เพรทเซลเป็นขนมปังกรอบนอกหนึบในรูปร่างคล้ายอินฟินิตี้เบี้ยวๆ ทาด้วยครีมมันๆ และสิ่งสีเขียวคล้ายผักชี ซื้อจากร้านท้องถิ่นที่มีเตาอบขนาดใหญ่ตั้งกันให้เห็นในร้าน อบกรุ่นจากเตาก็มาวางเรียง เพื่อรอมนุษย์ทำงานซื้อหาแล้วจากไปแบบไม่มีพิธีรีตอง มีทั้งรสออริจินัลและรสครีมที่ถืออยู่ในมือ
เจ็ดโมงเช้าเป็นเวลาที่ฟ้าในแคว้นบาวาเรียยังสวย ไม่มีฝนแม้จะเป็นกลางเดือนพฤศจิกายน แต่จังหวะหนาว 10 องศาแบบนี้ฮีตเตอร์ก็ดูสวยงามขึ้นทันที เราตื่นนอนในอพาร์ทเมนต์ของอันเน่ (Anne) เพื่อนชาวเยอรมันที่รู้จักกันที่เมืองไทย วันนี้เราแยกกัน เพราะคนหนึ่งมีหน้าที่เที่ยว อีกคนหนึ่งต้องไปเรียนตัดเสื้อ
เวลาเช้าเช่นนี้ตายังปรือ ไม่มีพิพิธภัณฑ์สักแห่งพร้อมเปิด นูเรมเบิร์ก ประเทศเยอรมนี เป็นเมืองไม่ฟุ้งฝัน และอ้อยอิ่งอยู่บ้าง เมืองที่เคยตั้งตัวเป็นศูนย์ประชุมหลักของพรรคนาซีในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง วันนี้ดูน่ารักด้วยโรงหนัง stand alone ร้านขายขนมท้องถิ่น และความเงียบที่หาซื้อได้ยากจากกรุงเทพฯ
แล้วควรไปเที่ยวไหนดี…
Way of Human Rights
เจ็ดโมงครึ่ง คนยังบางตา ฟ้ายอมเปิดพอให้สองข้างทางอวดเสน่ห์ในกระไอเย็น ร้านค้าและตึกรามมีภาพเพ้นท์เล็กๆ น้อยๆ ถึงนูเรมเบิร์กจะไม่ได้เป็นเมืองท่องเที่ยว แต่ก็ใหญ่รองจากมิวนิก และชิงพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ในฐานะศูนย์กลางการประชุมของพรรคนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
บางคนขมขื่น บางคนอาจจะไม่ แต่กองทัพเหล่านั้นสลายไปแล้ว Propaganda ดังๆ ตามคลื่นวิทยุก็หายไป เหลือไว้แต่ยุวชนนาซีรุ่นปู่ที่กระจัดกระจายและใช้ชีวิตตามปกติกับครอบครัวตามมุมเมืองต่างๆ อันเน่เล่าว่าปู่ของเธอก็เป็นยุวชนนาซีเหมือนกัน
นอกจากสถาปัตยกรรมยุคกลางที่มีไว้ให้นักท่องเที่ยวศึกษา กลางเมืองก็เหลือแต่สิ่งก่อสร้างที่มนุษย์ยุค 2000 ใช้สอย มีโรงภาพยนตร์ ร้านขายของมือสอง ร้านขายของเก่า และสารพัดร้านที่เห็นแล้วเหมือนไดโสะแฮนด์เมดในไทย พอมาทำความรู้จักกับเมืองใหม่ อะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็ดูน่ารักไปหมด ทั้งๆ ที่มันมีมานานแล้ว
เดินเลาะเรื่อยมาจนถึง Germanisches Nationalmuseum พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมเยอรมัน ที่ถนน Kartäusergasse ย่านใจกลางเมือง ก็รู้สึกว่ามันช่างโอ่อ่า เหมือนหลุดเข้าสู่โซนทางการแต่ก็น่าสนใจอยู่มาก อาจเป็นเพราะมันเก็บเล็กผสมน้อยประวัติศาสตร์เยอรมันมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 ตั้งแต่งานศิลปะ งานปั้น งานโบราณคดี เครื่องมือวิทยาศาสตร์ไปจนถึงของเล่นจิปาถะ
โกดังสะสมอดีตที่ยิ่งใหญ่เลยกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ และแน่นอนว่ามันคงเป็นเครื่องมือศึกษาอดีตได้ถึงใจสำหรับประเทศที่บอบช้ำมายาวนานอย่างเยอรมนี
สิบกว่าองศาพร้อมฟ้าโปร่ง นักท่องเที่ยวสายเตร็ดเตร่อย่างเราไม่รู้จะทำอะไรนอกจากยึดวิถีเดิมคือ ‘เดิน’ แต่ยังไม่คิดจะไปให้ถึงประตูเมืองเก่า แม้ยังไม่มีพิพิธภัณฑ์เปิดเลยสักแห่ง ด้านนอก Germanisches Nationalmuseum ก็มีประตูคอนกรีตขนาดใหญ่จารึกด้วยภาษาเยอรมันตั้งล่อตา ผ่านวงโค้งของประตูมีเสาคอนกรีตสีขาวสูง 8 เมตร 27 ต้น เรียงยาวไปจนถึงอีกฝั่งถนน แต่ละเสามีถ้อยคำต่างภาษาที่แหงนมองแล้วก็ไม่เข้าใจ
ชาวนูเรมบิร์กเดินผ่านที่นั้นเป็นปกติ มีแต่เราที่ชะเง้อชะแง้ สังเกตุความร้าวรานในอดีตผ่านอากาศ
ข้อความบนเสาแต่ละต้นคัดมาจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights)จารึกไว้หลากหลายภาษา ต้นแรกเขียนว่า ‘มนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมกับเสรีภาพและความเท่าเทียมของศักดิ์ศรีและสิทธิ’ ต้นที่ 13 เขียนว่า ‘สิทธิในเสรีภาพแห่งการเคลื่อนย้าย’ ต้นที่ 26 เขียนว่า ‘สิทธิในการศึกษา’
ในอดีต เยอรมนีอาจไม่มีโอกาสประกาศเรื่องสิทธิมนุษยชนได้เต็มปาก เอ่ยถึงนาซีทีไรก็เหมือนเจ็บจากแผลกดทับที่ไม่เคยหายขาด อันเน่ปั้นสีหน้าเจ็บปวดเมื่อเราบอกว่า คิดถึงนาซีเป็นอย่างแรกเมื่อพูดถึงเยอรมนี (ก่อนบอกเขาทันทีว่าล้อเล่น จริงๆ แล้วนึกถึงฟรันซ์ คาฟคา) ดังนั้นเมื่อมีโอกาส ในปี 1993 เมืองนูเรมเบิร์กก็ประกาศมันผ่านอนุสาวรีย์คอนกรีตและเสาสีขาวที่ตั้งอยู่เงียบงันแต่หนักแน่น และเรียกมันว่า Way of Human Rights เพื่อลบล้างความเป็น ‘เมืองนาซี’ ให้กลายเป็น ‘เมืองแห่งสันติภาพและสิทธิมนุษยชน’ ถ้อยคำที่จารึกบนเสาเหล่านั้นยังสื่อถึงอาชญากรรมร้ายแรงที่ละเมิดความเป็นมนุษย์ และมีนัยว่า ไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบัน เรื่องเหล่านี้ยังเกิดดับ ไม่จบไม่สิ้น
คงมีชาวเยอรมันมองเสาเหล่านี้แล้วนึกขอบคุณคณะกรรมการของ Germanisches Nationalmuseum ที่รังสรรค์อนุสาวรีย์ปูนเหล่านี้ขึ้น จนได้รับรางวัล UNESCO Prize of Human Rights Education ซึ่งสิ่งที่พวกเขาขอบคุณอาจไม่ใช่รางวัล แต่เป็นการสร้างประติมากรรมเพื่อซ่อมแซมและค้ำยันอะไรบางอย่างของชาวเมือง
บอบช้ำมากแค่ไหนก็ไม่อาจหยั่งถึง หรือในทางกลับกัน คนยุคนี้อาจไม่ได้เจ็บปวดกับอดีตร้าวรานเหล่านั้นอีกต่อไป
เราเดินกระพริบตาอยู่นานเพราะลมหนาว ก้าวขาตามจังหวะหายใจที่ช้าลง เพรทเซลกำลังจะหมดฤทธิ์ เสาสีขาวยังเวียนวนอยู่ในใจ แล้วอยู่ดีๆ ก็เหนื่อยอย่างบอกไม่ถูก เป็นการเดินเล่นยามเช้าที่เทาปนครามมาก เรื่องราวก็ผ่านไปแล้วแถมยังไกลตัวหลายขวบปี ในประเทศที่มาครั้งแรกและอยู่คนละทวีป
หรือความจริงมันใกล้ตัวมาก สงครามสันติภาพเกิดขึ้นกับคนทุกชาติ และเกิดขึ้นซ้ำๆ เหมือนหนังม้วนเดิม
FACT BOX:
ประติมากรรมกลางแจ้ง Way of Human Rights เปิดตัวเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1993 เป็นผลงานของศิลปินชาวอิสราเอล Dani Karavan ประกอบด้วยซุ้มประตูคอนกรีต เสาคอนกรีตสีขาวสูง 8 เมตร จำนวน 27 ต้น เสาที่ฝังลงดินเหลือให้เห็นเพียงหน้าตัดสีขาว 2 ต้น และต้นโอ๊ก 1 ต้น บนเสาจารึกปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในภาษาเยอรมัน และภาษาอื่นอีก 29 ภาษา สื่อถึงชนชาติต่างๆ ที่เคยถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน อาทิ ยิดดิช โปลิช ธิเบต จีน นาวาโฮ เป็นต้น
Tags: เยอรมนี, นูเรมเบิร์ก, Way of Human Rights