ลองจินตนาการนึกถึงภาพมนุษย์วัยกลางคน ตกงาน ไม่เข้าสังคม ไม่อยากพบปะผู้คน หมกตัวอยู่แต่ในห้องนอน ซึ่งเป็นพื้นที่เซฟโซนเพียงหนึ่งเดียวที่ทำให้รู้สึกปลอดภัย ตอนนี้เป็นเวลาเที่ยงตรง แม่ของคุณขึ้นมาเคาะประตูห้องแล้ววางจานข้าวไว้ คุณรอให้แน่ใจว่าแม่ของคุณเดินลงไปด้านล่างแล้วค่อยเปิดประตูออกมา ใช้ชีวิตแบบนี้วนลูปมานานหลายปี ไม่มีทีท่าหรือความคิดที่อยากจะออกไปทำอะไรที่ไหน 

อ่านมาถึงบรรทัดนี้หลายคนคงรู้สึกว่า ถ้าเราทำตัวแบบนี้ มีหวังถูกครอบครัวและสังคมรอบบ้านประณามอย่างแน่นอน แต่เชื่อหรือไม่ว่า ในชีวิตจริงมีคนอีกนับแสนในประเทศญี่ปุ่นที่มีพฤติกรรมแบบนี้อยู่ ซึ่งคนกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า ‘ฮิคิโคโมริ’ 

ฮิคิโคโมริ (Hikikomori) เป็นลักษณะพฤติกรรมของคนที่ตัดขาดจากสังคมภายนอก มักจะเก็บตัวอยู่แต่ภายในห้อง ไม่อยากออกไปพบปะผู้คน ไม่อยากออกไปใช้ชีวิต หรือพูดคุยกับใครเป็นเวลามากกว่า 6 เดือน ในหลายกรณีกินเวลายาวนานถึง 10-15 ปี พบได้มากในหมู่วัยรุ่นที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง โดยมีสัดส่วนเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง หากมนุษย์มีอายุเฉลี่ยที่ 80 ปี นั่นเท่ากับว่า คนที่เป็นฮิคิโคโมริขังตัวเองไว้ในห้องไปแล้ว 8% ของชีวิต 

เริ่มแรกฮิคิโคโมริเป็นเพียงวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1970 ที่แพร่หลายในหมู่วัยรุ่นขณะนั้น และถูกสังคมภายนอกต่อต้านอย่างรุนแรง เนื่องจากฮิคิโคโมริขัดแย้งกับวัฒนธรรมการทำงานที่เข้มข้นของญี่ปุ่น ทว่าด้วยจำนวนฮิคิโคโมริที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้นักวิจัยหลายคนเริ่มมองว่า ฮิคิโคโมริอาจไม่ใช่ปรากฏการณ์ต่อต้านทางสังคม แต่เป็นอาการทางจิตวิทยาหรือประสาทวิทยา ส่งผลให้เริ่มมีการพิสูจน์หาสาเหตุและที่มาทางการแพทย์

ในงานวิจัยชื่อ Blood metabolic signatures of hikikomori, pathological social withdrawal ในปี 2021 ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการด้านประสาทวิทยา จากมหาวิทยาลัยคิวชู (Kyushu University) ประเทศญี่ปุ่น พบว่า มีความเชื่อมโยงระหว่างอาการฮิคิโคโมริ และสารเคมีในเลือดที่สามารถระบุได้ว่า ใครกำลังเผชิญกับอาการแยกตัวจากสังคม และสิ่งที่น่าสนใจคือ ในบางกรณีอาการฮิคิโคโมริสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ซึ่งผลลัพธ์จากงานวิจัยนี้ อาจเป็นประโยชน์ในการค้นหาวิธีการหรือยารักษาในอนาคต

ทาคาฮิโระ คาโตะ (Takahiro Kato) รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยคิวชู หนึ่งในผู้ร่วมงานวิจัยข้างต้น กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการวิจัยทางชีววิทยาเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและอาการฮิคิโคโมริ กระทั่งพบความเชื่อมโยงว่า ภาวะเหล่านี้ล้วนเกิดจากสารเคมีที่ผิดปกติในร่างกาย ทำให้มนุษย์มีพฤติกรรมที่แปลกแยกออกไป นอกจากนี้งานวิจัยของเขายังชี้ให้เห็นอีกว่า ประมาณ 70% ของผู้ป่วยฮิคิโคโมริ ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะทางจิตเวชร่วมด้วย เช่น ภาวะซึมเศร้าและโรคจิตเภท 

นอกเหนือจากสาเหตุด้านประสาทวิทยา อีกหนึ่งประเด็นที่นักวิจัยยังคงให้ความสำคัญคือ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมทั้งวัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจ ที่มีอิทธิพลต่อรูปแบบการคิดและการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงความถี่ในการเข้าสังคมที่แตกต่างกันก็มีผลต่อการเกิดอาการฮิคิโคโมริ  

อีกงานวิจัยชื่อ Long-Term Impact of Social Isolation and Molecular Underpinnings ในปี 2020 ระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาอาจทำให้ฮิคิโคโมริเพิ่มขึ้น โดยผู้คนที่ต้องอยู่แต่ในห้องหรือบ้านของตนเองเป็นเวลานานจากการล็อกดาวน์ แสดงให้เห็นอาการบางอย่างที่อาจมีแนวโน้มนำไปสู่การตัดขาดทางสังคม เช่น การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ยากขึ้น ความรู้สึกที่อยากอยู่คนเดียว และความรู้สึกที่ไม่อยากพบเจอใคร 

นอกจากนี้นักวิจัยบางส่วนยังเชื่อว่า อาการฮิคิโคโมริเป็นการวิวัฒนาการของธรรมชาติ ที่มนุษย์เริ่มปรับตัวจากสัตว์ที่มักอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มกลายเป็นสัตว์ที่รักสันโดษมากขึ้น เนื่องจากมลพิษและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทำให้ผู้คนเริ่มมีความคิดที่ไม่อยากออกไปไหนและกักตัวเองไว้ในพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น ส่งผลให้มนุษย์เกินกว่าครึ่งอาจกลายเป็นฮิคิโคโมริ ไปโดยปริยาย ทว่าการที่มนุษย์ในอนาคตจะกลายเป็นฮิคิโคโมริเช่นนี้ เป็นเพียงความคิดเห็นและการคาดคะเนของนักวิจัยเพียงบางส่วนเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะกักขังตัวเองไว้ภายในห้องสี่เหลี่ยม หรือออกไปใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม ทุกคนล้วนนำพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่ตัวเองรู้สึกสบายใจและมีความสุขที่สุด ดังนั้นการเข้าสังคมกับผู้อื่นและใช้เวลาอยู่กับตัวเองบ้าง ก็จะเป็นการหาบาลานซ์หรือจุดกึ่งกลางของชีวิตสำหรับตัวเองได้

Tags: , , ,