หากคุ้นเคยกับวลี “นี่ดิฉันก็ถอย จนไม่รู้จะถอยอย่างไรแล้ว” หรือคำพูดติดปากอย่าง “ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่รู้” คุณก็คงเป็นหนึ่งในคนที่เสพมุขตลกเกี่ยวกับการเมืองไทย หรือไม่ก็ต้องเล่นโซเชียลมีเดียเป็นกิจวัตรมาโดยตลอด
และหากคุณเป็นคนที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองลึกซึ้งมากกว่านี้อีกก็จะพบว่า ภายใต้การเป็นมีม (Meme) สุดฮาที่รู้จักกันอย่างทั่วถึง คำพูดเหล่านี้ล้วนมีจุดร่วมกันอย่างหนึ่งคือ เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในบรรยากาศตึงเครียด ไม่ได้มีความตลกแฝงอยู่อย่างที่ถูกเอามาล้อเลียนกันจนแพร่หลายแต่อย่างใด
ตั้งแต่เรื่องในระดับมหภาคอย่างการเมือง ภัยพิบัติ ข้อพิพาทระหว่างประเทศ ฯลฯ ไปจนถึงเรื่องในระดับบุคคลอย่างการโดนแก้งาน หรือสั่งข้าวผัดกะเพราแล้วคนขายใส่ข้าวโพดอ่อนมาให้ ใครๆ ต่างก็ต้องเผชิญกับปัญหากันทั้งสิ้น และบางทีไม่ว่าเราจะฮึดสู้แค่ไหน ชีวิตก็ดันสู้กลับมาตลอด จนเลี่ยงที่จะเกิดความเครียดไม่ได้
แต่ไม่ว่าเรื่องจะเครียดแค่ไหน ผู้คนก็มีความสามารถในการทำให้มันดูเป็นเรื่องตลกได้อยู่ดี เมื่อมีความเครียดมากๆ บางคนจึงเลือกที่จะเปลี่ยน ‘ปัญหา’ ให้เป็น ‘ความฮา’ จนกลายเป็นว่ายิ่งเครียดยิ่งฮา มากกว่าจะแสดงออกให้ตรงกับความรู้สึกที่เป็นอยู่จริงๆ
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น อาจเพราะการใช้ความขบขัน (Humor) ถือเป็นหนึ่งในวิธีพื้นฐานสำหรับการจัดการอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์ในแง่ลบ เพราะเมื่อเราเปลี่ยนมุมมองต่อเรื่องเครียดๆ เรื่องหนึ่งให้กลายเป็นเรื่องตลก ความรู้สึกอันหนักอึ้งก็อาจกลายเป็นเบาได้ในพริบตา
อีกทั้ง การมีอารมณ์ขันจนทำให้สถานการณ์จริงจังกลายเป็นตลกเฮฮา เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ผู้คนได้ระบายและพูดถึงสิ่งที่รู้สึกจริงๆ ในใจ ที่ในช่วงเวลาปกติอาจจะไม่รู้สึกกล้าที่จะแสดงออกขนาดนั้น แต่พอมันถูกเคลือบด้วยมุขตลกและความฮา มันก็ทำให้เขากล้าที่จะระบายเรื่องอันหนักอึ้งภายในใจได้มากขึ้น
“การใช้อารมณ์ขันจะช่วยลดความรุนแรงของสถานการณ์ที่จริงๆ แล้วอาจเรียกได้ว่า ‘วิกฤต’ เช่น มีมตลกที่ล้อเลียนเรื่องการเกณฑ์ทหารก็อาจเกิดมาจากความกลัวที่จะโดนเกณฑ์ทหาร ในกรณีแบบนี้ มีมตลกก็อาจช่วยผ่อนคลายจิตใจได้” คาร์ลา แมนลี (Carla Manley) นักจิตวิทยาคลินิกกล่าวกับเว็บไซต์ Teen Vogue
เราอาจพบว่ามีมตลกในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะมีมตลกที่กลายเป็นไวรัล ทั้งหมดล้วนแล้วแต่อิงมาจากเรื่องจริงที่ผู้คนรับรู้โดยทั่วกัน ประเด็นอยู่ที่ว่าเรื่องจริงพวกนั้นมักจะเป็นเรื่องเครียดๆ เช่น สถานการณ์การเมืองหรือปัญหาปากท้อง และมีบ่อยครั้งที่มุขตลกทางการเมืองก็ได้ถูกนำมาใช้ในการลดทอนอำนาจของผู้พูดให้ความจริงจังของเนื้อหาลดลงไป
อารมณ์ขันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์กับผู้ใช้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าการทำทุกสิ่งให้กลายเป็นเรื่องตลกจะเป็นเรื่องที่ดี แม้การมีอารมณ์ขันจะมีข้อดีหลายอย่าง แต่มันก็มีข้อควรระวังเช่นกัน ทั้งการคำนึงถึงคนที่เราสื่อสารด้วย เนื้อหาของมัน หรือจังหวะและสถานการณ์ที่เหมาะสม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรทบทวนให้ดี เพื่อให้การยิงมุข สร้างมีม เป็นทางออกในการระบายความเครียดที่ไม่ทำร้ายความรู้สึกใคร (จนเกินไป)
Tags: อารมณ์ขัน, Meme, โซเชียลมีเดีย, social media, Wisdom, humor