การพยายามควบคุมดัดแปลงธรรมชาติให้เป็นไปตามความต้องการของมนุษย์ อาจนำมาซึ่งการพัฒนาทางวิทยาการ คุณภาพชีวิตที่ดีและความสะดวกสบาย ไปจนถึงการถือกำเนิดขึ้นของอารยธรรมต่างๆ แต่ในทางกลับกัน การกระทำเช่นนี้ก็ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความสมดุลทางธรรมชาติ อันจะส่งผลร้ายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือหวนคืนกลับไปแก้ไขได้

หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือนวัตกรรมอย่าง ‘เขื่อน’ สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่สำหรับกั้นทางน้ำ เพื่อป้องกันอุทกภัย กักเก็บทรัพยากรน้ำไว้สำหรับการอุปโภคบริโภค ตลอดจนผลิตกระแสไฟฟ้า เปรียบเสมือนหนึ่งชัยชนะของมนุษย์ในการควบคุมธรรมชาติ และเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ 

ทว่าอีกด้าน ความมั่งคั่งทางทรัพยากรที่เกิดขึ้นจากเขื่อนบนลำน้ำ กลับสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศอย่างใหญ่หลวง ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยและทำมาหาเลี้ยงชีพกับสายน้ำ รวมถึงสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธ์ุที่ค่อยๆ สูญหายไปจากการสร้างเขื่อน

มีศิลปินผู้หนึ่งที่สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ และถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานในนิทรรศการศิลปะครั้งล่าสุดที่ชื่อ ‘ปลาไหลเผือกลี้ภัยยามฟ้าสาง’ (white eel in the dawn of the exile)

เขาคือศิลปินชาวไทยผู้อาศัยและทำงานอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้รับฉายาว่า ‘อุบัติสัตย์’ เขานำเสนอประสบการณ์จากการสำรวจความเป็นไปของสภาพแวดล้อมและภูมิทัศน์ใกล้ตัวที่กำลังเปลี่ยนแปลงจากแผนพัฒนาลำน้ำโขง ผ่านผลงานศิลปะที่สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างของสิ่งแปลกปลอมทางธรรมชาติ โดยได้แรงบันดาลใจจากตำนานพื้นบ้าน ผนวกกับประสบการณ์ และเรื่องเล่าของผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณริมน้ำ รวมถึงความคิดเห็นของประชาชนในหลายภาคส่วน

ชื่อนิทรรศการปลาไหลเผือกลี้ภัยยามฟ้าสาง มีที่มาจากตำนาน ‘ปลาไหลเผือกแห่งโยนกนคร’ หนึ่งในตำนานท้องถิ่นโบราณในภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ที่เรียกว่า ‘เวียงหนองหล่ม’ นั้นเชื่อกันว่าเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ชาวเมืองโยนกนครไปจับปลาไหลเผือกยักษ์ในแม่น้ำที่มีลำตัวใหญ่เท่ากับต้นตาลและยาวกว่า 7 วา มาสับเป็นท่อน แล้วนำไปปรุงอาหาร ก่อนแจกจ่ายให้ชาวเมืองทุกคนได้กิน โดยหารู้ไม่ว่าแท้จริงแล้วปลาไหลเผือกนั้นคือบุตรของพญานาคราชผู้คอยดูแลเมืองโยนกนครมาช้านาน ทำให้ชาวเมืองถูกลงโทษด้วยภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว เมื่อยามฟ้าสางผู้คนจากเมืองอื่นต่างพบว่าแผ่นดินเมืองโยนกนครยุบตัวลงจนกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่แทน

อุบัติสัตย์เปรียบเทียบเรื่องราวในตำนานพื้นบ้านที่ว่านี้ให้เข้ากับสถานการณ์ของแม่น้ำโขงในปัจจุบันว่า

“เรื่องปลาไหลเผือกเป็นตำนานของแม่น้ำโขงตั้งแต่โบราณ ผมเดาว่าจริงๆ น่าจะเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติมากกว่า แต่ในปัจจุบัน ภัยพิบัติที่ว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากมนุษย์ การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง ก็เปรียบเสมือนปลาไหลเผือกกำลังถูกสับเป็นท่อนๆ ด้วยเขื่อนจำนวนมาก เพราะโครงการสร้างเขื่อนส่งผลกระทบมหาศาลต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขง

“ยกตัวอย่างเช่น ตะกอนสีส้มที่เป็นเหมือนกาวของแม่น้ำโขงถูกกักไว้เหนือเขื่อน ทำให้น้ำท้ายเขื่อนไม่มีตะกอนจนเกิดปรากฏการณ์ที่น้ำในแม่น้ำโขงกลายเป็นสีฟ้าใส ที่ชาวบ้านเรียกว่า แม่น้ำหิว ซึ่งอันตรายมาก เพราะน้ำจะกัดเซาะทุกอย่าง ทั้งตลิ่ง สะพาน หรืออาคารบ้านเรือนจนพังทลายหมด

“ผมมองว่าการสร้างเขื่อนเป็นธุรกิจขนาดใหญ่มหึมา ทั้งปูนซีเมนต์เอย อะไรเอย ทั้งที่จริงๆ ตอนนี้เรามีพลังงานไฟฟ้าพอใช้กันเหลือเฟือแล้ว แต่เขื่อนก็ยังถูกสร้างขึ้นเรื่อยๆ เพราะผลประโยชน์ทางธุรกิจและอำนาจต่อรองทางการเมือง โดยเฉพาะประเทศจีนที่ต้องการควบคุมปริมาณน้ำ และยังต้องการระเบิดเกาะแก่งตามแม่น้ำโขงเพื่อให้เรือขนสินค้าล่องผ่านได้ ซึ่งเกาะแก่งแม่น้ำถือเป็นระบบนิเวศสำคัญของสัตว์ท้องถิ่นที่ธรรมชาติสั่งสมขึ้นมาเป็นล้านปี แต่เทคโนโลยีสมัยนี้สามารถทำลายได้ภายในวันเดียว”

เรื่องราวเหล่านี้ถูกกลั่นกรองออกมาเป็นผลงานศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ขนาดใหญ่ ติดตั้งบนผนังสามด้านของห้องแสดงงาน เป็นรูปที่ดูคล้ายกับเรือขนาดมหึมาสีดำทะมึน ล่องลอยอยู่บนลวดลายสีเงินอมฟ้าและส้ม ภาพของเรือที่ว่านี้เกิดจากการประกอบขึ้นจากภาพโครงสร้างเขื่อนขนาดใหญ่จำนวน 28 เขื่อน ที่สร้างขึ้นเพื่อกั้นแม่น้ำนานาชาติความยาวกว่า 4,909 กิโลเมตร (รวมถึงแม่น้ำโขงด้วย) ทั้งเขื่อนที่สร้างเสร็จแล้วจำนวน 12 เขื่อน ที่กำลังก่อสร้างหรือมีแผนก่อสร้างจำนวน 9 เขื่อน และที่ยกเลิกการก่อสร้างไปแล้วหรือไม่ทราบสถานะชัดเจนจำนวน 7 เขื่อน 

ด้านหลังของห้องแสดงงานหลักยังแสดงผลงานภาพพิมพ์ขนาดย่อมที่เป็นเหมือนภาพร่างความคิดของผลงานชิ้นใหญ่ของนิทรรศการอีกด้วย

“งานชุดนี้เริ่มจากการเอาภาพโครงสร้างเขื่อนแต่ละเขื่อนมาตัดต่อกันจนกลายเป็นภาพภูมิทัศน์ขนาดใหญ่ ทุกองค์ประกอบในภาพได้มาจากชิ้นส่วนของภาพเขื่อนทั้งหมด ลวดลายสีเงินอมฟ้าในภาพแทนแม่น้ำหิว ลวดลายสีส้มแทนตะกอนแม่น้ำโขง ส่วนภาพสีดำคือเรือจาฟู่” (เรือสำรวจขนาด 450 ตัน ของจีนที่ลาดตระเวนมาสำรวจล่องน้ำโขงทางสามเหลี่ยมทองคำจนสุดเขตแดนไทย)

แม้จะพูดถึงประเด็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมและการเมืองระหว่างประเทศ แต่จุดเริ่มต้นของผลงานครั้งนี้ของอุบัติสัตย์ก็มีที่มาจากสิ่งเล็กๆ อย่างเรื่องของอาหารการกิน

“งานชุดนี้เริ่มต้นจากประสบการณ์เมื่อสิบปีก่อน ที่ผมเดินทางไปทัวร์แสวงบุญที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ข้ามไปประเทศลาว และเมืองสิบสองปันนา แล้วบังเอิญได้กินถั่วงอกของแม่น้ำโขงซึ่งอร่อยมาก แต่พอกลับไปที่เชียงของอีกครั้ง ปรากฏว่าไม่มีให้กินแล้ว เพราะถั่วเขียวขาดตลาด อันเกิดจากการที่ความอุดมสมบูรณ์บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงลดลง ทรัพยากรก็ลดลงตามไปด้วย ทำให้ผมรู้สึกว่าแค่สิ่งเล็กๆ อย่างถั่วงอกและถั่วเขียวก็สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสายน้ำหรือวิถีชีวิตในภูมิภาคนั้นได้เหมือนกัน”

ประสบการณ์ของเขาถูกแปรเปลี่ยนมาเป็นผลงานอีกชุดในนิทรรศการอย่างศิลปะจัดวางรูปกระสอบบรรจุถั่วเขียวที่กองซ้อนเรียงรายในห้องแสดงงาน ในงานยังมีถั่วเขียวเชียงของเมล็ดแปลกตาจากถั่วเขียวที่เราเคยเห็นทั่วๆ ไป บรรจุถุงจำหน่ายให้ผู้ชมสามารถซื้อกลับไปเป็นที่ระลึกได้อีกด้วย

“ตอนแรกผมตั้งใจจะสั่งถั่วเขียวของเชียงของมาปูให้เต็มพื้นห้องแสดงงาน แต่เพราะถั่วเขียวขาดตลาด ก็เลยเอาเท่าที่หามาได้ใส่กระสอบวางไว้ในห้องแสดงงานแทน ผลงานชิ้นนี้เกิดจากเรื่องง่ายๆ อย่างเรื่องของปากท้อง ว่าทำไมเราไม่มีถั่วงอกอร่อยๆ กินอีกต่อไป หรือปลาบึกจากแม่น้ำโขงก็แทบไม่เหลือแล้ว กลายเป็นปลาบึกในฟาร์มเกือบหมด ราคาก็แพงมาก ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในโลกของทุนนิยมและบริโภคนิยม คนมีเงินเท่านั้นที่จะซื้อหามากินได้”

ผลงานศิลปะในนิทรรศการครั้งนี้ของอุบัติสัตย์ กระตุ้นให้เราอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ภายใต้ชื่อหรูและฟังดูดีอย่าง ‘แผนพัฒนา’ ต่างๆ ที่เหล่าบรรดาผู้มีอำนาจในสังคมผลักดันให้เกิดขึ้นนั้น จะส่งผลดีต่อสังคมโดยรวม หรือแค่เอื้อผลประโยชน์แก่อภิสิทธิ์ชนจำนวนน้อยบางกลุ่มกันแน่? 

แล้วในอนาคตข้างหน้าเราจะมีชีวิตกันอย่างไร บนผืนแผ่นดินและสายน้ำที่กำลังจะตาย หรือสภาพแวดล้อมที่เสียหายอย่างไม่อาจฟื้นคืน ด้วยผลกระทบจากการพัฒนาเหล่านี้

 

ข้อมูลประกอบการเขียน

  • บทสัมภาษณ์ศิลปิน “อุบัติสัตย์”
  • บทความประกอบนิทรรศการ โดยภัณฑารักษ์ วรปรัชญ์ คะระนันท์
  • บทความ เขื่อน: อดีตนวัตกรรมที่ปัจจุบันกลายเป็นปัญหา โดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ https://themomentum.co/dam-controversy/
  • บทความ เขื่อนแม่น้ำโขง โดย สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง http://www.mekongci.org/index.php/mci-work/dam/dams
  • http://www.earththailand.org/th/new/article/3672 มูลนิธิบูรณะนิเวศ
  • https://www.voicetv.co.th/read/527719

Fact Box

  • นิทรรศการ ปลาไหลเผือกลี้ภัยยามฟ้าสาง โดย อุบัติสัตย์ และภัณฑารักษ์ วรปรัชญ์ คะระนันท์ จัดแสดงที่ JOJO KOBE Art Gallery ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2563 ถึง 31 มกราคม 2564 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 08-4367-7368, อีเมล [email protected] Facebook @jojokobeartgallery  
  • หมายเหตุ : ก่อนเข้าชมนิทรรศการ ขอความร่วมมือทุกๆ ท่านกรุณาสวมหน้ากากอนามัย เพื่อความปลอดภัย และป้องกันโควิด-19 
Tags: ,