หลังจากเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางมาร์เวลสตูดิโอส์ (Marvel Studios) เผยตัวอย่างแรกของภาพยนตร์ The Fantastic 4: First Steps ที่กำลังจะเข้าฉายในเดือนกรกฎาคม หลายคนก็หันมาให้ความสนใจกับฮีโร่พลังระดับคอสมิกที่เราต่างคุ้นหน้าคุ้นตากันดีอย่าง รีด ริชาร์ด (Reed Richard) หรือ Mister Fantastic, ซูซาน สตอร์ม (Susan Storm) หรือ Invisible Woman, จอห์นนี สตอร์ม (Johnny Storm) หรือ Human Torch และเบน กริมม์ (Ben Grimm) หรือ The Thing ซึ่งพวกเขาคือเหล่ายอดมนุษย์ที่ได้รับพลังเหนือธรรมชาติ จากการสัมผัสกับรังสีคอสมิกโดยบังเอิญ ขณะออกไปปฏิบัติงานบนสถานีอวกาศนอกโลก 

จากการที่ทั้ง 4 คนได้สัมผัสกับรังสีคอสมิกในปริมาณเข้มข้น ส่งผลให้เซลล์และพันธุกรรมในร่างกายของพวกเขาเกิดการกลายพันธุ์ กล้ามเนื้อและร่างกายของริชาร์ดยืดหดได้มากกว่ามนุษย์ปกติทั่วไป ภรรยาของเขาอย่างซูซานสามารถล่องหนได้ดั่งใจนึก จอห์นนี น้องเล็กสุดของทีมร่างกายก็ลุกโชนด้วยเปลวไฟ ขณะที่เบนเพื่อนสนิทของริชาร์ดมีผิวหนังที่แข็งเหมือนหินทั่วทั้งร่าง ซึ่งพวกเขาใช้ความผิดพลาดทางร่างกายให้เกิดประโยชน์ ด้วยการกอบกู้โลกและปราบเหล่าร้าย คำถามต่อมาที่น่าสนใจคือ ในโลกแห่งความเป็นจริง เมื่อร่างกายของมนุษย์สัมผัสกับรังสีคอสมิกจะเกิดอะไรขึ้น มันจะสามารถทำให้เรามีพลังเหนือธรรมชาติได้หรือไม่

แน่นอนว่า บรรดารังสีแต่ละชนิดที่เราค้นพบในปัจจุบัน ไม่มีรังสีใดที่สามารถทำให้ร่างกายของเรากลายเป็นยอดมนุษย์ แต่รังสีสามารถเปลี่ยนแปลงเซลล์หรือยีนส์บางอย่างในร่างกายของเราได้ หากสัมผัสในปริมาณที่เข้มข้นหรือถี่เกินไป เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้เหนือจินตนาการเหมือนในภาพยนตร์ไซ-ไฟ แต่ร่างกายของเราอาจเป็นมะเร็ง หรือป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบไหลเวียนเลือดแทน

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับรังสีคอสมิกกันก่อน รังสีคอสมิก (Cosmic Rays) คือ อนุภาคพลังงานจากนอกโลกที่เคลื่อนผ่านอวกาศด้วยความเร็วเทียบเท่ากับความเร็วแสง ประกอบไปด้วยอนุภาคโปรตอน (Proton) นิวเคลียสของธาตุพื้นฐานต่างๆ และพลังงานมหาศาลจากปรากฏการณ์ซูเปอร์โนวา (Supernova) หรือเศษซากจากการระเบิดในครั้งอดีต ซึ่งหากถามว่ารังสีคอสมิกอันตรายระดับไหน และสร้างผลกระทบอย่างไรให้กับร่างกายของเรา ต้องบอกว่า อยู่ในระดับที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก 

สมมติว่า นักบินอวกาศต้องออกไปปฏิบัติหน้าที่บนดาวอังคาร ใช้เวลาไปกลับในระยะเวลาที่สั้นที่สุดคือ 6 เดือน ร่างกายของนักบินอวกาศจะสัมผัสกับรังสีคอสมิกประมาณ 0.66 ซีเวิร์ต ซึ่งมากกว่าปริมาณการสัมผัสรังสีในเหตุการณ์โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่ฟุกุชิมะ หรือเทียบเท่าการเข้าทำซีทีสแกน (CT Scan) ทุก 5-6 วัน จึงเพิ่มโอกาสความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งถึง 5.5% รวมถึงปัญหาด้านระบบประสาทและระบบไหลเวียนเลือด 

ปีเตอร์ กีดา (Peter Guida) นักชีววิทยาของห้องปฏิบัติการรังสีวิทยา องค์กรนาซ่า (NASA) กล่าวว่า โดยพื้นฐานแล้วรังสีมักทำลายเส้นสายหรือเบสของดีเอ็นเอ (DNA) เมื่อเซลล์ต้องการซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้น อาจเกิดความผิดพลาดระหว่างการพยายามซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ดีเอ็นเอที่ปรับปรุงโดยไม่ถูกต้องจะกลายพันธุ์ และนำไปสู่การก่อเซลล์มะเร็งในอนาคต นอกจากนี้ยังสร้างความเสียหายให้กับเซลล์บริเวณหัวใจและหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดแดงแข็งและตีบ มิหนำซ้ำยังทำลายเซลล์ประสาทส่วนกลางและมีโอกาสพัฒนาเซลล์ขึ้นมาใหม่น้อยลง อาจส่งผลให้เกิดความบกพร่องทางสติปัญญาหรือความจำเสื่อม 

ทว่าเอาเข้าจริงแล้วรังสีคอสมิก ลมสุริยะ และอนุภาคพลังงานสูงจากนอกโลก ไม่ค่อยสร้างผลกระทบให้กับมนุษย์สักเท่าไร โดยต้องยกความดีความชอบให้กับสนามแม่เหล็กโลกและชั้นบรรยากาศ ที่คอยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไป หากเราไม่มีความจำเป็นต้องออกไปทำงานนอกโลกเหมือนนักบินอวกาศ เราอาจไม่ต้องกังวลกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นเหล่านักวิจัยเทคโนโลยีอวกาศก็ใช้ความพยายามและความสามารถสูงสุด ในการคิดค้นและวิจัยยานพาหนะหรือชุดนักบินที่สามารถป้องกันร่างกายจากการสัมผัสรังสีเข้มข้นนอกโลก เพื่อลดทอนความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานบนอวกาศ 

สรุปคือ การสัมผัสกับรังสีคอสมิกในชีวิตจริงไม่ได้ทำให้เรารับพลังระดับจักรวาล แต่กลับกลายเป็นโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือด และโรคความจำเสื่อมแทน ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วก็แอบคล้ายกับสิ่งที่ทีมฮีโร่ Fantastic 4 ต้องเผชิญตรงที่เซลล์ของพวกเขาก็กลายพันธุ์เช่นกัน ทำให้ต้องทนทุกข์ทรมานจากการที่ร่างกายผิดปกติไปจากเดิม ถึงแม้จะมีทั้งส่วนที่เหมือนและต่าง ทว่าอย่างน้อยเรื่องนี้ก็ทำให้เราได้รู้ว่า มวลมหาพลังงานในจักรวาลนั้นลึกลับ ซับซ้อน และไม่เคยปรานีต่อสิ่งมีชีวิตตัวเล็กจ้อยอย่างมนุษย์ 

ที่มา:

https://www.nasa.gov/humans-in-space/space-radiation-is-risky-business-for-the-human-body/

https://ngthai.com/science/33323/cosmic-rays/

Tags: , , , , , , , ,