เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ออกแถลงการณ์กรณีที่แทนซาเนียปฏิเสธการให้ข้อมูลผู้ต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสอีโบลา หลังจากที่ติดต่อขอข้อมูลไปหลายครั้ง
ในแถลงการณ์ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า เมื่อวันที่ 10 กันยายน องค์การอนามัยโลกได้รับข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการว่ามีการติดเชื้อที่ต้องสงสัยที่ดาร์ เอส ซาลาม เมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดของแทนซาเนีย โดยผู้ป่วยที่ต้องสงสัยเพิ่งกลับจากยูกันดา และเดินทางไปทั่วประเทศ ต่อมาผู้ป่วยคนดังกล่าวมีอาการของโรคอีโบลาแสดงให้เห็นในเดือนสิงหาคม และตรวจพบเชื้อไวรัสอีโบลา ก่อนที่จะเสียชีวิตเมื่อ 8 กันยายน นอกจากนี้ ผู้ที่ติดต่อกับผู้ป่วยคนดังกล่าวก็มีอาการป่วยและถูกกักตัวไว้ ซึ่งได้รับรายงานว่ามี 2 ราย
ในแถลงการณ์ยังกล่าวด้วยว่า หลังจากขอข้อมูลไปหลายครั้ง แทนซาเนียก็ไม่ได้ส่งข้อมูลใดๆ ให้ แม้แต่ “วันที่ ข้อมูลทางคลินิก ผลการตรวจหาเชื้อ ความเป็นไปได้ของการติดต่อ และผลการตรวจของห้องแล็บ ไม่ได้ถูกส่งมาที่องค์การอนามัยโลก”
หลังการขอข้อมูลครั้งแรก ทางแทนซาเนียไม่ได้ตอบในทันที แต่ตอบกลับในอีก 4 วันต่อมาว่า ไม่มีเคสต้องสงสัยและไม่มีการยืนยันการติดเชื้ออีโบลาแต่อย่างใด และไม่ได้ให้ข้อมูลใดๆ เพิ่มในรายของผู้ป่วยที่เสียชีวิต
และเมื่อ 14 กันยายน อุมมี มวาลิมู รัฐมนตรีสาธารณสุขของแทนซาเนีย กล่าวว่า รัฐบาลได้ตรวจสอบทั้งสองเคสที่ต้องสงสัยดังกล่าวแล้ว ซึ่งป่วยเป็นโรคที่ยังไม่มีใครทราบ แต่ไม่ใช่การติดเชื้อไวรัสอีโบลา
“ผู้ป่วยทั้งสองไม่ได้ติดเชื้ออีโบลา” มวาลิมูกล่าวกับผู้สื่อข่าว “ไม่มีอีโบลาระบาดในแทนซาเนีย ดังนั้นประชาชนไม่ควรวิตก”
อย่างไรก็ตามมวาลิมูไม่ได้กล่าวถึงการตรวจสอบกรณีของผู้ป่วยที่เสียชีวิตที่แถลงการณ์ขององค์การอนามัยโลกอ้างถึง
แทนซาเนียไม่เคยมีรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลามาก่อน การท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจของแทนซาเนีย และหากมีข่าวการติดเชื้ออีโบลา แน่นอนว่าแทนซาเนียจะได้รับผลกระทบจากการยกเลิกการจองทริปท่องเที่ยว
ทั้งนี้ มีการเฝ้าระวังในภูมิภาคนี้มากขึ้น หลังการระบาดของไวรัสอีโบลาที่สาธารณรัฐคองโก ซึ่งประกาศการระบาดอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคม 2018 คร่าชีวิตประชาชนกว่า 2,000 ราย นับเป็นการระบาดครั้งที่ 2 หลังการระบาดครั้งใหญ่เมื่อปี 2013-2016 ในแอฟริกาตะวันตก ในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 11,300 ราย
อ้างอิง
ภาพ: REUTERS/James Akena
Tags: โรคระบาด, คองโก, แทนซาเนีย, องค์การอนามัยโลก, อีโบลา