอิญ) แต่มันกลับทำให้คิดถึงวิธีที่ดีที่สุดในการทำหนังโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งไม่ใช่การสร้างศัตรูหรือปลุกจิตสำนึกสามัคคีรักชาติ แต่มันคือการแก้ไข ขูดลบ ขีดฆ่า และเขียนใหม่ ทำให้ประวัติศาสตร์บาดแผลถูกจดจำในฐานะอื่น และฉากนี้ทำให้นึกถึงกระบวนการนั้น ไม่ว่ามันจะตั้งใจหรือไม่ และทำสำเร็จหรือเปล่า แต่ถือเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าตื่นเต้นที่สุดในการพูดถึงการทำหนังโฆษณาชวนเชื่อ
FACT BOX:
WOLF WARRIOR 2 (2017) ภาพยนตร์สัญชาติจีน กำกับและแสดงนำโดย อู๋ จิง ว่ากันว่าทำรายได้ในจีนไปได้ถึง 853 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (มากกว่า 28,000 ล้านบาท)
Tags: จีน, Wolf Warrior, แอฟริกา, อู๋ จิง, โฆษณาชวนเชื่อ, หนังฮีโร่, Filmsick