เคยได้ยินที่คนพูดกันว่า คนนั้นคนนี้ดูเฉยๆ ก็ไม่สวยไม่หล่อเท่าไหร่ แต่ด้วยเหตุผลกลใดไม่รู้ พออ้าปากร้องเพลงเท่านั้น ทำไมถึงได้ดูสวยหล่อ และดู ‘เซ็กซี่’ ขึ้นมาได้

เรื่องทำนองนี้ทำให้เกิดเหตุการณ์ ‘ติดนักร้อง’ จนชินตา จากแม่ยกสมัยก่อนมาเป็นติ่ง และปัจจุบันกลายเป็นโอตะ ทั้งที่บางทีพอจับนักร้องน้องรักคนนั้นๆ ออกมาอยู่ในแสงสว่างยามกลางวัน ให้เขาหรือเธอทำท่าธรรมดาๆ ไม่ได้ยืนเท่เก๋เซ็กซี่ครวญเพลงอยู่บนเวที หลายครั้งหลายคนยังบอกว่าตัวเองยังหล่อสวยกว่าเสียด้วยซ้ำ

เรื่องนี้เป็น ‘มนต์ขลัง’ ของตัว ‘เสียง’ ล้วนๆ หรือว่ามันมีปัจจัยความเซ็กซี่อื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย หลายคนอาจสงสัย

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อนะครับ ว่านักวิชาการฝรั่งเขาก็สงสัยอะไรแบบนี้เหมือนกัน ถึงขัั้นจับคนมาทำวิจัย แล้วเรียบเรียงออกมาเป็นบทความวิชาการที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Evolution and Human Behavior ตั้งแต่ปี 2004 โน่นแล้ว โดยบทความที่ว่าสนุกมาก เพราะมันคือการ ‘จับคู่’ ระหว่าง ‘เสียง’ ที่ดึงดูดใจ (จริงๆ รวมไปถึงเสียงพูดด้วยนะครับ แต่เน้นไปที่เสียงร้องเป็นหลัก) กับพฤติกรรมทางเพศและรูปร่างหน้าตา เพื่อดูว่าปัจจัยอะไรบ้างหนอ ถึงทำให้นักร้องเซ็กซี่ได้

บทความนี้มีชื่อว่า ‘Ratings of Voice Attractiveness Predict Sexual Behaviour and Body Configuration’ เป็นงานของคุณซูซาน ฮิวจส์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์กในอัลบานี ใครสนใจเข้าไปอ่านฉบับเต็มๆ ได้ที่นี่ เพราะการวิเคราะห์อย่างละเอียดยิบนั้นอ่านสนุกมาก

อย่างไรก็ตาม ถ้าใครไม่อยากอ่านกราฟอ่านตาราง ก็ตามผมมานะครับ จะสรุปให้ฟัง

ก่อนอื่น อยากให้คุณรู้จักคำสำคัญสองคำเสียก่อน มันเป็นศัพท์ทางวิชาการนี่แหละครับ แต่เป็นศัพท์ที่จะเรียกว่าเอาไว้วัดความเซ็กซี่ก็พอได้ เพราะมันคือการวัดสัดส่วนของร่างกายสองแบบ แบบแรกคือ Waist-to-hip Ratio (หรือ WHR) ซึ่งเป็นการวัดอัตราส่วนความต่างระหว่างเอวกับสะโพก (ไม่ใช่ระยะห่างนะครับ แต่เป็นความใหญ่เล็ก เช่น เอวเล็ก สะโพกใหญ่ อะไรทำนองนั้น) กับอีกอันหนึ่งคือ Shoulder-to-hip Ratio หรือ SHR ซึ่งก็วัดคล้ายๆ กัน แต่เทียบความต่างระหว่างไหล่กับเอว

ที่จริง WHR กับ SHR นี่ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่นะครับ เขาบอกว่า ผู้หญิงที่เป็นที่ดึงดูดใจหรือเซ็กซี่มากกว่า ก็จะมี WHR น้อย พูดง่ายๆ ก็คือ เอวเล็กสะโพกใหญ่นั่นแหละ ส่วนผู้ชายที่มีเสน่ห์ดึงดูดใจ ก็มักจะมีค่า SHR สูง คือไหล่กว้างน่าซบแต่เอวคอด

แล้ว WHR กับ SHR เกี่ยวอะไรกับการทดลองเรื่องเสียง?

นักวิจัยเขาให้ผู้เข้าร่วมทดลอง (ซึ่งก็เป็นนักศึกษานี่แหละครับ) มาบันทึกเสียงของตัวเอง โดยผู้เข้าร่วมทดลองเป็นหญิง 76 คน เป็นชาย 70 คน โดยการบันทึกเสียงนั้นทำง่ายๆ ไม่ได้ให้ร้องเพลงอะไรนะครับ แต่นับหนึ่งถึงสิบ แล้วจากนั้นก็ให้มาฟังเสียงของคนอื่น แล้วจัดลำดับความน่าดึงดูดใจของเสียงออกมาเป็นคะแนนจาก 1 ถึง 5 โดยคะแนนน้อยก็คือเซ็กซี่น้อย คะแนนมากก็เซ็กซี่มาก (โดยไม่ได้เห็นหน้านะครับ) โดยแต่ละเสียงจะถูกประเมินราวๆ 12 บวกลบ 2 ครั้ง แบ่งเป็นการประเมินจากผู้ชายผู้หญิงเท่าๆ กัน แล้วก็เอมาประมาณค่า

ผู้หญิงที่เป็นที่ดึงดูดใจหรือเซ็กซี่มากกว่า ก็จะมี WHR น้อย พูดง่ายๆ ก็คือ เอวเล็กสะโพกใหญ่นั่นแหละ ส่วนผู้ชายที่มีเสน่ห์ดึงดูดใจ ก็มักจะมีค่า SHR สูง คือไหล่กว้างน่าซบแต่เอวคอด

แต่แค่นี้ยังไม่พอ เพราะเรายังไม่รู้เรื่องพฤติกรรมทางเพศของกลุ่มผู้เข้าร่วมทดลองเลย ดังนั้น นักวิจัยเลยทำสองอย่าง อย่างแรกก็คือให้วัดค่า WHR และ SHR เพื่อประเมินความเซ็กซี่ของร่างกายออกมาเป็นตัวเลข จากนั้นก็วัดค่าความอ้วนคือ คือดูค่า BMI หรือ Body Mass Index รวมไปถึง ‘นนสส’ หรือน้ำหนักและส่วนสูง

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ จะมีการทำแบบสอบถามแบบนิรนาม คือไม่รู้ว่าใครเป็นคนตอบนะครับ เพราะคำถามในแบบสอบถามจะถามเรื่องเพศล้วนๆ เช่น เคยสำเร็จความใคร่ครั้งแรกในชีวิตตอนอายุเท่าไร (ทั้งหญิงและชายมีค่าเฉลี่ยของการเริ่มสำเร็จความใคร่พอๆ กัน คือตอนอายุราว 13 ขวบกว่าๆ) มีเซ็กซ์ครั้งแรกตอนอายุเท่าไหร่ (อันนี้พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงมีก่อนนะครับ คือที่อายุ 16.82 ปี แต่ผู้ชายมีตอนอายุ 16.94 ปี) แล้วก็ถามซอกแซกไปถึงคู่นอนหรือ Sexual Partner ว่ามีอยู่กี่คน แล้วคู่นอนที่เป็น Extra-Pair Copulation หรือ EPC (ซึ่งก็คือคู่นอนแบบชั่วครั้งชั่วคราว) ว่ามีกี่คน อะไรทำนองนี้ เพื่อเอาข้อมูลตรงนี้มาประเมินเรื่องความเซ็กซี่และชีวิตทางเพศ

ผลสรุปที่ได้น่าสนใจมากนะครับ อย่างเช่น เขาพบว่า ผู้ชายที่มีค่า SHR สูง (คือไหล่กว้างเอวคอด) ปรากฏว่ามักจะมีเสียงที่ถูกให้คะแนนว่าเซ็กซี่ทั้งจากผู้หญิงและผู้ชายเลย

ผู้หญิงก็เหมือนกัน ผลที่ได้บอกว่า ผู้หญิงที่มีค่า WHR ต่ำ คือเอวเล็กสะโพกใหญ่ จะได้คะแนนเสียงเซ็กซี่มากกว่า ในขณะที่ค่า BMI ไม่ค่อยสัมพันธ์อะไรกับความเซ็กซี่ของเสียงนัก (เขาอธิบายว่า เพราะค่า BMI นี่ มันบอกถึง ‘รูปร่าง’ ไม่ค่อยได้ คนที่กล้ามเยอะๆ น้ำหนักเยอะๆ อาจจะมีค่า BMI สูงได้เหมือนกัน แต่ปรากฏว่าหุ่นดี อะไรทำนองนี้)

อันนั้นคือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง ‘เสียง’ กับ ‘รูปร่าง’ นะครับ รู้ผลแล้วก็พักไว้ก่อน มาดูเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง ‘รูปร่าง’ กับ ‘พฤติกรรมทางเพศ’ บ้าง

เขาพบว่า ในผู้ชายที่มีค่า SHR สูงกว่า (คือไหล่กว้างเอวคอด) จะมี ‘สหสัมพันธ์’ (คือ Correlation ซึ่งแปลว่ามีความสัมพันธ์กันแต่ยังยืนยันไม่ได้ว่าเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน) กับการมีเซ็กซ์ตั้งแต่อายุยังน้อย คือเริ่มมีเซ็กซ์ตอนอายุน้อยกว่า รวมไปถึงมีคู่นอนมากกว่า มี EPC เยอะกว่า และมีความสัมพันธ์เยอะกว่าด้วย

ส่วนผู้หญิงก็คล้ายๆ กัน คือผู้หญิงที่มี WHR ต่ำ (แปลว่าเอวเล็กสะโพกใหญ่) จะเริ่มมีเซ็กซ์เมื่ออายุน้อยกว่า มีจำนวนคู่นอนต่างๆ มากกว่า ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องเน้นว่ามันเป็นสหสัมพันธ์กันนะครับ ไม่ได้แปลว่าพอเป็นผู้หญิงเอวเล็กสะโพกใหญ่แล้วต้องเซ็กซ์จัดเสมอไป

ผ่านไปสองเรื่องแล้ว คือความสัมพันธ์ระหว่างเสียงกับรูปร่าง และรูปร่างกับพฤติกรรมทางเพศ คราวนี้ก็มาถึงความสัมพันธ์ของสิ่งที่เราตั้งข้อสงสัยไว้ตั้งแต่ต้นบ้าง นั่นคือความสัมพันธ์ระหว่าง ‘เสียง’ กับ ‘พฤติกรรมทางเพศ’

ไม่น่าประหลาดใจเลย ที่เขาพบว่า ทั้งชายและหญิงที่ถูกจัดอันดับให้มีเสียงที่เซ็กซี่นั้น จะเริ่มมีเซ็กซ์ที่อายุน้อยกว่า มีคู่นอนหลายๆ แบบมากกว่า และมีความสัมพันธ์มากกว่า

นักวิจัยพยายามอธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง ‘เสียง’ กับ ‘รูปร่าง’ ว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนระหว่างการเจริญเติบโตก็ได้ เพราะฮอร์โมนเพศนั้นส่งผลต่อทั้งรูปร่างและต่อโครงสร้างของเสียงในระหว่างวัยรุ่น โดยข้อสรุป (ที่ชวนถกเถียง) จากงานวิจัยนี้ก็คือ ‘เสียง’ กับเรื่องเซ็กซ์นั้นมีสหสัมพันธ์กัน

แต่นั่นก็เป็นเรื่องของเสียงพูด ไม่ใช่เสียงร้องเสียหน่อย คำถามก็คือ แล้วการร้องเพลงมันเกี่ยวข้องกับความเซ็กซี่ด้วยจริงไหม

ถ้าเราพิจารณาคำว่า ‘ความเซ็กซี่’ ในแง่วิวัฒนาการ เราจะพบว่าความเซ็กซี่ก็คือคุณสมบัติในอันที่จะทำให้คนคนหนึ่งมีโอกาสได้ถ่ายทอดพันธุกรรมของตัวเองต่อไปในรุ่นลูกด้วยการร่วมเพศ เพราะคนที่เซ็กซี่กว่า แปลว่าเป็นคนที่ดึงดูดใจคนอื่น (Attractive) มากกว่า

ชายและหญิงที่ถูกจัดอันดับให้มีเสียงที่เซ็กซี่นั้น จะเริ่มมีเซ็กซ์ที่อายุน้อยกว่า มีคู่นอนหลายๆ แบบมากกว่า

แล้ว ‘เสียง’ เกี่ยวอะไรกับความเซ็กซี่ด้วย?

งานวิจัยข้างต้นทำให้เรารู้ว่า ลำพังเสียงอย่างเดียวไม่ได้เซ็กซี่ขนาดนั้น แต่มันมักจะประกอบเข้ากับรูปร่างด้วย แต่ นักจิตวิทยาบางคนก็อธิบายว่า เสียงดึงดูดหรือเซ็กซี่นั้น มักจะมีสิ่งที่เรียกว่า Resonance หรือการก้องสะท้อนที่ทำให้ได้ยินไปไกลว่า และในยุคโบราณที่มนุษย์อยู่ในป่าในเขา เสียงที่ก้องสะท้อนกว่าย่อมแสดงถึงพละกำลังและอัตราการรอดชีวิตที่มากกว่า เนื่องจากสามารถสื่อสารกับคนในกลุ่มได้ไกลกว่า จึงเป็นไปได้ที่จะเกิด ‘การคัดเลือกทางเพศ’ (Sexual Selection) ผ่านการใช้เสียง

ที่สำคัญก็คือ ‘นักร้อง’ ทุกคน ต่างก็ได้รับการฝึกฝนเพื่อให้เสียงของตัวเอง ‘สื่อสาร’ ได้ดีขึ้น ทั้งพลังที่เกิดจากกล้ามเนื้อในร่างกาย รวมไปถึงความก้องสะท้อน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าคะแนนของเสียงอยู่ที่ 1 ถึง 5 การฝึกร้องเพลงก็อาจทำให้เราปรับปรุงวิธีร้องจาก 1 ไปเป็น 3 หรือ 4 ไปเป็น 5 ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะปรับเปลี่ยนเราจาก 1 กระโดดไป 5 เลยไม่ได้ เพราะมันคือสภาพของร่างกายตามธรรมชาติด้วย

ในแง่วิวัฒนาการนั้น นอกจากพละกำลังในการเปล่งเสียงแล้ว นักจิตวิทยาวิวัฒนาการอีกบางคนยังบอกด้วยว่า การเปล่งเสียงย่อมต้องสื่อสาร และการสื่อสารก็ต้องการความสร้างสรรค์ นั่นแปลว่าคนที่สามารถสื่อสารกับคนอื่นได้ดีกว่า ย่อมถูกคนในกลุ่มมองว่าเป็นคนที่ฉลาดกว่าด้วย ดังนั้นจึงน่าจะมีทักษะในการเอาตัวรอด (Basic Survival Skills) ที่ดีกว่าคนอื่นๆ

ด้วยเหตุนี้เอง การเปล่งเสียงร้องของนักร้อง จึงมีนัยแฝงเร้นที่พาเราย้อนกลับไปได้ถึงกระบวนการวิวัฒนาการอันไกลแสนไกล

รู้อย่างนี้แล้ว เวลาที่คุณกรี๊ดนักร้องคนไหน ก็ไม่ต้องประหลาดใจนะครับ ที่ยากจะอธิบายได้ว่าทำไมเราถึงหลงใหลในนักร้องคนนั้นๆ มากนัก เพราะในด้านหนึ่ง นี่คือ ‘แรงขับ’ ตามธรรมชาติที่เกิดอยู่กับเรามานานนับแสนๆ ปีนั่นเอง

Tags: , , , , , ,