ขณะที่สหรัฐฯ เฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีวาระส่งมนุษย์ไปเดินบนดวงจันทร์ บรรดามหาอำนาจโลก ตั้งแต่จีน รัสเซีย อินเดีย จนถึงชาติยุโรป ต่างเตรียมรับมือ ‘นัยทางทหาร’ ที่แฝงมาในนามของการสำรวจอวกาศ

เมื่อวันเสาร์ (20 ก.ค.) ชาวอเมริกันร่วมรำลึกโอกาสครบรอบ 50 ปีที่ยานอะพอลโล 11 นำพานักบินอวกาศของนาซ่า คือ นีล อาร์มสตรอง กับบัซ อัลดริน ไปลงบนพื้นผิวดวงจันทร์เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 1969 ด้วยการนำส่งของจรวดแซตเทิร์น 5

การเหยียบดวงจันทร์ของนีล อาร์มสตรอง พร้อมวลีลือลั่น “นี่เป็นย่างก้าวเล็กๆ ของชายคนหนึ่ง แต่เป็นก้าวกระโดดของมวลมนุษยชาติ” เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามเย็น สหรัฐอเมริกาแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตายกับสหภาพโซเวียต

การสำรวจอวกาศไม่ใช่กิจการเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ล้วนๆ การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศไม่เคยมีเป้าหมายแต่ในทางพลเรือนโดดๆ ไม่ว่าสมัยโน้น สมัยนี้ หรือสมัยไหน มหาอำนาจย่อมไม่รามือที่จะขับเคี่ยวกันเพื่อรักษาความมั่นคงของตัวเองในเบื้องต้น และครองความเป็นเจ้าในเบื้องปลาย

ศึกประชันขันแข่งในกิจการอวกาศที่ถูกจับตามากที่สุดในเวลานี้ หนีไม่พ้นคู่มหาอำนาจเดิมกับมหาอำนาจใหม่ ดังนั้น ในสัปดาห์นี้ เราจะดูว่าอินทรีอเมริกัน กับมังกรจีน คิดอ่านแผนการอะไรไว้บ้าง

ในสัปดาห์หน้า เราจะดูความเคลื่อนไหวของรัฐพี่เบิ้มอื่นๆ พร้อมกับตั้งคำถามถึงการกำกับควบคุมการแข่งขันไม่ให้เลยเถิดเป็นการคุกคามต่อสันติภาพโลก

ดวงจันทร์ของใคร

ความที่ดวงจันทร์เป็นจุดหมายใกล้มือ สหรัฐฯ เคยเอื้อมถึงมาแล้ว ใครคิดจะวัดรอยเท้าอเมริกัน คงต้องประเดิมด้วยดาวเคราะห์บริวารดวงนี้เสียก่อน ขณะเดียวกัน ผู้พิชิตรายแรกย่อมต้องปักธงให้มั่น ก่อนที่จะบุกเบิกต่อไปยังดาวดวงอื่นในระบบสุริยะ เช่น ดาวอังคาร

ในวาระฉลองการเหยียบดวงจันทร์ ทำเนียบขาวประกาศว่า สหรัฐฯ “มุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูบทบาทนำของชาติในกิจการอวกาศต่อไปอีกหลายศตวรรษข้างหน้า” รัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ ให้คำมั่นที่จะสนับสนุนแผนของนาซ่า ที่จะกลับไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้งภายในปี 2024 ในชื่อโครงการ อาร์ทีมิส

ตามโครงการซึ่งเรียกชื่อตามนามของน้องสาวฝาแฝดของเทพอะพอลโลนี้ สหรัฐฯ จะส่งสถานี ชื่อ “เกตเวย์” ไปโคจรรอบดวงจันทร์ เพื่อศึกษาปฏิกิริยาของสิ่งมีชีวิตเมื่อต้องเผชิญกับรังสีในอวกาศและสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำเป็นเวลานานๆ ด้วยความหวังว่าความรู้ที่ได้รับจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งนักบินไปยังดาวอังคารในช่วงทศวรรษ 2030

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญหลายรายยังแคลงใจว่า อเมริกาจะทำโครงการอาร์ทีมิสได้ในเวลา 5 ปีจากนี้ไปได้จริงหรือ เพราะส่วนสำคัญของโครงการยังไม่พร้อมสักอย่าง นับตั้งแต่จรวดนำส่ง แคปซูลลูกเรือ ยานลงจอด ไปจนถึงสถานีโคจร

เหตุที่ยังสงสัยกันในเรื่องกำหนดเวลา เพราะว่าทรัมป์ไม่ใช่ผู้นำอเมริกันคนแรกที่ให้คำมั่นทำนองนี้ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ประธานาธิบดีผู้วายชนม์ จอร์จ เอชดับเบิลยู. บุช ประกาศจะสร้างฐานถาวรบนดวงจันทร์ ตามด้วยการส่งมนุษย์อวกาศไปดาวอังคาร ต่อมาในปี 2004 ประธานาธิบดีบุชผู้ลูกประกาศแผนการนี้อีกครั้ง แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ทำ เพราะไม่มีเงินพอ

จีนกวดกระชั้น

ตอนที่นีล อาร์มสตรองเหยียบดวงจันทร์ จีนยังไม่มีแม้กระทั่งดาวเทียม เวลานี้ ปักกิ่งตั้งเป้าไว้ว่า ในปี 2020 ยานสำรวจของจีนจะออกเดินทางไปดาวอังคาร และจีนจะมีเครือข่ายดาวเทียมจีพีเอสเต็มระบบเป็นของตัวเอง

เมื่อครั้งที่การแข่งขันด้านอวกาศเริ่มเปิดฉากเมื่อทศวรรษ 1950 ด้วยการส่งดาวเทียมสปุตนิกของสหภาพโซเวียตนั้น ท่านประธานเหมาเจ๋อตงประกาศว่า “เราจะสร้างดาวเทียม” เวลาผ่านไป 10 ปีเศษ ดาวเทียมดวงแรกของจีน ชื่อ ตงฟางหง-1 (บูรพาแดง-1) ทะยานขึ้นในวันที่ 24 เมษายน 1970 ท่ามกลางความโกลาหลของการปฏิวัติวัฒนธรรม

เทคโนโลยีอวกาศของจีนก้าวหน้าอย่างรวดเร็วด้วยการพัฒนาจรวดนำส่งขนาดมหึมา จรวดลองมาร์ช (เดินทัพทางไกล) มีอัตราความสำเร็จในการปล่อย 95 เปอร์เซ็นต์ จนถึงขณะนี้ กำลังพัฒนาถึงรุ่นที่ 9 แล้ว

ความคืบหน้าสำคัญเกิดขึ้นเมื่อปี 2003 จีนกลายเป็นประเทศที่สามถัดจากรัสเซียและสหรัฐฯ ที่ส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศ จนถึงขณะนี้ นักบินจีนได้ออกสู่อวกาศแล้วรวม 11 คนใน 6 ภารกิจ ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 2 คน

จีนถูกสหรัฐฯ กีดกันไม่ให้เข้าร่วมในสถานีอวกาศนานาชาติ เพราะโครงการอวกาศของจีนเชื่อมโยงกับกองทัพ ดังนั้น จีนจึงสร้างห้องปฏิบัติการของตัวเอง มีชื่อว่า เทียนกง ซึ่งขึ้นไปโคจรรอบโลกเมื่อปี 2011 จนถึงเดือนเมษายน 2018 สถานีแห่งนี้มีลูกเรือประจำการ 2 คน ใช้เป็นที่ทดสอบการเชื่อมต่อกับยานอวกาศและปฏิบัติการด้านการบินอวกาศในรูปแบบต่างๆ

ดวงจันทร์กลายเป็นปลายทางที่จีนไปเยือนสำเร็จเมื่อปี 2007 โดยส่งยานชางเออ-1 ไปบินรอบดาวบริวารของโลก ตามด้วยการลงจอดในปี 2013 จีนมีแผนจะส่งยานชางเออ-5 ไปดวงจันทร์ในปี 2020 เพื่อเก็บตัวอย่างดินหินกลับมา

ในปี 2019 นี้เอง จีนเป็นชาติแรกที่ส่งยานไปลงจอดทางด้านมืดของดวงจันทร์ ยานชางเออ-4 ส่งภาพถ่ายหลุมอุกกาบาตที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะเท่าที่โลกรู้จัก กลับมาให้ชาวโลกได้ยลโฉม ซึ่งผู้บริหารองค์การนาซ่า จิม ไบรเดนสไตน์ บอกว่า “เป็นความสำเร็จที่น่าประทับใจ”

ถัดจากแผนส่งยานสำรวจไปดาวอังคารและสร้างเครือข่ายจีพีเอสที่ประกอบด้วยดาวเทียม 30 ดวงภายในปี 2020 เป้าหมายต่อไปคือ พัฒนาสถานีอวกาศที่สามารถอยู่อาศัยระยะยาวให้สำเร็จภายในปี 2022 โดยมีมาตรฐานแบบเดียวกับสถานีนานาชาติ เพียงแต่มีขนาดย่อมกว่า

ที่เล่ามานี้เป็นแค่กิจการ “พลเรือน” ยังไม่ครอบคลุมกิจการทหารโดยตรง ซึ่งเต็มไปด้วยความลับ ทว่าเป็นที่รู้กันว่า อวกาศเป็นอีกหนึ่งสมรภูมิสำหรับรัฐมหาอำนาจ และอาจเป็นยุทธบริเวณที่ชี้ขาดความเป็นเจ้าโลก ดังนั้น โครงการประเภท “สตาร์วอร์” จึงไม่ได้มีแต่ในนิยายวิทยาศาสตร์.

อ้างอิง:

The Associated Press via CBC, 4 January 2019

CNN, 20 July 2019

AFP via Yahoo! News, 21 July 2019

ภาพ: Neil ARMSTRONG / NASA / AFP

Tags: , , , ,