โดยหลักการ การเลือกตั้งเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทุกคน ภายใต้ระบอบที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน การพิจารณาพรรคการเมือง คน หรือนโยบาย แล้วตัดสินใจว่าต้องการให้ใครมาเป็นตัวแทนบริหารประเทศ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่มิอาจตัดออกจากสมการประชาธิปไตย

โดยความสนใจของผู้คน การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง นอกจากประชาชนห่างหายจากการเข้าคูหา (อย่างทางการ) มาถึง 8 ปี เทคโนโลยียังนำพาข่าวสารการเมืองมาทางโซเชียลมีเดียผ่านหน้าจอสมาร์ตโฟน เรื่องการเมืองที่เคยไกลตัวเลยขยับมาใกล้ตัวมากขึ้น

โดยความเป็นจริง ประชาชนในประเทศไทยมีความหลากหลาย ชอบพรรคนั้น ชังพรรคนี้ และบางทีอาจไม่สนใจการเมืองและการเลือกตั้งด้วยซ้ำไป

อย่างที่บอกว่าโดยหลักการ การเลือกตั้งเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทุกคน เราเลยอยากลองสำรวจผู้คนหลากวัยหลายอาชีพ เพื่อชวนคุยถึงการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ว่าแต่ละคนคิดเห็นและคาดหวังอะไร

-1-

อายุ 65 ปี

อดีตข้าราชการ

“ผมดูข่าวทุกพรรค ชุมนุมก็ไปร่วม เสื้อเหลือง เสื้อแดง กปปส. ไม่ว่าซีกไหนก็ตาม ไม่มีใครเสียสละอย่างแท้จริง ถ้ามีก็ส่วนน้อย นักการเมืองไม่จริงใจต่อประชาชน ทุกคนต่างใช้วาทกรรมให้ตัวเองได้รับเลือก ทำทุกวิถีทางให้ได้ชัยชนะ แต่พอมีอำนาจ ก็ไม่มีใครมาช่วยเหลือประชาชนจริงๆ ไม่ใช่แค่ครั้งนี้นะ ผมรู้สึกมาตลอด หลายปีที่ผ่านมานักการเมืองพูดเรื่องแก้จนทั้งนั้น เพราะประชาชนจนไงล่ะ ชูนโยบายปากท้องก็ได้ความหวัง แต่แก้ได้ไหม คุณดูสิ คนจนก็ยังจน ค่าแรงเพิ่มขึ้น แต่ค่าครองชีพก็สูงตามไปด้วย เลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้แตกต่างกับทุกครั้งหรอก แต่ผมออกไปเลือกตลอดนะ อย่างน้อยก็เลือกคนที่เลวน้อยที่สุด ถ้าประชาชนไม่ออกไปเลือก ประชาธิปไตยจะอยู่ได้ไหมล่ะ ยังไงระบอบนี้ต้องมีการเลือกตั้ง ผมถามกลับบ้าง ระหว่าง ‘ความสงบ’ กับ ‘เศรษฐกิจ’ คุณเลือกอะไร”

“คงเลือกเศรษฐกิจ”

“แล้วมันเป็นไปได้ไหม ขณะที่บ้านเมืองวุ่นวาย ระเบิดที่นั่นที่นี่ ถามว่านักท่องเที่ยวจะมาไหม ถ้าไม่มา เม็ดเงินก็หายไปหมด ถามว่าผมเลือกอะไร ก็เศรษฐกิจแหละ ทุกคนอยากมีกินมีใช้ ทำยังไงให้ปากท้องดีขึ้น แต่ถามว่าจะเกิดขึ้นได้ยังไง มันต้องมาจากความสงบในประเทศด้วย”

“ในมุมมองของคุณ ความสงบหน้าตาเป็นยังไง”

“ไม่ออกมาทะเลาะเบาะแว้งกันไง คุณชุมนุมได้ตามกฎหมาย มันคือสิ่งสวยงาม เป็นเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย ผมอยากให้มีทั้งสองสีแหละ มันได้คานกัน ประชาชนได้เรียนรู้ แต่สิ่งสำคัญคือ คุณอย่าเร่งให้เกมจบเร็วๆ ลากอาวุธสงครามไปยิงฝั่งนั้นที ยิงฝั่งนี้ที เพื่อให้เกมจบ ผมยอมรับไม่ได้ มันไม่ใช่ประชาธิปไตย”

-2-

อายุ 40 ปี

เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย

“บ้านผมอยู่ศรีสะเกษ ถ้าช่วงไหนอยู่บ้านก็ไปเลือกตั้งตลอดนะ แต่ครั้งนี้ยังไม่แน่ใจ เพราะเราเดินทางไปไหนก็ลำบาก ผมมองการเลือกตั้งแบบนี้ ประชาชนมีสิทธิ์ใช่ไหม แต่พอออกไปใช้สิทธิ์ หลังจากนั้นก็หมดสิทธิ์แล้ว ปัญหาไม่ใช่การเลือกตั้งหรอก แต่เกิดจากนักการเมืองมากกว่า ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ไม่ยอมรับกติกา พอทำงานไม่ถูกใจ อีกฝ่ายก็ออกมาโจมตีๆๆ ก่อม็อบ พยายามหามวลชน เพื่อขับไล่อีกฝ่าย ผมอายุขนาดนี้แล้ว ก็เห็นลักษณะเดิมๆ วนเวียนแบบนี้ จนบางทีเกิดความรู้สึกว่า เราจะออกไปใช้สิทธิ์ดีไหม มันเป็นวัฏจักร ทั้งชีวิตผมเห็นแต่แบบนี้ อย่างเหตุการณ์ล่าสุดในพื้นที่สยาม (การชุมนุมของกลุ่ม กปปส.) ผมดูแลพื้นที่ในสยาม เห็นการโจมตีกัน อีกฝ่ายผิด ตัวเองถูก ชักนำความคิด จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง

“แต่การเลือกตั้งเป็นสิทธิ์ของประชาชน เราก็ควรออกไปใช้ ถ้าออกกันไปเยอะๆ เรากำหนดทิศทางของบ้านเมืองได้ ผมเลือกจากนโยบายและคน เราเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้น มันเห็นว่าใครพูดอะไรทำอะไรมาบ้าง ตัวเองไม่ได้ติดตามทุกพรรค เท่าที่รู้นะ พรรคของคุณดํารงค์ พิเดช ก็ให้ความสนใจกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรืออย่างนโยบายกัญชาของหลายๆ พรรคก็น่าสนใจ แต่ประชาชนคงทำได้ยาก นโยบายที่สามารถปลูกต้นไม้หวงห้ามในพื้นที่ตัวเองได้อย่างถูกกฎหมาย ถ้าทำได้จริงก็โอเค”

“เลือกตั้งมาหลายครั้ง เคยรู้สึกว่าพรรคไหน นโยบายไหน ช่วยให้ชีวิตดีขึ้นบ้างไหม”

“ผมว่าชีวิตไม่ได้ดีขึ้นจากการเมืองเท่าไร มันดีเพราะเราดิ้นรนมากกว่า หลายปีที่ผ่านมาการเมืองก็เป็นแบบเดิม อย่างคนพิการเรียกร้องขนส่งสาธารณะมานาน ทั้งที่กฎหมายระบุไว้ชัดเจน แต่ปัจจุบันก็ยังเรียกร้องเหมือนเดิม”

-3-

อายุ 48 ปี

มอเตอร์ไซค์รับจ้าง

“ผมยังไม่เคยเลือกตั้งสักครั้งเลย ไม่ค่อยมีเวลา แล้วเลือกมาก็เจออะไรเดิมๆ เลยไม่อยากไป แต่ครั้งนี้ไม่ไหวแล้ว เศรษฐกิจแย่ รายได้ลดลง ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ดีเลย เมื่อก่อนบ้านผมยางกิโลละ 100 บาท ปาล์มกิโลละ 5-6 บาท เดี๋ยวนี้ยาง 3 กิโลไม่ถึง 100 บาทเลย ส่วนปาล์มกิโลละ 2.40 บาท ผมต้องการการเปลี่ยนแปลง อยากให้เศรษฐกิจดีขึ้น คนบ้านผม (นครศรีธรรมราช) เลือกพรรคประชาธิปัตย์มาตลอด แต่ครั้งนี้ว่าจะเปลี่ยนคนอื่นแล้ว”

“คุณอยากได้พรรคแบบไหนมาบริหารประเทศ ไม่ต้องบอกพรรคก็ได้นะ”

“ผมคงเลือกอนาคตใหม่ พูดไปเลยละกัน นโยบายน่าสนใจ”

-4-

อายุ 50 ปี

มอเตอร์ไซค์รับจ้าง

“เลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้แตกต่างกับทุกครั้งหรอก แต่พวกเขามาทำให้แตกต่างเอง แต่ก่อนเลือกสองใบ ใบนึงพรรค ใบนึงคน ตอนนี้เหลือใบเดียว ทำให้ประชาชนสับสน เป็นเกมการเมือง ผมชอบอยู่พรรคเดียว เพื่อไทย สุเทพสร้างความเดือดร้อนกันเป็นแถบ ใครเป็นก็กินทั้งนั้นแหละ คุณว่าจริงไหม ทำไมคนภาคอีสานถึงชอบทักษิณ นโยบายของเขาช่วยเหลือชาวบ้านจริงๆ โอท็อป กองทุนหมู่บ้าน พรรคที่หาเสียงเรื่องกัญชา เนี่ย (ชี้ไปที่ป้ายหาเสียงข้างทาง) ไม่รู้ว่าหาเสียงออกมาแบบนี้ ถึงเวลาจริงๆ จะทำได้เหรอ มันไกลตัวเกินไป น่าจะคิดนโยบายที่ใกล้ตัว ปากท้องประชาชน แก้ปัญหารถติด สวัสดิการต่างๆ เรื่องการเมืองอยู่ใกล้ตัวเรานะ เพียงแค่เราจะชอบหรือไม่ชอบเท่านั้นแหละ”

“การเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญยังไง”

“หูย (ลากเสียงสูง) สำคัญสำหรับพวกมันแหละ นักการเมืองมาแย่งอำนาจกัน แต่ผมไปใช้สิทธิ์ตลอดนะ ครั้งนี้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์นอกเขต บางครั้งก็กลับศรีสะเกษ เลือก ส.ส. เลือก อบต. เลือกผู้ใหญ่บ้าน บางครั้งไปช่วยเพื่อนที่ลงสมัคร บางทีก็ได้เงินด้วย เอาจริงๆ เงินแค่ไม่กี่ร้อย แค่ค่ารถก็ไม่คุ้มแล้ว แต่เหมือนเราได้กลับไปเยี่ยมบ้านมากกว่า”

-5-

อายุ 20 ปี

นักศึกษา

“ผมจะได้เลือกตั้งเป็นครั้งแรก ตื่นเต้นนะ ที่ผ่านมาคุยเรื่องนโยบายกับแม่บ้าง คุยกับเพื่อนบ้าง ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผมอยากได้พรรคการเมืองใหม่ๆ ไม่ใช่ว่าพรรคเก่าๆ ไม่ดีนะ แต่ถ้าพรรคเก่าๆ ได้ พรรคการเมืองเก่าๆ อีกพรรคก็เอาเรื่องเก่าๆ มาตีกัน เลยเปลี่ยนไปเลยดีกว่า แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา ถึงจะถูกกฎหมาย แต่ไม่มีความยุติธรรม เขามี 250 เสียงตุนไว้ก่อนแล้ว เลือกแล้วต้องไปลุ้นในสภาอีก แล้วสุดท้ายไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญจะได้รับการแก้ไขหรือเปล่าด้วย

“ผมมองว่าคนเลือกตั้งเป็นครั้งแรกมีส่วนกับการเปลี่ยนแปลงพอสมควร เราได้รับข่าวสารจากโซเชียลมีเดีย เห็นเยอะขึ้น เห็นกว้างขึ้น เห็นสิ่งที่ไม่มีในทีวี ถ้าเป็นการทุจริต ทีวีจะนำเสนอบางส่วน พยายามทำตัวเป็นกลาง แต่โซเชียลมีเดียขุดข้อมูลมาคุยกัน เช่น เรื่อง ส.ว. 250 เสียงมีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรี เรื่องนาฬิการัฐมนตรี เรื่องตู้กดน้ำราคาแพงที่ไม่มีคุณภาพ เรื่องเครื่องติ๊ดบัตรรถเมล์ที่เสียเงินเป็นพันล้านแล้วใช้ไม่ได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นจะเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย”

-6-

อายุ 35 ปี

เจ้าของสำนักพิมพ์ P.S. Publishing

“ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง เราจะกลับไปเลือกที่ราชบุรี แต่ครั้งนี้ใกล้กับงานหนังสือ เราทำสำนักพิมพ์ ต้องเตรียมตัวออกบูธ เลยลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไว้ ครั้งที่แล้วรู้สึกว่าเสียงตัวเองมีความหมายประมาณนึง แต่ครั้งนี้ห่างหายจากการออกเสียงมานาน มันเลยสำคัญมาก เราถูกล้มกติกา ก่อนหน้านี้รู้สึกว่าเป็นหน้าที่พลเมืองตามกฎหมาย กากบาทเพื่อเลือกตัวแทน แต่ครั้งนี้รู้สึกว่าเป็นการต่อสู้ เป็นการยืนยันในเสียงของตัวเองว่าไม่เอาเผด็จการ

“เราหวังให้เสียงตัวเองพลิกผลได้ หวังให้พรรคที่อยู่ฝั่งประชาธิปไตยมีเสียงมากพอ ไม่ว่าเขาจะมีเสียงตุนในมือเท่าไร แม้ความหวังจะน้อยเต็มที แต่เรามีความหวัง ไม่อย่างนั้นเราจะอยู่กันยังไง ไม่มีความหวังมา 5 ปีแล้วนะ ก็ขอหวังหน่อยแล้วกัน เราต้องการพรรคการเมืองที่มีวิสัยทัศน์เข้ากับโลกในยุคนี้ ทั้งความคิดสร้างสรรค์ การต่อยอด นวัตกรรม วัฒนธรรม กิจกรรม ควรไปได้กับโลกยุคนี้”

“เวลาพูดถึงการเลือกตั้ง มักมีคนพูดว่า ควรเลือกคนดีมาบริหารประเทศ มองเรื่องนี้ยังไง”

“(หัวเราะ) ความดีวัดยังไง เราไม่เลือกคนดีนะ อย่างการเลือกเพื่อนร่วมงาน เราไม่ได้เลือกว่าใครเป็นคนดี แต่เราเลือกที่ฟังก์ชัน เราอยากมีเพื่อนร่วมงานทำงานเก่ง ไม่เอาเปรียบกัน มีความคิดสร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบ สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นคนดีไหม ถ้าเพื่อนร่วมงานไม่ใช่คนเข้าวัดล่ะ”

“ถ้านักการเมืองล่ะ”

“เราเลือกจากนโยบาย สิ่งที่เห็นจากอดีต เคยพูดอะไรไว้ ทำได้ไหม เอาจริงๆ คุณไม่มีทางรู้ว่าใครไม่โกง เลยต้องมีระบบการตรวจสอบที่เชื่อถือได้ ระบบรัฐสภาก็มีฝ่ายค้าน แล้วเราล้มกระดานได้ ไม่ใช่ระบบที่ไม่มีปากเสียงได้เลย”

“ไม่ได้เชื่อใครอย่างภักดี”

“ใช่ๆ (ตอบทันที) เราไม่เชื่อใคร ถ้าแฟนไม่ดี เรายังไม่ภักดีเลย เพื่อนขี้โกง เรายังเลิกคบเลย แล้วนักการเมืองเป็นใคร เจอกันสี่ปี ผลงานเป็นการประเมินตัวเอง ถ้ารู้ว่าไม่ดีก็เปลี่ยนสิ”

“ใครๆ ก็พูดว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไม่ดี ในความรู้สึกของคนทำหนังสือ มันกระทบชีวิตขนาดนั้นไหม”

“มันกระทบนะ ชีวิตประจำวันต้องกินข้าว แต่คุณไม่ซื้อหนังสือก็ได้ มันคือสื่อบันเทิง คือความคิดสร้างสรรค์ที่ต่อยอดมาจากการบริโภคในชีวิตประจำวัน ต้องให้เงินในกระเป๋าเหลือมากพอ ถึงจะใช้จ่ายกับหนัง เพลง หนังสือ ดังนั้นเศรษฐกิจไม่ดี มันกระทบอยู่แล้ว”

-7-

อายุ 42 ปี

พนักงานร้านกาแฟ Gallery กาแฟดริป

“เราเบื่อการเมืองนะ เยอะพรรค เยอะพวก เยอะสิ่ง ไม่ได้รู้สึกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้แตกต่างจากทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา ไม่ได้รู้สึกว่าการเลือกตั้งมีผลต่อชีวิตตัวเอง เลือกไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เป็นเรื่องของพวกเขามากกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคใหม่ๆ เยอะขึ้น น่าจะมีความวุ่นวายเยอะแยะ เราแทบไม่ได้คุยเรื่องการเมืองกับคนรอบตัว ไม่ค่อยได้สังเกตนโยบายพรรคไหนเป็นพิเศษ ถ้าเห็นบ่อยสุดก็เรื่องกัญชา ในทางการแพทย์ก็ดีนะ แต่ไม่รู้จะทำได้จริงไหม ถึงจะเบื่อการเมือง แต่เราออกไปใช้สิทธิ์ตลอด ครั้งนี้ก็ไป คงออกไปกาว่าไม่ลงคะแนนให้พรรคไหน”

-8-

อายุ 26 ปี

นักเขียนฟรีแลนซ์

“เราเป็นคนไม่สนใจการเมือง แต่เพื่อนรอบตัวสนใจการเลือกตั้งครั้งนี้กันมาก ยุคนี้เป็นยุคโซเชียลมีเดีย แต่ละพรรคใช้เครื่องมือนี้มาสื่อสาร สร้างกระแส ทำให้เกิดการแชร์ หลายคนตื่นเต้นกับการเลือกตั้ง ติดตามข่าวสาร คนอยู่ต่างจังหวัดก็อยากกลับไปเลือก ขนาดเราไม่ค่อยสนใจยังผ่านตาเลย ทั้งจากเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม โซเชียลมีเดียต่างๆ อย่าง #ฟ้ารักพ่อ ก็กระแสแรงมาก รายการที่ชอบดูชวนนักการเมืองไปออก เราเลยได้ดู ทำให้รู้ทัศนคติ ตัวตน แต่ก่อนเป็นคนปิดกั้นเรื่องการเมือง ครั้งนี้รับรู้มากขึ้น เริ่มรู้สึกว่าการเมืองใกล้ตัวมากขึ้น การเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ไม่ได้สนใจ แต่ครั้งนี้รู้สึกว่ามันคงสำคัญมั้ง (หัวเราะ) ถ้าไม่ออกไปใช้สิทธิ การเมืองก็จะเป็นแบบเดิมๆ”

“คำว่าแบบเดิมคือยังไง”

“แบบเดิมก็ประยุทธ์ เราไม่ค่อยชอบประยุทธ์น่ะ”

Tags: