ในช่วงศตวรรษที่ 16 ถึงต้นศตวรรษที่ 19 โจรสลัดจากมาเกร็บ (ภูมิภาคทางตอนเหนือของแอฟริกา) แผ่อิทธิพลเหนือน่านน้ำในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอยู่นานร่วม 300 ปี แต่เป็นเรื่องน่าแปลกที่นักวิจัยให้ความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ส่วนนี้น้อย แม้ว่ามันจะส่งผลกระทบถึงปัจจุบันก็ตาม

    เรือโจรสลัดที่ทอดสมอในหลายจุดของชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน กลายเป็นกิจกรรมสำราญของนักท่องเที่ยว แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า บรรดาโจรสลัดในย่านน้ำแห่งนี้เคยสร้างความหวาดกลัวให้กับนักเดินเรือมานักต่อนักแล้ว พวกเขาปล้นสะดมเรือสินค้าที่สัญจรผ่าน หรือไม่ก็ขึ้นฝั่งไปปล้นบ้านเรือนตามชายฝั่ง กวาดต้อนทั้งทรัพย์สินและผู้คนที่หลบหนีไม่ทัน แล้วจุดไฟเผาบ้านเผาเมือง เหยื่อของโจรสลัดเหล่านั้นถูกนำตัวไปยังแอลเจียร์ ตูนีส ไม่ก็ทริโปลี และถูกขายตัวเป็นทาส ชาวยุโรปจำนวนมากต้องแบกรับชะตากรรมในเวลานั้น

    แต่การที่ชาวยุโรปตกเป็นเหยื่อของการค้าทาสในยุคนั้น แทบไม่มีการกล่าวถึงกันในยุคนี้ อาจเพราะยุโรปครองตัวเป็นเจ้าอาณานิคมของโลกมาโดยตลอด จึงทำให้แง่มุมประวัติศาสตร์ในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนถูกลืมเลือนไป

    ทว่าเรื่องราวเกี่ยวกับโจรสลัดในมาเกร็บ หรือชายฝั่งบาร์แบรี ภายใต้การปกครองของอาณาจักรออตโตมัน ประกอบด้วยเมืองแอลเจียร์ ตูนีส ทริโปลี และรัฐสุลต่านโมร็อกโก กลับได้รับการบันทึกไว้ ชนชาติเหล่านี้พึ่งพาการปล้นสะดมและการเรียกค่าไถ่เป็นรายได้หลัก

    จากหลักฐานที่นักประวัติศาสตร์ค้นพบ เป็นเหตุการณ์ระหว่างปีคริสต์ศักราช 1530 ถึง 1780 มีชาวยุโรปราว 1 ถึง 1.23 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ถูกจับตัวและขายเป็นทาส

    เฉพาะหลักฐานจาก Royal British Navy พบว่าระหว่างปี 1606-1609 มีนายทหารนับหมื่นนายและเรือ 606 ลำสูญหายไปในน่านน้ำบริเวณชายฝั่งของแอลจีเรีย นอกนั้นเหยื่อโจรสลัดส่วนใหญ่เป็นประชากรตามชายฝั่ง ตั้งแต่สเปน โปรตุเกส อิตาลี และหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จากพงศาวดารร่วมสมัยระบุว่า โจรสลัดของแอลจีเรียทำสถิติสูงสุดไว้เมื่อปี 1544 สามารถกวาดต้อนผู้คนจากอ่าวเนเปิลส์ได้ราว 7,000 คน และซิซิลีถูกปล้นสะดมระหว่างปี 1570-1606 รวมทั้งสิ้น 136 ครั้ง

    แอลเจียร์ในช่วงศตวรรษที่ 17-18 เป็นศูนย์กลางสำคัญของเหล่าโจรสลัด ที่นั่นมีเรือนจำขนาดใหญ่เพื่อคุมขังทาสชาวคริสต์ หรือที่เรียกว่า ‘บันโย’ (Bagno หรือ Bagnio) มีพื้นที่ขนาดใหญ่กักขังได้ราว 2,000 คน แต่สภาพความเป็นอยู่ภายในย่ำแย่ เบียดเสียด ผู้ต้องขังต้องทำงานหนักในช่วงกลางวัน แบกขนหินสร้างถนน ป้อมปราการ และพระราชวัง มีเพียงกลุ่มน้อยที่มีชีวิตดีกว่านั้น คือคนที่เปลี่ยนความเชื่อตนเองเข้าสู่ศาสนาอิสลาม หรือใครที่มีโอกาสได้รับใช้ ‘เจ้านาย’ ส่วนตัว โดยเป็นทาสรับใช้ตามบ้าน

หรือโชคดีกว่านั้นคือ ถูกซื้อตัวให้เป็นอิสระ เหมือนเช่นนักเขียนชาวสเปน-มิเกล เด เซร์บันเตส (Miguel de Cervantes) เจ้าของผลงานนวนิยายที่มีชื่อเสียง Don Quixote (ดอน กีโฆเต อัศวินแห่งลามันชา) ที่ถูกโจรสลัดจับตัวเมื่อปี 1575 ระหว่างนั่งเรือกลับจากสนามรบที่เลปันโต (ในทะเลไอโอเนียน เป็นการต่อสู้ระหว่างกองทัพเรือของฝ่ายจักรวรรดิออตโตมันและฝ่ายสันนิบาตศักดิ์สิทธิ์แห่งเมดิเตอร์เรเนียน) เซร์บันเดสถูกจับไปเป็นทาสอยู่นานห้าปีก่อนได้รับอิสรภาพ

    รวมถึงเรือนจำในตูนีส ทริโปลี ซาเล และเมกเนส ที่ปัจจุบันส่วนใหญ่ถูกทำลายไป สถานที่คุมขังชาวคริสต์แห่งหนึ่งในจำนวนน้อยที่หลงเหลืออยู่คือ เรือนจำฮับส์ คารา ในเมืองเมกเนส ทางตอนเหนือของโมร็อกโก ก่อสร้างโดยสถาปนิกชาวโปรตุกีสที่ถูกกวาดต้อนจับกุมไป แต่หลังจากเหตุการณ์ร้ายเกี่ยวกับโจรสลัดและการค้าทาสผ่านไปแล้ว แทบไม่มีใครกล่าวถึง จดจำ หรือสร้างอนุสรณ์ให้กับเหล่าทาสชาวคริสต์ในดินแดนมาเกร็บอีกเลย

    ทุกวันนี้มีนักประวัติศาสตร์เพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่พยายามค้นคว้าเพื่อเปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้ นักวิจัยบางคนยังสับสนกับข้อมูลเรื่องจำนวนคนที่ถูกกวาดต้อนจับกุม รวมถึงเรื่องวัน-เดือน-ปีที่เกิดเหตุการณ์ แต่ก็น่าแปลกที่ประเด็นการค้าทาสกลับแทบไม่มีใครกล่าวถึง

    ประเด็นการค้าทาสในย่านเมดิเตอร์เรเนียนของยุโรปไม่มีการกล่าวถึงกันอย่างแพร่หลาย อาจเป็นเพราะไม่มีใครต้องการให้นำไปเชื่อมโยงกับการค้าทาสในเส้นทางแอตแลนติก รวมทั้งไม่ต้องการให้เป็นประเด็นตอกย้ำเตือนใจให้ชาวคริสต์ คนผิวขาว ปลูกจิตสำนึกการเกลียดชังชาวมุสลิม คนผิวดำ

แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การค้าทาส ไม่ว่าจะผิวสีอะไรล้วนมีบทบาทหลักอยู่ในทวีปแอฟริกา มิคาเอล เซอุสเค (Michael Zeuske) ศาสตราจารย์ชาวดัตช์ เคยเขียนลงในหนังสือ Handbuch Geschichte der Sklaverei (คู่มือประวัติศาสตร์ของการค้าทาส) ซึ่งเป็นผลงานวิจัย ระบุว่า ในทวีปแอฟริกามีจำนวนทาสมากกว่าที่ค้าทาวส่งออก

    โจรสลัดแห่งมาเกร็บมีความเชื่อมโยงกันกับการค้าทาสชาวยุโรป แม้เรื่องราวจะผ่านพ้นมากว่า 200 ปีแล้ว แต่เรื่องเล่าเกี่ยวกับความเหี้ยมโหดของโจรสลัดและจักรวรรดิออตโตมันที่สืบต่อกันมายังคงฝังใจผู้คนในท้องถิ่นทางเหนือของชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และมีแนวโน้มที่จะยังส่งผลกระทบถึงปัจจุบัน ไม่ต่างอะไรกับการปกครองอาณานิคมของยุโรป ทำให้การสร้างความกลมเกลียวกันในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนเป็นไปได้ยาก

    การเคลื่อนไหว ‘Black Lives Matter’ ต่อต้านการเหยียดชาติพันธุ์สีผิวในปัจจุบันมีการหยิบยกประวัติศาสตร์การกดขี่ข่มเหงคนผิวดำ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ทว่าน้อยครั้งที่มีการโยงเรื่องราวไปถึงประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคมหรือการค้าทาส

    อาจเพราะถ้าย้อนเวลากลับไปยาวนานกว่านั้น ก็จะมีประวัติศาสตร์ซึ่งแม้จะเป็นที่รับรู้กัน แต่ยังไม่มีใครนำมาเป็นข้อโต้แย้ง ว่าในอดีตคนผิวขาวชาวคริสต์ในยุโรปเคยถูกกดขี่ข่มเหงจากคนมุสลิมในแอฟริกาอยู่นานเกือบ 300 ปี

อ้างอิง:

Michael Zeuske, Handbuch Geschichte der Sklaverei: Eine Globalgeschichte von den Anfängen bis zur Gegenwart, De Gruyter (2016)

https://www.mare.de/der-gefangene-von-algier-content-1575

https://core.ac.uk/download/pdf/35086744.pdf

https://home.uni-leipzig.de/~gsgas/fileadmin/Working_Papers/WP_3_Mann.pdf

https://www.abendblatt.de/hamburg/von-mensch-zu-mensch/article209974615/Von-Hamburg-in-die-Sklaverei.html

https://www.die-tagespost.de/gesellschaft/feuilleton/die-unerwaehnten-arten-des-sklavenhandels;art310,209981

Tags: , , ,