ฟุตบาทแคบ พื้นผุพัง หาบเร่แผงลอย ฯลฯ สารพันปัญหาบน ‘ทางเท้า’ ที่คน กทม. ต้องเผชิญในทุกๆ วัน จนดูเหมือนว่าวิธีสัญจรด้วยการเดินเท้าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย หากหวังคิดจะดำเนินชีวิตในเมืองแห่งความเร่งรีบนี้ แม้ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาประชาชนคนกรุงจะบ่นโอดครวญ เพื่อขอยกระดับคุณภาพชีวิตบนพื้นดินให้ดีกว่าเดิม แต่สุดท้ายทางเท้าที่เราพบเจอกลับดีขึ้นเป็นบางจุด และส่วนใหญ่มักดีเฉพาะตรงหน้าคอนโดมิเนียม สำนักงาน หรือห้างสรรพสินค้าของเอกชน
ถึงกระนั้น เรื่องของทางเท้ากลับไม่จบลงเพียงแค่บนฟุตบาท แต่ยังลามไปถึงบน ‘ท้องถนน’ ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งปัญหาเรื้อรัง ไม่ว่าจะสัญญาณไฟจราจรขัดข้อง เส้นทางม้าลายที่ไม่ชัดเจน เกาะกลางถนนแสนแคบ และรถยนต์ที่ขับมาด้วยความเร็วสูง รวมๆ ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ดังเช่นกรณีของ ‘หมอกระต่าย’ จักษุแพทย์หญิงผู้ถูกรถมอเตอร์ไซต์บิ๊กไบค์ชนเสียชีวิต และหากยกสถิติจาก ‘ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน’ (ศวปถ.) จะพบว่านับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา มีผู้ใช้ทางเท้าบนถนนเกิดอุบัติเหตุเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย
ด้วยสถิติดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่จะเปรียบชีวิตคนกรุงเป็นเหมือนเกมเอาชีวิตรอด และต้องภาวนาตั้งสติทุกครั้งยามเดินข้ามถนน ทว่าตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา คนกรุงกลับไม่เคยเห็นนโยบายหรือผลงานจาก ผู้ว่าฯ กทม. ในการแก้ปัญหาถนนและทางเท้าให้สอดคล้องเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ ถึงมี ก็เป็นเพียงนโยบายขายฝันลมๆ แล้งๆ และถนนคนเดิน รวมถึงยังถูกเฉือนไปปรับแก้เป็นถนนเพื่อแก้ปัญหารถติดเสียอีก
The Momentum มีโอกาสชวน ‘อึ่ง’ – สิทธานต์ ฉลองธรรม เจ้าของเพจ The Side Walk – โลกกว้างข้างทางเท้า มาพูดคุยถึง 1 ใน 5 ปัญหาใหญ่ที่ชาว กทม. เรียกร้องให้มีการแก้ไขเร่งด่วนอย่าง ‘ทางเท้า’ ว่าเพราะเหตุใดจึงแก้ไม่ตก ทำไมถึงเป็นโจทย์หินของผู้ว่าฯ มานานหลายสมัย และระบบทางเท้าที่ยั่งยืนแท้จริงควรเป็นอย่างไร โดยยกทางเดินเท้าบริเวณสี่แยกรัชโยธินมานำเสนอเป็นตัวอย่างให้เห็นภาพกันชัด
Tags: ทางเท้า, Bangkok Upside Down