คิดว่าคนเรามักเปรียบเทียบตัวเองกับ ‘เขาคนนั้น’ ของคนรัก เพื่ออะไร?

หากไม่นับคนดัง หนึ่งในความสัมพันธ์ที่ทำให้เราสามารถรับรู้ถึงการมีอยู่ของใครอีกคน ไปจนถึงเสพติดการติดตามชีวิตของเขาได้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องรู้จักกันมาก่อน คงหนีไม่พ้น ‘แฟนใหม่ของแฟนเก่า’ รวมถึง ‘แฟนเก่าของแฟนเรา’ ที่ถือเป็นบุคคลต้องห้ามเช่นกันสำหรับคู่รักบางคู่

ภายใต้ความสัมพันธ์แบบงุนงงนี้ เกิดจากจุดร่วมเพียงอย่างเดียวคือการเคยคบหากับคนคนหนึ่งเหมือนกัน น่าแปลกคือบางคนอาจเกลียดอีกฝ่ายได้ง่ายๆ เพียงแค่อยู่ในสถานะดังกล่าวเท่านั้น

การมีคนรักร่วมกันในช่วงเวลาที่ต่างกันก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร แต่ทำไมเรื่องนี้ถึงได้เป็นเรื่องรบกวนจิตใจหลายคน ทั้งการเกิดข้อสงสัยในความสัมพันธ์ เช่น ระหว่างเขากับเรา แฟนจะรักใครมากกว่ากัน? ไปจนถึงคำถามว่าฉันดีกว่าเขาไหม? ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการเปรียบเทียบซึ่งต้องตัดสินคุณค่าและตัวตนของอีกฝ่าย และที่อันตรายคือมันเป็นการตัดสินคุณค่าให้ตัวเราเองด้วย

วันหนึ่งคุณอาจจะเจอรูปคู่สุดหวานแหววของแฟน แต่ว่าคนข้างๆ ไม่ใช่คุณ (ซึ่งเป็นภาพตั้งแต่ต้นปี 2013 โน่น) ด้วยความบังเอิญ หรืออาจถึงกับสวมบทบาทยอดนักสืบโดยการลงทุนขุดคุ้ยข้อมูลด้วยตัวเองเพราะเกิดสงสัย ยิ่งมีโซเชียลมีเดียก็เหมือนว่าทุกอย่างจะยิ่งง่ายขึ้น จากเคยรู้แค่ชื่อกับหน้า กลับกลายเป็นว่าศึกษาไปถึงแง่มุมอื่นๆ สุดท้ายความอยากรู้อยากเห็นก็พัฒนาเป็นการเสพติดชีวิตเขาซึ่งไม่ได้เป็นอะไรกับคุณเลย และกลายเป็นกิจวัตรโดยไม่ทันรู้ตัว 

‘เห็นแชร์เพลงเศร้าแบบนี้ พวกเขาคงไม่ได้มีความสุขกันนักหรอก’

‘เปลี่ยนรูปโปรไฟล์ใหม่เหรอ ดูแล้วก็ไม่ได้สวยกว่าเราสักเท่าไร’

‘ทำงานอะไรถึงได้มีเงินไปเที่ยวอยู่บ่อยๆ นะ ชีวิตดีจัง’

“ปกติแล้วคนเราก็ทำการเปรียบเทียบตัวเองกับสังคมอยู่ตลอด มันเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมนุษย์ ที่โชคร้ายคือคนจำนวนมากพยายามที่จะหาความนับถือในตัวเอง (Self-esteem) โดยการเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น” 

คริสตี้ โลเปซ (Cristy Lopes) นักจิตวิทยา ได้ให้มุมมองในเรื่องนี้โดยเชื่อมโยงกับทฤษฎีการเปรียบเทียบทางสังคม (Social Comparison) โดยแนวคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดที่เสนอว่ามนุษย์ล้วนแล้วแต่มีความต้องการในการประเมินตัวเอง ซึ่งจะสามารถทำได้ผ่านการเปรียบเทียบกับคนอื่น 

ในกรณีของการเปรียบเทียบตัวเองกับแฟนใหม่ (หรือแฟนเก่า) ของแฟนนั้น เธอมองว่าในการเปรียบเทียบ สุดท้ายแม้เราจะดีกว่าหรือแย่กว่าเขา ทว่าการเอาแต่คิดจะเปรียบเทียบตัวเองย่อมไม่เป็นผลดี

“หนึ่งในวิธีเพิ่ม Self-Esteem ของคนเราคือรูปร่างหน้าตา ถ้าไม่ได้จะไปทำความรู้จักอีกฝ่ายแบบเจอตัวจริง รูปร่างหน้าตาก็แทบจะเป็นสิ่งเดียวที่คุณหาได้ในโซเชียลมีเดีย เพราะว่ามันง่าย

“จริงๆ ถึงสาวคนใหม่ของแฟนเก่าจะสวยหรือไม่ก็ไม่สำคัญ เพราะมันก็ไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้คุณกับแฟนเก่าเลิกกันอยู่ดีนี่”

ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น (Western University) ในแคนาดาเมื่อปี 2015 พบว่ามีผู้คนอายุระหว่าง 18-35 ปี ราว 88% ที่ยังคงคอยตามส่องโซเชียลมีเดียของแฟนเก่า และอีกกว่า 80% ยังได้ติดตามไปถึงแฟนใหม่ของพวกเขา แน่นอนว่ามันไม่ใช่ตัวเลขที่น้อยเลย และที่สำคัญคือพฤติกรรมเช่นนี้ยังทำให้พวกเขาเกิดความเครียดมากขึ้นอีกด้วย

การที่เราอยากรับรู้เรื่องราวของใครคนหนึ่งว่ามีดีตรงไหนหรือใช้ชีวิตอย่างไร จนถึงกับต้องคอยติดตามอยู่เป็นประจำ ถ้าไม่ใช่เพราะชื่นชอบจนกลายเป็นแฟนคลับไปแล้ว อาจแปลว่าเรารู้สึกไม่มั่นคงกับทั้งในเรื่องของความสัมพันธ์ และมีความไม่มั่นใจในตัวเองอยู่ลึกๆ 

ในแง่หนึ่ง ผู้เขียนเห็นว่ามันอาจเกิดจากการที่คุณมองตัวเองในฐานะผู้ครอบครองคนรัก และมองว่าเขาคนนั้นคือผู้ได้ครอบครองเหมือนกัน คล้ายว่าคุณและเขาเป็นผู้เข้าแข่งขัน 2 คน จนทำให้ต้องเปรียบเทียบว่าอีกฝ่ายแย่กว่าเราอย่างไรหรือดีกว่าเราตรงไหน 

การเปรียบเทียบเช่นนี้ต่อให้ทำเป็นปีๆ ก็ไม่ได้ส่งผลอะไรกับเขาเลย น่าเศร้าตรงที่ว่าทางนั้นอาจไม่แม้แต่รับรู้ถึงการมีอยู่ของคุณด้วยซ้ำ อีกเรื่องที่สำคัญคือการต้องทำความเข้าใจว่าคนรักของคุณไม่ใช่สิ่งของที่จะต้องโดนคุณหรือใครครอบครองทั้งสิ้น

บางคนเกิดความรู้สึกเกลียดอีกฝ่ายได้ง่ายๆ ระดับนั่งฟังเพลง Kill Bill ของ SZA (ซิสซา) ได้แบบอินๆ หรือแม้แต่ไปคุกคามทั้งที่เขาไม่ได้ทำอะไรให้ ในกรณีที่คุณเป็นคนปัจจุบันแต่ยังชอบที่จะไปขุดคุ้ยอดีต เช่นนี้คิดว่าคนรักของคุณจะมีความสุขไหมกับการต้องคอยตอบคำถามเรื่องรักครั้งเก่าให้ต้องทะเลาะกันอยู่เรื่อยๆ 

หากพบว่าเป็นปัญหา ทางออกที่ได้ผลที่สุดก็คงเป็นการต้องเลิกติดตาม เลิกสงสัยใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนคนนั้นให้ได้ เพราะถ้าติดตามยังไงก็เกิดการเปรียบเทียบอย่างแน่นอน แม้มันจะยากเพราะอาจเสพติดการติดตามชีวิตเขาเป็นปกติแล้ว แต่ต้องตระหนักไว้เสมอว่าการรับรู้และเปรียบเทียบตัวเองกับเขาไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น ซ้ำร้ายยังทำให้ตัวเราเองแย่ลง 

‘Hotter than your ex, better than your next’ (ฉันฮอตกว่าแฟนเก่าคุณ และแน่นอนว่าดีกว่าแฟนคนต่อไปของคุณ) 

ความมั่นใจเป็นเรื่องดี แต่เพราะความสัมพันธ์ไม่ควรเป็นเรื่องของการแข่งขัน การเปรียบเทียบโดยใช้ตัวตนของอีกฝ่ายเป็นมาตรวัด ทั้งรูปร่างหน้าตา การศึกษา หรือหน้าที่การงาน ต่อให้คิดว่ามั่นใจและให้เพื่อนกี่คนมาย้ำว่าเราดีกว่าเขาแค่ไหน แน่ใจจริงไหมว่าพฤติกรรมเช่นนี้เป็นการแสดงออกถึงความมั่นใจ มันไม่ได้แปลว่าเราโหยหาวันที่เราจะเหนือกว่าเขาอยู่หรือ?

ความจริงอาจมีเพียงว่า เราสามารถเป็นคนรักที่ดีได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบกับใครเลย

ที่มา

https://hiplatina.com/comparing-ex-new-girlfriend/

https://www.verywellmind.com/the-stress-of-social-comparison-4154076

Tags: , , , , ,