ย้อนกลับไปช่วงประมาณปี 2010 มีสารคดีเรื่อง Explorer: Born to Rage? ที่ออกอากาศทาง National Geographic ชวนตั้งคำถามว่า ทำไมผู้ชายบางคนถึงเกิดมามีพฤติกรรมก้าวร้าวและชอบใช้ความรุนแรง แล้วสิ่งนี้เชื่อมโยงกับ ‘ยีนนักรบ’ ที่นักวิทยาศาสตร์และนักอาชญาวิทยาตั้งสมมติฐานขึ้นมาหรือไม่
เนื้อหาของสารคดีพาเราไปสำรวจตั้งแต่นักร้องนำวงร็อก สิงห์นักบิดฮาเลย์ อดีตชาวแก๊งมาเฟีย ไปจนถึงพระสงฆ์ โดยการนำคำตอบและเรื่องราวเบื้องหลังความคิดหัวรุนแรงของพวกเขามาศึกษาเปรียบเทียบ ในหัวข้อ ‘ธรรมชาติกับการเลี้ยงดู’ เพื่อวิเคราะห์ว่า ระหว่างเหตุผลด้านการเลี้ยงดูในวัยเด็กกับยีนภายในร่างกาย สิ่งใดมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมมากกว่ากัน
สิ่งที่น่าสนใจในสารคดีนี้คือ ผู้ให้สัมภาษณ์บางคนไม่ได้เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายขนาดนั้น แต่ความโกรธและอารมณ์รุนแรงในใจดูเหมือนว่าจะคุกรุ่นอยู่ภายในมากกว่า บางคนถึงกับกล่าวว่า เขาใช้ไฟแห่งความรุนแรงเป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนชีวิต รู้สึกโมโหง่าย ถูกยั่วยุง่าย และมีความรู้สึกต่อต้านฝังลึกอยู่ภายในตลอดเวลา นั่นทำให้อดีตของพวกเขาเต็มไปด้วยเหตุการณ์ชกต่อยและพฤติกรรมรุนแรง ซึ่งเมื่อผลตรวจ DNA ก็พบว่า ผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่มียีนนักรบอยู่ภายในร่างกายเหมือนกัน
ทั้งนี้ยีนนักรบหรือ Warrior Gene เป็นยีนชนิดหนึ่งที่อยู่บนโครโมโซม X มีชื่อทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า โมโนเอมีนออกซิเดสเอ (Monoamine Oxidase A: MAOA) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีผลต่อสารสื่อประสาทในสมอง เช่น โดปามีน นอร์เอพิเนฟริน และเซโรโทนิน หรือฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการใช้อารมณ์
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า MAOA เป็นหนึ่งในยีนหลายตัวที่ส่งผลต่อพฤติกรรมมนุษย์ แต่ที่น่าสนใจคือ ยีนนี้มักส่งอิทธิพลต่อพฤติกรรมก้าวร้าวในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากผู้ชายมีโครโมโซม X เพียง 1 ตัว ขณะที่ผู้หญิงที่มีโครโมโซม XX ซึ่งอาจให้ผลในทางตรงกันข้าม
ในงานวิจัย Monoamine oxidase A genotype is associated with gang membership and weapon use ที่เผยแพร่ในปี 2009 ศึกษาอาสาสมัครชาย 1,041 คน และหญิง 1,155 คน เพื่อสำรวจความเชื่อมโยงระหว่างยีนนักรบกับพฤติกรรมความรุนแรงในกลุ่มแก๊งอันธพาล
ผลการวิจัยชี้ว่า คนที่มียีนนักรบหรือ MAOA มีแนวโน้มที่จะเข้าร่วมแก๊งอันธพาลและใช้อาวุธในการทำร้ายผู้อื่น ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขามีความเสี่ยงที่จะทำร้ายคนไม่มีอาวุธหรือไร้ทางสู้ด้วย ในขณะที่ผู้หญิงแม้มียีนเดียวกัน กลับไม่แสดงพฤติกรรมในแบบเดียวกัน
นอกจากนี้ยีนนักรบภายในร่างกายยังสัมพันธ์กับพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ เช่น การใช้สารเสพติด การติดสุรา และการมั่วสุมอื่นๆ โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การมีอยู่ของยีนดังกล่าวมีประโยชน์ในเชิงวิวัฒนาการ เนื่องจากในการออกล่าช่วงยุคดึกดำบรรพ์ มนุษย์เพศชายจำเป็นต้องใช้แรงและกำลังในการล่าสัตว์ ออกหาอาหารและปกป้องเพศเมียที่อ่อนแอกว่าในฝูง แสดงให้เห็นว่า ยีนเหล่านี้อาจมีประโยชน์ในเชิงของการเอาตัวรอดและสืบเผ่าพันธุ์
อ่านมาถึงตรงนี้รู้สึกสงสัยเหมือนกันหรือไม่ว่า ทำไมพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงแบบนี้ถึงไม่เกิดขึ้นกับผู้หญิง ทั้งที่มีโครโมโซม X ถึง 2 ตัว (ยีนนักรบอยู่บนโครโมโซม X) ซึ่งผลการวิจัยเกี่ยวกับยีนนักรบในเพศหญิงทำให้พวกเราต้องรู้สึกแปลกใจ
ในงานวิจัย The MAOA gene predicts happiness in women ที่เผยแพร่ในปี 2012 พบว่า ผู้หญิงที่มียีน MAOA หรือยีนนักรบ มีแนวโน้มที่จะรู้สึกมีความสุขมากกว่าคนกลุ่มอื่น พูดง่ายๆ คือ ยีนนักรบในเพศชายทำให้รู้สึกโมโหง่าย ขณะที่ยีนนักรบในเพศหญิงให้ความรู้สึกในทางตรงกันข้าม โดยนักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า ความแตกต่างนี้อาจเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศชายอย่างเทสโทสเตอโรน ซึ่งในเพศชายมีระดับสูงกว่า จึงกระตุ้นการทำงานของ MAOA ให้แสดงออกในรูปแบบของพฤติกรรมก้าวร้าว ในขณะที่เพศหญิงมีระดับเทสโทสเตอโรนต่ำกว่า จึงไม่แสดงพฤติกรรมในแบบเดียวกัน
แม้ว่ายีนนักรบจะมีบทบาทสำคัญในด้านชีววิทยา แต่ปัจจัยแวดล้อมและการเลี้ยงดูยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่หล่อหลอมพฤติกรรมมนุษย์ บางคนแม้มียีนนักรบอยู่ในร่างกาย แต่หากเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น มีคนดูแล และได้รับการเลี้ยงดูด้วยความเข้าใจ ก็อาจเป็นเพียงคนอารมณ์ร้อนง่าย แต่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงกับใคร
เพราะสุดท้ายแล้ว พันธุกรรมอาจกำหนดแนวโน้ม แต่ทางเลือกและสิ่งแวดล้อมต่างหากที่เป็นตัวกำหนดชีวิตจริง
ที่มา:
https://pmc.ncbi.nlm.nih.gov/articles/PMC7116611/
https://pmc.ncbi.nlm.nih.gov/articles/PMC2650118/
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/20152292/
https://www.sciencedaily.com/releases/2012/08/120828135107.htm
Tags: Wisdom, Warrior Gene, Violent behavior, ยีนนักรบ, DNA, Knowledge