เชื่อหรือไม่? อารมณ์โกรธ ความก้าวร้าว และอาการโมโหร้ายที่ไม่มีใครชอบ ตั้งแต่ตวาดเสียงใส่จนถึงขั้นลงไม้ลงมือตบตี ทั้งหมดนี้ถูกส่งต่อกันเป็นทอดๆ ได้ คล้ายกับเวลาที่โดมิโนตัวแรกล้มลง แล้วโดมิโนตัวที่เหลือจะล้มครืนเป็นแถวยาว
ที่น่าสนใจมากกว่านั้น ไม่สำคัญว่าเป็นใคร เพศไหน อายุเท่าไร หากขาดวุฒิภาวะจนจัดการอารมณ์ของตัวเองไม่ดีพอ ก็มีความเป็นไปได้ว่า เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกคนอื่นกดดันและกดขี่จนแทบจะระเบิดความอัดอั้นออกมาให้ได้ทันที แต่ต้องข่มความคับข้องใจเอาไว้ไม่ให้เล็ดลอด เพราะรู้อยู่เต็มอกว่า ถ้าตอกกลับไปทันควันหรือแสดงท่าทีต่อต้านให้คนต้นเหตุรู้ถึงความไม่พอใจ จะยิ่งเกิดผลร้ายต่อตัวเอง จึงกัดฟันเก็บงำความเคียดแค้นเป็นไฟสุมขอน รอจนกว่าจะเจอผู้บริสุทธิ์ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่กับเรื่องนี้ ซึ่งมั่นใจได้ว่าหลังจากใช้เป็นเป้าหมายเอาไว้ระบายอารมณ์เสียใส่แทนอย่างสาแก่ใจแล้ว คนเคราะห์ร้ายผู้นั้นจะไม่คิดตอบโต้หรือต่อกรใดๆ
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ในปี 1954 ริชาร์ด ซาร์เจนต์ (Richard Sargent) นักแสดงและนักวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน ได้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นหนึ่งให้นิตยสาร The Saturday Evening Post นำไปตีพิมพ์เป็นภาพหน้าปกฉบับวันที่ 20 มีนาคม
ซาร์เจนต์เลือกใช้สีกวอช (Gouache) บรรจงวาดตัวละครสมมติลงบนผืนผ้าใบขนาดจัตุรัส ซึ่งแบ่งย่อยเป็นสี่ช่องคล้ายบานหน้าต่าง เริ่มต้นจากผู้เป็นพ่อถูกเจ้านายในที่ทำงานตำหนิจนหน้าเสีย เมื่อพ่อกลับถึงบ้านด้วยอารมณ์ไม่ดี แล้วเห็นภรรยาทำอะไรนิดอะไรหน่อยไม่ถูกใจ จึงพานหงุดหงิดใส่ ฝ่ายภรรยาทั้งงุนงงและไม่พอใจ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ไม่น่าจะต้องโกรธควันออกหูขนาดนั้น ทำให้ภรรยาอารมณ์ไม่ดีตามไปด้วย จังหวะนั้นเอง เธอเดินมาเห็นบ้านสกปรกเลอะเทอะด้วยฝีมือของลูกชาย ผู้เป็นแม่ไม่รีรอ รีบดุด่าลูกตัวเอง เด็กวัยไร้เดียงสากลายเป็นที่ระบายอารมณ์ของแม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สุดท้ายเด็กชายเอาความโกรธเคืองไปลงที่ลูกแมวตัวน้อย
ภาพนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริงในสังคมอเมริกัน เป็นความตั้งใจของซาร์เจนต์ซึ่งต้องการเผยให้เห็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและผลลัพธ์จากความล้มเหลวที่คนคนหนึ่งจัดการอารมณ์ของตนไม่ได้ บทสรุปทั้งหมดจึงอยู่ที่ชื่อภาพวาดว่า Anger Transference หมายถึง อารมณ์โกรธและความเกรี้ยวกราดที่ถูกส่งต่อและถ่ายโอนจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ซึ่งคนเรามักมองข้ามหรือไม่คิดจะให้ความสนใจทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ คำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นได้?
ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) จิตแพทย์ชาวออสเตรียผู้บุกเบิกศึกษาการทำงานของจิตใจมนุษย์ และวางรากฐานทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) เชื่อว่า เราจะเป็นคนอย่างไร ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ สัญชาตญาณ จิตสำนึก และพัฒนาการในวัยเด็กเป็นตัวกำหนด
ขณะฟรอยด์ศึกษาวิธีการบำบัดคนที่มีปมปัญหาในใจ เขาสังเกตเห็นว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น หากได้ปลดปล่อยเรื่องราวฝังใจออกมา แต่ที่ลึกซึ้งมากกว่านั้นคือ ในสายตาของผู้ป่วยกลับมองเห็นผู้บำบัดเป็นคนสำคัญในชีวิตที่เขาหรือเธอต้องการระบายหรือบอกความในใจมากกว่าเป็นเพียงจิตแพทย์ จึงเปิดเผยทุกเรื่องราวและถ่ายเททุกความรู้สึกที่เป็นปมฝังใจมาที่ผู้บำบัด ฟรอยด์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Transference
เมื่อความรู้สึกและพฤติกรรมถ่ายโอนได้ หมายความว่า บางครั้งคนเราก็ไม่สามารถแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาตามที่ใจอยาก ด้วยข้อจำกัดเรื่องความต่างของวัยวุฒิ อำนาจ ชนชั้น บทบาทหน้าที่ และสถานะทางสังคม จึงต้องเก็บและกดเอาไว้ แต่อารมณ์ร้อนก็เหมือนน้ำในกาที่เดือดจัดที่ต้องหาทางระบายออก เราจึงเลือกระเบิดอารมณ์กับคนต่ำกว่าที่ไม่มีทางสู้กลับ ซึ่งมองเห็นเป็นเพียงของตายหรือถังขยะเอาไว้ทิ้งอารมณ์ นี่คือหนึ่งในกลไกการป้องกันทางจิต (Defense Mechanisms) ที่มีชื่อเรียกว่า Displacement หรือ Displaced Aggression
นอกจากนี้ การแทนที่อารมณ์โกรธไปยังเป้าหมายอื่นที่ไม่ใช่ต้นเหตุ ยังรวมไปถึงการระบายอารมณ์ใส่สิ่งอื่นด้วย เช่น ขว้างปาข้าวของ หรือการทำร้ายสัตว์
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียบานปลายหรือเกิดจุดแตกหักในความสัมพันธ์จนต่อไม่ติด เราจำเป็นต้องรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง ตั้งสติเพื่อหาวิธีควบคุมและจัดการอารมณ์ของตนให้ถูกที่ถูกทาง ไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ก่อนทำอะไรให้นึกเสมอว่า ไม่ชอบคนแบบไหน ก็อย่ากลายเป็นคนแบบนั้นเสียเอง และถ้าเราไม่ชอบพฤติกรรมไหนของคนอื่น ก็อย่าทำพฤติกรรมนั้นกับคนอื่นเช่นเดียวกัน
ถึงตรงนี้ หากใครยังสงสัยว่าตัวเองมีแนวโน้มระบายอารมณ์ใส่คนใกล้ชิดเข้าข่าย Displacement มากแค่ไหน ลองถามทบทวนตัวเองด้วยคำถามต่อไปนี้ ซึ่งเป็นผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ Journal of Personality and Social Psychology ในปี 2006
1. เมื่อโกรธหรือโมโห ฉันเอาแต่หมกมุ่นอยู่กับอารมณ์โกรธเคืองเหล่านั้นเป็นวันๆ
2. เมื่อใครหรืออะไรก็ตามทำฉันโกรธหรืออารมณ์เสีย ฉันมักจะระบายความโกรธใส่คนอื่นเสมอ
3. เมื่อฉันไม่พอใจ ฉันต้องการแสดงออกให้คนอื่นรู้ว่าฉันไม่พอใจ
4. คนในครอบครัว คนรัก เพื่อน และลูกน้อง มักกลายเป็นที่ระบายอารมณ์ของฉัน ทั้งที่พวกเขาไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องที่ทำให้คุณโกรธ
5. เมื่อทำอะไรสักอย่างผิดแผน หรือรู้สึกไม่ได้ดั่งใจหวัง ฉันจะพาลใส่ใครก็ตามที่เห็นว่าเกะกะสายตา
หากตอบ ‘ใช่’ ทุกข้อ นั่นแปลว่าคุณจัดการความโกรธไม่ได้ และกำลังมองเห็นคนใกล้ตัวเป็นเพียงสนามอารมณ์ที่คุณจ้องเอาความเดือดดาลไปสาดใส่พวกเขาอย่างไม่ไยดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น
ที่มา:
Baumeister, R. F., & Vohs, K. D. (2007). Displaced aggression. In Encyclopedia of social psychology (Vol. 1, pp. 258-258). SAGE Publications, Inc., https://dx.doi.org/10.4135/9781412956253.n155
Denson, T. F., Pedersen, W. C., & Miller, N. (2006). The displaced aggression questionnaire. Journal of personality and social psychology, 90(6), 1032–1051. https://doi.org/10.1037/0022-3514.90.6.1032
Sargent, Richard. (1954). Anger Transference [Painting]. The Saturday Evening Post, Indianapolis, United States. https://www.saturdayeveningpost.com/issues/1954-03-20/
VandenBos, G. R. (2015). APA Dictionary of Psychology (2nd ed.). American Psychological Association.
Tags: จิตวิทยา, Knowledge and Wisdom, Wisdom, โกรธ, โมโห, กลไลป้องกันตัวเอง, displacement