นาทีนี้ มีผู้ลี้ภัยอยู่ทั่วโลก 65 ล้านคน

ใช่แล้ว เราฟังไม่ผิด วันนี้มีผู้ลี้ภัยทั่วโลกรวมกัน 65 ล้านคน สูงกว่าจำนวนผู้ลี้ภัยที่เคยบันทึกเอาไว้ว่ามากที่สุดเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 นึกให้เห็นภาพง่ายๆ ก็หมายความว่า คนไทยทั้งประเทศแตกกระสานซ่านเซ็นกลายเป็นผู้ลี้ภัย

สงครามไม่เคยให้บทเรียนใดๆ และยังคงเกิดขึ้นทุกยุคสมัยกระทั่งนาทีนี้

“ฉันหนีออกจากซีเรียมาแล้วสองปีแปดเดือน บ้านของฉันอยู่ในฝั่งตะวันออกของอเลปโป วันหนึ่งมีระเบิดตกลงมากลางบ้าน พวกเราโดนซากบ้านถล่มลงมาทับ แต่ก็รอดมาได้เพราะอยู่ชั้นใต้ดิน มีแค่สามีที่บาดเจ็บเล็กน้อย พวกเราเลยย้ายไปอยู่ในเมืองอัลรัคกะห์ทางตะวันออก

“วันหนึ่งสามีฉันตัดสินใจจะกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่ยังอยู่ในอเลปโปตะวันตก ซึ่งถูกควบคุมโดยฝั่งรัฐบาล พวกเรานั่งรถตู้ออกจากอัลรัคกะห์ไปอเลปโป แต่ทันทีที่ไปถึงบ้าน ก็มีเจ้าหน้าที่ของรัฐโผล่มาสอบถามว่าใครเป็นเจ้าของรถตู้คันนั้น และเอาตัวสามีฉันไปไต่สวน ฉันก็คิดว่าสักชั่วโมงเดียวก็คงจะได้กลับออกมา แต่หลังจากนั้นฉันก็ไม่ได้เห็นสามีฉันอีกเลย

“เราแค่อยากให้สงครามมันจบเสียที คนที่สูญเสียมากที่สุดก็คือประชาชนคนธรรมดา”

 

“เราแค่อยากให้สงครามมันจบเสียที คนที่สูญเสียมากที่สุดก็คือประชาชนคนธรรมดา ฉันไม่รู้จะร้องไห้ให้ใคร สามีฉัน ลูกฉัน หรือตัวฉันเอง ไม่มีใครสนใจเลยว่าเราจะเป็นจะตายอย่างไร ลูกฉันจะหิว จะนอนตรงไหน ไม่มีใครสนใจเลย เราแค่อยากจะมีชีวิตต่อ อยากสร้างอนาคตให้กับเด็กๆ ที่ไม่มีใครสนใจเหล่านี้ เรื่องของการเมือง เอาจริงๆ ไม่มีใครสนใจแล้วล่ะ ก่อนหน้าสงคราม ซีเรียก็อยู่กันได้ มีคนรวย มีคนจน มีปัญหาบ้าง แต่อย่างน้อยเราก็มีชีวิตปกติกัน วันนี้ฉันต้องการแค่การสนับสนุนเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น เพื่อประทังชีวิตเล็กๆ ของพวกเรา”

นี่เป็นถ้อยคำของสตรีชาวซีเรีย ที่หนีภัยจากสงครามกลางเมืองอเลปโป มาอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย Gaziantep ซึ่งตั้งอยู่บริเวณพรมแดนซีเรียและตุรกี ที่วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล บันทึกวิดีโอไว้ และนำมาถ่ายทอดสู่คนที่มาร่วมฟัง ‘Wannasingh Talk for UNHCR’ ในแคมเปญระดมทุนเพื่อผู้ลี้ภัย ‘Namjai for Refugees’ ที่โรงละครเคแบงค์ สยามพิฆเนศ เมื่อวันเสาร์ที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา

บนเวทีในวันนั้น วรรณสิงห์ซึ่งเป็นทั้งนักเขียน นักเดินทาง ศิลปิน คนทำรายการสารคดี และผู้สนับสนุนกิจกรรมของ UNHCR ชวนเราย้อนกลับไปสำรวจความคิดกับคำว่า ‘สงคราม’ ก่อนที่จะพาเราไปรู้จักกับชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัย ทั้งในต่างประเทศ และค่ายผู้ลี้ภัยในภาคเหนือของประเทศไทย ที่ผ่านมา 30 ปีนั้น มีผู้ลี้ภัยจากค่ายแม่สุรินทร์ จังหวัดแม่ฮ่องสอนเพียงคนเดียวที่ได้ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในประเทศที่สาม เธอคนนี้เป็นหนึ่งในจำนวนน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของผู้ลี้ภัยทั่วโลกที่จะได้รับโอกาสนั้น

Study War No More

“ในศตวรรษที่ 21 ที่เราอยู่กันอย่างสะดวกสบาย แต่สงครามไม่ได้หยุดลง ผมอยากชวนให้ทุกคนมาทำความเข้าใจกับคำว่าสงครามโดยใช้สมองกับหัวใจ ใช้สมองคิดวิเคราะห์ว่าทำไมสงครามจึงเกิดขึ้นได้ แล้วใช้หัวใจมองความเดือดร้อนของเพื่อนมนุษย์ มองผู้ลี้ภัยในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน”

Gonna lay down my sleepy head
Down by the riverside
Gonna lay down my burden
Down by the riverside
I ain’t gonna study war no more
Study war no more

 

บทเพลงทางจิตวิญญาณของนักดนตรีผิวสีที่เผยแพร่ครั้งแรกในปี 1918 ดังขึ้นอีกครั้งบนเวที กับท่อน Study war no more ซึ่งพูดแทนความรู้สึกของคนที่เคยผ่านชะตากรรมของสงครามมาก่อน

“พวกเราในฐานะมนุษย์ เราเห็นประวัติศาสตร์มีแต่เรื่องสงคราม พันธะของเราจะจบลงเมื่อเราตายไปเท่านั้น เพราะว่านี่คือเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์อย่างแท้จริง ในแง่หนึ่ง คือถึงจุดที่เราไม่ต้องเรียนรู้เรื่องสงครามอีกแล้ว แต่ก็เข้าใจอีกเช่นเดียวกันว่า การจะไปถึงจุดที่เราไม่ต้องศึกษาสงครามอีกแล้ว เราต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกับสงครามให้เต็มที่เสียก่อนว่าทำไมมันถึงเกิดขึ้นได้ แล้วบางทีความเข้าใจตรงนั้นของเราจะถูกส่งต่อไปยังคนรอบตัวเรา อาจจะขยายวงกว้างไปสู่การยกระดับความคิดของคนเรา ไปในจุดที่ไม่มีความเกลียดชังได้จริง เพราะสำหรับผมมันเป็นเช่นนั้น การศึกษาเรื่องสงครามทำให้ผมค่อยๆ ล้างความเกลียดชังต่อมนุษย์บนโลกนี้ไปทีละนิด อาจจะยังไม่หมดสิ้น แต่เราได้สิ่งนี้มาผ่านการทำงานของเรา”

การทำรายการสารคดี เถื่อนทราเวล พาวรรณสิงห์เดินทางไปยังประเทศที่มีบาดแผลและร่องรอยจากสงครามอันมีจุดเริ่มต้นที่ประเทศรวันดา โครงกระดูกและหัวกะโหลกจากสงครามล้างเผ่าพันธุ์ในปี 1994 ที่อยู่บนชั้นในพิพิธภัณฑ์ยังย้ำเตือนชาวรวันดาให้ปฏิเสธสงครามผ่านแคมเปญ ‘Never Again Rwanda’

“ที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ผมได้เห็นว่าครั้งหนึ่งอยู่ดีๆ มนุษย์ก็หยิบเอาอาวุธมาฆ่ากันอย่างไร้เหตุผล กลายเป็นแค่เศษกระดูกอยู่บนหิ้งบนชั้น ในขณะที่เราไปรวันดาหลังจากเหตุการณ์จบไปประมาณยี่สิบปี ผู้คนที่เราไปเจอก็เหมือนคนปกติทั่วไป บางคนก็เคยอยู่ร่วมกับคนที่เป็นผู้กระทำด้วยซ้ำ หลายคนที่เคยมีส่วนร่วมในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สุดท้ายก็กลับเข้ามาสู่สังคม กลายเป็นคนธรรมดา คนที่เคยฆ่ากันกลายมาเป็นเพื่อนบ้านกันก็มี

“จากจุดนั้นได้ส่งให้เราออกเดินทางไปในที่ที่มีความขัดแย้ง การไปในพื้นที่ที่เคยมีสงครามในอดีตและกำลังมีสงคราม จึงกลายเป็นสิ่งดึงดูดเรามากๆ เพราะเราอยากเข้าใจด้านนี้ของมนุษย์ มุมมองที่ผมได้จากการเรียนรู้ไม่ใช่มุมมองทางวิชาการ แต่เป็นมุมมองจากคนที่อยู่ดีๆ ก็ถือกล้องเข้าไปเดินในพื้นที่ คุยกับผู้คน จนสามารถสรุปเป็นข้อๆ ได้บ้างว่า ทำไมสงครามจึงเกิดขึ้น”

 

Many Dimensions of War

ในมุมมองของวรรณสิงห์ เขาสรุปการเกิดขึ้นของสงครามได้เป็นสามระดับ ระดับแรกคือ Logical/Political คือระดับการเมืองที่มีความเป็นเหตุเป็นผล Moral/Ideological ระดับจริยธรรมหรือระดับอุดมการณ์ และ Emotional/Behavioral คือระดับพฤติกรรมมนุษย์ซึ่งมีส่วนร่วมในอุดมการณ์

“ในระดับแรกที่กว้างที่สุด คือ Logical/Political เราได้ยินเสมอเรื่องประเทศนี้บุกประเทศนั้น เพราะต้องการน้ำมันของประเทศนี้ หรือประเทศนี้ล้ำเขตแดน สงครามคือเครื่องมือในการสร้างดินแดน คือเครื่องมือในการหาทรัพยากร คือเครื่องมือในการจัดสรรปันส่วนอำนาจต่างๆ ให้ลงตัว ทุกอย่างดูเป็นเหตุเป็นผลไปหมด เป็นสงครามระดับสูงที่สุดคือระดับผู้ตัดสินใจ มันทำให้สงครามเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการรักษาสิทธิปผลประโยชน์ของประเทศตัวเองเอาไว้

“มีคำพูดหนึ่งว่า สงครามเป็นแค่การดำเนินต่อของการเมืองในอีกรูปแบบหนึ่ง คือถ้าเจรจาไม่รู้เรื่อง ตกลงกันบนโต๊ะไม่ได้ ก็ไปตกลงในสนามรบ คนที่พูดเป็นนักเขียน นักปรัชญาชาวรัสเซียและเป็นทหารด้วย ชื่อ Carl von Clausewitz เขาพูดไว้อีกว่า ‘War is the continuation of politics by other means’ ถ้าเรามองแค่ประโยคนี้ สงครามก็เป็นเครื่องมือในการจัดสรรอำนาจ จัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้ลงตัว แต่เขาไม่ได้พูดแค่นี้ เขามองอีกแง่หนึ่งว่า สงครามอาจถูกมองเป็นแค่การดวลด้านกำลังอย่างเดียวก็เป็นได้ คือเป็นการกระทำที่มีแค่เรื่องของความรุนแรง เรื่องอารมณ์ กล่าวคือสุดท้ายแล้วสงครามเป็นเรื่องที่เป็นเหตุเป็นผล ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่อยู่เหนือเหตุและผลไปไกลมาก

สงครามเป็นแค่การดำเนินต่อของการเมืองในอีกรูปแบบหนึ่ง
คือถ้าเจรจาไม่รู้เรื่อง ตกลงกันบนโต๊ะไม่ได้ ก็ไปตกลงในสนามรบ

 

“ในระดับสูงสุด เราเห็นว่าอเมริกาตัดสินใจอย่างนี้ จีนตัดสินใจอย่างนี้ เกาหลีเหนือตัดสินใจอย่างนี้ แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่ประเทศทั้งประเทศ แต่มันคือรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ตัดสินใจ ซึ่งความเป็นเหตุเป็นผลจำกัดอยู่แค่คนระดับนั้น ก็เลยนำมาสู่ลำดับต่อไปของสงคราม ลำดับที่เรียกว่า Moral/Ideological ระดับทางจริยธรรมหรือระดับอุดมการณ์ เพราะไม่ว่าระดับสูงสุดจะขัดแย้งกันด้วยเรื่องอะไรก็ตาม แต่สุดท้ายไม่มีทางเกิดขึ้นได้หากไม่มีมหาชนเข้าร่วม และวิธีการควบคุมมหาชนที่อยู่หมัดที่สุดคือการบอกเขาว่าเราเป็นฝ่ายถูก

“เราจะเห็นว่าความขัดแย้งทางอำนาจหรือกองกำลังต่างๆ ไม่ได้แย่งชิงพื้นที่แค่ทางการทหารอย่างเดียว แต่แย่งชิงพื้นที่ทางจริยธรรมด้วย ทุกคนต้องการบอกว่าฉันถูก มองตัวเองว่าเป็นคนโดนกดขี่ และต้องการต่อสู้เพื่อปลดล็อคการโดนกดขี่นั้น สงครามจะเริ่มต้นด้วยการถูกกระทำก่อน สิ่งที่ผมเห็นมาตลอดในการเดินทางก็คือ ไม่ว่ากองทัพไหนก็มักจะมีสโลแกนที่เป็นความหมายเชิงบวกมาใช้เสมอ ขึ้นกับว่าคีย์เวิร์ดที่ตอบสนองความต้องการนั้นคืออะไร บางคนตอบสนองกับคำว่า ‘เสรีภาพ’ บางคนตอบสนองกับคำว่า ‘หน้าที่’ บางคนตอบสนองกับคำว่า ‘จงรักภักดี’ บางคนตอบสนองกับคำว่า ‘ความเสมอภาค’ คำพวกนี้รวมคนเข้าเป็นกลุ่ม และเป็นโจทย์บางอย่างให้กับผู้ที่ตัดสินใจเบื้องบนได้

“ในสังคมที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียวก็จะมีฮีโร่ประจำสังคม เป็นมนุษยผู้สมบูรณ์แบบที่ทุกคนเห็นเป็นแบบอย่าง ที่คิวบา ทุกคนพูดเสมอว่าเช (เกวารา) ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ มีอนุสาวรีย์เต็มไปหมด ในขณะที่ผู้กุมอำนาจในคิวบาขณะนั้นคือฟิเดล คาสโตร แต่ไม่มีรูปคาสโตรอยู่เลย ความเป็นฮีโร่ทำให้เราแทบจะมองข้ามความเป็นจริงไปหมด และแทบจะมองข้ามความรุนแรงที่เชเลือกใช้ไปด้วย สิ่งเหล่านี้ได้ผลในเชิงอารมณ์ เชิงสัญชาตญาณของมนุษย์มากๆ และอีกสิ่งที่ได้ผลมากๆ คือเรื่องประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไม่ได้เป็นสิ่งที่อยู่ในอดีตเพียงอย่างเดียว แต่ถูกปลุกขึ้นมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อตอบสนองสิ่งที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ถ้าประวัติศาสตร์จะหมดประโยชน์ไปแล้วจริงๆ ก็ต้องเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคนปัจจุบันเลย เช่นประวัติศาสตร์ในยุคหิน แต่ในยุคที่เกิดขึ้นใกล้ๆ ยังไงประวัติศาสตร์หน้านั้นก็จะยังอยู่กับเรา

 

“ระดับสุดท้ายของความขัดแย้งคือ  Emotional/Behavioral ระดับพฤติกรรม ในคนที่อยู่ข้างบนสุดอาจใช้เหตุและผลในการตัดสินใจ และสร้างอุดมการณ์ขึ้นมา แต่มันมีผลอะไรกับสมองกับพฤติกรรมคน มีการวิจัยโดยอาจารย์ท่านหนึ่งชื่อ Greggory H. Stanton ว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นได้อย่างไร เขานำเสนอออกมาว่ามีแปดขั้นตอนด้วยกันคือ หนึ่ง-Classification คือแบ่งกลุ่มที่ชัดเจน มีคนยิว คนดำ คอมมิวนิสต์ คนบาป สอง-Symbolization ทำให้คนกลุ่มนั้นเป็นสัญลักษณ์ของอะไรสักอย่าง เช่น ที่ผ่านมาคนยิวเป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่ สาม-Dehumanization การทำให้คนกลุ่มนั้นไม่ใช่มนุษย์ เช่น ก่อนที่จะเกิดสงครามในรวันดาห้าสิบปี มีการทำให้คนกลุ่มนั้นไม่ใช่มนุษย์ด้วยการเรียกคนเผ่าตุตซีว่าเป็นแมลงสาบ เป็นวัชพืช เป็นสิ่งที่ต้องจำกัดทิ้ง

“สี่-Organization คือมีการรวมตัวกันของผู้กระทำ สร้างองค์กรขึ้นมาเพื่อรองรับความเกลียดชัง ห้า-Polarization สร้างความเชื่อไปในทิศทางเดียวกัน หก-Preparation การเตรียมตัว เตรียมอาวุธ ฝึกซ้อม เพื่อสามารถสร้างความรุนแรงได้ เจ็ด-Extermination คือขั้นตอนการกำจัดอีกฝั่งหนึ่งทิ้ง และแปด-Denial คือการปฏิเสธว่าเคยเกิดขึ้นจริง

“ถ้าย้อนไปดูการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในอดีต มันเป็นไปตามขั้นตอนนี้หลายครั้ง และนำมาซึ่งสงครามในหลายๆ ครั้ง และกระบวนการแปดขั้นตอนนี้ ทำให้การฆ่ากลายเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ เพราะการสร้างความเป็นจริงว่ากลุ่มที่เราฆ่าไม่ใช่มนุษย์ เป็นแค่วัชพืช เป็นแค่ตัวถ่วงความเจริญของสังคม ต้องกำจัดทิ้ง ก็เลยทำให้เกิดความขัดแย้ง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกลุ่มคนซึ่งความผิดเดียวของพวกเขามีเพียงเกิดมาผิดเผ่า ผิดศาสนา ผิดวัฒนธรรม จึงโดนไล่ฆ่าซ้ำแล้วซ้ำอีกในสังคมทั่วโลก

ความขัดแย้งทางอำนาจหรือกองกำลังต่างๆ ไม่ได้แย่งชิงพื้นที่แค่ทางการทหารอย่างเดียว แต่แย่งชิงพื้นที่ทางจริยธรรมด้วย

 

“สิ่งหนึ่งซึ่งน่าจะเล่าเรื่องการเกิดสงครามจากทั้งสามระดับ คือระดับการเมือง ระดับจริยธรรม และระดับพฤติกรรม ได้ดีที่สุด คือเรื่องราวที่ผมเดินทางไปที่โคลอมเบีย เมื่อยี่สิบปีก่อนโคลอมเบียประเทศที่อันตรายที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นคือความขัดแย้งที่เกิดในช่วงปี 50 มีการลอบสังหารนักการเมืองคนหนึ่งชื่อไกทาน (Jorge Eliecer Gaitan) เขาเป็นบุรุษแห่งประชาชนที่ทุกคนหวังว่าจะนำประเทศมาสู่ความสงบสุข หลังการลอบสังหารก็เกิดความขัดแย้งรุนแรงจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายลิเบอรัลกับคอนเซอร์เวทีฟ ผ่านไปสิบปีทั้งสองฝ่ายจับมือกันตั้งรัฐบาลขึ้นมา ทำให้กลุ่มซ้ายจัดหรือสังคมนิยมรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม กลุ่มสังคมนิยมเลยกลายเป็นกองกำลังจับอาวุธเพื่อต่อสู้แย่งชิงอำนาจของรัฐบาล

“นี่คือการมองในระดับแรกคือเชิงการเมือง แต่กลุ่มสังคมนิยมก็ใช้ระบบจริยธรรมในการอ้างเพื่อสร้างความเสมอภาคให้กับคนยากคนจนด้วย เวลาผ่านไป แทนที่จะต่อสู้กับกองกำลังทหาร กลายเป็นว่าได้ทำคนบริสุทธิ์ตายไปเยอะมาก เพราะจากเดิมที่สู้เพื่ออุดมการณ์ พอเวลาผ่านไปห้าปีสิบปี มันกลายเป็นสังคมรวมหมู่ที่สู้เพื่อสู้ สู้เพื่ออุดมการณ์ของฉัน โดยไม่สนใจคนรอบข้าง ใช้ทุกยุทธวิธีเพื่อเอาชนะให้ได้ ทำให้เกิดกลุ่มใหม่ขึ้นมาอีกชื่อว่ากลุ่มทหารพลเรือน เป็นประชาชนทั่วไปที่จับอาวุธขึ้นสู้เพื่อปกป้องประชาชน แต่สุดท้ายสองกลุ่มนี้ก็หาจุดร่วมกันได้ เมื่อเจ้าพ่อค้ายาโคลอมเบียมองพวกเขาเป็นทหารรับจ้าง เอาเงินไปจ้างทั้งฝั่งซ้ายและขวา และทหารรับจ้างเหล่านี้จากเดิมที่เคยมีอุดมการณ์ก็กลายเป็นกองกำลังที่ไปไล่ที่ชาวบ้านเพื่อเอามาเป็นแหล่งผลิตโคเคน

“แล้วโคลอมเบียก็มีผู้ลี้ภัยจากบ้านตัวเองอยู่หลักล้านคน เพราะความขัดแย้งนี้”

 

The Passengers of War

ไทยมีสุภาษิตอยู่บทหนึ่งว่า ‘ช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกราญ’ อเมริกาเองก็มีคำพังเพยในทำนองเดียวกัน วรรณสิงห์ชวนเรากลับมาดูที่ปลายทางของสงคราม เมื่อคนที่ไม่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งกลับเป็นผู้เดือดร้อนที่สุด

“ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ลี้ภัยอยู่ 65 ล้านคน สงครามโลกครั้งที่สองว่าสูงแล้ว ตอนนี้สูงกว่า คนเหล่านี้เป็นคนซีเรีย 4 ล้านคน คิดเป็น 17 เปอร์เซ็นต์ของประชากรซีเรียทั้งหมด มีคนอัฟกานิสถานซึ่งเคยเป็นแชมป์ผู้ลี้ภัยมาตลอด 2.6 ล้านคน โซมาเลีย 1.2 ล้านคน  และที่กำลังเพิ่มขึ้นมากๆ คือซูดานใต้”

นอกจากสตรีซีเรียและครอบครัวที่ต้องหนีตายมาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่กล่าวถึงข้างต้น ผลของสงครามกระจายอยู่ทั่วทุกดินแดนที่มีความขัดแย้ง ชาวอัฟกันจำนวนมากต้องอพยพออกจากเฮลมานด์มาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย เมื่อสหรัฐฯ ประกาศสงครามกับผู้ก่อการร้ายกลุ่มตาลีบัน

“ทุกคนไม่สามารถมีชีวิตอย่างสุขสงบได้อีก คนปกติเขาไม่ได้เข้าข้างฝ่ายรัฐบาลหรือว่าตาลีบันหรอก ไม่ว่ารัฐบาลหรือตาลีบันก็เข้ามาควบคุมพวกเราเหมือนกัน เราอยู่ในค่ายผู้อพยพนี้มานานสิบปีแล้ว ก่อนหน้านี้เรามีชีวิตที่แย่จริงๆ มันลำบากเหมือนกัน แต่ก่อนหน้านั้นลำบากยิ่งกว่านี้อีก อยู่ที่นี่ไม่มีสงคราม ถึงเราจะเจออุปสรรคมากมาย แต่เราก็อยู่กันอย่างสงบ

“มันเป็นเรื่องซับซ้อนมาก เราคนอัฟกันเองยังไม่รู้เลยว่าเรากำลังเจอกับอะไร เราโดนฆ่าทุกวัน โดนระเบิดทุกวัน สูญเสียคนรักและญาติพี่น้อง แต่เราไม่รู้เหตุผลเลย เราจะสู้กันทำไม สงครามให้อะไร ใครเป็นผู้สร้าง ใครเป็นฝ่ายดีฝ่ายร้าย” ชายชาวอัฟกันในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งเล่า
วรรณสิงห์เปรียบผู้รับผลกระทบจากสงคราม ที่ต้องเปลี่ยนสถานะจาก a person หรือคนคนหนึ่ง มาเป็น a refugee หรือผู้ลี้ภัย ว่าพวกเขาคือ The Passenger of War หรือ ‘ผู้โดยสารของสงคราม’

“สำหรับผม สิ่งที่ผมเห็นเหมือนกันทุกที่ คือไม่มีใครแพ้ ไม่มีใครชนะ ทุกคนเขาแค่รู้สึกอยากใช้ชีวิต อยากอยู่อย่างปกติ ต้องการความปลอดภัย ก่อนหน้านี้เราอาจใช้หัวสมองในการคิดวิเคราะห์ว่าสงครามเกิดจากอะไร แต่ตอนนี้เราอยากชวนทุกท่านใช้หัวใจอย่างเดียว มองให้เห็นความเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แล้วมาลองคิดว่าเราช่วยอะไรได้บ้าง

“ผมมีโอกาสสัมผัสกับผู้ลี้ภัยครั้งแรกจริงๆ คือตอนไปอัฟกานิสถาน ประเทศที่อยู่กับสงครามมาสี่สิบปีแล้ว อีกครั้งหนึ่งคือตอนที่ผมไปทำงานกับ UNHCR ที่ค่ายผู้ลี้ภัยบ้านแม่สุรินทร์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในเมืองไทยมีผู้ลี้ภัยพม่าอยู่ด้วยกันประมาณ 100,000 คน กระจายอยู่ตามค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งตามชายแดนพม่า-ไทย และ UNHCR ก็ได้ไปช่วยเหลือพวกเขา และสร้างคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น

สถานะที่เราให้เขาได้คือเป็นผู้ลี้ภัยชั่วคราวก่อนเหตุการณ์จะสงบ แต่คำว่าชั่วคราวนี้ก็อยู่กันมาสามสิบปีแล้ว

“หลายคนรู้เรื่องที่พม่ามีความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงแดง เป็นความขัดแย้งซึ่งเป็นสงครามที่ยาวนานที่สุดในโลกคือ 70 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 1949 จนปัจจุบันก็ยังอยู่ในภาวะสงคราม เพราะตั้งแต่มีการตั้งประเทศขึ้นมาก็มีหลายชนเผ่าที่ต้องการสร้างดินแดนของตัวเอง และนำมาซึ่งความขัดแย้งมาถึงตอนนี้

“ความขัดแย้งนี้สร้างผู้ลี้ภัยขึ้นมามากมาย และอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองไทยมาสามสิบปีแล้ว บ้านในค่ายผู้ลี้ภัยต้องสร้างเป็นบ้านไม้ เพื่อให้สามารถรื้อถอนได้ง่าย เพราะทุกอย่างเป็นที่พักพิงชั่วคราวเท่านั้น ตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย แปลว่าเราไม่สามารถรับผู้ลี้ภัยถาวรให้ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านเราในฐานะประชาชนของประเทศไทยได้ แต่ที่รับเข้ามาก็ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรมต่อเนื่องกันมาหลายสิบปีแล้ว สถานะที่เราให้เขาได้คือเป็นผู้ลี้ภัยชั่วคราว ก่อนเหตุการณ์จะสงบ แต่คำว่าชั่วคราวนี้ก็อยู่กันมาสามสิบปีแล้ว เด็กแทบทุกคนที่เห็นในค่ายเขาเกิดในค่ายแห่งนี้ และตามกฎหมายคือพวกเขาไม่สามารถทำงานภายนอกค่ายได้ หรือเรียนหนังสือนอกค่ายได้ อยู่ได้แต่ตรงนี้เท่านั้น

 

“สภาวะที่เขาต้องเจอก็คือ ผู้ชายหลายคนโดนจับไปเป็นแรงงานทาสในกองกำลังติดอาวุธของพม่า แล้วหนีตายกันมา ทรัพย์สิน ผลผลิต ที่ดิน ถูกยึดเอาไว้ทั้งหมด สถานการณ์ก็รุนแรงจนไม่สามารถกลับไปได้ สภาพของค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้มองเฉยๆ ก็เหมือนหมู่บ้านชนบททั่วไป แต่ลองนึกถึงหมู่บ้านที่ผู้อาศัยออกไปข้างนอกไม่ได้ มันก็คือคุกอย่างหนึ่ง เป็นคุกที่ไม่ได้เกิดจากการจำจองด้วยกฎหมาย แต่เกิดจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับพวกเขา

“ค่ายผู้ลี้ภัยเกิดขึ้นได้ยังไง โดยทางกฎหมาย กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ให้ที่ดิน และค่ายเหล่านี้บริหารโดยเอ็นจีโอ ส่วน UNHCR ได้เข้าไปช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและบริหารค่ายผู้ลี้ภัยเหล่านี้ด้วย มีการสอนอาชีพ สอนคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่พ่อเสียชีวิตในสงคราม สอนอาชีพให้คนแก่คนเฒ่า ไปจนถึงกระบวนการที่สำคัญที่สุดคือกระบวนการย้ายถิ่นฐานของผู้ลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม

“อีกด้านหนึ่งของ UNHCR คือการจดทะเบียนการเกิดให้กับเด็ก ไม่ใช่สูจิบัตร แต่เป็นการให้ประเทศไทยรับรองว่าเด็กคนนี้คือเด็กชาวพม่าที่เกิดในแผ่นดินไทย แปลว่าเขาไม่ได้สถานะเป็นประชาชนไทยหรือพม่า เป็นคนที่ไม่มีสัญชาติ แต่เขาสามารถเอาเอกสารนี้ไปยืนยันได้ว่าเขามีตัวตนอยู่จริง ในกรณีที่ได้กลับบ้านวันใดวันหนึ่งในอนาคต ถ้ารัฐบาลคืนสัญชาติคืนการเป็นประชาชนให้ เขาก็จะมีสิทธิต่างๆ ในฐานะพลเมืองพม่าคนหนึ่ง

“การเป็นผู้ลี้ภัย ถ้าจะจบได้ดีที่สุดคือเขาได้กลับบ้าน สองคือได้ไปตั้งรกรากในประเทศใหม่ มีอาชีพ มีสถานะเป็นประชาชนชัดเจน เรื่องการกลับบ้านก็ต้องขึ้นกับสถานการณ์ทางการเมืองที่บ้านเขาว่าจะเป็นยังไง ส่วนการได้ย้ายไปประเทศที่สามก็ขึ้นกับนโยบายเปิดรับผู้ลี้ภัยของประเทศที่สามว่าพวกเขายินดีจะรับไหม สถานการณ์การเมืองโลกตอนนั้นเป็นยังไงบ้าง แม้จะทำงานหนักแค่ไหน แต่ข้อมูลผู้ลี้ภัยที่สามารถไปเริ่มต้นในประเทศใหม่ไม่ว่ายุโรป อเมริกา หรือออสเตรเลีย มีน้อยกว่าหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของผู้ลี้ภัยทั่วโลก

“เราไม่สามารถหยุดความขัดแย้งได้ แต่ถ้าทุกท่านหันมาสนใจเรื่องสังคม เรื่องสงคราม เรื่องความขัดแย้งในใจที่อยู่ในตัวเราเองต่อสังคมที่อยู่ข้างนอก มันอาจจะช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างไปได้เรื่อยๆ”

Study War No More – เราจะหยุดเรียนรู้เรื่องสงครามกันได้หรือยัง ยังไม่มีใครตอบได้ แต่อย่างน้อยสิ่งที่วรรณสิงห์และ UNHCR กำลังทำอยู่ ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่ง ‘เสียง’ ที่ดังพอจะบอกให้คนรอบข้างได้ยิน และหันมาสนใจเพื่อนมนุษย์ที่ตกเป็นเหยื่อของสงครามอย่างไม่มีโอกาสปฏิเสธเช่นผู้ลี้ภัยเหล่านี้

 

 

ภาพ : ©UNHCR / รัชมณ วีระสุวัฒน์

 

FACT BOX:

UNHCR (United Nations High Commissioner for Refugees) หรือสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ จัดตั้งขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ เพื่อเป็นผู้นำในการดำเนินการระหว่างประเทศเพื่อคุ้มครองผู้ลี้ภัย และการหาทางออกให้กับปัญหาของผู้ลี้ภัยทั่วโลกร่วมปันน้ำใจเพื่อเด็กและครอบครัวผู้ลี้ภัยจากสงครามได้ที่

  • https://goo.gl/M4yajL
  • SMS พิมพ์ 30 ส่งมาที่ 4642789 (ครั้งละ 30 บาท)
Tags: , , , , , , , , ,