เราต่างทราบกันดีว่า ในบรรดาเพื่อนฝูงมากมาย แต่ละคนก็มีลักษณะนิสัยส่วนตัวที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงนิสัยและพฤติกรรมการกินดื่มสังสรรค์ ที่บางคน ‘คอแข็ง’ บางคน ‘คออ่อน’ บางคนต้องออกไปหาเบียร์เย็นๆ กระแทกปากทุกค่ำคืน บางคนกว่าจะได้ร่วมวงน้ำเมากันสักครั้งก็ต้องรอให้มีโอกาสพิเศษจริงๆ ขณะที่บางคนออกจากวงการดื่มไปอย่างถาวร แน่นอนว่าปัจจัยด้านอายุ สุขภาพ สังคม ประสบการณ์ และความชื่นชอบส่วนตัวก็มีผลต่อพฤติกรรมและความถี่ในการดื่มแอลกอฮอล์ 

ทว่างานวิจัยชื่อ Is Alcohol Consumption Pattern Dependent on Prenatal Sex-Steroids? A Digit Ratio (2D:4D) Study Among University Students จาก Swansea University ประเทศอังกฤษ ที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2024 เผยให้เห็นปัจจัยอื่นๆ ที่มีความเชื่อมโยงกับพฤติกรรมการกินดื่ม ผ่านการสำรวจโดยใช้กลุ่มอาสาสมัครจำนวน 258 คน แบ่งเป็นผู้หญิงจำนวน 169 คน และผู้ชายจำนวน 89 คน ซึ่งแต่ละคนจะมีพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่แตกต่างกัน 

จากการสำรวจและศึกษาพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของอาสาสมัคร นักวิจัยพบจุดร่วมหนึ่งอย่างคือ ผู้ที่มีพฤติกรรมชื่นชอบการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก มักจะเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง มิหนำซ้ำผู้ที่มีพฤติกรรม ‘เสพติด’ การดื่มแอลกอฮอล์หรือผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง ‘มักจะมีนิ้วนางยาวกว่านิ้วชี้’ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิจัยให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากความเชื่อมโยงระหว่างฮอร์โมนเพศ สรีระ และพฤติกรรมการกินของมนุษย์ สามารถนำไปสู่การพัฒนาวิธีรักษาผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรังในอนาคต

แล้วการเสพติดแอลกอฮอล์เกี่ยวอะไรกับความสั้นยาวของนิ้ว

ภายในงานวิจัยระบุไว้ว่า หนึ่งในสาเหตุของพฤติกรรมการเสพติดแอลกอฮอล์ของมนุษย์ ขึ้นอยู่กับสเตียรอยด์เพศ (Prenatal Sex-Steroids) เป็นฮอร์โมนที่ใช้ในการกำหนดเพศของทารกขณะเจริญเติบโตอยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งนอกจากจะกำหนดเพศชายหญิงแล้ว ยังกำหนดการเจริญเติบโตของอวัยวะต่างๆ เช่น กระดูก กล้ามเนื้อ ระบบภูมิคุ้มกัน หัวใจ และหลอดเลือด รวมไปถึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างโครงสร้างสมองและการทำงานของระบบประสาท ซึ่งตรงจุดนี้เองที่ปริมาณฮอร์โมนเพศชายมีความเชื่อมโยงกับการเจริญเติบโตของร่างกาย โดยความสั้นยาวของนิ้วมือก็เป็นผลจากสิ่งนี้ด้วยเช่นกัน 

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจเริ่มยกมือขึ้นมาเปรียบเทียบว่า นิ้วนางของตัวเองสั้นหรือยาวกว่านิ้วชี้ ซึ่งบางคนอาจพบว่า นิ้วนางของตนยาวกว่านิ้วชี้ แต่ไม่ได้ชอบดื่มแอลกอฮอล์มากขนาดนั้น หรือบางคนอาจรู้สึกว่านิ้วนางสั้นกว่านิ้วชี้ ทว่าชอบกินดื่มเป็นชีวิตจิตใจ ต้องบอกก่อนว่าลักษณะของอวัยวะต่างๆ บนร่างกายขึ้นอยู่กับพันธุกรรมจากบรรพบุรุษและปัจจัยอื่นๆ ด้วย ดังนั้นข้อสังเกตเรื่องความสั้นยาวของนิ้วอาจไม่ได้การันตีว่า คุณเป็นนักดื่มตัวยงหรือคนคออ่อนเสมอไป ทว่าระดับฮอร์โมนเพศในร่างกายก็ยังถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลต่อแนวโน้มการเสพติดแอลกอฮอล์ 

เนื่องจากระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในร่างกาย มีความเชื่อมโยงกับพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก อีกทั้งร่างกายของผู้ชายและผู้หญิงในการย่อยหรือดูดซึมแอลกอฮอล์ก็ยังมีความแตกต่างกัน โดยกระเพาะของผู้หญิงมีเอนไซม์ที่ช่วยย่อยแอลกอฮอล์น้อยกว่าผู้ชาย ด้วยเหตุนี้ทำให้ดูดซึมแอลกอฮอล์เข้าสู่กระแสเลือดได้มากกว่า ส่งผลให้ผู้หญิงรู้สึกมึนเมาง่ายและรุนแรงกว่าผู้ชายที่ย่อยแอลกอฮอล์ได้ดีกว่า โดยตามปกติแล้วเมื่อเมาง่ายก็จะดื่มได้น้อยลงตามสภาพ และหากถามว่า ทำไมเอนไซม์ในกระเพาะของผู้หญิงถึงย่อยแอลกอฮอล์ได้แย่กว่าผู้ชาย เชื่อว่าฮอร์โมนเพศหญิงอาจมีส่วนในการลดทอนประสิทธิภาพของการเผาผลาญสารอาหารบางชนิด ซึ่งในประเด็นนี้ยังไม่มีงานวิจัยที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือมารองรับ 

อย่างไรก็ตามดังที่กล่าวไปข้างต้น พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างที่ในบางครั้งไม่จำเป็นต้องมีฮอร์โมนมาเกี่ยวข้อง แต่ถึงอย่างนั้นการเลือกดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่น้อยและไม่บ่อยนัก ก็ยังเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับร่างกาย เพราะต่อให้เราเป็นคนที่คอแข็ง ดื่มทั้งคืนไม่เมา ตื่นมาไม่เมาค้าง แต่นั่นไม่ได้ช่วยทำให้เราสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหรือโรคตับแข็งน้อยลงเลย

ดังนั้นดื่มเท่าที่ร่างกายยังไหว ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่นจะถือเป็นการกินดื่มที่มีประสิทธิภาพ 

ที่มา: 

https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/39529450/

https://neurosciencenews.com/finger-length-aud-testosterone-28144/

https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/34089761/

https://hdmall.co.th/blog/c/reasons-women-drunk-easier

Tags: , , , , , ,