มีเพลงมากมายบนโลกใบนี้ที่พูดถึงความสัมพันธ์รักๆ ใคร่ๆ ที่คนหนึ่งสามารถมูฟออนหรือก้าวต่อไปข้างหน้าได้ด้วยระยะเวลาอันสั้น ขณะที่อีกคนยังคงฟูมฟายกับความทรงจำที่ผ่านมาและยังคงติดอยู่ที่เดิม

แน่นอนว่าในความสัมพันธ์เมื่อต้องเลิกรา คนที่มูฟออนเร็วกว่า มักถูกมองว่า ‘ได้เปรียบ’ เพราะสามารถเริ่มต้นกับสิ่งใหม่ได้โดยไม่ต้องเสียเวลาตั้งหลักนาน เพราะบางคนใช้เวลาเป็นปีด้วยซ้ำกว่าจะลุกขึ้นมาได้ เนื่องจากยังโศกเศร้ากับบาดแผลของการเลิกรา และจมอยู่กับการเสียดายเรื่องเก่าๆ 

ยิ่งในยุคสมัยที่ทุกอย่างติดจรวด ‘ความรวดเร็ว’ จากการ ‘เสียดายเวลา’ ซึมลึกไปในทุกการใช้ชีวิต หลายคนจึงมักพูดว่า นี่เป็นยุคสมัยแห่งการมูฟออนของจริง เพราะเรามีสิ่งที่ดึงดูดความสนใจให้ออกห่างจากความเศร้าเต็มไปหมด และการฟูมฟายเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ผ่านโซเชียลฯ อาจไม่ได้ทำให้ได้รับความเห็นใจ แต่กลับให้ผลตรงกันข้าม

บางคนถึงกับตั้งคำถามว่า ในยุคสมัยแห่งการมูฟออน เราจะหลงเหลือความลึกซึ้งอยู่ไหม

ความเจ็บปวดรวดร้าวจากการเลิกราแบบจริตในอดีต ที่ก่อให้เกิดศิลปะแขนงต่างๆ เช่นเพลงรักเนื้อหาช้ำใจบาดลึกและตรงไปตรงมาอาจไม่มีอีกแล้ว แต่กลายเป็นบทเพลงที่มีเนื้อหาแห่งการรักตัวเอง ให้กำลังใจตัวเอง ซึ่งนี่ก็เป็นอีกสิ่งที่น่าคิด

เอาล่ะ เข้าใจว่าแต่ละคนมีวิธีรับมือกับความสัมพันธ์ที่สิ้นสุดลงต่างกันไป ทั้งมาจากทัศนคติ เงื่อนไขส่วนตัว หรือแม้กระทั่งบรรยากาศแห่งยุคสมัย การมูฟออนได้เร็วจึงไม่ใช่เรื่องผิด มันฟังดูดีด้วยซ้ำ แต่ในแง่หนึ่งก็อาจนำไปสู่ ‘ความท้าทาย’ ที่ไม่คาดคิดและต้องคำนึงถึง ตั้งแต่ ‘ความรู้สึก’ ที่ยังคงค้างอยู่ ‘ปัญหา’ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ไปจนถึงการพลาดโอกาสในการ ‘เติบโตส่วนบุคคล’ 

มาลองดูกันว่า การมูฟออนในความสัมพันธ์อาจ ‘เสี่ยง’ ส่งผลกระทบอะไรได้บ้าง

1. ภาระทางอารมณ์ในการเริ่มต้นใหม่

การมูฟออนไว โดยเฉพาะคนที่สามารถเข้าสู่ความสัมพันธ์ใหม่ได้เลย อาจเสี่ยงเป็นการนำ ‘อารมณ์’ ที่ไม่ได้รับการแก้ไขจากความสัมพันธ์ก่อนหน้าติดตัวมาในการเริ่มใหม่ด้วย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอาจบดบังกระบวนการรักษาอารมณ์ตามธรรมชาติและอารมณ์บางอย่างนั้น จึงอาจโผล่ขึ้นมาอีกครั้งโดยไม่คาดคิด ซึ่งมันเป็นการขัดขวางโอกาสและศักยภาพในการสร้างความสัมพันธ์ทางอารมณ์ที่แท้จริง รวมถึงขัดขวางการเติบโตส่วนบุคคลในบริบทของความสัมพันธ์ใหม่ด้วย

2. การทำซ้ำรูปแบบความสัมพันธ์

การมูฟออนไวหมายความว่า อาจมีโอกาสในการ ‘พิจารณา’ หรือ ‘ไตร่ตรอง’ ถึงตนเองหลังความสัมพันธ์สิ้นสุดน้อยลง ซึ่งเสี่ยงในการ ‘ทำซ้ำ’ รูปแบบเดิมจากความสัมพันธ์ในอดีตโดยไม่รู้ตัว และอาจนำไปสู่ ‘ความไม่สมหวัง’ เช่นเดิม เพราะการไม่เรียนรู้จากประสบการณ์ก่อนหน้า สามารถนำไปสู่วัฏจักรของความผิดพลาดที่คล้ายคลึงกันในอนาคตได้

3. ขัดขวางการเติบโตส่วนบุคคล

อย่างที่กล่าวไปว่า การมูฟออนไวอาจขัดขวางโอกาสในการ ‘พิจารณา’ หรือ ‘ไตร่ตรอง’ ถึงตนเองหลังความสัมพันธ์สิ้นสุด ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาสำคัญ ความไวนี้อาจทำให้ขาด ‘ความเข้าใจ’ อันมีค่า ‘ประสบการณ์’ ของบทเรียน และโอกาสในการประเมินลำดับความสำคัญใหม่ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงที่เร่งรีบเกินไป อาจขัดขวางการปลูกฝังความรู้สึกต่อตนเองที่แข็งแกร่งขึ้น ท้ายที่สุดก็อาจเป็นการจำกัดศักยภาพในการเติบโตส่วนบุคคลเช่นกัน

4. ความเร่งรีบจากความกลัวอาจนำไปพบความชั่วคราว

บางครั้งการเริ่มต้นใหม่ไว อาจส่งผลให้ความสัมพันธ์ที่ต้องการความลึกซึ้งและจริงใจ กลายเป็นความหลงใหลชั่วคราวมากกว่าความเข้าใจอย่างแท้จริง และความสัมพันธ์ตื้นเขินเหล่านี้มักไม่สามารถ ‘อดทน’ ต่อการทดสอบของกาลเวลาได้ เพราะรากฐานตอนเริ่มต้นไม่ได้ถูกสร้างมาอย่างแข็งแกร่ง 

5. บทเรียนอันมีค่าที่ถูกมองข้าม

การสิ้นสุดความสัมพันธ์แต่ละครั้ง เป็นโอกาสในการเรียนรู้ ปรับตัว พัฒนาอารมณ์ แต่การมูฟออนไวหมายถึงความเสี่ยงในการมองข้าม ‘ข้อมูลเชิงลึก’ ที่สำคัญซึ่งได้รับจากความสัมพันธ์เดิม และอาจทำให้บทเรียนสำคัญเหล่านี้ถูกมองข้ามไป ทำให้การเติบโตขึ้นทางบุคลิกภาพและอารมณ์ถูกขัดขวาง และอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ในอนาคต 

6. ความกลัวความเหงากลายเป็นแรงผลักดัน

บางครั้งการมูฟออนไวอาจเกิดจาก ‘ความกลัวความเหงา’ อย่างลึกซึ้ง ซึ่งแรงผลักดันที่เกิดจากความกลัวและความเร่งรีบในการเติมเต็มความว่างเปล่าทางอารมณ์นี้ อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่เกิดจากความสิ้นหวังมากกว่าความหวัง และอาจเป็นการให้ความสำคัญกับ ‘ความเป็นเพื่อน’ มากกว่าความสัมพันธ์ใหม่ที่แท้จริง ซึ่งอาจส่งผลให้ความสัมพันธ์ขาดความจริงใจและความลึกซึ้ง

ที่มา:

https://www.bolde.com/things-happen-move-on-too-quickly/

https://www.marriage.com/advice/relationship/move-on-too-quickly/

https://www.cosmopolitan.com/uk/love-sex/relationships/a39453475/moving-on-too-soon/

Tags: , , , , , ,