การเลือกตั้งครั้งแรกในรอบหลายปีของประเทศไทยที่กำลังจะมาถึง ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ไม่ว่าจะเชียร์ข้างไหนก็ล้วนต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

สารพัดประเด็นที่ทำให้มีข้อถกเถียงใหม่เกิดขึ้นได้ทุกวัน ทั้งการนับคะแนนแบบแบ่งสรรปันส่วนที่กลายเป็นการทบทวนวิชาคณิตศาสตร์ของใครหลายคน ทั้งการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ได้แนะนำศัพท์รัฐศาสตร์อย่าง Gerrymandering ให้กับสังคมไทย หรือรูปแบบบัตรเลือกตั้งที่จะให้ระบุเบอร์ โลโก้พรรคหรือชื่อผู้สมัครก็กลายมาเป็นประเด็นที่พูดถึงกัน

สำหรับประเด็นเรื่องบัตรเลือกตั้ง หรือรูปแบบการลงคะแนนนั้น แม้ว่าหลายคนมองว่าน่าจะไม่มีผลต่อคะแนนเสียงมากนัก แต่ในหลายประเทศเคยมีการศึกษาถึงผลของ ‘วิธีการลงคะแนนเสียง’ ว่าอาจจะมีผลอย่างมากต่อผลคะแนนเสียงได้

บทความนี้ขออธิบายถึงการเลือกตั้งของบราซิลที่มีการนำการลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้และส่งผลต่อการเลือกตั้งอย่างมาก โดยข้อมูลทั้งหมดนำมาจากงานศึกษาของ โทมัส ฟูจิวาระ (Thomas Fujiwara) แห่งมหาวิทยาลัยเยล ในบทความที่ชื่อ Voting Technology, Political Responsiveness and Infant Health Evidence from Brazil

ในช่วงทศวรรษ 1990 บราซิลมีประชากรที่ยังไม่รู้หนังสือราวร้อยละ 23 ในขณะที่รูปแบบการเลือกตั้งยังมีความยุ่งยากในการลงคะแนน โดยผู้ลงคะแนนจำเป็นต้องกรอกเบอร์ของผู้ที่ต้องการเลือก (ดูภาพประกอบด้านล่าง) และบางครั้งในการเลือกตั้งมีผู้ลงสมัครรับการเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก ยิ่งในการเลือกตั้งทั่วไประดับประเทศที่จะเลือกตั้งพร้อมกันในหลายระดับ การกำหนดเบอร์มีความซับซ้อนจนเบอร์ผู้สมัครอาจจะมากถึงห้าหรือหกหลัก จนทำให้เกิดความสับสนกับผู้ลงคะแนนอยู่เสมอๆ จำนวนบัตรเสียและการงดออกเสียงจึงมีสัดส่วนสูงมาก เช่นเดียวกับการลงคะแนนผิดพลาดให้ผู้สมัครคนที่ไม่ได้ตั้งใจจะเลือกก็คงมีไม่น้อยเช่นกัน

บัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแบบเดิม (ที่มา Fujiwara (2015))

ระบบการลงคะแนนเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์จึงถูกนำมาใช้เพื่อลดความสับสนดังกล่าว โดยออกแบบให้มีรูปแบบการใช้งานที่ง่ายขึ้น มีรูปและชื่อของผู้รับสมัครปรากฏชัดเจนบนหน้าจอ โดยระบบนี้ถูกมาใช้ครั้งแรกในการเลือกตั้งในปี 1998 แต่เฉพาะเขตที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่า 40,500 คนขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งคิดเป็นราวๆ ครึ่งหนึ่งของเขตการเลือกตั้งทั้งประเทศ ก่อนจะนำมาใช้ทั่วประเทศในการเลือกตั้งครั้งถัดมาในปี 2002

หน้าจอสำหรับการลงคะแนนเสียงแบบอิเล็กทรอนิกส์ (ที่มา Fujiwara (2015))

ฟูจิวาระได้ใช้วิธีการวิเคราะห์ที่เรียกว่า Regression Discontinuity Design โดยพิจารณาเขตเลือกตั้งที่มีจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงใกล้เคียงกับ 40,500 คน ผ่านการเลือกตั้งสามครั้ง โดยในการเลือกตั้งปี 1994 ทุกเขตเลือกตั้งยังคงใช้ระบบกระดาษแบบเดิม ต่อมาในปี 1998 เขตเลือกตั้งที่มีประชากรมากกว่า 40,500 คนจะเปลี่ยนไปใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่เขตการเลือกตั้งที่เหลือยังคงต้องใช้ระบบเดิมต่อไป จนกระทั่งในการเลือกตั้งปี 2002 เขตเลือกตั้งทั้งหมดก็เปลี่ยนมาใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เหมือนกันทั่วประเทศ

เจ้าหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้งสาธิตวิธีใช้เครื่องลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีบราซิลในวันที่ 27 ตุลาคม 2002 (ภาพถ่ายเมื่อ 16 ตุลาคม 2002 โดย EVARISTO SA / AFP)

ดังนั้นหากเขตเลือกตั้งใดในปี 1998 มีผู้มีสิทธิลงคะแนน 40,499 คน ก็ต้องลงคะแนนเสียงแบบกระดาษ หากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเพียงคนเดียว ก็จะได้ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ การวิเคราะห์ด้วยวิธีนี้จะยืนอยู่บนสมมติฐานที่ว่า เขตการเลือกตั้งที่อยู่ใกล้ๆ เส้น 40,500 คนนี้ มักจะมีลักษณะพื้นฐานคล้ายๆ กัน หากการเลือกตั้งที่ออกมาในปี 1998 แตกต่างกัน ก็แสดงว่ามาจากรูปแบบการลงคะแนนที่ไม่เหมือนกัน  

 

ที่มา: Fujiwara (2015)

ภาพประกอบแสดงสัดส่วนบัตรดีต่อจำนวนผู้มาลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งทั้งสามครั้ง โดยจุดต่างๆ คำนวณจากค่าเฉลี่ยของเขตเลือกตั้งที่มีจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงใกล้เคียงกัน ในการเลือกตั้งปี 1994  ที่ทั้งประเทศบราซิลยังใช้การลงคะแนนระบบกระดาษ พบว่าจำนวนบัตรเสียต่อผู้มาลงคะแนนยังอยู่ในระดับสูง โดยมีบัตรดีเพียงร้อยละ 60-70 แต่พอการเลือกตั้งปี 1998 เขตเลือกตั้งที่ยังคงใช้บัตรกระดาษมีสัดส่วนบัตรดีไม่ถึงร้อยละ 80 ในขณะที่เขตเลือกตั้งที่เปลี่ยนเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์มีสัดส่วนบัตรดีสูงถึงเกือบร้อยละ 90

จากที่เคยมีสัดส่วนบัตรเสียไม่แตกต่างกันในการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน ด้วยวิธีการเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เขตเลือกตั้งที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มีสัดส่วนบัตรเสียลดลงถึงราวร้อยละ 10

ในการเลือกตั้งครั้งถัดมาในปี 2002 เมื่อทุกเขตเลือกตั้งเปลี่ยนมาใช้การเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์เหมือนกันหมด จำนวนสัดส่วนบัตรดีก็กลับมาเท่ากันอีกครั้ง ข้อสรุปของงานวิจัยนี้จึงค่อนข้างชัดเจนว่าระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ช่วยลดความผิดพลาดในการลงคะแนนเสียงได้จริงๆ

นอกจากนี้ผู้วิจัยยังได้ใช้วิธีการวิเคราะห์แบบเดียวกัน เพื่อชี้ให้เห็นว่าในเขตเลือกตั้งที่มีสัดส่วนคนไม่รู้หนังสือมากและมีรายได้เฉลี่ยต่ำ ผลของการลดลงของบัตรเสียจะยิ่งเยอะ และการเพิ่มขึ้นของคะแนนเสียงที่เลือกพรรคฝ่ายซ้ายเน้นด้านสวัสดิการก็จะเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าคะแนนเสียงเหล่านี้ก่อนหน้านี้มีการลงคะแนนที่ผิดพลาดหรือบัตรเสีย

ในการเลือกตั้งปี 2002 ที่ใช้การลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด หลุยส์ อินาซิโอ ลูลา (Luiz Inácio Lula) จากพรรคแรงงานก็พลิกเอาชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงสูงถึงร้อยละ 61 กลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากพรรคแรงงาน และทางพรรคเองก็เอาชนะการเลือกตั้งมาได้โดยตลอดจนกระทั่งการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในเดือนตุลาคม 2018 ที่ผ่านมา ที่นายชาอีร์ โบลโซนาโร (Jair Bolsonaro) จากพรรค Social Liberal Party กลับมาเอาชนะได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เปลี่ยนระบบการลงคะแนนเสียง

สุดท้ายผู้วิจัยยังพิจารณาถึงการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านระบบการเลือกตั้ง ผลก็คือเขตเลือกตั้งที่มีการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในปี 1998 รัฐบาลท้องถิ่นจะเพิ่มรายจ่ายงบประมาณด้านสาธารณสุขมากขึ้นกว่าเขตเลือกตั้งที่ใช้บัตรเลือกตั้งกระดาษ  และความแตกต่างกันนี้ก็หายไปหลังจากการเลือกตั้งปี 2002 เช่นกัน

ซึ่งผู้วิจัยวิเคราะห์ว่านโยบายด้านสาธารณสุขนั้นเป็นนโยบายที่ตอบสนองผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเมื่อเสียงของคนกลุ่มนี้ถูกแสดงออกมากขึ้นผ่านการเลือกตั้ง เช่นมีตัวแทนเข้าในองค์กรปกครองท้องถิ่นมากขึ้นก็มีแนวโน้มว่ารัฐจะจัดสรรนโยบายมามากขึ้นเช่นกัน ในภาพรวมระดับประเทศ เมื่อรัฐบาลฝ่ายซ้ายขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ได้มีนโยบายที่มุ่งช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มขึ้น รวมถึงเงินช่วยเหลือคนจนอย่างโครงการบอลซ่า แฟมิเลียอันโด่งดังด้วย

การนำระบบการเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ กลายเป็นผลงานที่ทำให้ผู้จัดการเลือกตั้งของบราซิลได้รับเสียงชื่นชมในระดับโลก เพราะสามารถทำให้การเลือกตั้งเป็นสามารถสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้ อย่างมีความผิดพลาดน้อยที่สุด

 

อ้างอิง

  • Fujiwara, T. (2015). Voting technology, political responsiveness, and infant health: Evidence from Brazil. Econometrica83(2), 423-464.

บรรยายภาพเปิด: เจ้าหน้าที่ในศูนย์อำนวยการเลือกตั้งที่เมืองริโอ เด จาเนโร ตรวจเช็คเครื่องลงคะแนนเลือกตั้ง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 4 ตุลาคม 1998 (ภาพถ่ายเมื่อ 30 กันยายน 1998 โดย ANTONIO SCORZA / AFP)

Fact Box

  • อดีตประธานาธิบดีหลุยส์ อินาซิโอ ลูลา ชนะการเลือกตั้ง 2 ครั้ง และอยู่ในตำแหน่งระหว่างปี 2003-2010 แต่ปัจจุบันถูกตัดสินจำคุกจากคดีทุจริตในช่วงที่ดำรงตำแหน่งฯ จึงไม่สามารถลงสมัครเข้ารับเลือกตั้งครั้งล่าสุดได้ โดยทางผู้สนับสนุนพรรคแรงงานมองว่าคดีดังกล่าวเป็นเรื่องทางการเมืองมากกว่า เพราะยังไม่มีหลักฐานที่สามารถชี้ชัดถึงความผิดเขาได้
  • อดีตประธานาธิบดีจิลมา รูสเซฟฟ์ (Dilma Vana Rousseff) ทายาททางการเมืองของลูลาจากพรรคเดียวกัน ก็ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2010 และ 2014 แต่โดนรัฐสภาถอดถอนจากตำแหน่งในปี 2016 ด้วยข้อหาทุจริตและการบิดเบือนข้อมูลการเงินการคลังของประเทศ  
  • อย่างไรก็ตาม โครงการสวัสดิการต่างๆก็ทำให้รายจ่ายของรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจและการส่งออกที่ซบเซาทำให้รายได้ของรัฐบาลก็ลดน้อยลง หนี้สาธารณะของรัฐบาลจากที่เคยอยู่ที่ระดับร้อยละ 65 ต่อ GDP ในปี 2000 ก็เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 98 ต่อ GDP ในปี 2017
Tags: ,