บทนำ

จนถึงวันนี้ โรค COVID-19 ระบาดมานานกว่าครึ่งปีแล้ว และสถานการณ์ทั่วโลกก็ยังคงไม่ได้อยู่ในภาวะที่วางใจได้เลยแม้แต่น้อย จำนวนผู้ป่วยยังคงพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ สถานการณ์ในสหรัฐอเมริกายังคงย่ำแย่ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่ทะลุหลักแสน บราซิล อินเดีย และรัสเซีย ก็มีสภาพไม่ต่างกัน รวมถึงอีกหลายประเทศที่กำลังจะพบกับการระบาดระลอกที่สอง เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการป้องกันลง เพียงเพราะคิดว่าสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้แล้ว สรุปตัวเลขผู้ติดเชื้อทั้งโลกปัจจุบันกว่า 19 ล้านคน และเสียชีวิตไปถึงเจ็ดแสนกว่าคน

แต่เมื่อไม่นานมานี้ กลับแลดูมีความหวังใหม่เกิดขึ้นมา เมื่อมีข่าวว่าการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรค นำโดยทีมมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและ AstraZeneca จากประเทศอังกฤษ ได้เข้าสู่ Phase 3 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้คนบางกลุ่มถึงกับเชื่อว่าอีกไม่นานเกินรอ (2-3 เดือน) ก็มีโอกาสที่พวกเราจะได้รับวัคซีนมาใช้กันจริงๆ แต่ทีนี้ Phase 3 บอกอะไรกับเรากันแน่ และอีกนานแค่ไหน เราจึงจะได้วัคซีนป้องกันโรคนี้ได้จริงๆ?

อะไรคือ Phase

การพัฒนาวัคซีนจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่างมาก ที่สำคัญที่สุดคงจะไม่พ้นเรื่องความปลอดภัย ดังนั้นกว่าจะได้วัคซีนที่พร้อมใช้งานสำหรับผู้คนทั้งโลก การวิจัยพัฒนาและผลิตจึงต้องผ่านขั้นตอนที่เป็นระบบมากๆ

  คำว่า ‘Phase’ หรือเฟสที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ในข่าวช่วงนี้เป็นแค่หนึ่งในขั้นตอนย่อยของการพัฒนาวัคซีนเท่านั้น แต่ก็เป็นขั้นตอนที่สำคัญทีเดียว เพราะว่าขั้นตอนนี้คือการทำ Clinical Test หรือการทดสอบผลของวัคซีนกับมนุษย์แล้วนั่นเอง

  ในขั้นตอนการทดสอบกับมนุษย์จะแบ่งออกเป็นเฟสย่อย 4 เฟส โดยเริ่มต้นที่ Phase 0 หรือ Pre Clinical Test ที่รวมตั้งแต่การศึกษาผลของวัคซีนในห้องปฏิบัติการผ่านสัตว์ (Lab Test) การศึกษาโครงสร้างของไวรัส และเลือกวิธีในการสร้างวัคซีน (วัคซีนมีหลายชนิดเหมือนกัน ถึงจะใช้รักษาโรคหลักชนิดเดียว) ซึ่งใช้เวลานานนับเดือนไปจนถึงปี ก่อนที่จะขยับไปยังระยะทดสอบกับมนุษย์ ซึ่งจะเริ่มต้นกันที่

  • Phase 1 (ระยะที่หนึ่ง พึงทดสอบแต่น้อย)

ระยะแรกสำหรับการทดสอบในมนุษย์จำเป็นต้องทำอย่างระมัดระวังมาก การทดสอบจะทำกับกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กมาก ไม่เกินสิบคนในสภาพควบคุมอย่างเข้มงวด มีทีมทดสอบคอยติดตามตลอดเวลาเพื่อดูผลกระทบจากการให้วัคซีน หากยืนยันได้ว่าไม่มีผลเสียกับผู้รับวัคซีนจึงจะขยับไปยังระยะต่อไป

  • Phase 2 (ระยะที่สอง ลองอีกทีเพื่อความชัวร์)

ระยะนี้คือการทดสอบซ้ำกับกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ขึ้นมาที่หลักร้อยคน การให้วัคซีนจะมีทั้งการให้วัคซีนปกติและวัคซีนเทียม หรือน้ำเกลือที่ไม่มีผลอะไรกับกลุ่มตัวอย่าง เพื่อทดสอบผลจากปรากฏการณ์ Placebo Effect (เมื่อร่างกายถูกทำให้คิดไปเองว่าได้รับยา ทั้งที่ไม่ใช่) เป็นการเปรียบเทียบโดยตรงระหว่างผู้ที่ได้รับและไม่ได้รับวัคซีน โดยการติตามผลยังคงต้องทำอย่างเข้มงวดเช่นเดิม

  • Phase 3 (ระยะที่สาม ลามไปยังคนกลุ่มใหญ่)

เราต้องอย่าเพิ่งเข้าใจผิดไปว่าระยะนี้คือระยะที่ใกล้จะได้วัคซีนแล้วนะครับ เพราะนี่ยังคงเป็นระยะทดสอบอยู่ แต่ด้วยกลุ่มตัวอย่างที่หลากหลายขึ้น จำนวนก็เพิ่มขึ้นตามไปที่หลักพันคน การทดสอบใช้ระบบเดียวกับระยะที่สอง แต่มีการทำ Blind test แบบที่ผู้จ่ายวัคซีนเองก็ไม่ทราบด้วยเหมือนกันว่า ที่ได้รับไปนั้นเป็นวัคซีนแท้หรือเทียม เพื่อลดการเปลี่ยนแปลงผลในรายงานของผู้ทดสอบนั่นเอง รวมถึงมีรูปแบบการทดลองเพิ่มเติมตามสมควรเพื่อให้ผลที่ได้นั้นมีความแม่นยำและถูกต้องสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากระยะนี้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี วัคซีนจึงจะถูกส่งเข้าสู่กระบวนการตรวจรับรองโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งในระดับประเทศและระดับสากลต่อไป

  • Phase 4 (ระยะที่สี่ หรือเราจะได้ปาร์ตี้?)

นี่คือระยะที่มีการแจกจ่ายวัคซีนให้ผู้คนทั่วไปได้ในที่สุด แต่แท้จริงแล้วในระยะนี้การทดสอบยังคงดำเนินต่อไปอยู่ดีแต่เป็นการเก็บผลแบบระยะยาวแทน (เป็นหลักสิบปีขึ้นไปได้เลย) ด้วยกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่และหลากหลายที่สุด ทางผู้ผลิตวัคซีนจึงเป็นต้องคอยสังเกตดูว่าวัคซีนยังคงประสิทธิภาพและช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้เหมือนเดิมหรือไม่ เพราะด้วยความหลากหลายของผู้คน ผลข้างเคียงใหม่อาจเกิดขึ้นได้ หรือไม่วัคซีนก็อาจจะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ (ซึ่งเกิดยากมาก) ระยะนี้จึงเรียกอีกอย่างว่า Monitor Phase นั่นเอง

ระยะนี้เป็นระยะทำให้เราได้รู้ว่าวัคซีนทำงานได้ดีแค่ไหน และหากมีการพัฒนาวัคซีนที่ดีกว่า ผลิตง่ายกว่า หรือมีต้นทุนต่ำกว่าขึ้นมา ก็สามารถนำเอาข้อมูลระยะยาวนี้ไปใช้เปรียบเทียบได้เหมือนกัน ว่าวัคซีนตัวไหนจะอยู่หรือจะไป

ความเป็นไปได้ของ Phase 4

ถึงจุดนี้ทุกคนคงจะต้องการคำตอบกันแล้วว่าเวลาที่ชัดเจนสำหรับการปล่อยวัคซีนคือเมื่อไร ถ้าตอบตรงๆ เลยผมเองก็ไม่รู้ชัด แต่หากให้คาดคะเนก็คงต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 4-6 เดือนกว่าวัคซีนจะได้รับการรับรองให้พร้อมใช้งานจริง บางแหล่งประเมินเอาไว้ที่กลางปี 2021 เลยด้วยซ้ำ เพื่อให้มั่นใจว่าวัคซีนนั้นใช้งานได้จริงๆ 

เราต้องไม่ลืมว่าการระบาดของโรคที่เกิดจากไวรัสนั้นป้องกันได้ยากมากอยู่แล้ว ต่างจากแบคทีเรียหรือเชื้อราลิบลับ รวมถึงเชื้อในกลุ่มโคโรน่าไวรัสเองก็มี Portfolio ที่ไม่ดีเลยในประวัติศาสตร์ของพวกเรา เพราะไม่ว่าจะเป็นโรค SARS หรือ MERS ก็ล้วนเกิดจากไวรัสประเภทเดียวกันนี้ทั้งสิ้น

  แต่ไม่ต้องเป็นห่วงไปครับ เพราะท้ายที่สุดแล้ววัคซีนจะมาถึงพวกเราแน่นอน ด้วยทีมวิจัยนานาชาติและเทคโนโลยีล่าสุดทั้งหมดที่ช่วยย่นระยะเวลาการผลิตวัคซีนได้ชนิดที่ประวัติศาสตร์มนุษยชาติไม่เคยเห็นมาก่อน (วัคซีนที่มีในตลาด ปกติต้องผ่านการทดสอบกันเป็นสิบปี) ไม่เพียงเท่านั้น ภาคเอกชนยังพร้อมทุ่มเงินสนับสนุนให้โครงการวิจัยอีกด้วย ตอนนี้เพียงแค่พวกเราช่วยกันป้องกันไม่ให้การระบาดแพร่ไปได้ หมั่นล้างมือและทำความสะอาดบ่อยๆ ปฏิบัติตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโรค เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้เราและคนรอบข้าง ปลอดภัยไปได้ในระดับหนึ่งแล้ว

 

อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น

ลองสมมติว่าวัคซีนถูกผลิตเรียบร้อย ใช้งานได้จริง อะไรจะเกิดขึ้นตามมา อย่างแรกเลยหน่วยงานสากลหลักที่รับผิดชอบเรื่องโรคระบาดโดยเฉพาะอย่างองค์การอนามัยโลก (WHO) น่าจะเข้ามาเป็นตัวกลางในการช่วยกระจายวัคซีนที่ผลิตแล้วไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงช่วยตรวจสอบผลของวัคซีนด้วย

  และเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตของวัคซีน ผมเชื่อว่าสูตรและขั้นตอนการผลิตน่าจะถูกแจกจ่ายไปยังสถาบันวิจัยและหน่วยงานที่มีความสามารถมากพอที่จะผลิตตัววัคซีนเพิ่มได้ นอกจากนั้นยังมีความเป็นไปได้สูงทีเดียวที่วัคซีนที่ผ่านการรับรองจะมีหลายรูปแบบให้เหมาะกับผู้รับ เช่นเด็ก บุคคลทั่วไป ผู้สูงอายุ ฯลฯ

  ตอนนี้ประเภทของวัคซีนที่กำลังพัฒนาอยู่มีตั้งแต่ แบบฉีดประเภท Virus Vaccinesใช้ไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนแอหรือระงับการทำงานเป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย Viral-vector Vaccinesใช้ไวรัสชนิดที่รู้จักกันดีอย่างไวรัสโรคหัดมาเป็นตัวพารหัสพันธุกรรมของ COVID-19 เข้าไปในร่างกาย Nucleaic-Acid Vaccinesที่ไม่ใช้ตัวไวรัสเลย ดึงมาแค่รหัสพันธุกรรมหรือกรดนิวคลีอิคและเคลือบด้วยลิพิดสำหรับนำเข้าสู่ร่างกาย และ Protein-Based Vaccinesที่นำเอาส่วนโปรตีนโดยเฉพาะส่วน Receptor มาใช้ วัคซีนประเภทนี้ถูกทดลองได้ผลกับลิงสมัยที่โรค SARS ระบาด แต่ด้วยความที่ไม่เคยได้รับการพัฒนาต่อเพื่อทดสอบกับมนุษย์ ผลลัพธ์จริงๆ จึงยังไม่แน่นอนนัก (ด้วยความที่เอาชิ้นส่วนไวรัสมา การให้วัคซีนประเภทนี้จึงต้องให้ต่อเนื่องหลายๆ โดส)

  แน่นอนว่าการผลิตวัคซีนย่อมมีค่าใช้จ่าย ทั้งสำหรับทรัพยากรและการขนส่ง รวมถึงค่าบริการและค่าจิปาถะอื่นๆ ไม่ต่างจากบริการทางการแพทย์ทั่วไป แต่ในยามวิกฤติเช่นนี้ผมเองก็หวังว่าทางรัฐบางและหน่วยงานด้านสาธารณสุขน่าจะช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายเหมือนกัน เพราะจากการคาดคะเนแล้ว วัคซีนหนึ่งเข็ม (หนึ่งโดส) มีราคาตั้งแต่ 500-1,000 กว่าบาท ซึ่งนี่ไม่ใช่ราคาที่ทุกคนจะสู้ไหวได้แน่ เพื่อให้การระบาดจบลงเร็วที่สุด การกระจายวัคซีนแบบฟรีในระยะแรกนั้น เป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่ง

  สุดท้ายแล้ว เราต้องไม่ลืมว่าวัคซีนไม่ใช่ยารักษาโรค แต่คือสุดยอดเครื่องมือในการป้องกันโรค โดยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้พร้อมต่อกรกับโรค CO VID-19 ได้ ดังนั้นเราน่าจะเห็นผลของ Herd Imunity (ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากประชากรส่วนใหญ่) หลังจากที่วัคซีนถูกแจกจ่ายไปแล้วในช่วงเวลาประมาณปีกว่าขึ้นไป เมื่อจำนวนคนที่มีภูมิคุ้มกันทั่วโลกมากพอจนถึงระดับที่สามารถกำจัดการทำงานและแพร่กระจายของโรค COVID-19 ได้อย่างสมบูรณ์

 

เปรียบเทียบกับสมัย H1N1 และ SARS

โรคระบาดอีกโรคที่ผมยังคงจำได้แม่นยำ คือการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ H1N1 พอนึกย้อนกลับไป ผมรอดมาได้โดยไม่ติดเชื้อเลย ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเป็นสมัยประถมฯ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากที่จะติดเชื้อจากการสัมผัส มีเพื่อนในโรงเรียนหลายคนที่ป่วยและลาเรียนไป สรุปแล้วการระบาดในครั้งนั้นมีผู้ติดเชื้อประมาณ 400,000 (ยืนยัน) —1,400,000,000 (คาดคะเน) คน และเสียชีวิตไป 18,000 (ยืนยัน) —600,000 (คาดคะเน) คน นับว่าน้อยกว่าโรค COVID-19 มาก ด้วยความที่โรคนี้มีความสามารถในการระบาดสูงแต่ไม่ก่ออันตรายให้กับร่างกายได้มากนัก จึงมีแค่กลุ่มผู้ป่วยส่วนน้อยที่มีอาการหนักผิดปกติจนอาจจะนำไปสู่อาการแทรกซ้อนหรือถึงแก่ชีวิตได้

  โรค H1N1 จึงถูกจัดอันดับความรุนแรงที่ระดับหนึ่ง (อัตราการเสียชีวิต 0.01%) และด้วยความที่เชื้อเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ วัคซีนชนิดที่เกี่ยวข้องนั้นมีอยู่มากแล้วในตลาด ไม่นับองค์ความรู้อีกเพียบเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ กระบวนการพัฒนาวัคซีนที่เริ่มอย่างจริงจังในเดือนพฤษภาคมจึงเสร็จสิ้นในเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน รวมใช้เวลาประมาณ 7 เดือนเท่านั้น ท่ามกลางความกังวลถึงการบาดระลอกใหม่ของเชื้อที่อาจจะกลายพันธุ์ แต่สุดท้ายแล้ววัคซีนก็สามารถปราบการระบาดของ H1N1 ลงได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้วยปริมาณการผลิตกว่าสามพันล้านโดส

  กลับกัน ในกรณีของ SARS ที่ระบาดสมัยผมยังเด็กนั้นร้ายแรงกว่ามาก มันคือไวรัสประเภทเดียวกันกับ COVID-19 ที่ระบาดอยู่ในตอนนี้ และด้วยอัตราการเสียชีวิตที่สูงถึง 9.5% พร้อมกับไม่มีการพัฒนาวัคซีนที่ได้ผล จึงทำให้โรคชนิดนี้มีความอันตรายพอสมควร ถึงแม้จะมีอัตราการแพร่เชื้อและจำนวนผู้ติดเชื้อที่ต่ำก็ตาม (ยืนยันไม่ถึง 10,000 คน เสียชีวิตประมาณ 800 คน)

  ดังนั้น ถ้าเราต้องการจะเปรียบเทียบโรค COVID-19 กรณีที่ใกล้เคียงมากที่สุดในแง่ของการระบาดก็คงจะเป็นเชื้อ H1N1 และความรุนแรงที่คล้าย SARS จึงทำให้การพัฒนาวัคซีนนั้นมีความยากเพิ่มขึ้นไปด้วย รวมทั้งสองกรณีตัวอย่างนี้เข้าด้วยกัน ก็น่าจะอธิบายได้แล้วว่าทำไมการพัฒนาวัคซีนจึงใช้เวลานานขนาดนี้ อย่างในกรณีของวัคซีนโรค SARS ที่ไม่มีการทดลองต่อก็ด้วยโรคที่หายไป และความต้องการที่ลดลง เพราะนี่ก็กว่า 16 ปีแล้วที่โรคนี้ระบาดขึ้นมา

  แต่กับโรค COVID-19 การพัฒนาวัคซีนนั้นจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการจะรอให้คนทั้งโลกสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเองไม่ใช่ทางเลือกที่ปลอดภัยเลย วิธีการนี้ถูกพิสูจน์แล้วโดยหลายประเทศในยุโรป หรือในสหรัฐอเมริกาเองที่การระบาดยังคงเกิดขึ้น พร้อมกับอัตราการเสียชีวิตที่พุ่งสูงไปตามๆ กัน ดังนั้นทีมแพทย์และนักวิจัยทั่วโลกจึงยังคงเร่งมืออย่างสุดกำลังในการทำให้วัคซีนพ้นเฟสที่สามไปสู่ขั้นตอนการรับรองให้ได้ 

แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ยังคงเตือนว่าการเร่งงานและรีบปล่อยวัคซีนนั้นไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก ในส่วนนี้ผมก็เห็นด้วยเช่นกัน เพราะความปลอดภัยสำคัญที่สุด หากปล่อยวัคซีนมาแบบไม่พร้อม การตามเก็บซากของผลกระทบที่ตามมานั้นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลยนะครับ ถ้าสมมติว่าเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นจริง คนที่ฉีดวัคซีนที่ไม่ได้ประสิทธิภาพเข้าไปก็จะกลายเป็นระเบิดเวลาสำหรับแพร่เชื้อได้เลย ถ้าภูมิคุ้มกันไม่ถูกกระตุ้น

  ดังนั้น อดใจรอกันอีกสักระยะ ใส่หน้ากากป้องกันไว้ก่อน  จนกว่าสุดยอดอาวุธของมนุษยชาติจะพร้อมใช้งาน

 บทสรุป

มนุษย์เราต่อสู้กับไวรัสมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ฟังดูอาจจะเป็นเรื่องตลกที่สิ่งมีชีวิตที่เรียกตัวเองว่าฉลาดที่สุดต้องมาต่อกรกับก้อน RNA ที่พูดได้ไม่เต็มปากเลยด้วยซ้ำว่ามีชีวิต ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันคือความต้องการเอาชีวิตรอด เราพยายามอย่างสุดความสามารถในการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้าต่อกรกับธรรมชาติไปพร้อมๆ กันกับศัตรูในเผ่าพันธุ์เดียวกันกับเราที่พยายามจะขัดขวางความพยายามทั้งหมดนี้ แต่ผ่านมาแล้ว จากอดีตจนถึงปัจจุบัน มนุษย์ก็ยังคงอยู่ ยังคงรอดชีวิตด้วยความสามารถของพวกเราเอง

  วิทยาศาสตร์ได้ทำให้พวกนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ดีขึ้น ยาวนานขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในสถานการณ์ของ COVID-19 ก็เช่นเดียวกัน เราจะเอาชนะโรคระบาดนี้ได้อีกครั้ง ด้วยความพยายามของทุกๆ คน โดยเฉพาะทีมนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ที่ทำงานกันอย่างเอาเป็นเอาตาย

  ปัจฉิมบทที่กำลังจะมาถึงนี้จึงไม่ใช่ของเรา หากแต่เป็นของไวรัสต่างหาก

อ้างอิง

https://coronavirus.jhu.edu/map.html

https://www.npr.org/sections/health-shots/2020/08/06/899869278/prices-for-covid-19-vaccines-are-starting-to-come-into-focus

https://en.wikipedia.org/wiki/2009_swine_flu_pandemic_vaccine 

https://www.medscape.com/viewarticle/931226

https://www.theguardian.com/world/ng-interactive/2020/aug/08/covid-vaccine-tracker-when-will-we-have-a-coronavirus-vaccine

 Nature

https://www.nature.com/articles/d41586-020-02154-2

https://www.nature.com/articles/d41586-020-01221-y

https://www.nature.com/articles/d41586-020-00751-9

 WHO

https://www.who.int/publications/m/item/draft-landscape-of-covid-19-candidate-vaccines

https://www.who.int/biologicals/vaccines/clinical_evaluation/en/

https://www.who.int/biologicals/expert_committee/WHO_TRS_1004_web_Annex_9.pdf?ua=1

Tags: