ท่ามกลางความจอแจของถนนสุขุมวิทขนาบด้วยถนนพระรามสี่ ในซอยสุขุมวิท 26 ที่ร่มรื่นและทะลุถึงกันของถนนทั้งสองสายนั้น มีที่พักขนาดเล็กซึ่งเพิ่งรีโนเวตและเปิดให้เข้าพักได้ไม่กี่เดือนมานี้ ดอกปีบเรี่ยรายอยู่บนพื้นด้วยร่วงหล่นลงจากต้นสูงใหญ่ที่อยู่เคียงประตูรั้ว เราเดินเข้าไปตามทางเดินเล็กๆ ผ่านแนวสวนครัวที่ต้นกะเพราและโหระพากำลังชูดอก ก่อนจะผลักประตูบานเล็กเข้าไปในบ้านหลังนั้น

ใช่แล้ว เราเรียกที่นี่ว่า ‘บ้าน’

“บ้านหลังนี้ไม่มีพิธีรีตอง ไม่ต้องนั่งเกร็ง เปิดประตูเข้ามาเจอโต๊ะกินข้าว มีมุมนั่งคุยกัน เครื่องเรือนของตกแต่ง ไม่ว่าจะเป็นรูปถ่าย ข้าวของ หยิบจับได้หมด หนังสือทุกเล่มในบ้านนี้หยิบมาอ่านได้หมด แต่พอเข้าไปในห้องพักก็จะคนละมู้ดเลย เราอยากให้ห้องพักเป็นห้องที่รู้สึกสบาย เปิดประตูห้องเข้าไปแล้วอยากให้เขาคิดว่า ‘This is my room’”

คุณอ๊าร์ต หรือ ‘หม่อมหลวงอภิชิต วุฒิชัย’ นั่งอยู่บนโซฟาในมุมเล็กๆ ของห้องรับแขกที่เป็นทั้งห้องอาหารและส่วนต้อนรับในคราวเดียวกัน เขาคือเจ้าของบ้านหลังที่ชื่อว่า ‘วิมาลา เรสซิเดนซ์’ แฟมิลี่ ลอดจ์ขนาด 9 ห้องพัก บนที่ดินผืนเก่าแก่ของราชสกุล ที่โยกย้ายมาพำนักอยู่บริเวณทุ่งบางกะปิเมื่อครั้งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

ร่องรอยและความทรงจำ

“เมื่อก่อนตรงนี้เรียกว่าทุ่งบางกะปิที่เต็มไปด้วยร่องผักผลไม้ ไร่นา เราเกิดทันได้เห็นบางส่วนที่ยังไม่มีตึกเหมือนปัจจุบัน ทันได้เห็นชุมชนคนไทยต่างเชื้อชาติต่างศาสนา ต่างเผ่าพันธุ์ต่างสถานะอยู่รวมกัน มันเป็นความทรงจำที่น่าอภิรมย์ ถ้าจะให้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของที่นี่ ต้องย้อนกลับไปที่พ.ศ. 2475 ที่เกิดเหตุการณ์บ้านแตกสาแหรกขาด เจ้านายส่วนใหญ่ต้องลาออกจากราชการ ย้ายถิ่นฐาน เท่าที่ได้ฟังมาคือย้ายออกจากแถวหลานหลวงไปทางเหนือคือพหลโยธิน ทางตะวันออกก็คือสุขุมวิท พระรามสี่ บ้านเรานั้นทางท่านปู่ (นาวาโท หม่อมเจ้าอุทัยเฉลิมลาภ วุฒิชัย) กับท่านย่า (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร) เมื่อแต่งงานกันก็มาอยู่ที่ทุ่งบางกะปิ สร้างตำหนักหลังเล็กๆ อยู่ก็คือหลังนั้น”

เขาชี้ให้ดู ‘ตำหนักเฉลิมลาภ’ ที่มีอายุราวแปดสิบปีซึ่งอยู่ติดกับบ้านหลังที่เรากำลังนั่งคุยกันอยู่ คำว่า ‘ตำหนัก’ ซึ่งใช้กับเจ้านายนั้นฟังดูหรูหราใหญ่โต แต่ภาพที่เราเห็นภายนอกคือเรือนสีขาวแสนธรรมดาขนาดชั้นครึ่ง เพดานสูง ออกแบบโดยหม่อมเจ้าประสมสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ ด้วยโจทย์ที่ว่าทำยังไงให้บ้านหลังนี้อยู่สบายที่สุด ใช้ไฟน้อยที่สุด เพื่อจะได้ประหยัดที่สุด

“ทำยังไงก็ได้ให้พัดลมตัวเดียวใช้ได้ทั้งตำหนัก ดังนั้นตำหนักนี้จึงมีแค่ห้องรับแขกที่รวมอยู่กับห้องเสวย ติดอยู่กับห้องแพนทรีเล็กๆ มีห้องสรงที่เล็กมาก และห้องบรรทม ที่เหลือเป็นเทอร์เรซ สมัยก่อนลมตึงตลอดวัน เพราะมีต้นไม้ใหญ่เต็มไปหมด มีสนามให้เราวิ่งเล่น ก็เป็นเรือนหอของปู่ย่า ที่พอพ่อกับแม่แต่งงานกันท่านย่าก็ประทานให้เป็นเรือนหอของพ่อแม่ แล้วท่านย่าก็มาสร้างตำหนักเล็กๆ อยู่ตรงนี้” เขาชี้มือไปยังที่ตั้งของเรือนเล็กอีกหลังที่เคยอยู่ด้านหน้าใกล้ประตูทางเข้า

ตัดกลับมายังเรือนหลังที่เรานั่งคุยกันอยู่ คุณอ๊าร์ตเล่าว่าเดิมทีนั้นพ่อกับแม่ของเขาตั้งใจจะสร้างทาวน์โฮมไว้ให้เป็นเรือนหอของลูก แต่ตัวเขาเองนั้นเห็นต่าง และอยากให้สร้างเป็นลักษณะคล้ายแมนชั่นมากกว่า แล้วเปิดให้คนเช่าเพื่อจะได้มีรายได้จ่ายตัวมันเอง

“เพราะเรากู้เงินมาสร้าง แล้วเมื่อมีคนมาพัก ก็มีรายได้ตรงนั้นเข้ามาจ่ายตัวเองจนเราไม่มีหนี้สิน เราทำเป็นแมนชั่นสิบห้าห้องนอน เมื่อก่อนให้เช่าสิบสองห้อง ปรับปรุงไปมาก็เหลือเก้าห้อง นับถึงวันนี้ก็ยี่สิบเจ็ดถึงยี่สิบแปดปีโดยประมาณ”  

ตึกเก่า โรงแรมใหม่

ด้วยโครงสร้างของแมนชั่นในแบบยุคเก่า ซึ่งมีเพดานต่ำและทำให้พื้นที่ชั้นล่างของบ้านดูทึบและอึดอัด เมื่อตัดสินใจจะทำบ้านเป็นเรสซิเดนซ์หลังใหม่ สิ่งแรกที่คุณอ๊าร์ตทำคือเปิดฝ้าออกให้หมดแล้วดันเพดานขึ้นไปให้สูงที่สุดในระดับที่ทำได้ ผลลัพธ์คือเพดานเปลือยที่เปิดให้เห็นหลืบคานแข็งแรงของโครงสร้างตึก ส่วนสีน้ำเงิน Royal Blue ที่เลือกใช้นั้น เป็นสีเฉดเดียวกับห้องนอนของเขาแต่ดึงโทนให้ดูขรึมลงมาหน่อย แสงไฟกระทบไปยังหลืบคานของเพดาน สะท้อนให้สีน้ำเงินกลายเป็นสีหลายเฉด ทั้งน้ำเงินดำ น้ำเงินสว่าง เขาเปรียบแสงและเงาเหล่านี้เหมือนเสียงเปียโนที่จะไพเราะก็ต่อเมื่อมีจังหวะที่หนักเบาเคล้ากัน และสีน้ำเงินสดที่ตัดกับม่านสีแดงเบอร์กันดีที่ประตูทางเข้าชั้นบนทั้งสองฝั่ง ก็ให้ความรู้สึกลึกลับในอีกมิติ

บ้านหลังนี้แบ่งออกเป็นปีกซ้ายและปีกขวา บันไดวนที่แข็งแรงนั้นพาเราขึ้นสู่ชั้นสอง ที่โถงบันไดด้านหนึ่งมีภาพวาดจำลองมาจากฝีพระหัตถ์ของ ‘สมเด็จครู’ หรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ คือภาพรถพระอาทิตย์ ซึ่งภาพจริงนั้นประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง ส่วนอีกด้านเป็นภาพพระพุทธเจ้า ซึ่งทั้งสองรูปนี้เป็นรูปที่พ่อและแม่ของคุณอ๊าร์ตทำเอาไว้ให้เพื่อเป็นการให้พรแก่ลูก จึงมีความหมายต่อจิตใจและอยู่คู่กับอาคารหลังนี้มา

“ชื่อวิมาลา เรสซิเดนซ์ ก็มาจากชื่อของท่านย่า คือวิมลฉัตร ถ้าเขียนเป็นภาษาอังกฤษก็คือ Princess Vimala” คุณอ๊าร์ตบอกถึงที่มา  

บริเวณทางเดินก่อนเข้าห้องพัก ยังเชื่อมบรรยากาศที่ร้อยเกี่ยวกับโถงด้านล่างทั้งสีของผนังและแสงไฟสลัว ภาพเก่าหายาก ตู้หนังสือและเอกสารสำคัญ รวมไปถึงข้าวของโบราณอย่างหมวกอุศเรน และตู้โบราณที่ได้มาต่างวาระ แต่จะด้วยความบังเอิญหรืออะไรไม่รู้ได้ ที่หมวกใบนี้คือหมวกทรงเดียวกับภาพถ่ายที่มีอยู่เดิม และวางเข้าได้พอดีกับตู้ที่ได้มาก่อนราวกับวัดเหลี่ยมมุมเอาไว้รอ

เมื่อเปิดประตูเข้าสู่ห้องพัก เหมือนกับเราหลุดเข้าสู่อีกโลกหนึ่งอย่างสิ้นเชิง ห้องสีขาวนวลตาที่บังแสงไว้ด้วยม่านสีขาวโปร่ง กับเครื่องเรือนหวายและไม้อย่างโบราณ ที่แต่ละห้องก็มีรายละเอียดในการตกแต่งต่างกันไป แต่ไม่หลุดโทนออกจากกัน ห้องที่จัดไว้สำหรับแขกที่พำนักระยะยาว มีห้องครัวขนาดเล็กแยกไว้เป็นสัดส่วนไม่กวนสายตา

“เมื่อจะทำเป็นที่พักก็มีคนสนใจมาลงขันกับเรา เราก็บอกเขานะว่าทำตรงนี้ไม่ได้เงินหรอก อย่าเอาเงินเป็นตัวตั้ง แต่มันจะประสบความสำเร็จนะ เพราะอะไรที่ไร้กาลเวลา (timeless) มันไม่ตาย”

แฟมิลี่ ลอดจ์ที่ใช้หัวใจนำ

“เราไม่เรียกที่นี่ว่าโรงแรมนะ เราเรียกว่าแฟมิลี่ ลอดจ์ เพราะหนึ่ง-คนมาพักได้ สอง-ครอบครัวเราก็อยู่ที่นี่ แต่เราก็ไม่ใช่โฮมสเตย์แบบที่คนนิยมเรียกกัน แต่ถ้าทางราชการจะบัญญัติว่าที่นี่เป็นโรงแรม เราก็เป็นโรงแรมขนาดเล็ก”

โรงแรมเป็นธุรกิจซึ่งอยู่คู่กับประเทศไทยมานานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แต่โรงแรมที่เป็นโรงแรมของคนไทยจริงๆ นั้นสร้างขึ้นแห่งแรกในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (พระนามเดิม พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร) พระบิดาแห่งการรถไฟ เสด็จทวดของคุณอ๊าร์ต ซึ่งสร้างโรงแรมรถไฟที่หัวหิน และโรงแรมพญาไท (พระราชวังพญาไท) ขึ้นเป็นแห่งแรก จึงได้รับการยกย่องให้เป็นพระบิดาแห่งการโรงแรมในคราวเดียวกัน  

เสด็จทวดบุรฉัตรทำโรงแรมแห่งแรกคือพระราชวังพญาไท และโฮเทลแอนด์รีสอร์ตแห่งแรกในประเทศไทยคือโรงแรมรถไฟที่หัวหิน ซึ่งวิธีคิดเป็นการคิดเผื่อคนอื่นมาก เพราะสมัยก่อนชาวไทยที่อยู่กรุงเทพฯ เป็นหลักไม่มีโอกาสไปพักทะเล มีแต่เจ้านายที่จับจองพื้นที่ปลูกตำหนักกัน ท่านก็มองการณ์ไกลเป็นร้อยปีว่าอีกหน่อยไม่ต้องสร้างบ้าน แต่หิ้วกระเป๋าไปเดียวเข้าไปอยู่ในโรงแรมที่เปรียบเสมือนบ้าน ให้คนไทยได้มีโอกาสมาอยู่ริมทะเลเหมือนกับที่พวกท่านได้อยู่ เป็นการปิดช่องว่างของคนต่างสถานะได้มาอยู่ร่วมกัน ได้มีประสบการณ์เดียวกัน”

กิจการโรงแรมในเมืองไทยเฟื่องฟูและมีโรงแรมใหม่ๆ เกิดขึ้นไม่ขาดสาย ท่ามกลางตัวเลือกที่มีอยู่มากมายนั้น คุณอ๊าร์ตซึ่งสนใจกิจการโรงแรมเช่นเดียวกัน กลับมองข้ามธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่ที่น่าจะสร้างตัวเลขและกำไรได้ดี เขาคิดเพียงจะสร้างโรงแรมขนาดเล็ก ที่ตนจะสามารถดูแลแขกที่เข้ามาพักได้ใกล้ชิดด้วยตัวเองได้

“ผมเคยได้มีโอกาสไปทำงานที่โรงแรมโอเรียนเต็ลในยุคที่เป็นโรงแรมที่ดีที่สุดในโลก ได้เห็นว่างานบริการนี่อยู่ในสายเลือดคนไทยจริงๆ แต่โรงแรมสมัยนี้ไม่เป็นแบบนั้น เราสัมผัสได้จากการไปโรงแรมห้าดาว พนักงานมานั่งคุกเข่า ยิ้มแบบนัยน์ตาไม่ได้ยิ้มด้วย อารมณ์ตอนพูดฟังเหมือนหุ่นยนต์ ไม่ได้ออกมาจากหัวใจ นี่คือประเด็นหนึ่งที่เราตั้งข้อสังเกต ส่วนประเด็นที่สองคือ เราสังเกตว่าคนทำโรงแรมเขาเอาสมองนำ ไม่ได้เอาหัวใจนำ แปลว่าเอาตัวเลขขึ้นก่อน ฉันสร้างตึกนี้ขึ้นมาฉันต้องลงทุนเท่าไร ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนเท่าไร จุดคุ้มทุนเท่าไร จะได้กำไรเท่าไร ได้เท่านี้ไม่พอต้องได้มากกว่านี้ แต่วิธีคิดเราไม่ใช่อย่างนั้น”

วิธีคิดของคุณอ๊าร์ต เริ่มต้นจากการถอยกลับไปยังห้องนอนของตัวเอง ที่คล้ายกับนอนอยู่ในพิพิธภัณฑ์ก็ไม่ปาน

“ทุกอย่างเก่าหมด ตื่นมาโคมไฟก็เก่า รูปถ่าย หนังสือที่พ่อแม่เอามาแต่งห้องนอนให้ก็เก่า โต๊ะของตกทอดของปู่ก็เก่า ไฟนีออนไม่มี มีแต่ไฟสีเหลือง เราเกิดมาในบรรยากาศเก่าๆ แบบนั้น ทีนี้เวลาเราสร้างบ้านหรือแต่งห้องของเราเอง มันก็เลยเป็นแบบเดียวกันอย่างที่ไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็น จริงๆ วิมาลา เรสซิเดนซ์ก็เกิดขึ้นจากห้องนอนของเรานั่นแหละ”

หลายคนที่เคยมาเยือนที่นี่ พูดตรงกันว่าเหมือนมาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ เปียโนตัวเก่าตั้งอยู่ชิดผนัง เหนือเปียโนคือรูปปั้น รูปถ่ายของบรรพบุรุษในตระกูลทั้งที่ตั้งวางและแขวนติดบนผนัง ตู้หนังสือบรรจุหนังสือและเอกสารที่บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์สำคัญของเมืองไทยเอาไว้ภายใน  

“สิ่งที่เราคาดหวังคือคนที่มาพักต้องอยู่สบาย ถ้าเราใช้สมองคิด ทุกอย่างจะเป็นสารบบแบบที่สอนในตำรา ไม่ใช่เปิดบ้านมาแล้วเป็นโต๊ะกินข้าว แทนที่ประตูทางเข้าควรจะอยู่ด้านหน้า เราต้องเดินผ่านดงโหระพา (หัวเราะ)”

การมีห้องพักเพียงเก้าห้อง ทำให้เป็นการง่ายสำหรับเจ้าของบ้านในการดูแลแขกที่มาพัก ได้รู้ว่าแขกชอบอะไรไม่ชอบอะไร เขายังจำเหตุการณ์ที่แขกคู่แรกเข้ามาพักครั้งแรกได้ วันที่เขากับคุณกบ (อาภาศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) หญิงสาวที่อยู่เคียงข้างกันมา ช่วยกันจัดจาน ช่วยกันเสิร์ฟ และแอบดูแขกอร่อยกับอาหารอยู่หลังเคาน์เตอร์

“นั่นแหละคือความสุข”

Fact Box

  • นอกจากจะเปิดบ้านให้เป็นที่พัก วิมาลา เรสซิเดนซ์ ยังเป็นสถานที่ในการจัดเวิร์กช็อปหรือจัดคอร์สที่น่าสนใจ ดังที่เคยจัดมาแล้ว อาทิ คลาส Storytelling คลาสให้ความรู้เรื่องการจัดโต๊ะอาหาร หรือคลาสการจัดสรรเงิน และคลาสสอนการเริ่มต้นการทำโรงแรมขนาดเล็กในอนาคต

 

Tags: ,