ปีที่แล้ว เพิ่งมีหนังสือชื่อ A Very Queer Family Indeed ออกวางจำหน่าย
ได้ยินชื่อหนังสือแบบนี้ หลายคนคงคิดว่าคุณไซมอน โกลด์ฮิล (Simon Goldhill) ต้องเขียนถึงครอบครัวคนสมัยใหม่แน่ๆ เพราะเป็นครอบครัวเควียร์ อาจจะคล้ายๆ กับครอบครัวในซีรีส์ Modern Family ก็ได้
แต่เปล่าเลย – ครอบครัวที่เขาเขียนถึง, คือครอบครัวในยุควิกตอเรียครอบครัวหนึ่ง
แถมยังเป็นครอบครัวของนักบวชระดับสูงอีกต่างหาก
สูงแค่ไหนน่ะเหรอครับ – ก็ระดับ ‘อาร์ชบิชอป’ แห่งแคนเทอร์เบอรี ซึ่งถ้าจะเทียบ ก็เทียบได้กับระดับพระสันตะปาปาของศาสนจักรโรมันคาทอลิกกันเลยทีเดียว เพียงแต่นี่เป็นศาสนจักรแองกิลกันของอังกฤษเท่านั้นเอง
ต้องบอกกันก่อนว่าศาสนจักรแองกลิกัน (หรือ Church of England) นี่ จริงๆ ก็สวามิภักดิ์กับศาสนจักรโรมันคาทอลิกมาตั้งแต่โบร่ำโบราณนะครับ คืออยู่กับพระสันตะปาปามาตั้งแต่ยุคนักบุญออกุสตินแห่งแคนเทอร์เบอรีในศตวรรษที่หก จนกระทั่งถึงอาร์ชบิชอปเรจินัลด์ โพล (Reginal Pole) ในศตวรรษที่ 16 (คือตั้งพันปี)
แต่แล้วในยุคของพระเจ้าเฮนรีที่แปด ก็เกิดการ ‘ปฏิรูป’ การปกครอง โดยเฉพาะในทางศาสนา เพราะพระเจ้าเฮนรีที่แปดนี่ พระองค์อยากหย่าร้างจากพระมเหสี แต่ถ้าเป็นคาทอลิกก็ทำไม่ได้ พระองค์ก็เลยโกรธแล้วตัดขาดอังกฤษจากพระสันตะปาปา มีผลทำให้อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีกลายไปเป็นผู้นำหลักของศาสนจักรแองกลิกัน ซึ่งก็มีหลักปฏิบัติหลายอย่างที่แตกต่างจากนักบวชในศาสนจักรคาทอลิก ที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือ – แต่งงานได้นี่แหละครับ
ดังนั้น เอ็ดเวิร์ด เบนสัน (Edward Benson) จึงคุกเข่าขอแต่งงานกับภรรยาคือมินนี (หรือแมรี) ซิดจ์วิค (Minnie หรือ Mary Sidgwick) แล้วหลังจากนั้น ในปี 1883 เขาก็ได้รับการแต่งตั้งจากควีนวิกตอเรีย ให้เป็นอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี
การแต่งงานระหว่างเอ็ดเวิร์ดกับมินนีนั้น ดูจากภายนอกต้องถือว่าสมบูรณ์แบบ เพราะทั้งคู่หล่อและสวยสมกัน เอ็ดเวิร์ดนั้นมีความอ่อนโยนอ่อนหวาน มินนีก็แลดูเป็นเจ้าบ้านที่มีอัธยาศัยงดงาม แถมยังขึ้นชื่อเรื่องคุยเก่ง ใครๆ ก็รัก ที่สำคัญที่สุดก็คือ เธอเป็นคนเคร่งศาสนามากพอๆ กับเอ็ดเวิร์ด ถึงระดับที่เพื่อนๆ เคยบอกว่าเธอเป็นคนที่ ‘ดีงามราวกับเป็นพระเจ้า แต่ฉลาดหลักแหลมราวกับเป็นปีศาจ’ เลยทีเดียว
ทั้งคู่มีลูกด้วยกันห้าคน คนที่สำคัญเพราะเป็นนักเขียน และเขียนบันทึกเล่าเรื่องของพ่อกับแม่เอาไว้มากมายหลายเล่ม คืออาร์เธอร์ เบนสัน (Arthur Benson) กับเฟร็ด เบนสัน (Fred Benson)
อาร์เธอร์นั้นเป็นคนที่คอยร่วมดูแลแก้ไขพระราชสาส์นต่างๆ ของควีนวิกตอเรียที่จะออกสู่สาธารณะ ในขณะที่เฟร็ดก็มีชื่อเสียงในฐานะนักเขียนขายดี มีนิยายชื่อดังหลายเล่ม นอกจากนี้ก็ยังมีน้องสาวอย่างมาร์กาเร็ต ที่เป็นนักอียิปต์วิทยา ถือเป็นผู้หญิงคนแรกที่ทำงานด้านโบราณคดี ขุดค้นอะไรต่างๆ แล้วตีพิมพ์การค้นพบของเธอ
ทั้งหมดนี้ฟังดูดีมากๆ ใช่ไหมครับ
แต่ช้าก่อน – เราจะไม่มีวัน ‘เห็น’ ลึกถึงความเป็นไปของครอบครัวเบนสันได้เลย ถ้าหากว่าอาร์เธอร์กับเฟร็ด ไม่ได้เขียนเล่าเรื่องราวทำนอง ‘โครงกระดูกในตู้’ เอาไว้มากมายมหาศาล
ในยุควิกตอเรีย ต้องบอกคุณว่าผู้คนมี ‘ความอดทน’ ต่อความเป็นหญิงรักหญิง หรือ Lesbianism มากกว่าชายรักชายมากนัก
ในปี 1853 ตอนที่เอ็ดเวิร์ดอายุ 23 ปี เขาขอแต่งงานกับมินนี ซึ่งในตอนนั้น มินนีอายุแค่ 12 ขวบเท่านั้นเอง ซึ่งก็แน่นอน พ่อแม่ของมินนียังไม่ยอมให้แต่งงานหรอกครับ เอ็ดเวิร์ดทำได้แค่จุมพิตเป็นเชิงหมั้นหมายเอาไว้ล่วงหน้าเท่านั้น เขาต้องรออีกหกปีจนเมื่อมินนีอายุ 18 ปี ถึงได้แต่งงานกัน
คุณอาจคิดว่านี่คือเรื่องโรแมนติกแสนหวาน ที่ชายหนุ่มจะรอหญิงสาวที่ตนรักอยู่ตั้งนานหลายปีใช่ไหมครับ แต่ที่จริงแล้ว เอ็ดเวิร์ด ‘คิดคำนวณ’ แบบนั้นมาตั้งแต่ต้น เขารู้ว่าตัวเองไม่ได้มีเงินมากพอที่จะแต่งงาน แต่ตัวเองถึงวัยที่จะต้องแต่งงานแล้ว ดังนั้นเขาจึงต้องเลือกเจ้าสาวที่อายุน้อย เพราะรอเวลาให้เขาเก็บเงินได้มากพอที่จะแต่งงาน ดังนั้นการเลือกเจ้าสาวเด็ก จึงเปิดโอกาสให้เขาได้เก็บหอมรอมริบก่อน ที่สำคัญ การแต่งงานนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญทางศาสนา ที่จะทำให้เขาได้ก้าวหน้าต่อไปในด้าน ‘ยศช้างขุนนางพระ’ ด้วย
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจมองว่าเรื่องนี้ไม่เห็นเป็นไรเลย ไม่ได้มีอะไรน่าตื่นเต้นเสียหน่อย ใครๆ ก็ต้องเก็บเงินแต่งงานกันทั้งนั้นแหละ
เอาเป็นว่า เราตัดฉากมาหลังเอ็ดเวิร์ดตายแล้วก็แล้วกันนะครับ
ในอีก 40 ปีให้หลัง ถ้าเราเป็นจิ้งจกเกาะอยู่ในห้องนอนของมินนี เราจะพบว่าเธอไม่ได้นอนเปล่าเปลี่ยวเดียวดายคิดถึงสามีผู้ล่วงลับหรอกนะครับ แต่เธออยู่ในห้องนอนร่วมกับผู้หญิงอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า ลูซี เทต (Lucy Tait) เธอเป็นบุตรีของอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีคนก่อนหน้าเอ็ดเวิร์ด ใช่แล้วครับ ทั้งคู่อยู่กินกันฉันคู่ชีวิต และเป็นเอ็ดเวิร์ดนี่แหละ ที่เชิญให้ลูซีเข้ามาอยู่ในบ้านเอง
หลังเอ็ดเวิร์ตายได้สามปี ทั้งคู่ก็ย้ายไปอยู่ที่ซัสเซ็กซ์ คราวนี้มีมาร์กาเร็ต ลูกสาวที่เป็นนักอียิปต์วิทยาไปอยู่ร่วมบ้านด้วย โดยที่มาร์กาเร็ตเองก็มี ‘เพื่อนหญิง’ คนสนิท (ที่ไม่มีใครระบุว่าสนิทในระดับไหน) มาอยู่ด้วยอย่างใกล้ชิด ในขณะที่พวกลูกชายที่เหลือนั้น ปรากฏว่าไม่มีใครเลยที่แต่งงาน และคนร่วมยุคสมัยก็รับรู้กันเป็นอย่างดีนะครับ ว่าพวกเขามีความรู้สึก ‘โรแมนติก’ กับผู้ชายไม่ใช่กับผู้หญิง
ที่น่าสนใจเป็นอย่างนี้ครับ ในยุควิกตอเรียนั้น ต้องบอกคุณว่าผู้คนมี ‘ความอดทน’ (Toleration) ต่อความเป็นหญิงรักหญิง หรือ Lesbianism มากกว่าชายรักชายมากนัก
ก่อนแต่งงาน ผู้หญิงสามารถมีความสนใจในเชิงโรแมนติก (หรือกระทั่งมีเซ็กซ์) ต่อผู้หญิงด้วยกันได้ (น่าจะคล้ายๆ บ้านเราสมัยก่อน ที่นักเรียนหญิงในโรงเรียนหญิงล้วนจะมีบางคนทำตัวก๋ากั่นเหมือนเป็นผู้ปกป้องเพื่อนคนอื่นๆ) โดยถือว่า นั่นคือการเตรียมตัวทางเพศสำหรับการแต่งงานกับผู้ชาย
แต่สำหรับผู้ชายนั้นไม่ได้ การมีเซ็กซ์ถือเป็นอาชญากรรมที่มีกฎหมายลงโทษกันอย่างเด็ดขาด (เช่นในกรณีของออสการ์ ไวลด์) ในขณะที่ Lesbianism นั้น ไม่มีกฎหมายอะไรมาบังคับใช้หรือลงโทษ พูดได้ว่า Lesbianism ในยุควิกตอเรีย คือสิ่งที่กฎหมาย ‘มองไม่เห็น’ นั่นเอง
เมื่อใดก็ตามที่ลูซีร่วมเตียงกับเธอ เตียงนั้นก็กลายเป็น ‘ดินแดนแห่งความผิดบาปของเรา’
คำถามที่หลายคนอาจสงสัยก็คือ แล้วเอ็ดเวิร์ดรู้ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตหรือเปล่า ว่ามินนีนั้นชอบผู้หญิงด้วยกัน
คำตอบก็คือรู้สิครับ ความสัมพันธ์ของมินนีกับเพื่อนผู้หญิงหลายคนนั้น ใกล้ชิดและก้าวข้ามเส้นของมิตรภาพไปมากโข มีอยู่ครั้งหนึ่ง เธอถึงขั้นไปเที่ยวเยอรมนีกับเพื่อนผู้หญิงอีกคนหนึ่งสองต่อสอง โดยทิ้งสามีและลูกที่มีอายุตั้งแต่เจ็ดเดือนถึง 11 ปีไปนานถึงครึ่งปี ทั้งยังมีการเขียนจดหมายถึงเพื่อนหญิงด้วยสำนวนการเขียนที่หวานหยดย้อยและกล้าหาญ ไม่กลัวว่าจะมีใครมาล่วงรู้ด้วย
ที่น่าสนใจก็คือ เอ็ดเวิร์ดเข้าใจเรื่องนี้ดี และอาจถึงขั้น ‘ยอมรับ’ การที่ภรรยาของตัวเองถวิลหาผู้หญิงอื่นได้ด้วย ทั้งคู่พูดคุยกันเรื่องนี้โดยไม่ได้ปิดบังซ่อนเร้น แต่วิธีแก้ปัญหายังเป็นแบบคนที่เคร่งศาสนาอยู่ เช่น เอ็ดเวิร์ดให้มินนีคุกเข่าสวดภาวนาเพื่อให้ผ่านพ้นความรู้สึกพวกนี้ไปให้ได้ ซึ่งมินนีก็เขียนบันทึกเอาไว้ว่า สามีของเธอเจ็บปวด แต่ทว่าน่ารักและอ่อนโยนมากแค่ไหน
การที่เอ็ดเวิร์ดชวนลูซี เทตมาอยู่ร่วมบ้าน (ทั้งที่ลูซีอายุน้อยกว่ามินนี 15 ปี) ก็เพราะเขารู้ความจริงข้อนี้ และอยากให้การที่ลูซีมาอยู่ร่วมบ้านนั้น เป็นไปเพื่อทำให้ชีวิตแต่งงานเข้มแข็งและ ‘เต็ม’ มากขึ้น ซึ่งในเวลาเดียวกัน มินนีก็พยายามอย่างเหลือแสนที่จะกลับมาคืนดีกับสามีและความเชื่อทางจิตวิญญาณและศาสนาของเธอ เธอเชื่อว่าความรักคือพระเจ้า และความรักสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่ต้องมีการแสดงออกทางกาย แต่กระนั้นเธอก็บันทึกเอาไว้ด้วยว่า เมื่อใดก็ตามที่ลูซีร่วมเตียงกับเธอ เตียงนั้นก็กลายเป็น ‘ดินแดนแห่งความผิดบาปของเรา’
ทั้งหมดที่อยากให้คุณเห็นก็คือ แม้กระทั่งในยุควิกตอเรียที่หลายคนเชื่อว่าเป็นยุคแห่งความครัดเคร่งในจารีตและศาสนา ก็ยังมี ‘ช่องว่าง’ ทางความคิดความเชื่อและการให้คุณค่าบางอย่างที่แตกต่างออกไป ผู้คน ‘อนุญาต’ ให้เกิดความสัมพันธ์และครอบครัวที่ ‘คลุมเครือ’ และ ‘เควียร์’ อยู่ได้ในยุคสมัย แม้กระทั่งในครอบครัวที่ถือได้ว่าเป็นที่น่ายกย่องนับถือที่สุดครอบครัวหนึ่งในสังคม
เพราะฉะนั้น จึงพูดได้ว่า แม้แต่ในยุควิกตอเรีย เราก็ยังเห็นถึงร่องรอยความเลื่อนไหลทางเพศ การไม่ลงรอยอยู่ใน ‘รีต’ ของครอบครัวตามขนบ ซึ่งโชคดีเหลือเกินที่มีการบันทึกเรื่องราวเหล่านี้เอาไว้ และทำให้คิดต่อไปได้อีกว่า – แล้วครอบครัวอื่นๆ ที่ไม่ได้มีใครบันทึกเรื่องราวเอาไว้เล่า จะยังมีความ ‘เควียร์’ เหล่านี้อยู่อีกมากเพียงใด
ครอบครัวเควียร์ยุควิกตอเรีย – จึงน่าสนใจและมีคุณค่าต่อประวัติศาสตร์เพศวิถีเป็นอย่างยิ่ง
Tags: Lesbian, LGBT, genderless, Victorian, Queer, Gay