“New Year, New You”

“หลังสิ้นเสียงพลุนี้ ฉันจะต้องเป็นคนใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิม”

“2023 ต้องเป็นปีของฉัน!”

เป็นเรื่องดีที่วันหนึ่งวันสามารถทำให้คนเราอยากลุกขึ้นมาทำอะไรยิ่งใหญ่ เปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิต รีเฟรชสภาพจิตใจให้สดชื่นแจ่มใส แต่คืนข้ามปีมันมีพลังขนาดนั้นไหม…

คำตอบคือ ‘ไม่เสมอไป’

ปาฏิหาริย์ ‘คืนข้ามปี’ ไม่มีจริง

ชยัชรี กุลการ์นี (Jayashri Kulkarni) ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโมนาช ประเทศออสเตรเลีย (Monash University) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอบีซี (ABC News) ว่ากุญแจสำคัญที่จะทำให้ทุกคนบรรลุปณิธานปีใหม่ที่ล้มเหลวมาหลายปีได้นั้น คือการไม่ถูกดูดเข้าไปในเวทมนตร์ของวันที่ 1 มกราคม

จริงอยู่ที่คนเราควรเลือกวันให้เหมาะสมกับการตั้งเป้าหมาย สำหรับหลายคนอาจเป็นวันที่ 1 มกราคม แต่สำหรับคนอื่นหรือเป้าหมายอื่น อาจต้องการเวลาในการวางแผนให้รอบคอบเป็นหลักเดือน เพราะการที่คนตั้งเป้าหมายที่สำเร็จได้ยากขึ้นมาในช่วงปีใหม่ อย่างเช่นการเปลี่ยนงาน ลดน้ำหนัก ซื้อบ้าน ซื้อรถ เที่ยวรอบโลก และกำหนดว่าจะต้องสำเร็จให้ได้ภายในเวลาเท่านั้นหรือเท่านี้ เป็นเหมือนการห่อหุ้มตัวเองด้วยความคาดหวัง อันจะนำไปสู่การตั้งคำถามต่อตัวเองได้ในอนาคตหากทำไม่สำเร็จ

“การไม่บรรลุเป้าหมายอาจนำไปสู่ความรู้สึกไม่สมหวัง และหมกมุ่นอยู่กับความรู้สึกเชิงลบของตนเอง จนอาจทำให้พวกเขาล้มเลิกเป้าหมายพวกนั้นไปเลย

“คุณต้องการเวลาสองถึงสามเดือนเพื่อวางแผนพิชิตเป้าหมายอะไรสักอย่าง และการสนับสนุนจากคนที่คุณรัก สิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง ดังนั้นจงรู้ไว้ว่าวันที่ 1 มกราคมนั้นไม่มีอะไรวิเศษ มันเป็นเพียงวันที่ หากต้องการเลิกนิสัยหรือเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจริงๆ ทางออกที่ดีที่สุดคือการวางแผนที่ดี” กุลการ์นีกล่าว

ดร.โจแอนน์ ลูคินส์ (Dr.Joann Lukins) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาจากเมืองทาวน์สวิลล์ ประเทศออสเตรเลีย แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่าการตั้งปณิธานปีใหม่เป็นแค่ภาระหน้าที่ทางสังคมที่หลายคนรู้สึกว่าจำเป็นต้องปฏิบัติตาม เป็นเพียงมายาคติที่ห่างไกลจากการคิดด้วยพื้นฐานของความเป็นจริง เพราะฉะนั้นทุกคนจะต้องตรวจสอบตัวเองให้แน่ชัด ออกแบบแผนการในการไปถึงเป้าหมาย ให้สอดคล้องกับชีวิตจริงที่เป็นอยู่

ลูคินส์ยกตัวอย่างเป้าหมายการออกกำลังกายเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปร่างในปีใหม่ เขาแนะนำว่าให้ตอบตัวเองถึงเหตุผลอันแท้จริงว่าทำไมถึงอยากลงมือทำสิ่งนี้ให้ได้ จากนั้นตรวจสอบปัจจัยรอบตัวที่จะส่งผลกับเป้าหมาย เช่น เลิกงานดึกไหม วิธีการเดินทางไปยิมที่ใกล้ที่สุดตอบโจทย์กับเวลาไหม หรือมีปัญหาการเงินที่ทำให้สมัครใช้บริการยิมไม่ได้หรือไม่ ไปจนถึงการหาข้อมูลรอบตัวว่าอะไรบ้างที่ขัดขวางคุณจากการทำสิ่งนี้ เมื่อตอบคำถามตัวเองทั้งหมดได้ ก็จะทำให้คุณปรับเปลี่ยนปณิธานปีใหม่ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์แบบไม่ฟุ้งฝันและบรรลุได้จริง

ไม่ผิดหากรู้สึก ‘เศร้าเป็นพิเศษ’ ในช่วงขึ้นปีใหม่ และการพยายามเฉลิมฉลองอาจเป็นภาพสะท้อนของ ‘ความเครียด’

พันธมิตรแห่งชาติด้านความเจ็บป่วยทางจิต (National Alliance on Mental Illness: NAMI) เปิดเผยข้อมูลจากผลสำรวจปี 2014 เกี่ยวกับ ‘อาการซึมเศร้าในช่วงเทศกาล’ หรือ ‘Holiday Blues’ พบว่า 64% ของผู้มีอาการป่วยทางจิตจะมีอาการแย่ลงในช่วงเทศกาล จึงไม่แปลกหากบางคนจะไม่รู้สึกยินดีไปกับคืนข้ามปี

จากผู้เข้าร่วมการตอบแบบสอบถาม 755 คน พบว่ามีหลายสิ่งในช่วงวันหยุดเทศกาลทำให้พวกเขารู้สึกไม่พอใจ

ผู้ตอบแบบสอบถาม 68% รู้สึกว่ากำลังตึงเครียดทางการเงิน อันเกิดขึ้นจากการต้องบังคับตัวเองให้ไหลตามความสนุกสนานของเทศกาลทั้งที่จิตใจไม่พร้อม เช่น การซื้อของขวัญ ลงทุนจัดงานเลี้ยง หรือเข้าร่วมปาร์ตี้ใหญ่

ผู้ตอบแบบสอบถาม 66% ต้องประสบกับความเหงา เนื่องจากไม่มีวงสังคมใหญ่พอให้ออกไปสังสรรค์ด้วย

ผู้ตอบแบบสอบถาม 57% รู้สึกผิดหวังจากความต้องการที่อยากให้ช่วงเทศกาลเป็นเวลาแสนพิเศษ และความหวังนี้ถูกทำลายได้จากปัจจัยหลากหลาย

ผู้ตอบแบบสอบถาม 55% พบว่าตัวเองนึกถึงช่วงเวลาที่มีความสุขในอดีตมากกว่าปัจจุบัน

ผู้ตอบแบบสอบถาม 50% มีความเศร้าจากการไม่ได้เจอบุคคลที่รักในวันสำคัญ หรือการต้องอยู่คนเดียวในช่วงเทศกาลเพราะสูญเสียคนที่รัก

หนึ่งในผู้ร่วมการสำรวจจากรัฐแมสซาชูเซตส์กล่าวว่า “ช่วงเทศกาลจะฉายแสงให้คุณเห็นปัญหาของคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอย่างเด่นชัด ว่าทำไมพวกเราถึงใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ยากนัก เพราะหลายอย่างพยายามกดดันให้เรามีความสุขและเข้าสังคมเพื่อเฉลิมฉลอง”

อย่ากลัวที่จะยอมรับว่า 2022 ไม่ใช่ปีที่ดีเท่าไรนัก และ 2023 อาจเป็นแค่ปีธรรมดาอีกปีหนึ่ง

ระหว่างนับถอยหลังเข้าศักราชใหม่ ลึกๆ ในใจใครหลายคนอาจจะไม่ได้ทิ้งความรู้สึกแย่จาก 2 ปีที่แสนวุ่นวายของโลกใบนี้มาได้ ตั้งแต่ปี 2020 ที่มนุษยชาติต้องพบกับโรคระบาด สงคราม และปัญหาเศรษฐกิจ การก้าวข้ามปีแค่ 1 วินาทีไม่สามารถเปลี่ยนความจริงข้อนี้ได้ และปี 2023 ก็เป็นอนาคตที่ยังไม่มีใครรู้ มันอาจเป็นปีที่ปัญหาจะคลี่คลาย โลกได้รับการฟื้นฟูไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หรืออาจจะแย่กว่าเดิม

สำนักข่าวเดอะนิวยอร์กไทม์ส (The New York Times) นำเสนอข้อความจากคลิปวิดีโอดังบน TikTok โดย อีริน มอนโร (Erin Monroe) นักสังคมสงเคราะห์ในนิวยอร์ก ที่ออกมาพูดถึงปี 2023 อย่างน่าสนใจว่า การคาดหวังให้ปีใหม่นี้เป็นปีที่พิเศษ เหมือนการใส่รองเท้าปูนซีเมนต์วิ่งทวนกระแสลม เพราะมีเรื่องเลวร้ายมากมายเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก เธอจึงอยากตั้งปณิธานในปี 2023 ไว้ว่าไม่อยากให้โลกแย่ลงไปกว่าเดิม และควรเป็นปีแห่งการชำระล้างของเสียจากปีที่ผ่านมา

“ฉันต้องการให้ปี 2023 เข้ามา นั่งลง หุบปาก และอย่าแตะต้องสิ่งใด” อีรินกล่าว

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลข้างต้นไม่ได้มีความตั้งใจอยากทำให้ทุกคนรู้สึกเศร้าหมองและสิ้นหวังกับการเริ่มต้นปีใหม่ เพียงแต่อยากให้ปี 2023 เป็นปีที่ทุกคนตั้งเป้าหมายแบบไม่ทำร้ายหัวใจตัวเอง มีความหวังบนพื้นฐานของความเป็นจริง เพื่อความสบายใจที่จะเกิดขึ้นในทุกวัน ไม่ใช่ความสุขระยะสั้นที่ยิงขึ้นฟ้าระเบิดเป็นพลุสวยงามแต่เลือนหายไปในชั่วพริบตา

Tags: , , , ,