เอาเข้าจริงแล้วทั้ง ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ และ ‘ความเห็นแก่ตัว‘ ล้วนเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ ที่ช่วยสนับสนุนให้เรามีโอกาสรอดในการดำรงชีวิต ท่ามกลางปมปัญหาต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยบรรพกาลจวบจนถึงทุกวันนี้ แต่ดูเหมือนว่าในยุคปัจจุบัน มนุษย์ดำรงอยู่ในแวดล้อมแห่งการแก่งแย่งแข่งขัน มากกว่าการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจ ทว่าในบางครั้งอาจไม่ใช่แค่สังคมเท่านั้นที่ทำให้เรากลายเป็นคนเฮงซวยไร้หัวใจ แต่การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอก็อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเช่นกัน 

ในงานวิจัย Sleep Loss Leads To The Withdrawal Of Human Helping Across Individuals, Groups, And Large-Scale Societies ที่เผยแพร่ในปี 2022 เกี่ยวกับการทดสอบความเชื่อมโยงระหว่างการอดนอนและความรู้สึกอยากช่วยเหลือผู้อื่น ผ่านการทดลองแบบจำเพาะเจาะจง แบบสุ่ม และแบบระยะยาว พบว่า การศึกษาทดลองทั้ง 3 รูปแบบ ได้ผลลัพธ์ที่สอดคล้องกัน โดยผู้ที่นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ มีความปรารถนาที่จะแบ่งปันหรือช่วยเหลือผู้อื่นลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เมื่อเทียบกับผู้ที่นอนหลับอย่างเต็มที่ 

นอกจากการทำแบบทดสอบเพื่อวัดระดับความเห็นอกเห็นใจแล้ว ผู้วิจัยยังทำการแสกน Magnetic Resonance Imaging (MRI) เพื่อศึกษาการทำงานของสมองและระบบประสาท ขณะที่ต้องตัดสินใจให้ความช่วยเหลือผู้อื่น โดยมีคุณภาพของการนอนหลับเป็นตัวแปรต้น พบว่า การนอนหลับไม่เพียงพอส่งผลโดยตรงกับการทำงานของเครือข่ายในสมองเกี่ยวกับการรับรู้ทางสังคม ได้แก่ สมองไจรัสขมับส่วนกลาง (Middle Temporal Gyrus) และสมองในส่วนคอร์เท็กซ์พรีฟรอนทัล (Cortex Prefrontal) 

โดยสมองไจรัสขมับส่วนกลางจะทำหน้าที่รับรู้วัตถุที่เคลื่อนไหวผ่านการมองเห็น ซึ่งเชื่อมโยงกับการจดจำใบหน้า ขณะที่สมองคอร์เท็กซ์พรีฟรอนทัลทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว การตัดสินใจ การรับรู้ทางสังคม และอารมณ์ต่าง ๆ เมื่อสมองส่วนนี้ได้รับผลกระทบหรือการรบกวนก็ทำให้ความคิดและการตัดสินใจในเชิงสังคมลดต่ำลงกว่าปกติ นอกจากนี้ภายในงานวิจัยดังกล่าวยังระบุอีกว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองกว่า 78% มีความบกพร่องด้านความเห็นอกเห็นใจแม้แต่กับเพื่อน คนรัก หรือคนในครอบครัว เมื่อนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ

ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัย Losing Neutrality: The Neural Basis of Impaired Emotional Control without Sleep ในปี 2015 เกี่ยวกับรากฐานทางอารมณ์ที่บกพร่อง อันเนื่องมาจากการพักผ่อนนอนหลับไม่เพียงพอ ระบุว่า การนอนไม่เต็มอิ่มส่งผลต่อการประมวลผลทางอารมณ์ เกี่ยวข้องกับการควบคุมสมองส่วนหน้าที่ลดลง โดยความบกพร่องดังกล่าวทำให้ความพยายามในการควบคุมการประมวลผลทางอารมณ์ล้มเหลว หรือเรียกอีกอย่างว่าเสียการควบคุมอารมณ์ทางปัญญา

อีกหนึ่งงานวิจัยที่น่าสนใจและสอดคล้องกับผลการทดลองข้างต้นคือ งานวิจัย Physicians Prescribe Fewer Analgesics During Night Shifts Than Day Shifts ในปี 2022 เกี่ยวกับการจ่ายยาแก้ปวดให้คนไข้ในตอนกลางคืนน้อยกว่าตอนกลางวัน พบว่า แพทย์กะดึกมักจ่ายยาแก้ปวดให้คนไข้น้อยกว่าแพทย์ในกะกลางวัน เนื่องจากมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจลดลง นอกจากนี้จากการเก็บรวบรวมข้อมูลการรักษาของแพทย์ภาคสนามในอิสราเอลและสหรัฐอเมริการะหว่างปี 2013-2020 ยังพบอีกว่า แพทย์มีแนวโน้มที่จะสั่งยาแก้ปวดในกะกลางคืนน้อยกว่ากะกลางวัน และสั่งยาแก้ปวดน้อยกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำโดยทั่วไป

อย่างไรก็ตามไม่ว่าการพักผ่อนน้อยจะทำให้คุณอารมณ์เสีย ขี้หงุดหงิด หรือเห็นแก่ตัวมากขึ้นหรือไม่ อย่าหลงลืมว่าการนอนน้อยมีผลเสียเชิงประจักษ์ที่สามารถรู้สึกได้ด้วยตัวเองอีกมากมาย ทั้งประสิทธิภาพในการทำงานที่ไม่เต็มที่ ระบบย่อยอาหารแปรปรวน รวมถึงมีระดับไขมันและน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าปกติ ดังนั้นแม้ว่าจะงานยุ่งมากขนาดไหน การหาเวลานอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่ก็ยังคงเป็นเรื่องสำคัญ

ที่มา:

https://journals.plos.org/plosbiology/article?id=10.1371/journal.pbio.3001733

https://www.pnas.org/doi/10.1073/pnas.2200047119

https://www.jneurosci.org/content/35/38/13194.short

Tags: , , , ,