วลาดีมีร์ ปูติน คือผู้กำหนดทิศทางและความเป็นไปของรัสเซียมานานร่วมสองทศวรรษ เป็นที่รักใคร่และชิงชังของประชาชนอย่างยากที่จะหาใครมาเปรียบเทียบ นี่คือลำดับภาพของผู้ชายจากครอบครัวสามัญชนที่ไต่เต้าขึ้นสู่จุดสูงสุดของประเทศมหาอำนาจ และสามารถยึดครองอำนาจทางการเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จ

+ วลาดีมีร์ ปูติน เกิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 1952 เป็นบุตรชายของพนักงานโรงงานในเลนินกราด ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

+ ปูตินสำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยของรัฐในเลนินกราดเมื่อปี 1975 และในปีเดียวกัน เขาก็เริ่มงานในฝ่ายต่างประเทศของเคจีบี หรือหน่วยราชการลับโซเวียตรัสเซีย

+ ปูตินเข้าเรียนต่อที่สถาบันของหน่วยราชการลับในกรุงมอสโกระหว่างปี 1985 ถึงปี 1990 เขาไปสอดแนมรัฐบาลเยอรมนีจากเมืองเดรสเดน (เยอรมนีตะวันออก) ให้กับสหภาพโซเวียต เขาเรียนและใช้ภาษาเยอรมันได้อย่างคล่องแคล่ว ต่อมาได้ส่งบุตรสาวทั้งสองคนเข้าเรียนในโรงเรียนเยอรมันในกรุงมอสโกด้วย เมื่อหมดภารกิจสอดแนม เขาเดินทางกลับรัสเซียมาเริ่มตำแหน่งงานที่สูงขึ้น ตั้งแต่หัวหน้าฝ่ายในหน่วยงานต่างๆ จนกระทั่งปี 1998 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการเอฟเอสบี-หน่วยราชการลับภายในประเทศ และประธานฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นกำลังเสริมทางการเมืองและทางกายภาพให้กับประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin)

+ วันที่ 9 สิงหาคม 1999 ประธานาธิบดีเยลต์ซินแต่งตั้งวลาดีมีร์ ปูติน ซึ่งขณะนั้นอายุ 46 ปี เป็นนายกรัฐมนตรีของรัสเซีย จนกลายเป็นคำถามของคนทั้งโลกในยามนั้นว่า ผู้ชายคนนี้เป็นใคร และเมื่อบอริส เยลต์ซิน ประกาศลาออกจากตำแหน่งในช่วงเทศกาลคริสต์มาสของปี 1999 วลาดีมีร์ ปูติน ก็ได้ครองตำแหน่งประธานาธิบดีตามกฎหมาย

+ สถานการณ์ในรัสเซียระหว่างนั้นกำลังคุกรุ่น วันที่ 1 ตุลาคม 1999 กองทัพรัสเซียนำกำลังบุกเข้าเชชเนีย ทำให้เกิดสงครามเชชเนียครั้งที่สอง ขณะเดียวกัน มีเหตุการณ์ก่อการร้ายเกิดขึ้นในย่านที่พักอาศัยใจกลางกรุงมอสโก เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 300 คน ซึ่งปูตินก็ตอบโต้ผู้ก่อการร้ายจากเชชเนียขั้นเด็ดขาด หมายจะให้เกิดความยำเกรง

+ การเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2000 วลาดีมีร์ ปูติน ได้คะแนนเสียงในรอบแรกสูงถึง 53 เปอร์เซ็นต์ ภายหลังเรื่องอื้อฉาวในช่วงการปกครองของบอริส เยลต์ซิน ชาวรัสเซียนส่วนใหญ่คาดหวังกับการเริ่มต้นใหม่ รัสเซียควรที่จะกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง ปูตินเองได้ให้คำมั่นว่าจะนำพาความสงบกลับสู่เชชเนีย จะปราบคอร์รัปชัน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมรัสเซีย ทว่าสิ่งที่เขาทำกลับกลายเป็นการสร้างความมั่นคงทางอำนาจของตนเอง เขาควบคุมสื่อ กำหนดให้ศาลอยู่ภายใต้การดูแลของเครมลิน ยกเลิกการเลือกตั้งตำแหน่งผู้ปกครองสาธารณรัฐ กดดันเจ้าของกิจการที่คิดต่างจากรัฐให้พ้นออกจากประเทศ หรือเล่นงานด้วยคดีความทางกฎหมาย

+ การควบคุมสื่อเริ่มต้นจาก…แรงกดดัน ทำให้เจ้าพ่อสื่อใหญ่ในรัสเซีย-วลาดิเมียร์ อเล็กซานโดรวิตช์ กูซินสกี (Vladimir Alexandrovich Gusinsky) ต้องขายกิจการสถานีโทรทัศน์ NTV ให้กับกัซพรอม (Gazprom) บริษัทพลังงานของรัฐ ทำให้รายการวิพากษ์วิจารณ์ปูตินทาง NTV จบสิ้นไป และต่อมากูซินสกีก็ผละออกจากรัสเซีย เจ้าพ่อสื่ออีกราย-บอริส เบเรซอฟสกี (Boris Berezovsky) ก็ต้องลี้ภัยไปอยู่ลอนดอน เมื่อถูกทางการออกหมายจับในเดือนตุลาคม 2001

+ สงครามรัสเซียในเชชเนียติดตามปูตินมาตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่งในวาระแรก เดือนตุลาคม 2002 นักรบเชชเนียจำนวน 41 คนถืออาวุธบุกยึดโรงละครนอร์ธ-อีสต์ในกรุงมอสโก และจับผู้คนกว่า 800 คนเป็นตัวประกัน พวกเขาเรียกร้องให้รัสเซียถอนกำลังออกจากเชชเนีย กระทั่งเหตุการณ์จบลงที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษของรัสเซียบุกยึดอาคารกลับคืน ส่งผลให้ตัวประกันเสียชีวิต 129 คน

+ รัฐบาลในเครมลินเดินตามเป้าหมาย โดยนำธุรกิจพลังงานที่แปรรูปเป็นของเอกชนภายใต้นโยบายของอดีตประธานาธิบดีเยลต์ชินกลับมาอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ ขณะเดียวกันก็กำจัดบรรดานักวิจารณ์ปูตินให้พ้นทาง มิคาอิล โคดอร์คอฟสกี (Michail Khodorkovsky) นายใหญ่ของบริษัทน้ำมันและชายที่ร่ำรวยที่สุดของรัสเซีย ถูกจับกุมตัวในเดือนตุลาคม 2003 และต่อมาถูกตัดสินจำคุกในค่ายแรงงานเป็นเวลา 9 ปี

+ ปูตินได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนมีนาคม 2004 ด้วยคะแนนเสียง 71 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากไม่มีคู่แข่งคนสำคัญ ผู้สังเกตการณ์จากต่างชาติไม่สามารถตรวจสอบความผิดพลาดจากการเลือกตั้งครั้งนั้นได้ แต่การควบคุมสื่อต่างๆ ของรัฐก็มีผลดีต่อปูติน ซึ่งเขาอธิบายเกี่ยวกับกลยุทธ์ด้านสื่อของเขาดังนี้ “เราต้องใช้นโยบายข้อมูลของตนเอง และการนี้ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญและเงิน”

+ ต้นเดือนกันยายน 2004 ผู้ก่อการร้ายชาวมุสลิมซึ่งเกี่ยวข้องกับสงครามเชชเนียครั้งที่สอง กักขังนักเรียนและผู้ปกครองกว่า 1,100 คนในโรงเรียนแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของเมืองเบสลาน หน่วยปฏิบัติการพิเศษของรัสเซียบุกเข้าโจมตีเพื่อชิงตัวประกัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 400 คน

+ มกราคม 2006 เครมลินสั่งปิดท่อส่งก๊าซหลังจากเกิดกรณีพิพาทกับยูเครน ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อต่อรองเงื่อนไขเรื่องราคาก๊าซ กระทั่งเคียฟต้องยอมอ่อนข้อในสามวันถัดมา มาตรการดังกล่าวถูกมองว่าเป็นบทลงโทษที่ไม่เป็นธรรมของปูติน ส่งผลให้กองกำลังปฏิรูปฝ่ายเป็นมิตรกับยุโรป ซึ่งก่อการปฏิวัติสีส้ม (Orange Revolution) เมื่อปลายปี 2005 สามารถเอาชนะนักการเมืองฝ่ายภักดีต่อมอสโกได้สำเร็จ

+ แอนนา โพลิตคอฟสคายา (Anna Politkovskaya) นักข่าวฝ่ายตรงข้ามเครมลิน ถูกยิงเสียชีวิตที่หน้าประตูอพาร์ตเมนต์ เธอเคยกล่าวหาปูตินว่าเป็น “ผู้ก่อการร้ายแห่งรัฐ” และไต่เต้าได้ดีมาจากการเป็น “นักสอดแนมของเคจีบี” ก่อนเสียชีวิต นักข่าววัย 48 ปีเขียนบทความเกี่ยวกับการทรมานในเชชเนีย กระทั่งสื่อนานาชาติโจมตีรัสเซียเรื่องเสรีภาพของการนำเสนอข่าว

+ ราวหนึ่งเดือนหลังจากแอนนา โพลิตคอฟสคายา ถูกลอบยิง อเล็กซานเดอร์ ลิตวิเนนโค (Alexander Litvinenko) นักวิจารณ์ปูตินและอดีตสายลับ ถูกวางยาด้วยสารโพโลเนียม 210 เสียชีวิตอย่างทรมานในลอนดอน ก่อนตาย เขาเขียนจดหมายฉบับหนึ่ง ระบุว่าหากมีอะไรเกิดขึ้นกับเขา ปูตินคือผู้รับผิดชอบ ปูตินปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ในภายหลัง          

+ ปลายฤดูร้อนปี 2007 ภาพถอดเสื้อโชว์แผงอกและหุ่นฟิตของปูติน ระหว่างเดินทางไปพักผ่อนในไซบีเรีย ปรากฏออกมาสร้างกระแสข่าว ขณะนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าปูตินจะเลือกบทบาทอะไรหลังพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีวาระที่สอง เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้เขานั่งตำแหน่งเดิมอีกครั้ง

+ วันที่ 1 ตุลาคม 2007 ปูตินประกาศแผนการครองอำนาจของตนเองว่าการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม เขาจะเป็นผู้สมัครในตำแหน่งผู้นำรัฐบาล พร้อมกันนั้นก็เสนอชื่อ ดมีตรี เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) อดีตประธานกรรมการบริษัทกัซพรอม สำหรับตำแหน่งประธานาธิบดี ในการเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2007 พรรคยูไนเต็ด รัสเซีย ของปูตินได้คะแนนถึงสองในสาม และในเดือนมีนาคม 2008 เมดเวเดฟก็ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วยคะแนนกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ รัฐสภาเลือกปูตินเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนน 87.1 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้น ปูตินยังได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคยูไนเต็ด รัสเซีย โดยที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค

+ ก่อนการเลือกตั้ง เครมลินใช้มาตรการเข้มงวดกับผู้ต่อต้าน การ์รี คาสปารอฟ (Garry Kasparov) อดีตแชมป์หมากรุก ถูกจับตัวในที่ชุมนุมประท้วงปูติน และถูกฝากขังเป็นเวลา 5 วัน

+ ในเดือนสิงหาคม 2008 จอร์เจีย-อดีตสาธารณรัฐหนึ่งในสหภาพโซเวียต พยายามยึดคืนพื้นที่อับคาเซียและเซาธ์ ออสเซเทีย กลับคืนเป็นของตน มอสโกจึงตอบโต้ด้วยการส่งกำลังพลบุกจอร์เจีย พื้นที่ดังกล่าวอยู่ภายใต้การสนับสนุนทางการทหารของรัสเซียมาตลอด หลังจากจอร์เจียประกาศตัวเป็นประเทศเอกราช

+ วิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 ทำให้ค่าเงินรูเบิลตกต่ำ ปูตินพยายามยับยั้งด้วยวิธีการตัดงบประมาณรายจ่าย

+ ดมีตรี เมดเวเดฟ ลงนามในการแก้รัฐธรรมนูญเมื่อเดือนพฤษภาคม 2010 ยืดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็น 6 ปี

+ ปี 2011 ปูตินเผยแผนการในอนาคตว่าเขาจะลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งใหม่ในตำแหน่งประธานาธิบดี และเมดเวเดฟในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

+ การเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2011 พรรคยูไนเต็ด รัสเซีย สูญเสียคะแนนไป 15 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งปี 2007 มีรายงานข่าวเกี่ยวกับการโกงเลือกตั้ง ในกรุงมอสโกมีการชุมนุมประท้วงของกลุ่มคนราว 50,000 คน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนมีการศึกษาในเมืองใหญ่เริ่มปันใจออกห่างปูติน เหลือก็เพียงกลุ่มคนรักชาติรุ่นเก่า

+ เดือนพฤษภาคม 2012 ปูตินได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งด้วยคะแนนกว่า 64 เปอร์เซ็นต์ ในคืนก่อนเข้ารับตำแหน่ง เกิดเหตุจลาจลขึ้นในกรุงมอสโก มีการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ในเวลาต่อมา กลุ่มผู้ประท้วงถูกตัดสินลงโทษ

+ ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2012 ปูตินกลับมาครองอำนาจในเครมลินอีกครั้ง และเมดเวเดฟในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การปฏิรูปตามแนวทางเสรีนิยมซึ่งเมดเวเดฟปูทางไว้จึงมีเหตุให้พลิกเปลี่ยน เมดเวเดฟเคยตอบรับและผ่อนปรนข้อเสนอขององค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนและองค์กรอิสระ บัดนี้ข้อเสนอต่างๆ ได้รับการปฏิเสธ องค์กรระหว่างประเทศอย่างกรีนพีซ หรือองค์กรสังเกตการณ์เลือกตั้ง ล้วนจดทะเบียนในฐานะเอเยนต์จากต่างชาติ เนื่องจากได้รับเงินสนับสนุนจากประเทศตะวันตก คำว่า ‘เอเยนต์’ ในรัสเซียมีความหมายไม่ต่างจากคำว่า ‘สายลับ’

+ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและรัสเซียในปี 2013 ส่อเค้าแย่ลง เมื่อเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน (Edward Snowden) นักเป่านกหวีดชาวอเมริกัน ออกมาเปิดเผยข้อมูลลับของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Agency: NSA) ซึ่งต่อมาเขาได้ยื่นเรื่องขอลี้ภัย และได้รับการตอบรับจากรัสเซีย

+ ในเดือนมิถุนายน 2013 ปูตินและภรรยา-ลุดมิลา ปูตินา (Lyudmila Putina) ประกาศข่าวการหย่าร้าง

+ แม้จะมีเสียงคัดค้านและการประท้วง ในเดือนมิถุนายน 2013 ปูตินก็ลงนามรับรองกฎหมายต่อต้านรักร่วมเพศ ซึ่งมีเนื้อหา เช่น หากใครแสดงออกในทางบวกต่อรักร่วมเพศ หรือมีรสนิยมแบบนี้ จะมีโทษปรับในอัตราสูง

+ เดือนธันวาคม 2013 ปูตินแสดงความปรานีต่อมิคาอิล โคดอร์คอฟสกี โดยสั่งปล่อยตัวจากที่คุมขังหลังจากต้องโทษมานาน 10 ปี และยินยอมให้เดินทางออกนอกประเทศ รวมถึงศิลปินวง Pussy Riot ซึ่งถูกจับในเดือนกุมภาพันธ์ 2012 ข้อหาก่อเหตุวุ่นวายในสังคม ก็ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระเช่นกัน

+ เดือนกุมภาพันธ์ 2014 เกิดเหตุการณ์จลาจลในเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสังหารผู้ชุมนุมประท้วง ภายหลังการเจรจาต่อรองหลายครั้ง ประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิตช์ (Viktor Yanukovych) ก็พ้นจากตำแหน่ง และปูตินให้คำรับรองในเวลาต่อมาว่ามอสโกจะให้ความช่วยเหลือเขาในการหลบหนี

+ เดือนกุมภาพันธ์ 2014 เกิดความขัดแย้งที่คาบสมุทรไครเมีย ทหารรัสเซียบุกเข้ายึดอาคารที่ทำการรัฐสภาและสนามบินในซิมเฟโรโปล ภายหลังมีการลงประชามติ ปรากฏว่า 96.77 เปอร์เซ็นต์ของคะแนนเสียงโหวตให้รัสเซีย และในวันที่ 18 มีนาคม 2014 มอสโกประกาศรับไครเมียเข้าอยู่ภายใต้การปกครองอย่างเป็นทางการ

+ ระหว่างเดินทางไปเยือนคาบสมุทรไครเมีย ปูตินปราศรัยต่อหน้าฝูงชน แสดงความยินดีต้อนรับกลับสู่อ้อมกอดของรัสเซีย “เราผนึกกำลังกันตอนนี้ เราจะเข้มแข็งยิ่งกว่าแต่ก่อน”

+ กันยายน 2015 รัสเซียเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความขัดแย้งในซีเรีย และให้การสนับสนุนทางการทหารแก่ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด (Bashar al-Assad)

+ รัสเซียถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาปี 2016 ปูตินแค่แสดงท่ายักไหล่เมื่อได้ยินคำถามเรื่องนี้ ภายหลังการพบปะกันครั้งแรกระหว่างการประชุมสุดยอด G20 ที่เมืองฮัมบวร์ค ประเทศเยอรมนี ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ผมคิดว่าเรามีความเข้าใจต่อกันดี และมันไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร กลับเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ”

+ เดือนธันวาคม 2017 ปูตินประกาศตัวเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง ครั้งนี้เขาต้องการเป็นผู้สมัครอิสระที่ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง

+ ไม่มีใครสงสัยเลยว่าวลาดีมีร์ ปูติน จะยังคงครองตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปหลังจากการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2018 ถึงกระนั้น เจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัยก็ยังคงปฏิบัติงานอย่างเฉียบขาดเพื่อยับยั้งกลุ่มต่อต้านเครมลิน อเล็กเซ นาวัลนี (Alexei Navalny) นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามซึ่งไม่มีสิทธิ์ลงสมัครและถูกจับกุมตัวชั่วคราว ประกาศผ่านสื่อว่าขอบอยคอตต์การเลือกตั้งครั้งนี้

+ 18 มีนาคม 2018 ข้อความถูกส่งผ่านเอสเอ็มเอส “เราขอแจ้งเตือนท่านว่า วันที่ 18 มีนาคมเป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดี” ผู้ส่งคือสายการบิน Aeroflot ของรัฐ

+ คำขวัญของปูตินที่ว่า “ประธานาธิบดีเข้มแข็ง ประเทศก็เข้มแข็ง” มีนัยสำคัญคือ ปูตินคือรัสเซีย ส่วนคำสัญญาที่ให้ต่อประชาชนคือ ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ความเปลี่ยนแปลงสู่โลกยุคใหม่ และอาวุธนิวเคลียร์รุ่นใหม่

 

อ้างอิง:

Spiegel Online

www.encyclopedia.com

www.zeit.de

Tags: , , , ,