วันที่ 12 ตุลาคม 2564 เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการแถลงข่าวเตรียมเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ตามเป้าหมาย 120 วัน เปิดประเทศ ของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อคืนวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า พรรคเพื่อไทยไม่ปฏิเสธการเปิดประเทศ แต่ปฏิเสธการตั้งเป้าที่เลื่อนลอย ไร้การดำเนินการรองรับ ไร้การเตรียมการประเทศเข้าสู่การเปิดประเทศ สาระสำคัญของการเปิดประเทศ ไม่ใช่เปิดหรือไม่ แต่คือเปิดอย่างไร และเตรียมความพร้อมอย่างไร เมื่อลงไปดูความพร้อม สิ่งที่เจอคือความไม่พร้อม
1. ไม่พร้อมในภูมิคุ้มกันประชาชน ประชากรที่ได้รับวัคซีนมีเพียง 32% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งหมายความว่า คนที่ไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนก็อาจติดเชื้อได้ นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับ ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ ที่เกิดขึ้น จะต้องอยู่ที่ 70% สำหรับวัคซีนคุณภาพ และอาจจะถึง 80-85% สำหรับวัคซีนที่คุณภาพด้อยลงมา ด้วยเหตุนี้ ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ ของประชากรในประเทศยังอยู่ในระดับที่ไม่ถึงครึ่งของค่าที่ยอมรับได้ ในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่
“อย่าหลงประเด็นกับการฉีดวัคซีนเข็มเดียว หากไปเทียบกับแอนติบอดีต่างๆ โดยเฉพาะวัคซีนเชื้อตาย แทบไม่มีประโยชน์เท่าไร นี่คือความเสี่ยง ความไม่พร้อมด้านภูมิคุ้มกันของประชาชน”
2. ความไม่พร้อมด้านยอดผู้ติดเชื้อ ประเทศไทยติด 15 อันดับแรกของโลก ในยอดผู้ติดเชื้อรายวันติดต่อกัน บางสัปดาห์ก็ติด 10 อันดับแรก และเป้าหมายของการเปิดประเทศ ไม่ว่าจะกรุงเทพฯ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ล้วนติดอันดับจังหวัดที่มียอดติดเชื้อมากที่สุดทั้งสิ้น
นอกจากนี้ อัตราการพบเชื้อจากยอดตรวจยังมากถึง 14% ซึ่งหมายถึงว่า หากตรวจ 100 คน จะพบผู้ติดเชื้อ 14 คน และหากดูในการรายงานประจำวัน ซึ่งวัดจากยอดการตรวจเชื้อ RT-PCR อาจพบว่าลดลง แต่อัตราการตรวจจากชุดตรวจเร็วประเภท Antigen Test Kits นั้น จะพบว่ามีการติดเชื้อจาก ATK บางช่วงเป็นหลักพัน และบางวันขึ้นไปเป็นหลักหมื่น ใกล้เคียงกับการตรวจด้วยวิธี RT-PCR สะท้อนว่ามีผู้ติดเชื้อในสังคมพอสมควร
3. ความไม่พร้อมของระบบสาธารณสุข โดยปัจจุบัน ประเทศมีผู้ป่วยที่กำลังรักษาโควิด-19 อยู่ 1 แสนรายพอดี ซึ่งสะท้อนว่าน้ำกำลังเต็มแก้ว และหากเติมน้ำเข้าไปอีก ระบบสาธารณสุขจะล้น รองรับไม่ไหว อาจมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น
4. ความไม่พร้อมของความเชื่อมั่นของต่างชาติ โดยขณะนี้ สหรัฐอเมริกายังจัดไทยให้อยู่ในสีแดงเข้ม ระดับอันตรายสูงสุด มีความเสี่ยงสูงสุด ขณะที่จีน และญี่ปุ่นก็แนะนำให้ประชากรหลีกเลี่ยงเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย นอกจากนี้ สหภาพยุโรปก็ปลดไทยออกจากประเทศที่ปลอดภัยในการเดินทาง
“ท่านเปิดได้ แต่ก็จะเห็นนักท่องเที่ยวโหลงเหลง แบบที่เจอในภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และสมุยพลัส ซึ่งภูเก็ตเปิดมาได้หลายเดือน ก็ยังได้รายได้เพียง 2,000 ล้านบาท ขณะที่สมุยพลัสได้แค่ 70 ล้านบาท”
และ 5. การเยียวยาที่ไม่พร้อม ภาคการท่องเที่ยวมีธุรกิจที่อยู่นอกระบบค่อนข้างสูง ถูกละเลย ไม่ได้รับการเยียวยา นอกจากนั้น สายการบินต่างๆ ขอ Soft Loan มานานเกือบปีแล้ว ก็ยังคงได้รับการปฏิเสธ
ขณะเดียวกัน โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ที่ดูแลโรงแรมนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ก็ประสบปัญหาเพราะสร้างเงื่อนไขมากไป จนยอดไม่เดิน เพราะฉะนั้น การเยียวยาของรัฐที่มีปัญหาจะส่งผลกระทบตามมา โดยแม้รัฐบาลจะเปิดประเทศได้จริง แต่ธุรกิจบริการได้ล้มตายไปเรียบร้อยแล้ว