อากาศเริ่มเย็นลงแล้ว (ตอนที่เขียนบทความนี้อากาศเขตปริมณฑลกรุงเทพฯ เย็นสบาย แต่ไม่แน่ใจว่าตอนที่บทความลงเว็บไซต์จะยังเป็นเช่นนี้อยู่หรือเปล่า) หลายคนก็เริ่มกังวลถึงโรคที่มากับฤดูหนาว โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ที่จะมีอาการหนักกว่าหวัดธรรมดาและสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า จึงขวนขวายฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามคลินิกและโรงพยาบาลเอกชน หรือเมื่อมีอาการไข้ไอน้ำมูกก็รีบมาตรวจที่โรงพยาบาลเร็วขึ้น

ทั้งที่ความจริงแล้วโรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยมีการระบาดปีละสองรอบ คือเดือนมกราคม-มีนาคม และเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม ซึ่งก็คือช่วงปลายฝนต้นหนาว ดังนั้นระยะเวลาที่เหมาะสมกับการฉีดวัคซีนมากที่สุดคือช่วงก่อนฤดูฝนหรือประมาณเดือนมิถุนายน ในขณะที่การฉีดวัคซีนตอนนี้อาจไม่ทันป้องกันโรคในระลอกนี้แล้ว เพราะร่างกายจะเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันประมาณสองสัปดาห์หลังได้รับวัคซีน แต่อย่างไรก็ยังคุ้มค่าที่จะฉีดอยู่ เพราะโรคไข้หวัดใหญ่จะระบาดอีกระลอกช่วงต้นปีหน้า และไม่ได้หมายความว่าระหว่างปีจะไม่มีโอกาสป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่

ทั้งนี้ทั้งนั้น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ต้องฉีดใหม่ทุกปี เพราะสายพันธุ์ที่ระบาดนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละปี ฉะนั้น ปีหน้าก็เตรียมตัวฉีดวัคซีนกันตั้งแต่กลางปีได้เลย โดยจะตรงกับช่วงที่วัคซีนรอบใหม่เข้ามาในโรงพยาบาลพอดี แต่ที่โรงพยาบาลรัฐจะบริการฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดใหญ่ก่อน

ทำไมฉีดวัคซีนแล้ว ถึงยังเป็นไข้หวัดใหญ่

“เป็นโรคไข้หวัดใหญ่นะครับ” พอผมแจ้งผลการวินิจฉัยกับคนไข้ หลังจากซักประวัติได้ว่ามีอาการไข้สูง ไอ น้ำมูก ร่วมกับอาการปวดศีรษะ และตรวจร่างกายพบอุณภูมิร่างกายสูง คอแดง ต่อมทอนซิลไม่โต และเสียงปอดปกติว่าทั้งหมดนี้เข้าได้กับโรคไข้หวัดใหญ่ คนไข้ก็เริ่มเชื่อมโยงความเจ็บไข้ได้ป่วยครั้งนี้กับประสบการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ที่ผ่านมา อาจเป็นประสบการณ์ตรงกับตัวเองหรือกับคนใกล้ชิด หรือเคยได้ยินเกี่ยวกับโรคนี้มาทางอ้อมเกิดเป็นความฉงนสงสัยขึ้นมา

โดยความสงสัยที่พบบ่อยที่สุดก็คือ “ทำไมฉีดวัคซีนแล้ว ถึงยังเป็นไข้หวัดใหญ่” ซึ่งก็น่าคิดอยู่เหมือนกันนะครับว่าในเมื่อเรา (เสียเงิน) ฉีดวัคซีนเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไข้หวัดใหญ่แล้ว แต่ทำไมหมอยังบอกว่าเราป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่อีก ซึ่งนอกจากจะตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของวัคซีนแล้ว เป็นไปได้ว่าคนไข้ก็ยังตั้งคำถามถึงการวินิจฉัยโรคของหมออีกด้วย ทำนองว่า “วินิจฉัยผิดหรือไม่”

สำหรับเรื่องแรก ผมเคยเขียนถึงสาเหตุที่ทำให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีประสิทธิภาพเพียง 40-60% เท่านั้นในบทความชื่อเดียวกับความสงสัยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สามารถกดเข้าไปอ่านทำความเข้าใจก่อนได้ แล้วอย่าลืมวกกลับมาที่บทความนี้อีกทีนะครับ

แล้วติดเชื้อ (ไข้หวัดใหญ่) สายพันธุ์ใหม่รึเปล่า

“ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ไหนก็รักษาเหมือนกัน” ผมอาจจะเลี่ยงไปตอบด้วยประโยคนี้แทนในการตรวจคนไข้จริง เพราะยอมรับว่าเป็นความสงสัยที่อธิบายยาก ขึ้นอยู่กับว่าคนไข้แต่ละคนรู้จักเชื้อไข้หวัดใหญ่มากน้อยแค่ไหนถึงจะเริ่มต้นตอบได้ถูก

ถ้ารู้จักดีมาก ก็จะเข้าใจว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่นั้นเกิดสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาตลอดเวลา ดังนั้นจึง “ไม่สามารถทราบได้” ว่าเป็นสายพันธุ์เก่าที่เคยระบาดอยู่เดิม หรือเป็นสายพันธุ์ที่เพิ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมขึ้นมาใหม่ จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อส่งน้ำมูกของคนไข้ไปเพาะเชื้อที่ห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์หรือโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยที่มีคณะแพทยศาสตร์ แต่อาการของคนไข้ไม่ได้เป็นรุนแรงจนต้องส่งตรวจเพิ่มเติมขนาดนั้น

ส่วนถ้าคนไข้รู้จักว่ามีเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ระบาดในต่างประเทศเป็นระยะๆ เช่น เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H3N2 ติดจากหมูที่สหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.2555 เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H7N9 ติดจากสัตว์ปีกที่จีน มาเลเซีย ไต้หวัน และฮ่องกงในปี พ.ศ.2556-2557 ก็ต้องตอบว่า “ตอนนี้ยังไม่มีรายงานเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ระบาดในไทย” การติดเชื้อครั้งนี้จึงน่าจะเป็นสายพันธุ์ที่คล้ายคลึงกับสายพันธุ์ที่มีในไทยอยู่เดิม (circulating strain)

แต่ถ้ารู้จักเฉพาะ “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009” หรือสายพันธุ์ H1N1 (2009) ที่เคยระบาดครั้งใหญ่ในไทยเมื่อปี พ.ศ.2552 ก็ต้องอธิบายว่า จากที่เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์นี้เคยเป็นคนแปลกหน้าสำหรับโลกของเรา ตอนนี้มันได้กลายเป็นคนรู้จักของทุกคนมานานจนในปีหน้าก็ครบทศวรรษแล้ว และได้รับโควตาเป็น 1 ใน 3 สายพันธุ์หลักที่จะอยู่ในวัคซีนไข้หวัดใหญ่ของทุกปี ซึ่งในการผลิตวัคซีนตั้งแต่ พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา องค์การอนามัยโลกได้เปลี่ยนจากสายพันธุ์ A/California/7/2009 (H1N1)pdm09 ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดิมมาเป็น A/Michigan/45/2015 (H1N1)pdm09

ตัวเลขที่เน้นตัวหนาคือปี ค.ศ. ที่ค้นพบเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์นั้นๆ

ซึ่งจะเห็นว่าไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่สำหรับปีนี้อีกเหมือนกัน

ภาพแสดงร้อยละของสายพันธุ์ไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทยจะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ A(H1N1)pdm09 (สีฟ้าอ่อน) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009  

ช่วยตรวจได้ไหมว่าเป็นสายพันธุ์ A หรือ B

นอกจากสายพันธุ์ใหม่-เก่าแล้ว ความสงสัยเรื่องการแยกสายพันธุ์ก็ยังมีเรื่อง A-B เพราะบางคนน่าจะเคยรู้มาว่าไข้หวัดใหญ่ที่ก่อโรคในคนมีสองสายพันธุ์หลัก หรือเคยได้ยินว่าเพื่อนร่วมงานเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์โน่นนั่นนี่ ซึ่งถ้าโรงพยาบาลไหนมีชุดตรวจไข้หวัดใหญ่ก็จะใช้ก้านพลาสติกคล้ายไม้พันสำลีแคะหู แหย่เข้าไปป้ายเอาน้ำมูกในจมูกคนไข้เพื่อนำไปตรวจ นอกจากจะได้ทราบว่าคนไข้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือไม่แล้ว ก็จะทราบว่าเป็นสายพันธุ์ A หรือ B ไปพร้อมกันด้วยเลย

แต่อย่างโรงพยาบาลของผมไม่มีชุดตรวจ ก็จะวินิจฉัยจากอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (influenza-like illness: ILI) แทน คือมีไข้มากกว่า 38 องศาเซลเซียส ร่วมกับไอ เจ็บคอ อาจมีอาการอื่นๆ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดเมื่อย อาเจียน ท้องเสีย หากมีอาการเหล่านี้ก็จะสันนิษฐานว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ ส่วนในรายที่มีอาการเพียงเล็กน้อยจะต้องเจาะเลือดเพื่อช่วยแยกกับโรคไข้เลือดออกด้วย แต่คนไข้ที่มีความรู้ก็จะมีความสงสัยว่า “ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A หรือ B”

“เนื่องจากโรงพยาบาลไม่มีชุดตรวจไข้หวัดใหญ่ จึงวินิจฉัยจากอาการเป็นหลัก” ผมอธิบายเหตุผลและยืนยันคำตอบเดิม “แต่ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ไหนก็รักษาเหมือนกัน คือรับประทานยาต้านเชื้อไข้หวัดใหญ่ตัวเดียวกัน

“ส่วนถ้าเป็นไข้หวัดธรรมดาก็รักษาตามอาการ ไม่มียารักษาเฉพาะ”

หลายคนน่าจะกำลังสงสัยต่ออีกว่า “ทำไมโรงพยาบาลไม่จัดซื้อชุดตรวจไข้หวัดใหญ่มาตรวจ” ให้รู้แล้วรู้รอดไป เหตุผลในแง่การรักษาก็เป็นอย่างที่ผมตอบคนไข้ไป แต่เหตุผลสำคัญคือในแง่งบประมาณ ชุดตรวจไข้หวัดใหญ่ราคา 450-700 บาท ในขณะที่ยาต้านเชื้อไข้หวัดใหญ่ราคาเม็ดละ 25 บาท รับประทานครั้งละหนึ่งเม็ดหลังอาหารเช้า-เย็น ติดต่อกัน 5 วัน คิดเป็น 250 บาทเท่านั้น  หักลบกันแล้วราคาของความอยากรู้กลับแพงกว่าราคาของการหายจากโรคเสียอีก จึงไม่คุ้มค่าที่จะนำชุดตรวจไข้หวัดใหญ่มาใช้

และอีกเหตุผลคือในแง่ความประสิทธิภาพของชุดตรวจ เนื่องจากความไว (sensitivity) ของชุดตรวจเท่ากับ 86-99% หมายความว่าคนไข้ที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่มีโอกาสที่ผลการตรวจเป็นลบได้ ดังนั้นหากคนไข้เป็นกลุ่มเสี่ยง ก็จะยังได้รับยาต้านเชื้อไข้หวัดใหญ่อยู่ดี

ความสงสัยทั้ง 3 ข้อเกิดขึ้นบ่อย ในชีวิตจริงผมอาจไม่ได้ใช้เวลาตอบอย่างละเอียดเท่านี้ หวังว่าคนที่เคยป่วยหรือกำลังป่วยอยู่จะรู้จักกับโรคไข้หวัดใหญ่มากขึ้น ส่วนคนที่ยังไม่ป่วย ถ้าป่วยขึ้นมาก็น่าจะคุยกับหมอรู้เรื่องมากขึ้น แต่ทางที่ดีรักษาสุขภาพให้แข็งแรง อย่าปล่อยให้ตัวเองต้องมาสงสัยเรื่องนี้เลยครับ

Tags: , , , ,