ในหยดแดดพราวพร่าง ในคืนอ้างว้างยิ่งกว่าดวงวิญญาณเร่ร่อน ในทรงจำของทรงจำของคุณ ของฉัน ของมัน ของใครหลายทรงจำ คุณพลันฉงนฉงาย ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหน รู้แต่กำลังหลงทาง

เป็นไปได้สูงว่าคุณแค่ลืมไป ว่ากำลังถือหนังสือเล่มหนึ่งอยู่ในมือ สมองของคุณถูกจองจำอยู่ในเขาวงกตของตัวอักษรในนั้น และหัวใจของคุณก็กำลังร้าวราน จากมนต์ร่ายปลายปากกาของวีรพร นิติประภานักเขียนเจ้าของสถิติประวัติศาสตร์ เขียนนวนิยายสองเรื่อง ได้รางวัลซีไรต์ทั้งสองเรื่อง

เรานัดคุยกับเธอที่งานสัปดาห์หนังสือเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ร้านอาหารในศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งแน่นอนว่าพลุกพล่านไปด้วยเหล่านักเขียน นักอ่าน และผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการวรรณกรรม เราเลือกนั่งโต๊ะกลางร้านเพื่อให้เธอสังเกตเห็นเราชัดๆ

แหม่มวีรพร เดินปรี่เข้ามาตามนัดหมาย แต่แล้วก็ถูกคนโต๊ะนั้นโต๊ะนี้สกัดกั้นเพื่อทักทาย นักเขียนวัย 56 ปี ยกมือไหว้กราดทั่วร้าน แล้วรีบต้อนให้เราย้ายโต๊ะไปนั่งหลบมุม ก่อนจะสั่งเมนูซิกเนเจอร์ดริงก์ และเมื่อเห็นช่างภาพของเรายกกล้องขึ้นส่อง เธอยกมือขึ้นห้ามสักครู่ว่าแล้วก็เปิดกระเป๋าควานหาลิปสติกเนื้อแมตต์สี Sultry ขึ้นมาทา  

นอกจากซิกเนเจอร์ดริงก์ที่เธอเลือกแล้ว วีรพรตรงหน้าเรายังอยู่ในเครื่องแบบซิกเนเจอร์ของเธอ ชุดดำ ผมฟูสีดอกเลา ปากสีแดง แว่นตาดำ และบุคลิกที่พังก์อย่าง ไม่ต้องพยายาม

เขียนหนังสือสองเล่ม ได้ซีไรต์สองเล่ม คุณแหม่มรู้สึกกดดันบ้างหรือเปล่ากับงานชิ้นต่อไป

เปล่า เรากลับยิ่งคิดว่า ถ้าอย่างนั้นในเล่มสาม เราคงยิ่งมีอิสรภาพในการเล่าเรื่องในแบบของตัวเองมากขึ้น จากเล่มแรกไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต เราคิดว่าไม่มากก็น้อยเราก็คงยั้งมืออยู่บ้าง เพราะว่ามันเป็นเล่มแรกใช่ไหมคะ เล่มที่สองก็ทำดีที่สุดเต็มที่ แต่เล่มที่สาม เราคงจะพิสดารได้ตามอำเภอใจล่ะหรือเปล่า (หัวเราะ)

ไม่เอารางวัลมากดดันตัวเองเลยใช่ไหมคะ

ก็ได้มาสองเล่มแล้ว เล่มที่สามจะเอาอีกเหรอ ถ้าเธอเป็นกรรมการ เธอไม่คิดเหรอว่าเธอต้องให้ชาวบ้านบ้าง

ทราบว่าคุณแหม่มได้เป็นที่ปรึกษาโปรเจ็กต์ ‘กะดีจีนคลองสาน’ ด้วย มีความเป็นมาอย่างไรคะ

เริ่มศึกษาเพราะเขียนนิยายเรื่องนี้แหละค่ะ เราก็ไปเดินต๊อกแต๊กๆ แล้วก็ตัดสินใจว่าย่านตลาดน้อยมันเข้ากับเรื่องมาก เพราะว่ามันจีนม้ากมาก เราเริ่มต้นขึ้นมาจากคอนเซ็ปต์ อย่างไส้เดือนฯ เราพูดเรื่องมายาคติใช่ไหมคะ พอมาถึงพุทธศักราชอัสดงฯ เราก็เชื่อมต่อจากมายาคติ อะไรคือสุดยอดมายาคติในประวัติศาสตร์ อะไรคือตัวกำหนด มันคือความทรงจำไง ความทรงจำในอดีตของเราเป็นตัวกำหนดว่าอะไรทำให้เราเป็นคนแบบที่เราเป็น เป็นสังคมอย่างที่เป็น อะไรกำหนดทิศทางของเรา

ช่วงนั้นเราไม่ทำอะไร ก็ไปเดินเล่นย่านเมืองเก่านี่แหละ ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะเขียนอย่างไรเหมือนกัน เสร็จแล้วเราก็รู้จักกับด็อกเตอร์นิรมล กุลศรีสมบัติ ซึ่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทำศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง เป็นคนน่าสนใจมาก เรียนจบจากญี่ปุ่นแล้วไปอยู่ฝรั่งเศส ตอนนี้มาอนุรักษ์ย่านเก่าตั้งแต่คลองสานไปจนถึงกะดีจีน ล่าสุดเขามีโปรเจ็กต์ศิลป์ในซอยฯ เขาก็ชวนให้เราไปเป็นที่ปรึกษาด้านศิลปวัฒนธรรม

มันเป็นดินแดนที่น่าสนใจมากนะ สองตารางกิโลเมตรตั้งแต่คลองสานไปจนถึงวัดกัลยาณมิตร สมัยก่อนเมืองสร้างขึ้นโดยมีระยะทางจากแม่น้ำไล่ขึ้นมาใช่ไหมคะ พอยุคหลังมีถนน ถนนก็บล็อกมันเอาไว้ คล้ายๆ แดนปิด มีชุมชนหลากหลายอยู่ในนั้นประมาณ 20 ชุมชน รอบวัด สุเหร่า ศาลเจ้า ซึ่งภาครัฐก็ไม่ถึงกับไม่ดูแล แต่ค่อนข้างน้อย ถนนหนทางเริ่มพัง เรากระดมทุน เพื่อที่จะซ่อมถนนบ้าง ฝึกแรงงานคนในชุมชนให้ซ่อมของเก่าเองได้ เล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงเพนต์กระเบื้อง ซึ่งมีพวกโปรตุเกสแถวซางตาครูส วิถีชีวิตถามว่าแบบเดิมไหม มันไม่เดิมแล้วแหละ แต่ถ้าชุมชนไม่ทิ้งพื้นที่ มันก็อยู่ของมันไปได้เรื่อยๆ แต่ถ้าชุมชนเสื่อมโทรมมาก คนก็จะเริ่มย้ายออก นายทุนก็จะย้ายเข้า ถ้านายทุนย้ายเข้า มันจะหายไปหมดเลยทั้งสุเหร่า ทั้งมัสยิด ศาลเจ้า วัด ทุกสิ่งที่สวยงาม

ชีวิตวัยเด็กคุณพ่อคุณแม่หรือญาติผู้ใหญ่เคยเล่าอะไรอย่างนี้ให้คุณแหม่มฟังบ้างหรือเปล่าคะ

ไม่มี นี่แหละที่เรารู้สึกว่ามันขาดหาย คนรุ่นพ่อรุ่นแม่เราเขาใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ค่ะ ถ้าสังเกตนะคะ ส่วนมากเขาเป็นเจเนอเรชั่นที่จะไม่มานั่งเล่า นั่งพูด แล้วประวัติศาสตร์ประเทศเราก็เลยปะติดปะต่อขึ้นมาท่ามกลางความไม่รู้ ความฟั่นเฟือนของเรามาจากการที่อยู่ๆ ข้อมูลหรือจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งมันหายไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราจะเอาอะไรไม่รู้เข้ามายัด เพื่อจะเชื่อมข้อมูลไว้ด้วยกัน นี่คือการทำงานของสมอง นี่คือการทำงานของสังคม นี่คือการทำงานของความทรงจำ ไม่ใช่ว่ามันจะโบ๋ไปเฉยๆ และหรือมีบางอันที่เราอาจจะทิ้งโบ๋ไว้เฉยๆ ซึ่งนั่นก็ฟั่นเฟือนอีกเหมือนกัน ถูกไหม

การทำงานของคุณคือสั่งสมข้อมูลจนถึงจุดหนึ่ง แล้วจึงเขียนมันพรั่งพรูออกมาหรือคะ

คนมักจะคิดว่านักเขียนทำงานแบบนั้น นั่นน่ะเป็นมายาคติชนิดหนึ่ง คนชอบคิดว่านักเขียนคนหนึ่งจะมีเรื่องมากมายแบบพรั่งพรูใส่ๆๆ ลงไปได้เลย นั่นน่ะปีหนึ่งก็น่าจะเขียนเสร็จค่ะ (หัวเราะ) เผลอๆ ครึ่งปีเองถ้ามันพรั่งจริงๆ นะ วิธีการของเราก็คือเราเขียนเท่าที่คิดออก เขียนไปเรื่อยๆๆ เรามีแมททีเรียลเหมือนเป็นอะไรสักอย่างที่เราจับต้องได้ เหมือนภาพร่างสเก็ตช์ แล้วหลังจากนั้นเราค่อยๆ บิด ค่อยๆ ตบ ค่อยๆ ตัดต่อ ค่อยๆ แรเงา ลงสี ประดิดประดอย เราทำงาน 2-3 ครั้งซ้ำๆ ต่อโครงนะคะ ยังไม่ได้พูดถึงรายละเอียดชนิดที่ว่า บางประโยคป้าอาจจะซัดไปประมาณ 100 หน แล้วสุดท้ายก็กลับมาใช้อันแรก (ยิ้ม) จริงๆ เรามองมันเป็นงานช่างเสียด้วยซ้ำ

คุณแหม่มทราบไหมคะ คุณหนุ่มโตมร ศุขปรีชา เขียนสเตตัสในเฟซบุ๊กว่า พยายามไล่เช็คความถูกต้องของรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ในเรื่องพุทธศักราชอัสดงฯ ก็พบว่าสอดคล้องถูกต้องไปหมด

น่ากลัวมากเลยตานั่นน่ะ (หัวเราะ) เพราะเรารู้ว่ามีคนอ่านแบบนี้ไงคะ คนที่คอยจะฆ่าเรา เราเลยจำเป็นจะต้องเป๊ะมาก เพราะมันจะมีคนใจร้ายที่อ่านแล้วไปนั่งวัดพื้นที่ เฮ้ย ตรงนี้น้ำไม่ท่วมจริง หรือท่วมกี่เซ็นต์ นั่งเทียนหรือเปล่า แต่ก็นั่นแหละค่ะ เราเดินอยู่ระหว่างสองฝั่งย่านเมืองเก่า เพื่อที่จะหาสิ่งที่เรียกว่าอย่างไรดีล่ะ มันไม่ใช่ข้อมูลเสียด้วยซ้ำ เป็นความรู้สึกมากกว่า พระเอกของเราจะเดินอยู่ท่ามกลางเมืองอย่างนี้นะ เขาจะรู้สึกอย่างไร เขาจะเห็นอะไร เขาจะได้ยินเสียงอะไรบ้าง สงครามโลกมันจะมีหวอระเบิดด้วยนะ เราก็ค่อยๆ เซตเอา แต่เราไม่ใช่แนววางโครงเรื่องเป๊ะครบ ก็มีด้นเอาบ้าง เวลาเขียนเราจะเซตบางอย่างมาก่อน เช่น ฉันอยากได้ผู้ชายอย่างจงสว่างนะ ฉันอยากได้ผู้ชายที่เป็นลูกเลี้ยงนะ ก็จะเซตมาทีละตัวๆ  แล้วก็ค่อยๆ ไล่ลงรายละเอียดไป เราเลยใช้เวลานานกว่าคนอื่น อย่างพุทธศักราชอัสดงฯ นี่ทำอยู่ 3-4 ปีค่ะ

ปมลึกๆในใจชาวจีนพลัดถิ่นอย่างทวดตง ซึ่งเป็นตัวละครเอกในเรื่อง ความบอบช้ำของเขาที่ประกอบขึ้นจากหลายอย่างทั้งที่อธิบายได้และไม่ได้ แต่คุณแหม่มเขียนออกมาได้ อันนี้มาจากประสบการณ์คนแก่ที่เคยได้สัมผัส หรือจินตนาการเอาล้วนๆ

อย่างความคิดถึงบ้านของตาทวดตงเป็นของก๋งตัวเองค่ะ เขาอยากกลับบ้าน พอประเทศจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ไม่ได้กลับไปแล้ว เขาก็คิดมาก เส้นเลือดในสมองแตก ซึ่งเรื่องมีอยู่แค่นี้นะคะ อาจจะเป็นเรื่องสุขภาพของเขาอยู่แล้วก็ได้ แต่ลูกๆ หลานๆ จะพูดว่าเพราะเขาคิดถึงบ้าน อยากกลับบ้าน คิดมากจนเบลอ เราเลยได้ความรู้สึกสองอย่างนี้ผสมกัน

เขาโหยหาบ้านเกิดเมืองนอน ซึ่งความรู้สึกตรงนี้คงจะจริง และเราเองนึกไม่ออกว่าทำไมคนไทยไม่ค่อยเล่าเรื่องนี้ นิยายไทยเกี่ยวกับคนจีน นักเขียนอาจจะเป็นคนไทยหรือคนจีนก็แล้วแต่ ก็ไม่ค่อยเล่าเรื่องนี้ เราคิดว่าถ้าเกิดวันนี้เราต้องไปอยู่เมืองนอกไปตลอดชีวิต เราคงคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอน สมัยก่อนยิ่งต้องคิดถึง เพราะเดินทางไปอเมริกาที 3 เดือน 4 เดือนใช่ไหม ไปแล้วก็ไม่รู้ว่าจะได้กลับไหม เดี๋ยวเรือล่ม เดี๋ยวโรคระบาด ชีวิตมันเปราะบาง

ลึกๆ แล้วอะไรคือแรงผลักดันให้เกิดพุทธศักราชอัสดงฯ  

เพราะเราสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้ คือเราไม่ได้แค่แบ่งแยกกันเป็นเหลืองแดง ซึ่งนั่นเป็นการเมือง แต่ความขัดแย้งทางการเมืองทำให้เราเกลียดกันขนาดโคตรดีใจเลยที่อีกฝั่งหนึ่งมีคนตาย ซึ่งเราถือว่า เฮ้ย นี่คนตาย ส่วนนี่เรื่องการเมือง การเมืองคือหาเสียง คุณมีพรรคการเมือง คุณจะชอบใครก็เลือกเขาใช่ไหมคะ คุณไม่ชอบใจ คุณก็มีตีกันบ้าง เถียงกันบ้างในวงเหล้า แล้วก็ไปเลือกตั้ง

แต่นี่ไม่ใช่ นี่มันเป็นการเมืองบนถนนแล้ว เราเกลียดกันเข้าไส้ ฝั่งแดงตายฝั่งเหลืองก็เฮ ฝั่งเหลืองตายฝั่งแดงก็เฮ ดีใจอะไร รู้จักเขาหรือ ก็เปล่า แช่งชักหักกระดูกคุณทักษิณ รู้จักกันไหม แช่งชักหักกระดูกคุณกำนัน รู้จักกันไหม หรือเขาทำอะไรให้คุณ สมมติคุณกำนันเข้ามาบ้านเรา ขโมยของบ้านเรา เราเอาลูกซองส่องตู้ม! สาสม แต่เขาก็เปล่า แล้วทำไมต้องเกลียดเขาขนาดนั้น แค่เราชอบความคิดคนนี้ เราเลยอยากให้คนนั้นตาย มันเยอะไปหรือเปล่าวะ เราเลยทำเรื่องไส้เดือนฯ ซึ่งพูดถึงเรื่องมายาคติ ที่ผลักดันเราไปสู่การเป็นคนที่เราไม่น่าจะเป็น คิดอย่างที่เราไม่น่าจะคิด เสร็จจากนั้นก็คิดว่า เราทำเรื่องความทรงจำเถอะ ทำเรื่องสงครามโลกดีกว่า ความทรงจำไหนจะสนุกเท่า ไม่ใช่เพราะมันสนุกอย่างเดียว แต่เพราะเรายังพบว่าโลกทั้งโลกยังคงติดอยู่ตรงนั้น ยังติดอยู่ในภาวะหลังสงคราม โดยที่เรารู้เกี่ยวกับมันไม่เท่าไร

อาหรับสปริง อิสราเอลกับปาเลสไตน์ แม่งรบกันมาตั้งแต่ตั้งประเทศหลังสงครามโลก และยังรบกันจนวันนี้ ความขัดแย้งที่เราเผชิญอยู่ทุกวันนี้คือผลพวงของสงคราม และหลังสงครามเรากลับลืมมันหมดแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น วันนั้น ตอนนั้น กี่ประเทศที่ปิดไป อย่างประเทศจีน แล้วผลกระทบของมันคืออะไร ก็คือคนจีนที่ตกค้างอยู่ในที่ต่างๆ ทั่วโลกเป็นล้านๆ คุณด้วย ฉันด้วย ใครก็ย่อมอยากกลับบ้าน หมายถึงถ้าเป็นคุณในยุคนั้นนะ ไม่ใช่ตอนนี้ตอนที่โลกมันเชื่อมใช่ไหมคะ คนสมัยนี้รู้สึกว่า เฮ้ย โลกเป็นของฉัน ฉันเป็น world citizen แต่คนในสมัยนั้นมันไม่ใช่ คุณมีญาติพี่น้อง คุณมีผืนแผ่นดินของคุณ คุณไม่ต้องการเป็นประชากรชั้นสองชั้นสามหรอก แต่เรื่องราวแบบนี้เรารู้เกี่ยวกับมันน้อยมาก เรามีความทรงจำเทียมเสียด้วยซ้ำไป อย่างอิสราเอลเขาก็เชื่อว่านี่คือดินแดนในพันธะสัญญา ซึ่งคำถามคือ ไหนพระเจ้า

อาจเพราะประวัติศาสตร์ในอดีตมักมาจากเรื่องเล่าเสียมากหรือเปล่า

ประวัติศาสตร์มีเรื่องเล่าเยอะมาก ใช่ อย่างในหนังสือ ครึ่งหนึ่งของเรื่องเล่าเราแต่งเอง อีกครึ่งหนึ่งได้ยินมาอย่างนั้น ซึ่งก็ไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะอ้างเอามาเป็นตัวประวัติศาสตร์หลักได้ใช่ไหมคะแต่เราก็คำนึงถึงประวัติศาสตร์ทางความรู้สึกด้วย เช่นระเบิดปรมาณู ถ้าคุณมีชีวิตอยู่ช่วงนั้น คุณจะคิดยังไงกับมัน ระเบิดปรมาณูคืออะไร นิวเคลียร์ฟิวชัน ฟิวชันคืออะไร คุณจะรู้ไหม ไม่รู้ สำหรับคนยุคนั้นมันคือระเบิดบรรจุคำสาป

ในขณะที่คนทั่วไปมองว่าคุณเป็นพังก์ เป็นคนมาก่อนกาล และค่อนข้างสมัยใหม่ แต่ดูเหมือนคุณแหม่มเองก็สามารถย้อนอดีตได้อย่างเข้าถึงจิตใจตัวละครสมัยเก่ามากๆ

อย่างนี้เรียกมาก่อนหรือหลังล่ะ (หัวเราะ) มันเหมือนเราเซตฝั่งแน่นอนแล้วว่าเราอยู่ฝั่งไม่เมนสตรีม ใช่ไหมคะ ฉะนั้นเวลาที่เรามองเข้าไปในเมนสตรีม เราก็จะเห็นสิ่งที่คนในเมนสตรีมไม่เห็น เออ ทำไมเธอทำอย่างที่เธอทำ แล้วทำไมฉันไม่ทำอย่างนั้น ฉันก็มีเหตุผลของฉัน พวกเธอติดกับดักของเธอ ฉันก็มีกับดักของฉันเหมือนกันนะจะว่าไป

ถ้าอย่างนั้นกับดักของคุณคืออะไรคะ

กับดักของเราเหรอ เราว่าเราขวางเกินไป เราเป็นคนขวางที่เผอิญเผอิ๊ญเผอิญ เขียนหนังสือแล้วรอด เรามีสิทธิ์ไม่รอด นึกออกไหมคะ มันง่ายที่จะไม่รอด ง่ายที่จะล้มเหลวมากกว่าคนอื่น ซึ่งเขาทำในแบบที่เซตไว้อยู่แล้ว ตอนที่เริ่มเขียนไส้เดือนฯ เราตั้งโจทย์ง่ายๆ ว่าอายุจะครึ่งศตวรรษแล้วนะ เขียนได้ก็ได้ ถ้าเกิดคนอ่านไม่ชอบก็ไปขายหมูปิ้ง ง่ายๆ แค่นั้น

ตอนที่เขียนคุณไม่มีความมั่นใจหรือ

ไม่เลย แต่จะเอาแบบนี้แหละ ถ้าจะเขียนจะเขียนแบบนี้ จะแบบใช้ภาษาแบบนี้ และจะพูดถึงสิ่งนี้ ระหว่างที่ทำงานคิดว่าเอาความสนุกเป็นหลัก เออใช่ ฉันทำงานฉันก็ควรจะสนุกกับมัน รื่นรมย์กับการทำงาน ถ้าหาไม่แล้วละก็ไปขายหมูปิ้งเถอะ มันต้องรวยกว่าแน่ๆ

คุณแหม่มเคยเขียนหนังสือมาก่อนตอนอายุ 20 แล้วก็หยุดไป แล้วมาเขียนอีกครั้งหนึ่งตอน 40 เศษๆ เพราะอะไรช่วงนั้นถึงหยุดเขียน

ใครๆ ก็รู้เขียนหนังสือมันไม่พอกิน ตอนนั้นเราเขียนเรื่องสั้น ดูเหมือนว่าก็ได้รับคำชมอยู่เหมือนกันว่าเป็นคนภาษาสวย แต่มันไม่พอกินไง ก็เลยไปทำอย่างอื่น ไปเดตผู้ชาย แอ๊วผู้ชาย ซื้อเสื้อผ้าแต่งตัว ทำแมกกาซีน ทำโฆษณา ทำนู่นทำนี่ แล้วก็แต่งงานเลี้ยงลูก คนเลี้ยงลูกน่ะมันเขียนนิยายไม่ได้หรอก เรารู้วิธีการทำงานของตัวเองด้วยไง คือเป็นคนทำงานหมกมุ่นกับงาน มันยากจะทำอย่างอื่น จะเดตผู้ชายยังยากเลย เพราะมันจะบ้าๆ หน่อย

หมายถึงว่าเดตผู้ชายเราก็ต้องโฟกัสเขาใช่ไหมคะ

ใช่ ระหว่างนั่งตาหวานกับผู้ชาย ตัวละครเราก็กำลังฆ่ากันตายอยู่ในหัว นึกออกไหม ผู้ชายก็จะว่าเราบ้า เฮ้ย อีนี่อยู่ๆ ตาลุกทำไม มันไม่ได้

ผ่านไปยี่สิบปีกลับมาเขียนอีกที คราวนี้เรื่องยาวเลย

ใช่ก็ไม่รู้ว่าทำไมเนาะ บางทีเราก็ไม่รู้หรอกว่าชีวิตมันจะพาเราไปยังไง ก่อนหน้านี้เราเลิกเขียนไปทำมาหากินเลี้ยงลูก จนกระทั่งลูกเข้ามหาวิทยาลัย ตอนนั้นก็เริ่มว่าง พอว่างก็จะมีสภาพ (ทำท่ายกหูโทรศัทพ์) กลับบ้านกินข้าวหรือเปล่าวันนี้ มีแกงนะอะไรอย่างนี้ คือนึกออกไหม มีสภาพติดลูก มันทุเรศตัวเองน่ะ ก็เลยเริ่มเขียนนิยาย

ภาษาหรือการใช้คำของคุณแหม่มที่ไม่ค่อยเหมือนใคร ตั้งใจออกแบบเฉพาะเลยหรือเปล่า

ใครจะเอาไปใช้ก็ได้ค่ะ เพราะฉันก็ยืมคนอื่นมา อย่างเวลาคนถามถึงชื่อเรื่อง ‘…ทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำอ้าวทำไมไม่มีความทรงจำทำไมถึงเป็นแค่ทรงจำไม่มีคำว่าความก็เพราะฉันก็ไม่ได้คิดเองไง สุนทรภู่ใช้ก่อนแล้ว เราจะมานั่งอะไรล่ะ ใช่ไหม ก็ถ้าคุณไม่ได้อ่านสุนทรภู่ คุณก็อาจจะตื่นเต้นกับวีรพรนิดหน่อย (ยิ้ม)

นอกจากประเด็นใหญ่ๆ เชิงสังคมประเทศชาติแล้ว ดูเหมือนในงานเขียนของคุณแหม่มพูดเรื่องความรักเยอะ

ใช่ค่ะ เป็นคนคิดเรื่องความรักมากค่ะ คิดมากพอๆ กับความเกลียด แล้วก็ความอื่นๆ ในเรื่องที่เราแต่ง ผู้คนของเราจะถูกผลักดันโดยความรักพอสมควร เราคิดว่ามันเหลืออยู่อย่างเดียวที่ยึดโยงเราไว้กับความหวัง ความรักของตาทวดตง ความรักของจงสว่าง ความรักของจิตรไสว ยี่สุ่น เพราะความรักนั่นแหละที่ผลักดันเขามาสู่สิ่งที่เขาเป็น

ในชีวิตจริงคุณเคยเป็นคนบูชาความรักไหม

โอ๊ย จะเหลือเหรอคะ อย่างงี่เง่าทีเดียวล่ะค่ะ (หัวเราะ) ใช้ได้ทีเดียว ที่เห็นพังก์ๆ นี่เปล่าเลย เป็นคนที่พิสูจน์ตนแล้วว่างี่เง่าแท้ แต่เราก็ยังสงสัยนะว่า อ้าว แล้วถ้าไม่ใช่ความรัก ในชีวิตคนเรามีอะไรควรค่าแก่การทุ่มเทมากเท่าล่ะ จะเป็นความรักแบบไหนก็แล้วแต่ เราคิดว่ายังไงก็ดีกว่า เราอาจจะรังเกียจคนเฉลียวฉลาดแล้วทุ่มเทชีวิตไปกับเงินทองชื่อเสียงละมั้ง

การเขียนวรรณกรรมที่เล่าเรื่องยาวนานเป็นยุคสมัย จำเป็นไหมที่เราต้องไม่ตัดสินใครหรือตัวละครใด

เราไม่แน่ใจ แต่ส่วนตัวเรามีความรู้สึกว่า ถ้าเราตัดสินปุ๊บ มันทำให้ยากในการจะเข้าใจผู้คน เพราะฉะนั้นเราจึงทำนิยายเพื่อจะเข้าใจโลกที่เราอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศเรา ชีวิตของเราเอง เราเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์นี้ เราก็จำเป็นต้องหาเหตุผล เพื่อจะได้อยู่ในความสงบจริงๆ ซะที หรือเมื่อมีคนอ่าน เราก็หวังว่าเขาจะมองเห็น มันอาจจะผิดก็ได้นะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกคนมีเหตุผล ทุกคนไม่ใช่ว่า เฮ้ย กูอยากจะร้ายกูก็ร้ายเว้ย ทุกสิ่งทุกอย่างมันเชื่อมโยงกัน เราคิดว่าวรรณกรรมควรทำหน้าที่นี้ หนังสือ 300-400 หน้า เราไม่สามารถจะเล่าทุกสิ่งทุกอย่างได้ในชีวิต แต่สิ่งหนึ่งที่มันควรเล่าได้คือคนคนหนึ่งไม่ได้มีเหตุผลเดียวหรือสองหรอกในการกระทำ

อย่างจิตรไสว เป็นตัวละครที่ติดการพนัน ทุกคนมองว่าครอบครัวนี้พังพินาศสันตะโร เพราะว่าอีลูกคนนี้ที่พ่อแม่รัก แต่ดันไปติดการพนัน แต่จริงๆ ไม่ใช่ บางครั้งเหตุการณ์มันเกิดขึ้นว่า เขาไปเสียพนันก่อนหน้าพายุใหญ่จะมา แล้วพายุนั้นก็ไม่ถูกบันทึกไว้ในเส้นประวัติศาสตร์ เราก็ลืมปรากฏการณ์ธรรมชาติ เราลืมภูมิศาสตร์ ลืมเชื่อมโยงการเมืองการต่างประเทศและการคลัง สารพัดการ แล้วคนก็จะมองว่า เฮ้ย จิตรไสว เพราะแกคนเดียวครอบครัวสกุลตั้งถึงได้พินาศไป แต่มันใช่อย่างนั้นซะทีเดียวหรือ ถ้าไม่มีพายุลูกนั้น มันก็จะเก็บสตางค์ได้ จะเล่นพนันเท่าไรก็เล่นไปใช่ไหม บางทีเราอยากให้คนรู้สึกแค่ว่า คนเราล้วนมีเหตุผลเบื้องหลังสิ่งที่เขาทำ แล้วบางครั้งเหตุผลก็ไม่เหมือนเหตุผลเลย เช่น พายุเข้า หรือบางครั้งมันก็เป็นเหตุผลมากมาย เหมือนอย่างจงสว่าง ที่มีเหตุผลมากมายที่จะทิ้งทุกอย่างไป เพราะพ่อแม่ลำเอียง และลำเอียง และลำเอียง ตลอดกาล

ตอนนี้นักเขียนรุ่นใหม่บางคนอาจได้อิทธิพลภาษาของคุณแหม่มอยู่เหมือนกัน คุณมีคำแนะนำอย่างไรกับคนที่อยากเป็นนักเขียนอย่างคุณ

เราเกิดในยุคที่นักเขียนมีภาษาของตัวเอง เช่น หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง, ทมยันตี, สุวรรณี สุคนธา, กฤษณา อโศกสิน ทุกท่านล้วนแต่มีวิธีการใช้ภาษาของตัวเอง อันนั้นเรื่องหนึ่ง แพตเทิร์นของการเล่าเรื่องก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้นมันเป็นการไม่ง่ายหรอกที่จะหาสิ่งนั้นสำหรับตัวเอง พูดอย่างไรดีล่ะ เราจะหาตัวเองเจอเมื่อทำไปเรื่อยๆ ค่ะ นี่แหละคำแนะนำของเรา คุณอยากจะก๊อปฯ ใคร ก๊อปฯ เลย ก๊อปฯ ให้เหมือนเลยนะ ทำไปๆๆ ในที่สุดคุณก็จะรู้สึกเบื่อเว้ย แล้วแนวทางของคุณเองจะค่อยๆ ออกมา คุณจะเริ่มสร้างคำของคุณเอง คุณจะเริ่มทำมัน

ความรู้สึกหนึ่งที่ทำให้เราอยากกลับมาเป็นนักเขียนคือฉันไม่ชอบหนังสือที่ฉันอ่านเลย ฉันอยากอ่านหนังสืออีกแบบหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้เริ่มเขียนเสียด้วยซ้ำ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันจะเป็นแบบไหน แต่ที่แน่ๆ คือแบบที่ยังไม่ถูกเขียน

คุณคิดอย่างไรที่มีคนมองว่าคุณเหมือนกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ

ก็คงจะได้มาบ้าง แต่ว่าจริงๆ เราว่าเราห่างกับเขาพอสมควรนะ แต่เนื่องจากว่าคนไทยอ่านงานแนว Magical Realism (สัจนิยมมหัศจรรย์) ค่อนข้างน้อย ถ้าคุณอ่านเยอะจะรู้ว่าแนวนี้มีมากมายหลายคนเลย เพียงแต่มาร์เกซเป็นดาราของแทร็กนี้ คนก็เลยเปรียบเรากับเขา

มันไม่ผิดหรอกใช่ไหมที่เราจะได้แรงบันดาลใจจากคนอื่น

ไม่ผิดเลย แล้วไม่ใช่เราไม่เห็นนะ บางครั้งเราก็เห็นว่า เฮ้ย นี่มันประโยคแบบมาร์เกซมากเลยนะ เราก็เห็นเท่าๆ กับคนอ่านนั่นแหละ แต่ถึงที่สุดแล้ว ถ้ามันอธิบายเรื่องได้ ถ้ามันทำงาน ก็จะไปเปลี่ยนทำไมล่ะ บางครั้งคุณต้องอย่ารักหน้าตัวเองมาก หนังสือมันต้องทำหน้าที่ของมัน ไม่ใช่ต้องมาคอยระวังความออริจินอลทุกกระเบียดนิ้ว พอดีไม่ได้หนังสือที่ดี เราเป็นคนไม่เก๊ก ถ้ามันจำเป็นก็โอเค ปล่อย

จะว่าไปก็มีอีกเรื่องหนึ่งที่เราไม่ค่อยเข้าใจ คือมันจะมีการวิจารณ์ในลักษณะเทียบเคียงอยู่เสมอ เช่นคนนี้มีลักษณะงานเหมือนคนนั้น คนนั้นทำลักษณะงานเหมือนคนนี้ มีการวิจารณ์แบบนี้กันตลอดเวลา ซึ่งเราไม่ค่อยเข้าใจว่า

มันจะได้อะไรขึ้นมา ใช่ไหมคะ

เราไม่ได้พูดนะ เธอพูด (หัวเราะ) เออ มันจะได้อะไรขึ้นมาวะ เพื่ออะไรวะ ทำไมไม่บอกว่างานคนนี้เป็นอย่างนี้ ดีไม่ดี ชอบไม่ชอบ แล้วก็ไปเลย แต่เรามักจะบอกว่างานคนนี้มีลักษณะเหมือนคนนั้น อาจารย์ต้น (อนุสรณ์ ติปยานนท์) ก็เป็นมูราคามิ วีรพรก็โดนมาร์เกซ แต่สำหรับเรา ถ้าเกิดใครเอาเราไปเทียบกับระดับนั้นแล้วละก็นะ ยินดีค่ะ เหมือนใช่ไหมคะ ขอบคุณค่ะ (หัวเราะ)

Fact Box

  • เกิดกรุงเทพฯ 4 สิงหาคม .. 2505 ในครอบครัวชนชั้นกลาง มีคุณแม่เป็นครูสอนเปียโน และมีพี่ชายหนึ่งคน ความฝันวัยเด็กคืออยากเป็นนักร้องลูกทุ่ง เคยเรียนด้านเลขานุการ และไปเรียนด้าน Communication Arts ที่กรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย กลับมาทำงานนิตยสารเกย์ชื่อนีออนเป็นครีเอทีฟเอเจนซี่โฆษณา ทำนิตยสารแฟชั่นชื่อ ‘Hyper’ และเปิดร้ายขายสร้อยอยู่ช่วงหนึ่ง ควบคู่กับการเลี้ยงลูกชายหนึ่งคน ก่อนจะกลับมาเขียนนวนิยายทเต็มตัว
  • นวนิยายเรื่องแรกไส้เดือนตาบอดในเขาวงกตชนะรางวัลซีไรต์ประจำปี 2558 และเรื่องต่อมาพุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำได้รับรางวัลซีไรต์สาขานวนิยาย ประจำปี 2561  
  • ปัจจุบัน วีรพรใช้ชีวิตอยู่กับสามีที่กรุงเทพฯ ส่วนลูกชายเรียนปริญญาเอกด้านปรัชญาอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี
Tags: , , ,