วันนี้ (22 มีนาคม 2565) วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนเจ้าของรางวัลศรีบูรพา และผู้ลี้ภัยจากคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสียชีวิตอย่างสงบที่ประเทศฝรั่งเศส หลังจากป่วยด้วยอาการมีเนื้องอกที่ตับก่อนหน้านี้

วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนฝีมือดี ที่มีผลงานทั้งเรื่องสั้น บทกวี และนวนิยาย เริ่มต้นการเป็นนักเขียนตั้งแต่ปี 2513 โดยเรื่องสั้น ‘คนหากิน’ ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในหนังสือยานเกราะ หลังจากนั้น บทกวีของเขายังได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสารชัยพฤกษ์ และนิตยสารฟ้าเมืองไทย ที่มีอาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็นบรรณาธิการ ก่อนงานเขียนของเขาจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ยุค 14 ตุลาคม 2516 – 6 ตุลาคม 2519 โดยมีเรื่องสั้น และบทกวีที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ ‘นกพิราบสีขาว’ (พ.ศ. 2518) และ ‘กลั่นจากสายเลือด’ (พ.ศ. 2519)

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 วัฒน์ ‘เข้าป่า’ เพื่อร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทั้งผลิตผลงานจากในป่าหลายเล่ม หลังออกจากป่า เขากลับมาทำอาชีพนักเขียนอีกครั้งจากถิ่นพำนักที่กาญจนบุรี นวนิยายโดดเด่นหลายเรื่องของวัฒน์เป็นที่รู้จักแพร่หลาย อาทิ ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ (พ.ศ. 2524) ที่ เป็นเอก รัตนเรือง นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อปี 2544 ‘คือรักและหวัง’ เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ เมื่อปี 2528 และ ‘ปลายนาฟ้าเขียว’ เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ เมื่อปี 2540

นอกจากเป็นนักเขียน วัฒน์ยังเคลื่อนไหวกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) อย่างต่อเนื่อง เขาขึ้นเวทีทั้งในฐานะผู้ปราศรัย นักร้อง รวมถึงเป็นผู้จัดกิจกรรม หลังจากรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดย คสช. วัฒน์ได้รับคำสั่งให้ไปรายงานตัวสองครั้ง จากการถูกเพ่งเล็งว่าเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร ทำให้วัฒน์ตัดสินใจลี้ภัยออกนอกประเทศ หลังจากนั้น ศาลอนุมัติหมายจับวัฒน์ในข้อหาหมิ่นพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยระบุว่าวัฒน์เป็นผู้เกี่ยวข้องกับละคร ‘เจ้าสาวหมาป่า’ ละครซึ่งจัดแสดงในวาระครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เมื่อปี 2556

“คงเป็นความรู้สึกคล้ายช่วง 6 ตุลาฯ แหละ คือกลัวแต่ก็ต้องเคลื่อนไหว ซึ่งผมก็คิดไว้กับตัวเองด้วยว่าถ้าเกิดรัฐประหารเมื่อไร ผมคงต้องไปเมื่อนั้น เพราะสิ่งที่ผมรู้มาคือตัวเองมีหมายจับ 112 แล้ว ดังนั้นถ้าเขาจะเอาจริง ผมติดคุกหัวโตแน่นอน หรืออาจไปติดเชื้อในกระแสเลือดแล้วตายในคุกก็ได้

“ดังนั้นในวันที่เกิดรัฐประหารปี 2557 ผมจึงหนีดีกว่า ไม่อยู่ให้จับหรอก” วัฒน์เคยให้สัมภาษณ์กับ a day ไว้ก่อนหน้านี้

วัฒน์จึงต้องลี้ภัยไปใช้ชีวิตอยู่ในกัมพูชา ลาว ก่อนจะหนีไปอยู่ฝรั่งเศส ในปี 2562 หลังจาก สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ในลาว และกัมพูชา ถูกอุ้มหาย และสาบสูญไปทั้งหมด

“มีช่วงหนึ่งที่ผู้หลบภัยโดนเก็บไปหลายคน และถ้าดูจากรายชื่อทั้งหมด ด้วยชื่อชั้นแล้วคนต่อไปยังไงก็ต้องเป็นผม ช่วงนั้นเพื่อนผมหลายคนมากที่โทรมาเตือน ทุกคนบอกให้ระวังตัวดีๆ ซึ่งผมก็คิดนะว่าจะให้ผมระวังยังไงเหรอ ผมจะทำอะไรได้ ถ้าเขาจะเอาผมไม่รอดอยู่แล้ว แค่เขาเดินไปในตลาดถามแม่ค้าว่าแถวนี้มีคนไทยอยู่บ้างไหม แค่นั้นผมก็ตายได้แล้ว”

วัฒน์เริ่มป่วยเข้าโรงพยาบาลที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และเริ่มมีอาการป่วยหนักขึ้น ก่อนจะจากไปอย่างสงบในวันนี้ (22 มีนาคม 2565) ในวัย 67 ปี

ในบทสัมภาษณ์ชิ้นเดียวกันจาก a day เมื่อปี 2564 วัฒน์บอกว่า การเคลื่อนไหวของ ‘คนรุ่นใหม่’ ในวาระว่าด้วยการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นภาพที่เขาเฝ้ารอมาแรมปี

“จิตใจผมสดใสขึ้นมาก เห็นแล้วมันชุ่มชื่นในหัวใจ จากที่รู้สึกว่าตัวเองเดินคนเดียวดุ่ยๆ มาตลอดทาง ทุกวันนี้เหมือนผมได้เจอเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่คิดและเชื่อในสิ่งเดียวกัน แต่พอเห็นว่าพวกเขาคือคนรุ่นใหม่ อีกมุมผมก็สะท้อนใจนะ ว่าเพราะรุ่นผมแพ้และเปลี่ยนแปลงสังคมไม่ได้ คนหนุ่มสาวยุคนี้เลยต้องออกมา ลุงมันไม่ดีเองที่ทิ้งมรดกบาปไว้ให้ลูกหลานลำบาก

“ผมว่าพวกเขาคือตัวอย่างที่ดีของการเคลื่อนไหวที่เห็นถึงปัญหาที่แท้จริง เพราะตราบใดที่ต้นเหตุของปัญหายังอยู่ วันหนึ่งมันก็จะกลับมาปะทุอีกกี่ครั้งก็ได้ เขาจะทำรัฐประหารกี่ครั้งก็ได้เพราะพล็อตเก่ายังมี แต่พอคนรุ่นใหม่เขาจับต้นเหตุและกล้าออกมาพูด นี่แหละคือการเข้าถึงปัญหาที่แท้จริงและควรเป็น การเอาเรื่องที่อยู่ในซอกหลืบมาพูดในที่แจ้งและสว่างมันถูกต้องแล้ว”

อ้างอิงข้อมูลจาก:

https://adaymagazine.com/wat-wanlayangkoon

ภาพ: วัฒน์ วรรลยางกูร

Tags: , , ,