ยังไม่ทันจะข้ามพ้นครึ่งแรกของปี 2020 ดูเหมือนกระแสการตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์คนดังในบ้านเราจะส่งเสียงกระหึ่มพอสมควร หากเราจะนับไล่มาตั้งแต่กรณีของ แก้ม-วิชญาณี เปียกลิ่น หรือปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก เมื่อสาธารณชนกังขาถึงจุดยืนของพวกเธอต่อประเด็นสิทธิมนุษยชน เรื่อยมาจนเรื่องของ คริส-พีรวัส แสงโพธิรัตน์กับสิงโต – ปราชญา เรืองโรจน์ สองนักแสดงหนุ่มที่ลืมฉุกคิดจนเผลอเอาเรื่องการข่มขืนมาเป็นมุกตลก
ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดกระแสตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการแสดงความคิดเห็นจากสถานะคนดังของพวกเขา โดยเฉพาะต่อเรื่องจุดยืนในประเด็นต่างๆ ที่สำหรับหลายๆ คนก็รุนแรงถึงขั้นขอถอยออกมาจากการเป็นแฟนคลับใกล้ชิด หรือขอหยุดการสนับสนุนและติดตามผลงานก็มี
พฤติกรรมการแบนผลงานจากแฟนคลับหรือผู้บริโภคเช่นนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทยที่เดียว แต่มันเป็นเช่นนี้ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ในวัฒนธรรมตะวันตกถึงขั้นมีนิยามเรียกเหตุการณ์เช่นนี้เป็นคำเฉพาะว่า cancel culture หรือวัฒนธรรมการคว่ำบาตร
โดยนิยามแล้ว cancel culture คือการเลิกสนับสนุนคนมีชื่อเสียงจากการกระทำที่ไม่เหมาะสม เสื่อมเสียหรือแม้แต่ทำให้แฟนๆ ผิดหวัง ตามมาด้วยการคว่ำบาตรหรือแบนศิลปินเหล่านั้นอย่างไร้เยื่อใย เพื่อเป็นการแสดงออกจากกลุ่มแฟนคลับหรือผู้บริโภคว่าไม่สนับสนุนการกระทำ ความคิดเห็นดังเช่นที่คนดังเพิ่งแสดงออกไป มีคนวิเคราะห์ว่ามันเป็นพฤติกรรมที่งอกเงยขึ้นมาพร้อมกับการเติบโตของเทคโนโลยี ที่เปิดโอกาสให้ใครก็ตามได้มีสิทธิแสดงความคิดเห็นและประกาศตัวว่า พร้อมจะเลิกสนับสนุนศิลปินหรือคนดังคนใดก็ตามที่มีพฤติกรรมหรือความคิดเห็นไม่สอดคล้องกับค่านิยมบางอย่าง
ชั่วระยะสองสามปีที่ผ่านมา ควบคู่ไปกับการขยายตัวของโลกอินเตอร์เน็ต เราจึงได้เห็นการคว่ำบาตรออนไลน์แบบข้ามวันข้ามคืน ชนิดมีมาให้นั่งไถหน้าไทม์ไลน์อ่านกันได้ไม่รู้เบื่อ เพราะมันไม่สำคัญว่าคุณจะรู้จัก ‘คนดัง’ ที่ถูกกล่าวหาบนอินเตอร์เน็ตหรือไม่ แต่ด้านหนึ่งของการคว่ำบาตรนั้นมันมักมาพร้อมกับดราม่ากรุ่นๆ ที่ชวนให้ติดตามไม่มากก็น้อย แบบที่สำนักข่าวบันเทิงแทบจะทั่วทั้งโลกส่องสปอร์ตไลต์ไปยังข้อพิพาทระหว่าง เทย์เลอร์ สวิฟต์ ปะทะ คานเย เวสต์ เมื่อสมัยปี 2016 ที่ระเบิดแฮชแท็กร้อน #TaylorSwiftIsCancelled (คว่ำบาตรเทย์เลอร์สวิฟต์) ภายหลังมีคลิปเสียงที่ทั้งสองถกเถียงกันในประเด็นเนื้อเพลงของเวสต์ซึ่งเป็นฝ่ายถือไพ่ในการสนทนา และในปี 2020 ก็กลายเป็นฝ่ายเวสต์ที่ถูกคว่ำบาตรพร้อมแฮชแท็ก #KanyeWestIsOverParty เมื่อมีคลิปเสียงหลุดออกมา (อีกแล้ว) ว่าแท้จริงนั้น เขาเป็นฝ่ายเล่นไม่ซื่อกับสวิฟต์ก่อนเอง
หรือแม้แต่กับแวดวงยูทูเบอร์ เจมส์ ชาร์ลส์ เมคอัพอาร์ติสชื่อดังของฝั่งอเมริกาก็เคยเผชิญหน้ากับการคว่ำบาตรครั้งใหญ่มาแล้วเมื่อปี 2019 ชนิดที่ทำให้ยอดผู้ติดตามในยูทูบลดลงสามล้านรายในเวลาเพียงไม่กี่วัน จนชาร์ลส์ออกมาอัดคลิปขอโทษทั้งน้ำตาพร้อมพยายามอธิบายข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นความโกลาหล
คุณคงสังเกตแล้วว่า การคว่ำบาตรทางออนไลน์หรือ cancel culture เช่นนี้มันมักเกิดขึ้นกับนักแสดง นักร้อง หรือคนดังที่ไม่ได้รับหน้าที่โดยตรงในการรับผิดชอบประเด็นนั้นๆ ตามหน้าที่อย่างนักการเมืองหรืออาชีพเฉพาะทางด้านอื่นๆ แต่มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับชื่อเสียงซึ่งผูกมากับความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแยกไม่ขาด โดยเฉพาะในยุคที่ผู้บริโภคมีสิทธิแสดงความเห็นและการส่งเสียงสนับสนุนอย่างชัดเจนในยุคที่ทุกคนต่างถือโซเชียลมีเดียอยู่ในมือ
“เพราะว่าโซเชียลมีเดีย ผู้คนถึงได้มีช่องทางในการแสดงความเห็นอย่างที่พวกเขาไม่เคยได้มีมาก่อน ซึ่งมันเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ลุกขึ้นพูดเมื่อเห็นว่าบางอย่างที่พวกเขาเชื่อมันผิดเพี้ยนไปจากที่เคย” แคโรลิน คิม ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารจากมหาวิทยาลัยบีโอลาแสดงความเห็น “ในบางครั้งมันเลยนำไปสู่การเรียกยอดคลิก (clicktivism) หรือไม่ก็ยอดไลก์ (liketivism) หรือให้ความรู้สึกแบบ เราอยากจะเข้าร่วมกับการเคลื่อนไหวนี้เพราะเราเชื่อว่าเราจะมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงโลก ด้านหนึ่งมันเลยเป็นจิตวิทยาฝูงชน (mob mentality) เพราะไม่ใช่แค่เราได้ทำในสิ่งที่ชอบหรือเห็นดีเห็นงามด้วยเท่านั้น แต่ยังเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวนี้เพราะคุณอยากเห็นว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงตามมาในภายหลัง”
และหากถามว่า วัฒนธรรมเช่นนี้มันส่งผลกระทบหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงไหม คำตอบก็อาจไม่ตายตัวนัก เพราะกรณีการคว่ำบาตรเพราะข้อปะทะที่เป็นเรื่องส่วนตัวของคนดังนั้นโดยทั่วไปแล้วมักส่งผลแค่เป็นวิวาทะให้ได้ตามอ่านกัน แต่บางกรณีที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจังและนำไปสู่การดำเนินคดี ก็ปรากฏแล้วว่าเคสของ เควิน สเปซีย์ นักแสดงคนเก่งของฮอลลีวูดที่ถูกเปิดโปงว่าล่วงละเมิดทางเพศนักแสดงชายคนอื่นๆ ระหว่างถ่ายหนังด้วยกันมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ก็เป็นอันต้องงานหดหายทั้งยังจ่อจะโดนดำเนินคดีอยู่เนืองๆ และโดนตัดฉับออกจากฮอลลีวูดถึงขั้นตอนที่มีข่าวออกมา เขากำลังถ่ายทำหนัง All the Money in the World (2017) ก็เป็นอันถูกเปลี่ยนตัว ตัดออกจากบททันทีและเสียบแทนด้วย คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์
หรือในปี 2019 ที่รายการโทรทัศน์เรตติ้งสูงลิ่วอย่าง SNL (Saturday Night Live) ปลดตัว ฌอน กิลลิส นักแสดงตลกที่เป็นหนึ่งในพิธีกรของรายการ ภายหลังจากที่มีการโพสต์คลิปเก่าๆ สมัยเมื่อปี 2018 ที่เขาเล่นมุกตลกเกี่ยวกับเชื้อชาติ และอัดพอดคาสต์ (ซึ่งก็เป็นเทปเก่าอีกเหมือนกัน) ว่าด้วยโจ๊กบ้องตื้นเกี่ยวกับสีผิว เพศและเชื้อชาติ ซึ่งถูก ‘ขุด’ ขึ้นมาโจมตีซึ่งกิลลิสออกมาชี้แจงผ่านทวิตเตอร์ว่าเขานั้นเป็น “นักแสดงตลกที่พยายามผลักขอบเขตของการเล่นมุกออกไป” และ “ถ้าคุณลองกลับไปดูโจ๊กเก่าๆ สักสิบปีก่อนของผม ก็คงพบว่ามันเลวร้ายเอาเรื่องทีเดียว และจะเจอมุกแบบนี้อีกเป็นกระตั้ก ผมยินดีในการจะแสดงความขอโทษแก่ใครก็ตามที่รู้สึกแย่ในสิ่งที่ผมเคยกล่าวไปแล้ว” ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ทางรายการตัดสินใจจ้างเขาต่อแต่อย่างใด กระนั้น กิลลิสก็ยังเป็นหนึ่งในคอมิเดี้ยนชาวอเมริกันที่มีงานแสดงออกมาอยู่เนืองๆ แม้ไม่ได้ปรากฏตัวใน SNL แล้วก็ตาม
ขณะเดียวกัน ก็มีอีกหลายกรณีที่เป็นแค่ข้อวิวาทบนอินเตอร์เน็ตเท่านั้น ซึ่งแม้ด้านหนึ่ง งานของคนดังเหล่านี้จะไม่ถึงขั้นหดหาย แต่ใช่ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ แบบที่เราคงเห็นได้จากกรณีของสวิฟต์ที่หลีกเร้นหนีหายไปจากการปรากฏตัวในโลกโซเชียลมีเดีย (หรือแม้แต่ในสายตาของปาปารัซซี่) นานนับปี
“พอคุณถูกโจมตีทางออนไลน์โดยคนนับล้านคนพยายามบอกว่าคุณโดนคว่ำบาตรแน่ๆ มันเป็นประสบการณ์ที่โดดเดี่ยวมากนะ” เธอบอก “เอาจริงฉันว่ามีไม่กี่คนหรอกที่จะเข้าใจสถานการณ์ที่มีคนเป็นล้านตะโกนว่าเกลียดใส่คุณน่ะ
“พอคุณบอกว่าจะคว่ำบาตรใครสักคน มันไม่ใช่เหมือนเป็นรายการโทรทัศน์นะ นี่มันชีวิตคนคนหนึ่งเลย มันคือการที่คุณกำลังส่งข้อความไปบอกคนคนหนึ่งว่าให้หุบปากซะ หายตัวไปเลย หรืออย่างเลวร้ายที่สุด ฆ่าตัวตายไปสิ”
นั่นขนาดว่าเกิดขึ้นกับคนมีชื่อเสียง มีปราการแน่นหนาพอสมควรในการป้องกันอาชีพและการทำมาหากินของตัวเองไม่ให้พังทลาย รวมถึงมีเงินทองมากพอจะพักรักษาตัวและหัวใจจากบาดแผลในการถูกรุมถล่ม ลองนึกว่ามันเกิดขึ้นกับคนธรรมดาอย่างเราๆ สิ
ตัวอย่างที่ทรงพลังที่สุดสำหรับการโดนคว่ำบาตรออนไลน์คือ จัสตีน แซ็กโก พนักงานออฟฟิศธรรมดาที่วันหนึ่งของปี 2013 เธอทวิตข้อความว่า “กำลังจะไปแอฟริกาจ้า หวังว่าจะไม่ติดเอดส์นะ ล้อเล่น ก็ฉันเป็นคนขาวนี่!” ก่อนจะปิดเครื่องไปครึ่งวันและตื่นมาอีกทีเพื่อพบว่าชื่อตัวเองติดเทรนด์อันดับหนึ่งของทวิตเตอร์ ผู้คนในโลกออนไลน์ตามล่าหาว่าเธอคือใคร ทำงานที่ไหน และหวังให้เธอถูกไล่ออกหรือดำเนินการโดยเร็วที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าหลังจากนั้นอีกไม่นาน แซ็กโกพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานอย่างรวดเร็ว
กรณีของเธอถูกนำไปเป็นกรณีตัวอย่างในหนังสือขายดีของ จอน รอนสัน นักเขียนชาวอังกฤษที่ตีพิมพ์หนังสือ So You’ve Been Publicly Shamed และอุทิศหนึ่งบทใหญ่ๆ ให้เรื่องราวของแซ็กโก “ใครก็มักบอกว่าหล่อนกลับมาได้งานได้การดีๆ ทำแล้ว” รอนสันว่า “แต่นั่นก็หลังจากเกิดเรื่องตั้งปีนึงนะ ตั้งปีเลยกว่าที่เธอจะหางานใหม่ได้
“วัฒนธรรมการคว่ำบาตรออนไลน์มันเกิดขึ้นเพราะว่าคนที่ไม่เคยมีใครในสังคมมารับฟังความเห็นของพวกเขา ในที่สุดก็มีพื้นที่ในการแสดงออกเสียที ซึ่งมันช่างทรงพลังและเปี่ยมความหมายเหลือเกิน” รอนสันอธิบาย “หากว่าหนังสือพิมพ์สักฉบับตีพิมพ์บทความว่าด้วยการเหยียดผิวหรือเหยียดเพศ เราก็ตระหนักได้ว่าเรามีหนทางในการโต้ตอบหรือแก้ไขมัน เราทิ่มแทงพวกเขาด้วยอาวุธที่พวกเรามีแต่เขาไม่มี นั่นคือการคว่ำบาตร่ทางโซเชียลมีเดีย เอาให้โฆษณาถอนตัวออกจากสื่อให้หมด ซึ่งเป็นเพราะพวกคนมีอำนาจพวกนี้ใช้อำนาจของพวกเขาในทางที่ผิด พวกเรา -ซึ่งเป็นคนธรรมดา- จึงต้องเตือนสติพวกนั้น”
เช่นเดียวกันกับกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับ เจ เค โรว์ลิง นักเขียนชาวอังกฤษชื่อดังผู้ให้กำเนิดหนังสือชุด Harry Potter ที่ออกมาแสดงความเห็นในเชิงไม่เปิดรับสาวข้ามเพศให้มาเป็นส่วนหนึ่งของผู้หญิง ก็ถูกแฟนหนังสืออัดกระจุยกลางทวิตเตอร์ว่าเธอกำลังทำผู้อ่านใจสลายอยู่นะ! ขณะที่เหล่านักแสดงที่ออกมาตบเท้าแสดงความเห็นตรงกันข้ามกับเธอและสนับสนุนสิทธิของคนข้ามเพศจำนวนมาก
แน่นอนว่าโรว์ลิงคงไม่ตกงาน และไม่ได้รับผลกระทบด้านการเงินจากเหตุการณ์นี้สักกี่มากน้อย แต่เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าสภาพจิตใจของเธอจะเป็นอย่างไร หรือแม้แต่ในอนาคต ก็อาจจะพูดได้ลำบากว่าเหตุการณ์นี้เป็น ‘ชนัก’ ที่ปักหลังติดตัวเธอเรื่อยไป
“ส่วนตัวฉันว่าการคว่ำบาตรออนไลน์มันไม่ได้ผลหรอก” เจนนา วอร์แธม นักเขียนเซ็กชั่นศิลปวัฒนธรรมของนิวยอร์คไทม์สบอก “คุณแค่ตัดคนที่เป็นหนึ่งในปัจจัยของปัญหาออกไปเท่านั้นแหละ แต่ตัวปัญหามันยังอยู่ มันเลยเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด”
ภาพรวมของการคว่ำบาตรที่ปรากฏจากฝั่งตะวันตก เราคงพอสรุปได้คร่าวๆ ว่ามันมาจากการแสดงออกจากฝั่งผู้บริโภค ว่าไม่ขอสนับสนุนผลงานคนดังที่มีทัศนคติไม่เป็นบวกเช่นนี้ -ซึ่งการจะแยกตัวตนและผลงานออกจากกันนั้นอาจเป็นเรื่องที่ต้องพูดกันให้ลึกถึงในรายละเอียดอีกระดับ- แต่ในเบื้องต้น เราอยากชี้แจงให้เห็นว่า การแสดงจุดยืนจากฝั่งผู้บริโภค (และในทางกลับกัน คือจากฝั่งคนดัง) นั้นเป็นเรื่องทำได้ และเกิดขึ้นอยู่อย่างสม่ำเสมอในสังคมประชาธิปไตย
ทั้งนี้ มันอาจเป็นราคาหนึ่งที่ต้องจ่ายหากว่าเป็นคนดัง นั่นคือ เมื่อพูดหรือแสดงออกไปแล้ว คุณเสียงดังและมีคนได้ยินมากกว่าคนอื่น (ซึ่งเราคงไม่ต้องบอกว่าสถานะ ‘เสียงดังกว่า’ ของคนดังก็นับเป็นพรีวิลเลจหรืออภิสิทธิ์หนึ่งซึ่งสร้างผลประโยชน์ให้การใช้ชีวิตของพวกเขาในหลายๆ ครั้งเช่นกัน) ย่อมไม่แปลกหากว่าเสียงที่ดังออกไปนั้นจะถูกโต้กลับมามากกว่าคนไร้ใบหน้า ไร้ชื่อเสียงคนอื่นๆ พูด ที่อย่างน้อยคงถูกคนรอบตัววิพากษ์วิจารณ์ตามครรลองและวาระ ไม่ระเบิดลงอย่างที่คนดังหลายๆ คนเจอ (แน่นอนว่าถ้าการวิจารณ์จากคนในสังคมล้ำเส้นไปถึงขั้นการใช้เฮทสปีช อีกฝ่ายก็สามารถดำเนินเรื่องฟ้องกลับได้ตามที่กฎหมายเอื้อ)
น่าสนใจอย่างยิ่งที่วัฒนธรรมการคว่ำบาตรออนไลน์นั้นมันกินพื้นที่อยู่ในโลกฝั่งตะวันตกมานานหลายปีพอสมควร อย่างน้อยก็อาจเริ่มจากช่วงที่คนถืออำนาจในการแสดงออกผ่านโซเชียลมากขึ้น บวกกันกับภาวการณ์ตื่นตัวทางสังคมที่ทำให้หลายๆ คนตระหนักในประเด็นละเอียดอ่อนหลายๆ ประเด็น จนออกมา call-out หรือเรียกร้องให้ผู้พูดออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำลงไป
เราขอยกคำที่รอนสันเคยกล่าวถึงวัฒนธรรมนี้ไว้มาปิดท้ายว่า “มันก็อาจจะเป็นไปได้ว่าเราใช้ประโยค ‘พวกคนดังที่ใช้ชื่อเสียงในทางที่ผิด’ เป็นบัตรผ่านในการทำลายชีวิตใครสักคนที่เราเลือก และนี่แหละที่ทำให้มันด้อยค่าลง ซึ่งจะทำให้เราหมดศักยภาพในการจะแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น นำไปสู่การไม่อาจแยกประเด็นที่ควรจริงจังและไม่จริงจังจนอาจละเมิดผู้อื่น
“เรื่องของเรื่องคือ เราล้วนทั้งฉลาดและทั้งโง่เขลา เราล้วนเป็นคนเทาๆ ไม่ขาวและไม่ดำ ข้อดีของโซเชียลมีเดียคือให้พื้นที่แก่คนที่ไม่เคยมีปากเสียง แต่นี่กลายเป็นว่าเรากำลังสร้างสังคมที่เต็มไปด้วยการตรวจตราหาคนที่ทำผิดนั่นแหละ”
อ้างอิง
https://www.nytimes.com/2019/10/31/style/cancel-culture.html
https://www.theguardian.com/media/2015/dec/20/social-media-twitter-online-shame
Tags: cancel culture, cancelled, ทัวร์ลง, ปูไปรยา, #TaylorSwiftIsCancelled, J. K. Rowling, คว่ำบาตร