ความยุติธรรมเป็นสิ่งนามธรรมที่เราต่างเชื่อว่าดี หรือคาดหวังให้มันมีอยู่จริง คำสอนที่สนับสนุนให้คนทำความดีอย่าง ‘ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว’ หรือ ‘กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ’ จึงยังคงแพร่หลายในสังคม โดยเฉพาะสังคมที่ศาสนามีผลต่อการใช้ชีวิตของผู้คนในทุกมิติ
แม้ว่าความเป็นจริงเราอาจเห็นคนที่ทำดีแล้วไม่ได้ดี คนทำชั่วแล้วเจริญ คนที่พยายามอย่างหนักแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ หรือแม้แต่สิ่งที่ควรจะยุติธรรมอย่างกฎหมายก็กลับไม่ยุติธรรมในหลายครั้ง ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนที่เชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นถูกต้องแล้ว เพราะว่าโลกใบนี้มีความยุติธรรมและเท่าเทียม
ในช่วงทศวรรษ 1960 เมลวิน เจ. เลอร์เนอร์ (Melvin J. Lerner) นักจิตวิทยาสังคม เสนอ Just World Fallacy หรือแนวคิดโลกที่เที่ยงธรรม เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่ผู้คนเชื่อว่า โลกยุติธรรมและทุกคนต่างได้รับในสิ่งที่ตนเองสมควรจะได้รับอยู่แล้ว เมื่อมีสิ่งไม่ยุติธรรมเกิดขึ้น พวกเขาจึงพยายามหาคำอธิบายให้สิ่งนั้นดูสมเหตุสมผลขึ้นมา และหลายครั้งก็นำไปสู่การกล่าวโทษคนที่เป็นเหยื่อในที่สุด
แม้จะเป็นงานศึกษาเก่า แต่วิธีคิดแบบ Just World Fallacy ก็ยังคงปรากฏอยู่มาก คนจนเพราะไม่ขยัน ควรจนต่อไป ขณะที่คนรวยก็เหมาะที่จะรวยยิ่งขึ้น เพราะพวกเขาทำงานหนักและมีความสามารถกว่าคนอื่น การกล่าวโทษคนจนซึ่งเป็นเหยื่อในระบบเศรษฐกิจที่มีคนรวยอยู่เพียง 1% เช่นนี้ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างอันเป็นผลจากแนวคิดโลกที่เที่ยงธรรม
เมื่อคิดว่าโลกยุติธรรมดีอยู่แล้ว ผู้คนจึงเชื่อว่า เมื่อมีสิ่งดีเกิดขึ้นกับใครนั้นเป็นเพราะเขาทำดี เสมือนผลตอบแทนของการกระทำ คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตจึงมักถูกมองว่าเป็นคนดี ขณะเดียวกัน คนที่ไม่ได้ดี หากไม่โดนกล่าวโทษถึงตัวบุคคล ก็อาจหันไปโทษว่าเป็นเรื่องโชคชะตาหรือวาสนาที่ไม่เท่ากัน
แนวคิดดังกล่าวมีประโยชน์ในบางแง่ สำหรับคนที่เจอเรื่องดี มันจะช่วยปกป้องความภาคภูมิใจในตัวเองว่า การที่ตัวเขาได้รับสิ่งดีๆ อยู่ตลอดเวลา ก็เป็นเพราะการกระทำที่ดี เป็นความสามารถของตัวเองล้วนๆ ไม่ใช่เพราะปัจจัยอะไรที่เกื้อหนุนเป็นพิเศษ และสำหรับคนที่เจอเรื่องร้าย อย่างน้อยความคิดเช่นนี้อาจช่วยปลอบประโลมใจของพวกเขาได้ และทำให้กระทำความดีต่อไปด้วยความหวังว่าสักวันจะได้ดี
ขณะเดียวกัน แนวความคิดนี้ก็มีข้อเสียอยู่ไม่น้อย ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 1975 พบว่า ความเชื่อเรื่องโลกที่เที่ยงธรรมสัมพันธ์กับความเชื่อทางศาสนา โดยคนที่มีแนวโน้มเชื่อในเรื่องนี้มักเคร่งศาสนาและมีความอนุรักษนิยมมากกว่า ยิ่งไปกว่านั้น คือ มีความเผด็จการและมักชื่นชมผู้นำทางการเมืองที่มีอยู่แต่เดิม ทั้งยังมีทัศนคติเชิงลบต่อคนที่ขาดโอกาส หรือเป็นเหยื่อในระบบเศรษฐกิจมากกว่า จึงไม่คิดที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองที่เรียกร้องถึงความยุติธรรมเพื่อให้สังคมนี้เปลี่ยนแปลง
การสรรเสริญผู้โชคดีและหันไปโทษผู้เคราะห์ร้ายหรือโทษโชคชะตานั้น เป็นเรื่องง่ายกว่าการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในระบบ ความเชื่อเรื่องโลกที่เที่ยงธรรมจึงส่งผลให้เกิดการกล่าวโทษเหยื่อ เพราะผู้โชคดีย่อมมองไม่เห็นว่า สถานการณ์ชีวิตและตัวแปรอื่นๆ มีส่วนทำให้เกิดความโชคร้ายของคนอื่นอย่างไร
ดังนั้นจึงพบว่า แนวคิดโลกที่เที่ยงธรรมกับวัฒนธรรมกล่าวโทษเหยื่อเป็นสิ่งที่แทบจะมาคู่กัน และอยู่ในทุกมิติของสังคม เช่น กรณี #MeToo ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ผู้ถูกคุกคามทางเพศออกมาเล่าเรื่องราวของตัวเอง และเรียกร้องให้ยุติการกล่าวโทษเหยื่อ ซึ่งเราจะเห็นอยู่เสมอว่า เมื่อมีกรณีการคุกคามทางเพศใดๆ เกิดขึ้น ผู้คนก็มักมุ่งความสนใจไปที่พฤติกรรมของผู้ถูกกระทำว่าแต่งกายแบบใด ระมัดระวังตัวเองแค่ไหน เป็นเหยื่อในอุดมคติ (Perfect Victim) หรือไม่ เพราะคนเหล่านั้นเชื่อว่า การกระทำสัมพันธ์กับผลลัพธ์อย่างเที่ยงธรรมเสมอนั่นเอง
เพราะว่าโลกที่ยุติธรรมยังไม่อาจเกิดขึ้น และความยุติธรรมของแต่ละคนก็มีความหมายต่างกันออกไป ตราบใดที่เราไม่รู้ชัดถึงสิ่งที่ผู้อื่นกำลังเผชิญ การมอบความเห็นอกเห็นใจและรับรู้ถึงความอยุติธรรมในสังคมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อพบว่าตนเองกำลังตัดสินชีวิตใคร หรือมองว่าเขาสมควรเจอสิ่งนั้นแล้ว เราจึงควรสำรวจความคิดตัวเองเพื่อตรวจสอบอคติในใจว่า ทำไมเราจึงคิดเช่นนั้น และความคิดของเรากำลังทำร้ายใครอยู่หรือเปล่า
ที่มา
https://www.verywellmind.com/what-is-the-just-world-phenomenon-2795304
https://www.scu.edu/mcae/publications/iie/v3n2/justworld.html
Tags: Just World Fallacy, แนวคิด, Justice, ความยุติธรรม, Wisdom