ใครฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วบ้าง ยกมือข้างที่ไม่ถนัดขึ้น!

ผมคนหนึ่งที่ขอไม่ยกมือนะครับ เพราะเพิ่งถูกฉีดวัคซีนมาเมื่อวาน วันนี้เลยมีอาการปวดต้นแขนเวลาขยับตัว แต่เทียบไม่ได้เลยกับตอนที่ผมติดไข้หวัดใหญ่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ตอนนั้นทั้งไข้ ตัวร้อน กินยาพาราฯ ครบ 4 ชั่วโมงไข้ก็ขึ้นมาอีก ทั้งปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัวจนแทบไม่อยากลุกไปไหน บวกลบคูณหารแล้วยอมเจ็บตัวเล็กน้อยตอนนี้คุ้มกว่าเจ็บทั้งตัวทีหลังแน่นอน

ส่วนคนอื่นที่ไม่ยกมือ ยังลังเลว่าจะฉีดหรือไม่ฉีดดีอยู่หรือเปล่า

วัคซีนไข้หวัดในแต่ละปีไม่เหมือนกัน

วัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนที่ต้องฉีดทุกปี เพราะระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ลดลง และความหลากหลายของเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่มีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละปี โดยสายพันธุ์ที่บรรจุอยู่ในวัคซีนเป็นสายพันธุ์ที่คาดว่าจะระบาดในปีนั้นๆ ยกตัวอย่างวัคซีนไข้หวัดใหญ่ของปีนี้กับปีที่แล้วตรงกันเพียง 1 สายพันธุ์ในวัคซีนชนิด trivalent (3 สายพันธุ์) และตรงกัน 2 สายพันธุ์ในวัคซีนชนิด quadrivalent (4 สายพันธุ์) ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 เปรียบเทียบเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์วัคซีนระหว่างปีพ.ศ. 2561 และ 2562

 

ดังนั้นเมื่อปีที่แล้วใครที่เคยเจ็บตัว เอ้ย! ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไปแล้ว ปีนี้ก็ต้องฉีดใหม่นะครับ

ใครในครอบครัวต้องฉีดบ้าง?

ถ้าอ้างอิงจากสหรัฐอเมริกา คณะกรรมการให้คำปรึกษาด้านการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน (Advisory Committee on Immunization Practices) แนะนำให้ฉีดทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ถ้าไม่มีข้อห้าม ได้แก่ เด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน และผู้ที่เคยแพ้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดรุนแรง ส่วนผู้ที่แพ้ไข่สามารถฉีดวัคซีนได้ เนื่องจากในปัจจุบันมีการปนเปื้อนโปรตีนจากไข่น้อยมาก

ส่วนในประเทศไทยมีคำแนะนำจาก 2 องค์กรที่เกี่ยวข้องกับเด็กและผู้ใหญ่แยกกัน กล่าวคือ

 1. สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กำหนดให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็น ‘วัคซีนอื่นๆ ที่อาจให้เสริมหรือทดแทน’ หมายถึงวัคซีนที่ไม่จำเป็นต้องให้กับเด็กทุกคน เช่น วัคซีนบีซีจีป้องกันวัณโรค แต่ถ้าผู้ปกครองต้องการฉีดเพิ่มสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป อย่างไรก็ตามกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ได้แก่ อายุน้อยกว่า 2 ปี หรือมีโรคประจำตัวในตารางที่ 2 ควรได้รับวัคซีนเป็นประจำทุกปี

และ 2.ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย แนะนำให้กลุ่มที่ควรได้รับวัคซีนคือกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนสูง ได้แก่ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ดังตารางที่ 2 รวมถึงกลุ่มที่อาจแพร่เชื้อให้กับกลุ่มแรกได้ ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่อาศัยในบ้านเดียวกัน อย่างไรก็ตามประชาชนทั่วไปก็สามารถฉีดวัคซีนได้ เนื่องจากพบว่ามีประโยชน์เช่นกัน

ตารางที่ 2 ข้อบ่งชี้ในการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ของไทย

ดังนั้นถ้าหากใครมีสมาชิกในครอบครัวเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง คือ เด็กอายุน้อย ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว นอกจากจะพาคนเหล่านั้นไปรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี (หัวข้อถัดไป) ตนเองและสมาชิกคนอื่นในครอบครัวก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนเช่นกัน

7 กลุ่มเสี่ยงสามารถขอรับวัคซีนไข้ใหญ่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

หลายคนน่าจะได้อ่านข่าวประชาสัมพันธ์จากกรมควบคุมโรครณรงค์ให้คนไทย 7 กลุ่มเสี่ยงตามภาพที่ 1 ซึ่งก็คือกลุ่มเสี่ยงสูงที่ผมพูดถึงในหัวข้อที่แล้ว สามารถขอรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลได้ฟรี ไม่ว่าจะใช้สิทธิการรักษาใดอยู่ก็ตาม ตั้งแต่ 1 พ.ค. จนถึง 31 ส.ค. 2563 ที่โรงพยาบาลของรัฐ และโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ โดยวัคซีนที่นำมาฉีดจะเป็นวัคซีนชนิด trivalent ซึ่งครอบคลุมเชื้อไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่แล้ว ส่วนประชาชนทั่วไป หรือถ้าต้องการฉีดวัคซีนชนิด quadrivalent ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเองที่โรงพยาบาลเอกชน

ภาพที่ 1 อินโฟกราฟิกประชาสัมพันธ์ 7 กลุ่มเสี่ยงของกรมควบคุมโรค

ใครฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วบ้าง ยกมือข้างที่ไม่ถนัดขึ้น!

คนที่ยังไม่ยกมือตอนนี้ก็ยังไม่สายนะครับ เพราะไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยจะระบาดมากในช่วงปลายฝนต้นหนาว ประมาณเดือน ก.ค.-ต.ค. แต่ต้องเตือนให้ไปฉีดกันตั้งแต่เนิ่นๆ เนื่องจากในการสร้างภูมิคุ้มกันจะใช้ระยะเวลา 2 สัปดาห์ถึงจะป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้

Tags: ,