ข้อตกลงกำจัดขีปนาวุธพิสัยกลาง สหรัฐฯ -รัสเซีย หมดสภาพบังคับแล้วเมื่อวันศุกร์ น่าจับตาว่าหลังจากไร้ข้อผูกมัด อเมริกาจะติดตั้งอาวุธยิงไกล 5,000 กม.ชนิดนี้ในแปซิฟิก เพื่อปรามจีนในย่านทะเลจีนใต้หรือไม่ อย่างไร

การถอนตัวของสหรัฐฯ ออกจากสนธิสัญญากำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง จุดชนวนความวิตกว่า เหล่ามหาอำนาจอาจหวนกลับมาแข่งกันสร้างสมขีปนาวุธเหมือนเมื่อยุคสงครามเย็น สามคู่แข่ง สหรัฐฯ รัสเซีย จีน อาจนำพาโลกเข้าใกล้สงครามนิวเคลียร์ยิ่งขึ้น

เมื่อสหรัฐฯ กับรัสเซียไม่ถูกมัดมือด้วยข้อตกลงไอเอ็นเอฟ (Intermediate-Range Nuclear Forces Treaty) อีกต่อไป ทั้งสองฝ่ายอาจติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางเพื่อคุมเชิงกันในภาคพื้นยุโรป ขณะที่สหรัฐฯ กับจีนอาจเสริมเขี้ยวเล็บชนิดนี้ในสองฟากฝั่งแปซิฟิก

โลกเสี่ยง ‘nuke war’

เลขาธิการสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูแตร์เรส พูดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ส.ค. ว่า การสิ้นสภาพของไอเอ็นเอฟเป็นย่างก้าวที่อันตราย ภัยคุกคามจากขีปนาวุธจะสูงขึ้น ไม่ใช่ลดลง โลกจะสูญเสียกลไกที่จะยับยั้งสงครามนิวเคลียร์

สนธิสัญญาฉบับนี้ลงนามโดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ โรนัลด์ เรแกน กับผู้นำรัสเซีย มิคาอิล กอร์บาชอฟ เมื่อปี 1987 ทั้งสองฝ่ายตกลงกันที่จะไม่พัฒนาและสร้างสมขีปนาวุธที่มีพิสัยการบินตั้งแต่ 500 กม.ไปจนถึง 5,500 กม. โดยครอบคลุมขีปนาวุธทิ้งตัวและขีปนาวุธร่อน ทั้งชนิดติดหัวรบปกติและหัวรบนิวเคลียร์

ข้อตกลงดังกล่าวส่งผลให้รัสเซียต้องรื้อถอนขีปนาวุธ SS-20 และสหรัฐฯ ต้องกำจัดขีปนาวุธ Pershing ที่วางกำลังไว้ในยุโรป นับเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดครั้งสำคัญ และเป็นหนึ่งในปัจจัยปูทางไปสู่การปิดฉากสงครามเย็น

รัฐบาลของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ แจ้งล่วงหน้า 6 เดือนไปยังคู่สัญญาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ว่าจะถอนตัวจากข้อตกลง เมื่อถึงวันที่ 2 สิงหาคม การขอถอนตัวของอเมริกาจึงมีผลอย่างเป็นทางการ

ทรัมป์ถอนตัวด้วยข้ออ้างที่ว่า รัสเซียละเมิดข้อตกลง ด้วยการพัฒนาขีปนาวุธ 9M729 ซึ่งนาโต้ก็เห็นพ้องกับการประเมินของสหรัฐฯ ว่า ขีปนาวุธรุ่นนี้มีพิสัยประมาณ 1,500 กม. แม้รัฐบาลมอสโกยืนยันว่า รุ่นนี้ไม่เข้าข่ายต้องห้ามตามสนธิสัญญา เพราะว่ายิงไกลแค่ 480 กม.

ไม่ว่าข้ออ้างของอเมริกาสอดคล้องกับข้อเท็จจริงหรือไม่ นักวิเคราะห์บอกว่า สหรัฐฯ เองอยากถอนตัวอยู่แล้ว เพราะเทคโนโลยีมีการพัฒนากว่าเมื่อ 30 ปีก่อนไปไกลมาก

อดีตนักการทูตอาชีพ วิลเลียม คอร์ทนีย์ ซึ่งปัจจุบันทำงานวิจัยด้านการควบคุมอาวุธที่หน่วยงานคลังสมอง Rand Corporation บอกว่า เทคโนโลยีใหม่ๆ จะช่วยให้ขีปนาวุธพิสัยกลางมีความแม่นยำยิ่งขึ้น จึงมีเสน่ห์เย้ายวนในทางการทหาร

อดีตรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ แอช คาร์เตอร์ บอกในการสัมมนาที่จัดโดยหน่วยงานคลังสมอง Council on Foreign Relations เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ว่า การสิ้นสภาพของไอเอ็นเอฟเป็นประโยชน์ต่อวอชิงตัน “มองในมุมการทหาร ไม่ใช่มุมการเมือง ความตายของข้อตกลงนี้ก็ไม่เลวนัก ต่อไปเราจะได้ประโยชน์จากขีดความสามารถในการโจมตีแบบฉับพลันด้วยหัวรบปกติ”

จนถึงขณะนี้ สหรัฐฯ รับปากว่าจะไม่ติดตั้งขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์ในยุโรป แต่ไม่ได้ให้สัญญาในเรื่องการติดตั้งหัวรบปกติ ซึ่งใช้วัสดุทางเคมีเป็นตัวสร้างแรงระเบิด เช่น ทีเอ็นที

จับตา ‘ภาคพื้นแปซิฟิก’

เมื่อปลดล็อกแล้วเช่นนี้ คาดกันว่า เพนตากอนจะลงมือปรับปรุงกำลังรบเพื่อทัดทานพลังอำนาจของจีน ซึ่งสหรัฐฯ หวั่นระแวงว่า ปักกิ่งต้องการครองความเป็นเจ้าในเอเชีย

มาร์ค เอสเปอร์ ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ บอกว่า เขี้ยวเล็บหลักของจีน คือ ขีปนาวุธพิสัยกลาง สหรัฐฯ จึงต้องทำให้แน่ใจว่า เรามีขีดความสามารถทัดเทียมกันที่จะตอบโต้หากเราต้องสู้รบกับจีนในวันหนึ่งข้างหน้า

ที่ผ่านมา อเมริกาประเมินว่า ตัวเองล้าหลังจีนในเรื่องการพัฒนาขีปนาวุธชนิดยิงจากภาคพื้น เพราะติดขัดข้อห้ามตามข้อตกลงกับรัสเซีย เอสเปอร์บอกเมื่อเดือนกรกฎาคมว่า การถอนตัวจะปลดปล่อยกองทัพสหรัฐฯ ให้สามารถรับมือไม่เฉพาะกับรัสเซีย แต่ยังรวมถึงจีนด้วย

ผู้เชี่ยวชาญแนะว่า รูปแบบหนึ่งในการถ่วงดุลจีนในย่านแปซิฟิก ก็คือ วางกำลังขีปนาวุธพิสัยกลางหัวรบปกติ โดยเลือกใช้แท่นยิงบนรถเคลื่อนที่ ซึ่งจะเพิ่มความคล่องตัวและการปกปิด ไว้ที่ฐานทัพอเมริกันบนเกาะกวม รวมถึงในเขตแดนต่างๆ ในความควบคุมของประเทศพันธมิตร เพื่อจ่อคอหอยจีน

ทอมัส มาห์นเคน อาจารย์สอนวิชายุทธศาสตร์ศึกษา คณะนานาชาติศึกษาชั้นสูง มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ บอกว่า การวางหมากทางทหารแบบนี้จะช่วยสกัดกั้นการผงาดของจีน โดยเฉพาะในแถบทะเลจีนใต้ ซึ่งทหารจีนได้เข้าควบคุมเกาะพิพาทหลายแห่ง

แนวคิดทำนองนี้ดูจะสอดคล้องกับความเห็นของว่าที่ประธานคณะเสนาธิการร่วมของสหรัฐฯ มาร์ค มิลลีย์ ระหว่างการเข้าให้ข้อมูลแก่คณะกรรมาธิการชุดหนึ่งของวุฒิสภา นายพลผู้นี้บอกว่า หลังจากไอเอ็นเอฟตายสนิทแล้ว เขาสนับสนุนให้วางกำลังขีปนาวุธพิสัยกลาง ติดหัวรบปกติ ชนิดยิงจากภาคพื้น ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

ยังไม่รู้กันว่า จีนตระเตรียมรับมือกับการจากไปของข้อตกลงไอเอ็นเอฟ และการเอาจรวดพิสัยกลางมาติดตั้งให้ใกล้กับจีนมากยิ่งขึ้นอย่างไร

ฝ่ายสหรัฐฯ คาดการณ์ไว้กว้างๆ 2 อย่าง นั่นคือ จีนอาจเร่งพัฒนาสมรรถนะของขีปนาวุธ และเคลื่อนย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าประจำการตามจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ .

 

อ้างอิง:

BBC News, 2 August 2019

AFP via CNA, 2 August 2019

Reuters, 2 August 2019

AFP via Yahoo! News, 1 August 2019

ภาพ: REUTERS/Kevin Lamarque

Tags: , , , ,